อัพเดทคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เกือบ 2 ปี เพิ่งสืบพยาน 2 ปาก

‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ ปีกว่าเพิ่งสืบพยาน 2 ปาก หลักฐานไม่ชัดเจน มีเพียงคำรับสารภาพ คำซัดทอด ที่จำเลยอ้างว่าถูกบังคับให้สารภาพจากการข่มขู่ ทำร้าย ญาติเล่าสถานะทางบ้านลำบาก ต้องเดินทางจากนราธิวาสมากรุงเทพ นักวิชาการชี้ 14 จำเลย ถูกเลือกเพราะเป็นชายขอบ ไม่ได้เป็นนักศึกษา และสถานะทางเศรษฐกิจอ่อนแอ

‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ คือชื่อเรียกเหตุการณ์ กวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม. รามคำแหง กว่า 40 คน วันที่ 10 ต.ค. 2559 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย พยานหลักฐานมีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้จากห้องพัก และต่อมาได้เพิ่มหลักฐานคือสาร PETN ในมือของจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่เคยปรากฎในรายงานมาก่อน

หลายคนถูกปล่อยตัว หลายคนถูกปล่อยแล้วจับอีกครั้ง และล่าสุดมี 14 คนที่ถูกตั้งข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และถูกจำคุกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในปัจจุบัน โดยทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

ในสำนวนฟ้องได้ระบุว่าจำเลยทั้ง 14 คน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี” อันเป็นคณะบุคคลในรูปแบบของการวางแผนร่วมกันจะแบ่งแยกดินแดน และก่อการร้ายในพื้นที่กทม.และสมุทรปราการ แต่ก็มีสมมติฐานจาก กิจจา อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า ชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งจำเลย เป็นการเบี่ยงประเด็นหลักที่ถูกโจมตีทางการเมืองอย่างหนัก เพราะเวลานั้นข่าวร้อนที่สุดอันหนึ่งคือ ‘ทริปฮาวาย’ ที่คณะรองนายกฯ 38 คน เช่าเครื่องลำใหญ่ที่มีความจุของผู้โดยสารได้ 416 คน เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ วันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค. 2559 ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

ความคืบหน้าคดีสืบพยานโจทก์ 2 ปาก แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

ความคืบหน้าคดีในตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยต้นสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีและประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลากล่าวว่ามีการสืบพยานโจทก์สองปาก ส่วนปากแรก คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมาย คสช. ซึ่งเป็นผู้ที่ตามจากรายงานสืบสวนและได้รับมอบหมายให้กล่าวโทษกลุ่มจำเลย ตามหน้าที่ที่ตนเองเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช. ให้การเพียงแค่ว่ามีรายงานข่าวว่าจะมีการก่อเหตุ และมีการจับกุมกลุ่มจำเลยนี้ในพื้นที่หน้ารามคำแหง รายละเอียดเป็นอย่างไรตนเองไม่ทราบ เป็นไปตามรายงานสืบสวน

ปากที่สองคือ ร.ต.ต.อะหมัด หมัดหมาน อดีตตำรวจที่เกษียณแล้ว 13 ปี ซึ่งไม่เคยเป็นพยานของคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อน อ้างว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ รู้เห็นเกี่ยวกับขบวนการ แต่เขาเองก็ไม่เคยรู้จักกับจำเลยทั้งหมดมาก่อน และไม่รู้ว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนรู้เห็นหรือไม่

อาดิลันเล่าเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 10-13 คือกลุ่มที่เคยได้รับการปล่อยตัวและเข้าโครงการดะวะห์ ซึ่งทุกคนคิดว่าพ้นจากข้อหาแล้ว แต่เมื่อครบกำหนดเวลา ก็ถูกพามามอบตัวและถูกดำเนินคดี ทำให้ญาติและครอบครัวโกรธมาก จริงๆ จำเลยทุกคนถูกบอกให้เข้าโครงการดะวะห์  แต่มีเพียง 4 คนนี้ที่สมัครจะจะเข้าโครงการ ซึ่งเขาก็จะได้ข้อมูลและสถิติของคนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปดำเนินคดีเพราะมีข้อมูลอยู่ว่าเป็นผู้กระทำผิด

หลักฐานมีเพียงคำรับสารภาพ คำซัดทอด และสารระเบิด PETN ในมือของจำเลยที่ 3

อาดิลันกล่าวว่า นอกจากสาร PETN ที่มือของจำเลยที่ 3 แล้วไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่สำคัญ สารระเบิดหรือวัตถุระเบิดอื่นก็ไม่พบ แม้มีการอ้างว่าจำเลยได้โยนทิ้งลงในลำคลอง ซึ่งภายหลังมีการงมหาแล้วก็ไม่เจอ คดีนี้จึงมาจากคำรับสารภาพและคำซัดทอดซึ่งกันและกันเท่านั้น คำรับสารภาพแรกเปิดโดยตาลมีซี จำเลยที่ 1 ซึ่งเชื่อมโยงกับว่าใครเป็นคนนัดประชุม วางแผน มีการฝึกซ้อมประกอบระเบิด แยกอุปกรณ์ประกอบระเบิดขึ้นมาที่กรุงเทพฯ แล้วนำไปพักไว้ที่ไหน แล้วนำมารวมกันเพื่อประกอบระเบิด แต่ถูกจับก่อนเพราะมีการเสพน้ำกระท่อม

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ไม่แน่ใจว่าสารระเบิดชนิด PETN โผล่ในคำฟ้องได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีในข้อมูลข่าวสารเลย มีแต่ข่าวที่ยึดข้าวของเครื่องใช้ กล่องน้ำบูดูและเครื่องเทศเท่านั้น

แฟ้มภาพ

จำเลยอ้างรับสารภาพเพราะถูกข่มขู่ ทำร้าย 

อาดิลัน เล่าว่าจำเลยส่วนใหญ่กล่าวว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากถูกข่มขู่ ซ้อม ทำร้าย ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า ที่ 3/58 และ 13/59 ไม่มีพยานหลักฐานการถูกข่มขู่ ซ้อม หรือทำร้าย

คำบอกเล่าของผู้เป็นแม่ อุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4

"ไปทำงานกรุงเทพได้ 20 วัน แกโทรมาบอกว่าอยากกลับบ้านแต่รอเงินเดือนออกก่อน หลังจากนั้น 4 วันแกก็โดนจับ" แม่ของอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 กล่าว

ประชาไทสัมภาษณ์ เมาะซู แม่ของอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยยื่นหลักทรัพย์จำนวน 1,452,000 บาท เนื่องจากจำเลยมีโรคเกี่ยวกับสมอง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุในคำร้องว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากปล่อยชั่วคราวอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี อีกทั้งจำเลยที่ 4 อาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างที่พิจารณา ให้ยกคำร้องคืนหลักประกัน”

เมาะซูเล่าว่า ก่อนหน้านี้อุสมานผ่าตัดสมอง มีผลข้างเคียงคือทำให้การรับรู้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย และก่อนที่จะโดนจับเขาเคยติดเชื้อในกระแสเลือด และผลข้างเคียงจากการติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เป็นไตวาย แต่รักษาจนอาการปกติ นอกจากนี้เขายังเคยมีอาการชัก หายใจไม่ออก มือแข็ง ท้องแข็ง

“แกเป็นเด็กติดแม่มาก ติดบ้าน ปกติจะนอนด้วยกัน เวลาแกฝันร้ายแกจะนอนคนเดียวไม่ได้เลย แกเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่ก็ไม่เกเร ไม่เคยทะเลาะกับเพื่อน ไม่เคยหายออกจากบ้านโดยที่แม่ไม่รู้ว่าไปไหน แกไปไหนแกจะบอกแม่ทุกครั้ง” แม่ของอุสมาน กล่าว

ภาพขณะญาติและครอบครัวของจำเลย 9 คน ในคดีนี้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจำนวน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2560

เมาะซูเล่าต่อว่า “ต่อมาแกมีแฟน ชอบคุยโทรศัพท์ถึงตีสามตีสี่ วันเกิดเหตุแม่ทะเลาะกับแกเรื่องแฟน แกโกรธแม่มากและใช้คำพูดที่ไม่ควรพูดกับแม่ แม่เลยไม่คุยกับแกเลย หลังจากนั้นแกหนีไปกรุงเทพฯ เอามอเตอร์ไซค์ไปจำนำ แกไปทำงานได้ประมาณเดือนกว่า เพื่อนแกก็โทรมาว่าแกมีอาการชัก สุดท้ายแกก็กลับบ้านแล้วมาขอโทษแม่ ก็รักษาจนอาการดีขึ้น แกบอกแม่ว่าไม่อยากไปกรุงเทพฯ แล้ว เพราะอยู่แล้วอดๆ อยากๆ แต่แม่ก็บอกให้ไปทำงานหาเงินมาคืนค่ามอเตอร์ไซต์ที่แกเอาไปจำนำ ทั้งที่แกก็ไม่อยากไปแต่แกก็ไป พอไปทำงานได้ 20 กว่าวันแกก็โทรมาบอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว อยากกลับบ้าน มีเงินเท่านี้คืนแม่ได้ไหม แม่ก็เลยบอกว่ากลับมาก็ได้ ไม่เป็นไร แกก็บอกว่ารอให้เงินเดือนออกแล้วจะกลับ แล้วหลังจากนั้นอีกประมาณ 4 วันแกก็โดนจับ”

เมาะซูเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ตอนนี้ว่าค่อนข้างยากลำบาก นอกจากจะต้องเสียเงินไปมาระหว่างนราธิวาสและกรุงเทพเพื่อมาฟังการพิจารณาคดีที่ศาลแล้ว เธอยังหย่ากับสามีและมีลูกชายอีกสองคนที่ต้องเลี้ยงดู ซึ่งมีอายุ 15 ปี และ 10 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วเธอจะรับจ้างกรีดยาง และรับจ้างงานอื่นจิปาถะ ปลูกกล้วยและผักสวนครัวด้วย แม้จะเป็นแบบนั้นเธอก็ยืนยังที่จะขึ้นมากรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีการนัดจากศาล

“ทนายบอกว่าถ้าเป็นไปได้ทุกครั้งที่ขึ้นศาลอยากจะให้ครอบครัวมาอยู่ด้วย แม่ก็อยากไปเจอลูก แต่แม่ก็ต้องไปคนเดียว เพราะมีเงินไม่พอจะพาลูกอีกสองคนไป แต่แม่ก็ขึ้นมากับครอบครัวของจำเลยคนอื่นๆ ด้วย เพราะเราก็รู้จักกันอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ก่อนหน้านั้นได้คุยกับแก โชคดีที่แกบอกว่าอยู่ในเรือนจำไม่มีอาการชักแล้ว แต่มีแค่อาการความรู้สึกช้า คิดช้า เวลาพูดเยอะๆ แกก็จะตามไม่ทัน”

“แม่การันตีเลยว่าแกไม่เกี่ยวกับขบวนการใดๆ แกไม่เคยไปไหนโดยที่แม่ไม่รู้ เพราะคนที่เข้าร่วมขบวนการบางคนหายออกจากบ้านไปเป็นเดือนๆ โดยที่พ่อแม่ไม่รู้” เมาะซู กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น

นักวิชาการชี้ จำเลยถูกเลือก เหตุเป็นชายขอบ ไม่ได้เป็นนักศึกษา สถานะเศรษฐกิจอ่อนแอ

ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนให้ญาติพี่น้องของจำเลยเยอะมาก เพราะเขาก็อยู่เรือนจำมาได้ปีกว่าๆ แล้ว โดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัวแต่อย่างใด และกระบวนการยุติธรรมก็ล่าช้า ผ่านไปปีกว่าเพิ่งจะสืบพยานโจทก์ปากแรกและปากที่สอง ตัวหลักฐานต่างๆ ก็อ่อนมาก จากที่ติดตามข่าวและฟังจากทนายและพ่อแม่ของจำเลย และอาจมีสาเหตุเนื่องจากเหตุการณ์ ‘ทริปฮาวาย’ ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณและรองนายกฯ คนอื่น ทำให้ต้องตั้งข้อหาที่หนักแบบนี้ คดีนี้ต่างจากคดีภาคใต้อื่นๆ ตรงที่ถูกจับที่กรุงเทพฯ และถูกดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ

“จำเลยเหล่านี้มีบ้านเกิดจากสามจังหวัดชายแดนใต้ และเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อทำงาน เขาต้องมาอยู่รวมกันในห้องเช่าเล็กๆ และแต่ละคนก็เหมือนกับมีสถานะเป็นชายขอบ ช่วงแรกเขากวาดจับเยอะๆ 40 กว่าคน หลังจากนั้นก็เหมือนกันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ที่บ้านยากจน ไม่มีที่ดิน รับจ้างกรีดยาง เป็นต้น เป็นคนชายขอบแม้กระทั่งในชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็ตาม เหมือนกับเขาถูกเลือกขึ้นมาเพราะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา”

ชลิตาอธิบายเพิ่มเติมส่วนของโครงการดะวะห์ว่า เป็นโครงการที่มีมาหลายปีแล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการที่ทหารเข้าไปประสานความร่วมมือกับกลุ่มผู้นำศาสนามุสลิมสายหนึ่งที่เรียกว่ากลุ่มดะวะห์ ซึ่งไปเผยแพร่ศาสนาตามหมู่บ้าน หรือไปแลกเปลี่ยนเผยแพร่ศาสนากับต่างประเทศ ซึ่งเขาร่วมมือเป็นอย่างดีกับทหารและจัดโครงการนำผู้ต้องสงสัยมาอบรมโดยการให้เข้ามาอยู่ในค่ายทหาร มีการอบรมหลายแบบรวมทั้งการอบรมอาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้จะมีการสืบพยานโจทก์อีกครั้งวันที่ 15 พ.ค. นี้ ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท