Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย วิพากษ์กฎหมายสิ่งแวดล้อมร่างมาดีแต่ปฎิบัติจริงไม่เป็นไปตามที่คิด กระบวนการเห็นชอบ EIA ไร้ความน่าเชื่อถือ พร้อมแห่โลงศพเข้าป้าเผาแชง EIA ไม่เป็นธรรม เรื่องร้อง สผ. ทบทวนมติเห็นชอบการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล

7 พ.ค. 2561เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน ร่วมกิจกรรมฌาปนกิจไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากพื้นที่ โดยมีการสร้างโลงศพจำลอง 2 โรงในพื้นที่ป่าช้า บ้านเชียงเพ็ง หลังมีมติเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และเสนอให้ สผ. ยกเลิกมติเห็นชอบดังกล่าว

นพพร เนินทราย เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของสังคมไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการที่รัฐเปิดช่องทางให้ทุนได้มีแผนงาน มีโครงการขนาดใหญ่  ผ่านกลไกทางกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจะเกิดโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งไม่คำนึงถึงชุมชน แหล่งน้ำลำเซบาย และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ย่อมถือว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรเป็นอย่างมาก

นพพร ระยุด้วยว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและองค์การพัฒนาเอกชนในการรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้นถือว่าเป็น พรบ. สิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ามาก เพราะว่าเป็นพระราชบัญญัติแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน พูดเรื่องสิทธิ หน้าที่ พูดเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และก็พูดถึงกองทุนสิ่งแวดล้อมที่จะมาสนับสนุนกิจกรรมของภาคประชาชน รวมทั้งกิจกรรมเชิงนวัตกรรมที่เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาชาวบ้านก็เรียกร้องให้เกิดการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมแทบจะทุกโครงการ มีบางโครงการที่ไม่เข้าเงื่อนไขเราก็เรียกร้องให้ทำ โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคประชาชนเรียกร้องว่าให้ทำ ช่วงนั้นเสมือนกับว่ามีความหวังมากกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  

แต่พอมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน  พรบ.ด้านสิ่งแวดล้อมกลับไม่ได้เป็นดังที่หลายคนได้คิดและคาดหวัง กลับเปิดช่องให้มีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้ามาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ผ่านกระบวนการและขั้นตอนซึ่งเรารู้จักกันในการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เรารู้จักกันคือ  EIA ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในหลายๆ โครงการจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนให้ทำ EIA   ในหลายประเด็นได้เกิดข้อขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงในระดับพื้นที่ ฉะนั้นจึงสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของ พรบ.สิ่งแวดล้อม และกระบวนการทำ EIA ที่ไม่ใช่การล้มเหลวแบบธรรมดาแต่เป็นการล้มละลายทางความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ติดตามกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะเกิดขึ้นใกล้กับชุมชน ใกล้กับลำน้ำเซบาย กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายก็ได้คัดค้านมาตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการคัดค้านที่ผ่านมาเราใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงของพื้นที่ในการค้านที่มีความชอบธรรม โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในระดับพื้นที่ การแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย การที่โรงงานตั้งใกล้ชุมชน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ คชก. จะต้องนำไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญก่อนที่จะตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

นพพร  กล่าวต่อว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ติดตามกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 โครงการเบื้องต้น พบว่าเสมือนเป็นการจัดทำแบบพิธีกรรม ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่เพื่อคัดค้านไม่ให้มีโครงการ กระบวนการของ พรบ. สิ่งแวดล้อม คชก. และ EIA ยิ่งสร้างความไม่นาเชื่อถือต่อชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องเศร้า แทนที่ พรบ. สิ่งแวดล้อม คชก. และ EIA จะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ให้เกิดความยั่งยืน กลับจะมาซ้ำเติมทำลายทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน

ด้านมะลิจิตร เอกตาแสง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีมติเห็นชอบ จาก คชก. แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมในรัศมี 5 กิโลเมตรและชุมชนที่อาศัยทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ก็ยังไม่เชื่อถือและไม่ยอมรับในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทุกคนไม่เคยหวั่นไหวต่อกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมกลับยิ่งทำให้พี่น้องตื่นตัวคัดค้านเพิ่มมากขึ้น มีแนวทางในการต่อสู้ที่ชัดเจนพร้อมตั้งข้อสังเกตในประเด็น การมีส่วนร่วมตั้งเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะต้องมีก่อนระหว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประเด็นการจัดการน้ำในลำน้ำเซบาย ประเด็นความไม่เหมาะสมในพื้นที่ซึ่งจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องศึกษาให้ละเอียดและรอบคอบ ความไม่น่าเชื่อถือของ พรบ.สิ่งแวดล้อม และกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงไม่ยอมรับและจะยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป

ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงมีข้อเสนอเพื่อเป็นมาตรฐานในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ให้ สผ. ทบทวนยกเลิก มติเห็นชอบ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อมาเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น

2.ให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้เห็นความเหมาะสมของพื้นที่ในการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับ SEA หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการทำ EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ต้องดำเนินการโครงการนั้น

3.ให้มีกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดย

- ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นหน่วยงานกลางที่มีการยอมรับร่วมกัน
- ความสัมพันธ์ของเจ้าของโครงการและบริษัทผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

- มีการจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วม และแสดงถึงผลการพิจารณาข้อคิดเห็นของประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

- กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยชอบธรรมโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมดูแลในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะ

- กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงขั้นตอนการทำรายงานฯ ได้ตลอดทั้งในระยะก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการ 

ซึ่งในวันนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมฌาปณกิจศพเพื่อไล่สิ่งชั่วรายออกจากพื้นที่โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใกล้พื้นที่ โดยมีชาวบ้านร่วมกิจกรรมอย่างมาก เพราะไม่อยากให้เกิดโรงงานขนาดใหญ่ในพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net