เดชรัต สุขกำเนิด: ภยาคติในการรื้อถอนหมู่บ้านป่าแหว่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพื่อนๆ เคยสังเกตมั้ยครับว่า รัฐบาล คสช. ไม่เคยรีรอในการ “ตัด” ต้นยางของชาวบ้าน ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่รัฐบาลเดียวกันกลับรีรอในการรื้อถอนหมู่บ้านป่าแหว่ง และใช้วิธีสอบถามความเห็นของประชาชน ทั้งๆ ที่ไม่เคยสอบถามความเห็นในกรณีที่ตัดต้นยาง

เราลองมาแยกแยะความแตกต่างระหว่าง การตัดต้นยาง กับการรื้อถอนหมู่บ้านกัน

ความแตกต่างระดับแรกคือ ระดับกายภาพ เป็นไปได้มั้ยว่า รัฐบาลอาจคิดว่า การตัดต้นยางนั้นง่ายกว่าการรื้อถอนบ้าน

แต่มาคิดอีกทีไม่น่าจะใช่ เพราะรัฐบาลก็เคยไม่รีรอในการรื้อบ้านพักของรีสอร์ท ที่เข้าไปตั้งในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ หากเราลองในเชิง “ชีวภาพ” บ้าง เราจะพบว่า ต้นยางสามารถเอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพป่าได้ระดับหนึ่ง เช่น เป็นร่มเงาให้กล้าไม้ที่กำลังเพิ่งปลูก หากมีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ในขณะที่ บ้านสุดหรูนั้นไม่น่าจะเอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพป่าเลย

ถ้าไม่ใช่โจทย์เชิงกายภาพหรือชีวภาพ งั้น เราลองมาดูข้อแตกต่างในเชิง “การบริหาร (ราชการ)” บ้าง

รัฐบาล คสช. อาจอ้างว่า บ้านพักสุดหรูเป็นสมบัติของทางราชการ แต่ต้นยางเป็นสมบัติของเอกชน

แต่การอ้างเช่นนี้ ก็คงไม่ถูกต้องเช่นกัน ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ หนึ่ง ตัวศาลยุติธรรมก็เคยรื้ออาคารศาลฎีกาหลังเก่า ซึ่งเป็นสมบัติของทางราชการ และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติ มาแล้วเช่นกัน และสอง เมื้อรื้อแล้ว ป่าไม้ที่ได้กลับคืนมาก็เป็นสมบัติของทางราชการเช่นเดิม

เพราะฉะนั้น การรื้อบ้านพักป่าแหว่ง จึงไม่ใช่การทำให้สมบัติของทางราชการลดลง แต่เป็นการเปลี่ยนสมบัติอย่างหนึ่ง (คือ บ้านพัก) ไปเป็นสมบัติอีกอย่างหนึ่ง (คือป่าที่จะหายแหว่ง) มากกว่า

แถมสมบัติที่จะได้กลับคืนมาคือ ป่าที่หายแหว่งนั้น ยังเป็นสมบัติที่สาธารณชนมีส่วนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันมากกว่าบ้านพักของผู้ดำรงตำแหน่งไม่กี่ตำแหน่งเสียอีก

แล้วถ้าเช่นนั้น รัฐบาล คสช. กลัวอะไรกับการ “รื้อ” หมู่บ้านป่าแหว่ง

ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลกลัวการ “รื้อ” ไม่ใช่ตัวหมู่บ้านเองหรอก แต่รัฐบาลน่าจะกลัวการ “รื้ออำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าแหว่งแห่งนั้นมากกว่า

เปล่าครับ ผมไม่ได้ถึง “การรื้อถอนอำนาจ” ของบุคคลแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นอนุมัติโครงการดังกล่าว แต่หมายถึง “การรื้อถอนอำนาจของสถาบันรัฐ” ที่ตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าต่างๆ กันอยู่ตามลำพังมากกว่า

หากการ “รื้อถอนอำนาจ” ครั้งนี้ ทำสำเร็จ รัฐก็อาจกังวลว่า จะมีการ “รื้อถอนอำนาจ” ในกรณีอื่นๆ ทั้งที่ได้ขออนุญาตไปแล้ว และจะขอต่อไปในอนาคต

เราต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา มีการขอใช้พื้นที่ป่า (ที่อ้างว่าเสื่อมโทรม) ไปทำโรงงานเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปทำสนามบิน ไปใช้กิจการของทหาร รวมถึง มีการอนุญาตให้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ซึ่งก็มาจากป่าเสื่อมโทรม) ไปทำกิจการด้านพลังงานต่างๆ มากมาย

เกือบทุกโครงการที่ขออนุญาตนั้น สาธารณชนแทบจะไม่ทราบเรื่อง หรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาเลย จนกระทั่ง เรื่องแดงขึ้นมานั่นแหละ ครั้งนี้ที่หมู่บ้านป่าแหว่งก็เช่นกัน

นี่คือ ภยาคติ ที่รัฐบาลกลัวในการ “รื้อ” หมู่บ้านป่าแหว่งครั้งนี้ ยิ่งหากไม่สามารถกล่าวโทษผู้ใดในทางกฏหมายเป็นรายบุคคลได้ รัฐบาลยิ่งกริ่งเกรงว่า สิ่งที่จะถูกรื้อถอนไปพร้อมกับหมู่บ้านป่าแหว่งด้วยคือ อำนาจของสถาบันรัฐ ในการจัดการพื้นที่ป่าสาธารณะตามลำพัง นั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท