Skip to main content
sharethis

สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนอัตราเดียวเลี้ยงครอบครัวได้ สิทธิเลือกตามที่ตั้งของสถานประกอบการ การคำนึงแรงงานข้ามชาติ เลิกจ้างงานไม่มั่นคง สิทธิรวมตัวต่อรองของคนงาน พร้อมนโยบาย 4 เพิ่มสร้างความมั่นคงจ้างงาน ฯลฯ

ผ่านไปแล้วกับสัปดาห์วันกรรมกรสากลภายใต้การควบคุมขัดขวางการแสดงออกของกลุ่มคนงานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่ นอกจากแรงงานหลายกลุ่มจะมีข้อเรียกร้องอย่าง “การเลือกตั้งปีนี้” แล้ว ยังมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายแรงงานหลายๆ เรื่องที่เรียกร้องอย่าต่อเนื่องมาหลายปีแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ ในโอกาสที่พรรคการเมืองใหม่ๆ เริ่มเปิดตัวมาสักระยะแล้ว ประชาไทจึงประมวลข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานต่างๆ มา

เปิดที่ข้อเสนอที่องค์กรสภาแรงงานรวมกับกระทรวงแรงงาน จัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2561 นำโดย พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การแรงงานลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานได้นำข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 2561 จำนวน 10 ข้อ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร ประกอบด้วย

1. ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี

2. ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน

3.ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ไม่ถูกตัดสิทธิ์การรับเงินบำนาญ

4. ให้ประกันสังคมใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญให้ลูกจ้างที่พ้นจากการเป็นผู้ประกันตน

5.ให้รัฐบาลกำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นแก่ลูกจ้าง

6.ให้เร่งออกกฎหมายที่สนับสนุนระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรสภาพ

7.ให้ออกกฎหมายคุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

8.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

9.ให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับ และมีโทษอาญา

10.ให้รัฐบาลสั่งกระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะระบบแรงงานสัมพันธ์

โดยรวมแล้วแยกเป็นประเด็นเรื่องสวัสดิการทั้งในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม ประเด็นสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองเป็นสหาพแรงงาน ประเด็นการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ภาพคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)

ค่าจ้างที่เป็นธรรม เลี้ยงชีพตนเอง + 2 คนในครอบครัว

ขณะที่ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ที่จัดกิจกรรมแยกมาจากนั้นมีข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน 10 ข้อ ประกอบด้วย

1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้ 4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ  4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

5. รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้ 6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน 6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย 6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

7 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ และ

10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ มีประเด็นนอกเหนือจากองค์กรก่อนหน้าคือเรื่องรัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน

ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 

เลือกตั้งปีนี้และสิทธิเลือกตามที่ตั้งของสถานประกอบการ

ขณะที่สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทยนอกต่างจากองค์กรต่างๆ ก่อนหน้านี้ในส่วนที่มีข้อเรียกร้องทางการเมือง คือให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดย “เลือกตั้งปีนี้” และให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ ยังมีข้อเรียกร้องอื่นทางด้านนโยบายแรงงาน ประกอบด้วย ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ และยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ

สำหรับประเด็นอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้ รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการและการเลี้ยงดูบุตร และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม

ขณะที่กลุ่มคนงานที่จัดกิจกรรมนอกกรุงเทพกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง มีข้อเสนอประกอบด้วย 1. รัฐสวัสดิการ 2. การปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม 3. ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน 4. ดูแลความปลอดภัยในการทำงาน 5. ประชาธิปไตย และ 6. เลือกตั้งปีนี้

ภาพการจัดกิจกรรมของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 

ประเด็นแรงงานข้ามชาติจากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

นอกจากนี้ ที่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ มีข้อเรียกร้องประกอบด้วย 10 ข้อ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 2 ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน  1 ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่ และ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

  1. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยเพิ่มจำนวนและกระจายศูนย์บริการไปยังระดับอำเภอ มีขั้นตอนดำเนินการที่สั้น ง่าย ใช้เอกสารน้อย และลดค่าใช้จ่ายลงให้น้อยกว่าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติจากนายหน้า
  2. รัฐบาลต้องเข้มงวดในการดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่อแรงงานทุกคนตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ
  3. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ” 
  4. ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว ตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้ในปี 2560
  5. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2561
  6. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2561 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
  7. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  8. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ ไม่เลือกปฏิบัติ
  9. ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  10. ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

  1. ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  2. แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

  1. เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ  ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
  2. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย
  3. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน

4 เพิ่มสร้างความมั่นคงจ้างงาน กับ บุษยรัตน์

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ประชาไท ได้พูดคุยกับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ถึงทิศทางการสร้างความมั่นคงในการจ้างงานของภาคแรงงานทั้งระบบ บุษยรัตน์ กล่าวว่าถึงข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน 4 เพิ่ม  ประกอบด้วย เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มอำนาจการต่อรอง จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่แรงงานกลุ่มต่างๆ ต่างต้องเผชิญกับ “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานไม่มากก็น้อย” อย่างน้อยใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 

ด้านที่ 1 : รายได้ ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และชั่วโมงการทำงาน

บุษยรัตน์ กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ 2560  แรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนเป็นอันดับแรก โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานนอกระบบมีรายได้ 7,801-9,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานในระบบมีรายได้ 9,001-15,000 บาทต่อเดือน

ค่าจ้างจริง ค่าจ้างที่หักผลกระทบจากเงินเฟ้อแล้ว ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่มีการกำหนดเรื่องโครงสร้างอัตราค่าจ้างรายปี ทำให้แรงงานที่ทำงานมากว่า 10-20 ปี อาจไม่มีการปรับค่าจ้างเลยก็ได้ หากค่าจ้างที่ได้รับเลยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว

บุษยรัตน์ กล่าวต่อว่ายังมีการยกเว้นในลูกจ้างทุกประเภทของราชการ , ลูกจ้างทำงานบ้าน , ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานเกษตรกรรมตลอดปี , ลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรที่ตีความได้ว่าไม่ได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนชั่วโมงในการทำงาน และค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด นายจ้างมีสิทธิกำหนดค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานเท่าใดก็ได้ รวมทั้งการยกเว้นค่าชดเชย ซึ่งไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีเฉพาะพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 คุ้มครองเฉพาะกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านเท่านั้น ทั้งแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบ ส่วนใหญ่ทำงาน  41–50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่ไม่เพียงพอจากการทำงานตามเวลาปกติแรงงานนอกระบบและในระบบบางส่วน มีปัญหาทำงานไม่ตรงกับเวลาปกติ(ผลิตแบบระบบ 3 กะ หรือ 4 หยุด 2 ซึ่งไม่มีวันหยุด ชั่วโมงการทำงานมากเกินไป และลาพักผ่อนไม่ได้อีกด้วย

ด้านที่ 2 : หลักประกันทางรายได้หลังเกษียณ

บุษยรัตน์ ยกรายงานภาวะสังคมไทย 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่มีหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณมีประมาณ 18 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 50 ของกำลังแรงงาน ไม่รวมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางส่วนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม  ผู้ที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้หลังเกษียณส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ   เมื่อเกษียณอายุต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและเบี้ยยังชีพ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงด้านรายได้

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ในสถานประกอบการหนึ่งๆ สามารถมีการจ้างงานในหลายรูปแบบ ทำให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงในการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่การจ้างงานแบบประจำ โอกาสที่จะมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่องจึงลดลง และนี้ย่อมส่งผลต่อหลักประกันทางรายได้หลังเกษียณอย่างยากจะหลีกเลี่ยง การใช้ระบบการจ้างแบบเหมาค่าแรง รายวัน ชั่วคราว ทำให้คนงานมีความเสี่ยงในการทำงานแบบไม่มั่นคงตลอดเวลา มีปัญหาหนี้สินมากขึ้น อัตราการออมเงินจะยากขึ้นหรือลดลง  พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ยังมีการยกเว้นลูกจ้างบางประเภทที่ไม่ต้องได้รับการคุ้มครอง แม้มีนายจ้างชัดเจน ได้แก่ ลูกจ้างเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ได้ทำงานตลอดปี, ลูกจ้างตามฤดูกาล , ลูกจ้างทำงานบ้าน , ลูกจ้างหาบค้าเร่หรือแผงลอย

ด้านที่ 3 : ผลิตภาพของแรงงาน

บุษยรัตน์ กล่าวว่า บริษัทจำนวนมากยังยึดวิถี รับจ้างผลิตหรือขายสินค้าราคาถูกด้วยแรงงานราคาถูก เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าจำนวนชิ้นที่เพิ่มขึ้น   ไม่มีการลงทุนเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน เช่น การฝึกอบรม ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  ประเทศเพื่อนบ้านล้วนเติบโตเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย

ด้านที่ 4 : อำนาจการต่อรอง

บุษยรัตน์ ยกข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานปี 2560 ซึ่งระบุว่า ทั่วประเทศมีสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ 1 ของแรงงานทั้งหมด เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชีย มีสถานประกอบกิจการเพียงร้อยละ 2.53 และลูกจ้างเพียงร้อยละ 6.65 ที่ได้รับการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สาเหตุส่วนหนึ่งคือ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้าง นายจ้างขัดขวางและกลั่นแกล้งแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพได้โดยง่าย

สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานสากล ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง

การจ้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถยกเว้นการใช้กฎหมายด้านแรงงานบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 , พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อเอื้อให้ทุนสามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ เช่น ห้ามรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองด้านค่าจ้างและสวัสดิการ

ด้านที่ 5 : การได้รับบาดเจ็บหรือป่วยด้วยโรคจากการทำงาน

รายงานประจำปี 2559 กองทุนเงินทดแทน บุษยรัตน์ ระบุว่า แรงงานที่ประสบอันตรายฯ ร้ายแรง มีจำนวนทั้งสิ้น 28,715 คน หรือมีอัตราเท่ากับ 9.47 ต่อลูกจ้างพันราย ปัญหาสำคัญที่ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบเผชิญ คือ สารเคมีเป็นพิษและปัญหาจากเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่เป็นอันตราย และปัญหาอิริยาบถในการทำงาน เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยด้วยโรคจากการทำงาน สุดท้ายแรงงานกลุ่มนี้ต้องออกจากงาน ทั้งที่ถูกเลิกจ้างและลาออกเอง  บางรายไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้  ไม่มีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนหรือเยียวยาหลังจากต้องออกจากงาน

พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ยังกำหนดกิจการที่ยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ นี้จึงส่งผลต่อการที่แรงงานในระบบในหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าสู่การคุ้มครองตามกองทุนเงินทดแทนได้  ในกลุ่มแรงงานนอกระบบเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่มีกฎหมายด้านการจ้างงานคุ้มครอง ต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน

จากสถานการณ์ 5 ด้านข้อต้น บุษยรัตน์ กล่าวว่าข้อเสนอสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 ด้าน ที่รัฐหรือพรรคการเมืองควรดำเนินการหรือเป็นแนวนโยบาย ได้แก่ เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มอำนาจการต่อรอง

โดยมีรายละเอียดนโยบาย 4 เพิ่ม ดังนี้

(1) เพิ่มค่าจ้าง

-           ลูกจ้างไร้ฝีมือและทำงานใหม่ควรได้รับค่าจ้างที่พอจะทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ

-           คำนึงถึงค่าจ้างในฐานะที่เป็นค่าตอบแทนแก่ฝีมือการทำงาน

-           ลูกจ้างที่มีประสบการณ์มากควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างพยายามพัฒนาฝีมือของตนเอง

-           อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องบังคับใช้ในแรงงานทุกกลุ่มและต้องเท่ากันทั้งประเทศ

(2) เพิ่มสวัสดิการแรงงาน

-           คนทำงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้มีหลักประกันในชีวิตทั้งระหว่างทำงานและเกษียณ รวมทั้งเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน ต้องมีกลไกในการรักษาและเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนให้เป็นอิสระในการบริหารงานจากระบบราชการ

-           คนพิการและผู้สูงอายุในระบบการจ้างงาน ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ

-           การจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงาน

-           ออกกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลิกกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องแต่อย่างใด

            (3) เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน

-           ยกระดับการศึกษาของแรงงาน มีเวลาในการศึกษาต่อเพิ่มเติม

-           เพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพ ปฏิรูประบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน

-           การคำนึงถึงการจ้างงานในระบบโรงเรียน-โรงงาน / แรงงานข้ามชาติ

-           การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานในสถานประกอบการให้ชัดเจน

-           การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความมั่นคงในการจ้างงาน

-           การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวร

(4) เพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน

-           ยกระดับการจัดการองค์กรเพื่อการต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ มีนโยบายและกลไกการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรแรงงานในทุกระดับ เช่น ฐานข้อมูลแรงงานทั้งระบบ , แรงงานทุกกลุ่มเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือรวมกลุ่มเป็นองค์กรแรงงานที่ถูกกฎหมายได้  , การเลือกตั้งผู้แทนในเขตที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนงานทำงานอยู่ ฯลฯ

-           การจ้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการยกเว้น

-           การปฏิรูปกลไกและกระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงาน

เลิกจ้างงานไม่มั่นคง ค่าจ้างอัตราเดียวเลี้ยงครอบครัวได้ สิทธิรวมตัวต่อรอง

ขณะที่ ‘พจนา วลัย’ เขียนบทความไว้ในประชาไท เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ปีนี้ ไว้อย่างน่าสนใจ โดย พจน กล่าวไว้ในบทความดังกล่าวว่า พรรคการเมืองที่เตรียมการเลือกตั้งในอนาคตควรโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานซึ่งมีข้อเสนอ 6 ข้อ ดังนี้

ข้อเสนอที่ 1 ยกเลิกรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคง เช่น ลูกจ้างเหมาช่วง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น ที่ดำรงชีวิตแบบวันต่อวัน ดิ้นรนในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและคุณภาพของกำลังแรงงานในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายการจ้างงานที่มั่นคง (Job security) ไม่ใช่พร่ำถึงแต่ความมั่นคงแห่งชาติ โดยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในภาครัฐและเอกชนให้เป็นพนักงานรายเดือน ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน และจ้างงานโดยตรง

ข้อเสนอที่ 2 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศและครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอีก 2 คนตามมาตรฐานแรงงานสากล ไม่ใช่ค่าจ้างที่เลี้ยงคนทำงานเพียงคนเดียวเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่จะปล่อยให้คนหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวัน ซึ่งผลักให้คนงานต้องทำงานยาวนาน พึ่งพาการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่มีเวลาพักผ่อน ดูแลครอบครัว ศึกษาหาความรู้ อบรมทักษะฝีมือเพิ่มเติม ตามระบบสามแปด และส่งผลต่อการสร้างภาระหนี้สินซึ่งนายจ้างต้องปรับตัวเพื่อให้กำลังแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ไปพร้อมกับขึ้นเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามอายุงานด้วย

ข้อเสนอที่ 3 สร้างเสริมสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย และเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคน (รัฐสวัสดิการ) เช่น เรียนฟรี มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพราคาถูก มีบำเหน็จบำนาญที่สามารถดำรงชีพได้

ข้อเสนอที่ 4 ยอมรับอำนาจเจรจาต่อรองและบทบาทในการบริหารองค์กรร่วมของลูกจ้าง โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม ต้องเปิดพื้นที่และออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ลูกจ้างรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยปราศจากการกลั่นแกล้งจากนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนและให้สหภาพแรงงานอยู่ในโครงสร้างการบริหารองค์กรหรือบุคคลร่วมกับนายจ้างเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountable) ซึ่งกันและกัน

ข้อเสนอที่ 5 ควบคุมตรวจสอบภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานแรงงานสุขภาพอนามัย ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยจัดให้ตัวแทนลูกจ้าง ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต การควบคุมภายใน เพื่อประกันความปลอดภัยในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์

ข้อเสนอที่ 6 สังคมไทยจะต้องไม่ยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยม การใช้ความรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างกันในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ความคิดเห็นทางการเมือง เช่น แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง แรงงานผู้พิการ เพศที่หลากหลาย ผู้เสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ในสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net