Skip to main content
sharethis

 เพจ Smart Man Smart Soldier สัมภาษณ์ สามทหารเกณฑ์ก่อนปลดประจำการ เผยประสบการณ์ “ทำความดีด้วยหัวใจ” ช่วยชาติด้วยการลอกคลอง ทำงานเอกสารให้กองร้อย และเป็น PR กองทัพ พลฯชินวุฒ บอกเป็นทหารจะเหนื่อยถ้าสมองยังตั้งคำถามว่าทำไม

 

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Smart Man Smart Soldier ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์สด พลทหารชินวุฒ อินทรคูสิน, พลทหารกรรชัย เรืองศรี และพลทหารนฤพนธ์ ดำแพร ทหารเกณฑ์ซึ่งรอการปลดประจำการในวันที่ 30 เม.ย. 2561 โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ พันโทหญิง นุสรา วรภัทราทร

คุณเป็นใครก่อนจะเป็นทหารเกณฑ์

พลทหารนฤพนธ์ ดำแพร ทหารเกณฑ์ผลัด 2/60 เล่าว่าก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์นั้น เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์โดยการสมัครใจเนื่องจากเห็นว่าหากสมัครแล้วใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับการลดหยอนให้เป็นทหารเกณฑ์เพียง 6 เดือน

“ก่อนเข้ามาก็เครียดนะครับ เปิดดูเว็บต่างๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละที่เขาเป็นอย่างไร มีความเครียด มีความกังพอเหมือนกันว่า เพราะไม่รู้
ว่าตัวเองจะต้องมาเจออะไรในสถานที่ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมา แต่พอได้เข้ามามันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คือผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่อื่นเขาเป็นอย่างไร แต่ที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 เขาฝึกไม่ได้ต่างจากที่อื่นมาก ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน”นฤพนธ์ กล่าว

ขณะที่ พลทหารกรรชัย เรืองศรี ก่อนที่จะมาเป็นทหารนั้นเขายังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนหน้านั้นได้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นปกติ แต่สาเหตุที่ตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นทหารเป็นเพราะก่อนหน้านี้ 1 ปี เขาสอบติดโรงเรียนนายสิบตำรวจ แต่ท้ายที่สุดขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นผู้ที่เกิดในปี 2539 และยังไม่ผ่านการตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ เขาจึงตัดสินใจสมัครเป็นทหารเกณฑ์เพื่อที่จะได้รับการลดหยอนเหลือระยะเวลาประจำการเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อที่จะได้มีเวลากลับไปสอบโรงเรียนนายสิบตำรวจอีกครั้งโดยที่อายุยังไม่เกินเกณฑ์คุณสมบัติ

กรรชัย เล่าต่อว่า การเข้ามาในค่ายของเขาถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่เข้าใจว่าทุกๆ ค่ายก็จะมีลักษณะเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นโรงนอน ไปจนถึงการฝึก เขาบอกว่าไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน แล้วรู้สึกว่าการเป็นทหารคือความเท่อย่างหนึ่ง พร้อมบอกด้วยว่าหลังจากฝึกเสร็จแล้วสิ่งที่เขารู้สึกได้คือการโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทั้งบุคคลิก แล้วการพูดจา

“ที่ผมสมัครมาเป็นทหารเกณฑ์ เพราะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้านี้ผมได้ไปสอบนักเรียนนายสิบตำรวจ เผอิญว่าสอบติด แต่ในระเบียบการบอกว่าไม่รับคนที่เกิด พ.ศ.2539 แล้วกำลังจะเข้ารับการเกณฑ์ทหารในปีนั้น วันที่ไปรายงานตัวที่โรงเรียนนักเรียนตำรวจนายสิบภูธรภาค 1 เขาบอกว่า ให้ไปจับใบดำใบแดงปีนี้ก่อน ถ้าจับได้ใบดำปีหน้าก็มาสอบใหม่ คือโดนสละสิทธิ์ไปเลย ผมเลยคิดว่าถ้าจับได้ใบแดงก็ต้องเป็น 2 ปี อายุเราก็จะเกินไม่สามารถสอบนายสิบได้ ก็เลยสมัครเป็นปีเดียว”กรรชัย กล่าว

ส่วน พลทหารชินวุฒ อินทรคู ศิลปินชื่อดัง ที่ตกเป็นข่าวดังเมื่อสองปีก่อนหลังจากที่ถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ทันทีโดยไม่มีสิทธิได้จับสลาก และไม่มีสิทธิได้สมัครร้องขอ เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาไม่ได้มารายงานตัว ชินเปิดเผยความรู้สึกในช่วงเวลานั้นอีกครั้งว่า สาเหตุที่ร้องไห้ในวันนั้น เป็นเพราะไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เนื่องจากไม่ทราบมาก่อน โดยปีก่อนๆ หน้านั้นเขาได้ไปรายงานตัวพร้อมกับฟิลม์เอ็กเรย์กระดูกข้อมือขวาหัก และมีการด้ามเหล็กไว้ แพทย์ประจำหน่วยคัดเลือกทหารกองประจำการจึงตัดสินให้เป็นบุคคลประเภท 3 คือ ยังไม่พร้อมที่จะเข้ารับการตรวจคัดเลือกในปีดังกล่าว แต่ในปี 2559 เข้ากลับมาอีกครั้งแล้วพบว่าร่างกายสามารถที่จะเข้ารับการตรวจคัดเลือกได้แล้ว ประกอบกับก่อนหน้านี้เข้าไม่ได้มารายงานตัวจึงต้องเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ทันทีเป็นระยะเวลา 2 ปีเต็ม  ชินวุฒ เล่าต่อไปว่า ในปี 2559 มีแผนหลายอย่างในชีวิต แต่ปรากฎว่าต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ทำให้รู้สึกเป็นห่วงครอบครัว เพราะตัวเองเป็นเสาหลักของครอบครัว

“เราไม่คิดว่าจะต้องเป็น แล้วเราก็มีแพลนหลายอย่างสำหรับปีนั้น ปรากฎว่าต้องเป็น ในหัวมันก็คือ ตายแล้ว เอาแล้ว เอาไงดีว่ะเนี่ย ภาพที่มันก่อนในหัวคือ ครอบครัว เพราะผมเป็นเสาหลักของครอบครัวแล้วตอนนั้นมีละคร 2 เรื่อง หนัง 1 เรื่อง คอนเสิร์ตอีกประมาณ 10 รายได้ก็หายไปค่อนข้างเยอะ เราก็ช็อค ก็ให้สัมภาษณ์ไปแบบนั้น แล้วคนก็ตีความไป คือคนก็จะอ่านแค่พาดหัวข่าว แล้วก็บอกว่าชิน ร้องไห้เพราะต้องเป็นทหาร คนก็ตีความไปว่า ชินไม่อยากเป็นทหาร มันก็มีกระแสมาว่าไม่รักชาติ”ชินวุฒ กล่าว

ชินวุฒ บอกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกล่าวหาว่าตนเองไม่รักชาติมากนัก เพราะรู้ตัวเองดีว่ามีความคิดอย่างไร และคนรอบข้างก็เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตีความของคนอ่านข่าวพียงเท่านั้น

หน้าที่รั้วของชาติ การงานอันเป็นที่รักเมื่อทหารเกณฑ์ทำเป็นทุกอย่าง

ชินวุฒ เล่าต่อไปว่า ชายไทยแต่ละคนที่เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ทุกคนจะมีทักษะเดิมติดตัวมาด้วยอยู่แล้ว บางคนทำงานบริหารทั่วไปมา ก็จะเหมาะกับงานเอกสารต่างๆ หรือค่อยประสานงานในเรื่องต่างๆ ได้ ส่วนตัวเองนั้นเป็นศิลปิน เป็นบุคคลที่ประชาชนรู้จัก จึงได้รับหน้าที่พิเศษคือ การทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ในภารกิจต่างๆ ของกองทัพ รวมทั้งไปพบปะผู้คน และได้ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่างๆ

“ผมโชคดี ต้องใช้คำว่า โชคดี เพราะเรามีทุนตรงนี้มา แล้วผมได้มีโอกาสปฎิบัติภารกิจแปลกๆ หรือภารกิจที่คนอื่นๆ อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำ ผมได้มีโอกาสถ่ายสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ได้ช่วยประชาสัมพันธ์งานดีๆ หลายอย่าง มันทำให้ผมได้มีโอกาสไปต่างจัดหวัด และได้ไปในพื้นที่ที่พระองค์ท่านได้เสด็จไปทรงงานจริงๆ ได้เจอกับคนที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับพระองค์ท่าน มันทำเรารู้สึกว่า เราได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านมากยิ่งขึ้น และได้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงงานเยอะมากๆ

ผมไปแค่ 20 โครงการ จาก 4,000 กว่าโครงการ แค่ 20 ผมก็คิดว่าเยอะมากแล้ว เพราะดูจากรูปภาพเก่าๆ จากพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลยจนวันนี้มีทุกอย่าง แล้วผมได้ไปเจอกับทหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า ทหารพัฒนา ซึ่งทหารส่วนมากคนจะเห็นในมุมของความเข้มแข็ง กล้าหาญ ถือปืน แต่ไม่ค่อยได้เห็นในมุมของการพัฒนา ซึ่งผมเองก็ไม่รู้เลยว่ามีหน่วยนี้ด้วย ก็ได้มีโอกาสไปทำงานกับเขา ก็ทำให้ผมเห็นว่ามันมีอะไรหลายๆ อย่าง ที่หลังจากผมปลดประจำการแล้วผมไปช่วยได้ มันมีอีกหลายๆ ที่ที่ผมไปได้ หน้าที่ของคนไทยด้วยกันไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าเรามีสัญชาตินี้แล้ว เราไม่จำเป็นว่าจะต้องมีนามข้างหน้าว่าเป็น พลทหาร เป็นอะไรก็แล้วแต่ แค่มีสัญชาติไทยมันก็เพียงพอแล้วที่เราจะทำหน้าที่ของคนไทย ตรงนี้แหละมันทำให้ผมเรียนรู้ว่ามันมีหน้าที่อะไรหลายๆ อย่าง ที่เราทำกันได้” ชินวุฒ กล่าว

นั่นคือ งานที่ศิลปินชื่อดังภาคภูมิใจ ขณะที่กรรชัย เล่าประสบการณ์การทำงานที่เขาประทับใจ ซึ่งเขาเห็นว่างานดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้เขามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นทหาร และรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยชาติ เขามีโอกาสร่วมโครงการ “ทำดีด้วยหัวใจ” งานที่ได้ทำคือ การไปทำความสะอาดบริเวณวัด ศาลาการเปรียญ ในจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับไปลอกคูคลองต่าง โดยที่มีชาวบ้านเข้ามาช่วยกันทำงานคนละไม้คนละมือ ภาพที่เขาเห็นคือ ภาพแทนของความภาคภูมิใจที่ชีวิตหนึ่งได้มีส่วนร่วมนการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ด้านการบริหารทั่วไปอย่าง นฤพนธ์ เล่าว่างานของเขาหลังจากที่พ้นผ่านช่วงเวลาฝึกทหารใหม่ไปแล้ว หน้าที่ที่เขาได้รับคือการทำงานใน บก.ร้อย โดยจะเป็นผู้ที่จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ให้กับทหารในกองร้อย คอยจัดตารางเวลาว่าวันหนึ่งจะต้องมีใครไปที่ไหนบ้าง รวมทั้งทำเอกสารเรื่องเงินเดือนของเพื่อนพลทหาร ไปจนถึงการทำเอกสารปลดประจำการ

ชินวุฒ เสริมด้วยว่า การแบ่งงานในกองร้อยจะดูจากความถนัด หรือความสามารถพิเศษของแต่ละคน โดยในหนึ่งกองร้อยจะมีคนถนัดในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น ช่างไฟ ทำอาหาร ช่างประปา ก่อสร้าง โดยคนเหล่านี้จะถูกจัดสรรงานให้ตามความถนัดที่มี

“ภารกิจของหน่วยเราค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ช่วงฝึก บ้างที่กำลังพลไม่พอ ออกไปทำงานสนับสนุนข้างนอกเยอะมาก วันสอง วันสามงาน ก็ต้องเอาน้องๆ ที่อยู่ในช่วงฝึกให้มาช่วยงาน ฉะนั้นมันก็เหมือนเป็นการฝึกงานไปในตัวก่อนเลย พอเราฝึกทหารใหม่เสร็จ ใครที่จะทำหน้าที่ต่างๆ ก็จะรู้เลยว่าใครถนัดกับงานอะไร แล้ววันแรกที่มาเขาก็จะให้เขียนก่อนเลยว่าใครถนัดงานอะไร มีความสามารถพิเศษอะไร บางคนเป็นช่างปะปา บางคนรู้เรื่องงานก่อสร้าง บางคนรู้เรื่องช่างไฟ จริงๆ แล้วทหารทำได้ทุกอย่างพูดอย่างนี้ดีกว่า ทหารหนึ่งกองร้อยถ้าไปที่ไหนผมว่าไม่อดตาย ยังไงก็รอดทำเป็นทุกอย่าง” ชินวุฒ กล่าว

เป็นดาราไม่มีสิทธิพิเศษในช่วงฝึก แต่เป็นตัวอย่างให้เพื่อนร่วมค่ายได้เห็นว่า ไอ้ชินมันยังโดน

ต่อคำถามที่ว่า เป็นทหารดารา จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ ชินวุฒ ตอบว่า ในช่วงฝึกไม่มีคำว่า “อภิสิทธิ์” โดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นตัวอย่าง หากทุกคนในกองโดนกันหมด หากมีตัวเองไม่โดนอยู่คนเดียวก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายกลายเป็นว่า ตัวเองยิ่งโดนหนักเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เห็นว่า “มึงจะอู้ไม่ได้ เพราะไอ้ชินมันยังโดน”

สำหรับเขาสิ่งที่ตอกย้ำเข้าไปอีกว่าเขาไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือไปกว่าใครๆ คือ บางวันหลังจากกลับจากการไปถ่ายสารคดีเฉลิมพระเกียรติ กลับมาถึงค่ายประมาณ 4 ทุ่ม ซึ่งทุกคนเข้านอนหมดแล้ว แต่เขายังต้องฝึกท่าต่างๆ เพิ่มเพราะช่วงเวลาที่ออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ฝึกร่วมกับเพื่อนๆ และจะทำให้ตามเพื่อนไม่ทัน

“หลังจากที่ฝึกเสร็จภารกิจของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน หน้าที่ของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แต่ท้ายสุดแล้วถามว่าผมต้องปฎิบัติงานเยอะเท่าน้องๆ ไหม ไม่เยอะเท่า เพราะอย่างเวลาผมไปงานอื่นๆ อยู่แล้วมีงานเข้ามาผมก็ไปร่วมงานตรงนั้นไม่ได้ มันเลยทำให้มีการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่ง หน้าที่ของผมก็มีหน้าที่สแตนบายเวลาที่จะมีงานประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะต้องไปทำไปช่วยกองทัพ อย่างเราอยู่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 แล้วอยู่กองร้อยที่ 3 กับกองร้อยที่ 4 จะเป็นกองร้อยของกองทหารเกียรติยศ ก็จะเป็นกองร้อยที่เห็นใส่ชุดแดงออกมารับนายกฯ รับแขกต่างประเทศ ก็จะเป็นงานเรา ถ้าอยู่กองร้อยอื่นก็อาจจะไม่ได้ใส่ ถือว่าเราโชคดี ครั้งแรกที่ผมใส่ คุณลุงผมเป็นพลอากาศโทอยู่ที่ฝรั่งเศส แล้วเขาเห็นเราใส่ชุดนี้ แล้วเขาเกิดความภาคภูมิใจ มันคือความภาคภูมิใจ แต่ก็ต้องบอกว่าชุดมันร้อนมาก มันช่วยลีนร่างกายได้ดีมาก ผมบอกเลยคุณใส่ชุดนั้นสักวันหนึ่งเผาผลาญดี”

อย่าตั้งคำถามว่าทำไม ให้มองว่ามาออกกำลังกาย และเห็นมันเป็นเรื่องสนุก

ก่อนที่จะปลดประจำการพลทหารทั้ง 3 นาย ได้ฝากถึงพลทหารรุ่นต่อไปที่กำลังจะเข้ารับราชการเป็นทารเกณฑ์เอาไว้อย่างน่าสนใจ นฤพนธ์ แนะนำว่า ทุกคนควรที่ฝึกร่างกายมาให้พร้อมก่อนที่จะเข้ารับการฝึกในช่วง 10 สัปดาห์แรก เพราะในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่หนักที่สุด แต่ก็ถือว่าไม่ได้หนักเกิดกว่าจะรับได้ ขณะที่กรรชัย เสริมว่า การออกคำสั่งทุกอย่างของครูฝึกทหารใหม่นั้น เกิดจากการที่ผู้ที่เป็นครูฝึกได้ถูกสั่งให้ทำมาก่อนแล้วทั้งสิน โดยครูฝึกจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี โดยการฝึกจะค่อยๆ ไล่ระดับจากเบาไปหนัก ขณะที่ครูฝึกจะคอยประเมินกำลังของทหารใหม่แต่ละคนว่าไหวหรือไม่

“ฝากถึงน้องๆ 1/61 นะครับอยากให้เตรียมใจมากเยอะๆ ส่วนร่างกายจะได้เองโดยอัตโนมัติ แต่อยากให้เตรียมใจมาเยอะๆ อย่าคิดท้อ อย่าคิดว่าเหนื่อยไม่เอาแล้ว มองทุกอย่างให้มันเป็นเรื่องสนุก”

ส่วนชินวุฒ บอกว่า การเตรียมร่างกายเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ แต่ก็คงยากที่ทุกคนจะเตรียมพร้อมมา และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายคนเป็นนักดื่ม หนักที่สุดคือเป็นคนเล่นยามาก่อน แต่การเข้ามาในค่ายทหาร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำจะต้องหยุด เขาชวนให้คิดว่าการมาเป็นทหารเมื่อมาเข้าคอร์ทล้างพิษในร่างกาย และคอร์ทฟิตเนส 10 สัปดาห์ ที่มีคนมาบังคับให้ออกกำลังกาย

“อย่างเพื่อนผมเข้ามาหนัก 110 กิโลกรัม ฝึกเสร็จเหลือแค่ 80 หน้าตาดีทันที ฉะนั้นผมว่าอย่างที่พูดทั้งกายทั้งใจเตรียมมา แต่ที่ผมอยากฝากด้วยก็คือ อย่าคิดฝืน ผมว่าที่เหนื่อยไม่ได้อยู่ที่ร่างกายหรอก มันอยู่ที่ใจมากกว่า มันเหนื่อยสมองคิด ทำไมต้องมาทำอย่างนี้ด้วยว่ะ ทำไม่ต้องโดนอีกแล้ว ทำไมต้องตื่นเช้า ทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ ทำไมๆ ทำไมทั้งวันทั้งคืน พอมันมีทำไมในหัวตลอดเวลา มันเลยฝืนมันเลยเหนื่อย แต่ถ้าเราทำไปปล่อยไป คิดว่ามันเป็นเรื่องสนุก คิดว่ามาออกกำลังกาย คิดว่าเรามาฝึกความแข็งแรงความอดทน คิดว่าเรามาฝึกระเบียบวินัย แค่นี้เข้ามามันจะสบายเพราะสุดท้ายแล้วมันเหนื่อยที่ความคิด”ชินวุฒ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net