Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักวิจัยจาก ม.มิชิแกนและโรงพยาบาลเด็กในสหรัฐฯ ศึกษาพบว่าเด็กที่มี 'ความสงสัยใคร่รู้' จะสามารถทำผลการเรียนได้ดีกว่าในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมาจากครอบครัวที่ฐานะดีหรือไม่ก็ตาม แต่ทว่าคนที่ครอบครัวฐานะดีกว่าก็ยังได้เปรียบในแง่มีทรัพยากรหรือสิ่งกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้มากกว่า

ที่มาของภาพประกอบ: GMR Akash/Wikipedia/UNESCO

30 เม.ย. 2561 ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในชั้นเรียนของเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ของครอบครัว การเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่วัยเด็กตอนต้น และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน แต่จากผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน 'วารสารการวิจัยกุมารเวชศาสตร์' (Pediatric Research) ระบุว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ดีคือ "ความสงสัยใคร่รู้" (curiosity)

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, โรงพยาบาลเด็ก ซี.เอส. มอตต์ และ ศูนย์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กใน ม.มิชิแกน ศึกษาพบว่าความสงสัยใคร่รู้ในเด็กส่งผลดีต่อการเรียนได้โดยไม่เกี่ยงว่าพวกเขาจะมีพื้นเพครอบครัวแบบใด พวกเขาทำการสำรวจจากข้อมูลของโรงเรียนอนุบาล 6,200 แห่ง โดยวัดผลเรื่อง "ความสงสัยใคร่รู้" จากแบบสอบถามด้านพฤติกรรมที่ผู้ปกครองเด็กเป็นคนทำ รวมถึงวัดผลด้านความสามารถในการอ่านและความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็ก

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผลวิจัยระบุว่าเด็กที่มีฐานะยากจนกว่ามักจะมีโอกาสน้อยกว่าในการประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แต่ไม่ใช่กับเด็กยากจนที่มีความสงสัยใคร่รู้ เด็กกลุ่มหลังนี้จะสามารถทำผลลัพธ์ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านได้ดีเทียบเท่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า

ผู้นำการวิจัย ปราจี ชาห์ กล่าวว่าผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าความสงสัยใคร่รู้จะส่งผลต่อบวกความสำเร็จด้านการศึกษาในเด็กทุกคนไม่ว่าจะมาจากพื้นเพแบบใดก็ตาม ชาห์เป็นกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมที่มอตต์และเป็นผู้ช่วยนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก ม.มิชิแกน

ชาห์กล่าวถึงนิยาม "ความสงสัยใคร่รู้" ว่าหมายถึง "ความรู้สึกยินดีที่ได้ค้นพบสิ่งใหม่ และความปรารถนาที่จะสำรวจตรวจตรา รวมถึงมีลักษณะของการมีแรงผลักดันในการค้นหาคำตอบในสิ่งที่ไม่รู้"

การศึกษาวิจัยเหล่านี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับครอบครัว, นักการศึกษา และ นักการเมืองเอาไปพิจารณา โดยที่ชาห์บอกว่าการส่งเสริมเรื่องความสงสัยใคร่รู้มีความสำคัญโดยเฉพาะกับเด็กที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัจจัยนี้ยังเป็นสิ่งที่มีคนนำมาพิจารณาน้อยเกินไปเวลาจะแก้ไขปัญหาการลดช่องว่างความสำเร็จระหว่างบุคคล

อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมภายในบ้านของคนที่รวยกว่าก็ยังได้เปรียบมากกว่าคนจน ชาห์กล่าวว่าเด็กที่โตมาในสภาพทางการเงินที่มั่นคงมากกว่ามักจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เอื้อต่อการอ่านและการศึกษาคณิตศาสตร์ได้มากกว่า ขณะที่ครอบครัวยากจนจะมีสิ่งกระตุ้นเร้าเหล่านี้น้อยกว่า ทำให้แรงจูงใจหลักๆ ของเด็กในการอยากประสบความสำเร็จทางการศึกษาจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับการสงสัยใคร่รู้จากในตัวเด็กเองอย่างเดียว

ขณะที่หลายคนมองว่าการควบคุมตัวเองให้มีสมาธิกับชั้นเรียนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กอ่านและคำนวนได้ดี แต่ในการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าเด็กที่มีความสงสัยใคร่รู้ไม่จำเป็นต้องมีสมาธิในชั้นเรียนที่ดีเสมอไปพวกเขาก็สามารถมีทักษะการอ่านและคำนวนได้ดี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะให้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด ชาห์บอกว่างานวิจัยนี้เพียงแค่ให้เน้นว่าควรจะหันมาใส่ใจความสงสัยใคร่รู้ของเด็กมากขึ้น

ทั้งนี้มีคำถามต่ออีกว่าเราจะสามารถกระตุ้นเพิ่มความสงสัยใคร่รู้ในตัวเด็กได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องอาศัยการวิจัยอื่นๆ หลังจากนี้ต่อไป

เรียบเรียงจาก

Study explores link between curiosity and school achievement, Phys, 30-04-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net