นับคะแนนเลือกตั้งมาเลเซีย 2018 ฝ่ายค้านแซงชนะรัฐบาล-รัฐมนตรีสอบตกแล้ว 6 ราย

เลือกตั้งมาเลเซียซึ่งเป็นการขับเคี่ยวหนักระหว่างรัฐบาลนาจิป ราซัก ต่อสู้กับมหาธีร์ โมฮัมหมัดที่ผนึกกำลังกับแนวร่วมฝ่ายค้านอดีตคู่ปรับ ล่าสุดผลนับคะแนนช่วงกลางดึกอย่างไม่เป็นทางการฝ่ายค้านได้ที่นั่งเกินครึ่งไปแล้วโดยได้ ส.ส. 122 ที่นั่ง ส่วนรัฐบาลได้เพียง 79 ที่นั่ง ซึ่งหากมีการรับรองผลการเลือกอย่างเป็นทางการ เท่ากับว่าฝ่ายค้านสามารถพลิกเอาชนะพรรครัฐบาลที่ปกครองมาเลเซียมาตั้งแต่ได้รับเอกราชหลัง พ.ศ. 2500

มีรายงานด้วยว่ามีอดีตรัฐมนตรีพรรครัฐบาลแพ้เลือกตั้งเสียที่นั่ง ส.ส. ให้ฝ่ายค้านแล้ว 6 ราย นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านยังชิงฐานเสียงของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกหลายรัฐรวมทั้งรัฐเคดาห์และยะโฮร์

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งนี้จะเป็นการขับเคี่ยวกับระหว่างพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" นำโดยนาจิป ราซัก (ซ้าย) ที่มีข้อกล่าวหายักยอกกองทุน 1MDB กับ อดีตนายกรัฐมนตรีพรรครัฐบาล มหาธีร์ โมฮัมหมัด (กลาง) ที่หันไปจับมือกับฝ่ายค้านคู่อริเก่าที่มีทั้งอันวาร์ อิบราฮิม, วัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล ฯลฯ (ขวา) ตั้งพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง"

บรรยากาศชาวมาเลเซียเข้าแถวรอลงคะแนนยาวเหยียดในหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งที่เมืองยะโฮร์บารู รัฐยะโฮร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซีย เมื่อ 9 พฤษภาคม 2561 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดย Leven Woon)

10 พ.ค. 2561 ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย ตามที่รายงานในมาเลเซียกินีเมื่อเวลา 01.57 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 00.57 น. ตามเวลาประเทศไทยนั้น พรรคแนวร่วมรัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" ได้ที่นั่ง ส.ส. รวม 73 ที่นั่ง ส่วนแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" และพรรคมรดกซาบาห์ หรือ Warisan ได้ ส.ส. รวมกัน 107 ที่นั่ง ส่วนพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียหรือพรรค PAS ได้ ส.ส. 16 ที่นั่ง ขณะที่ผู้สมัครอิสระได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง ขณะที่ยังไม่ทราบผลอีก 23 เขตเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 02.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 01.50 น. ตามเวลาประเทศไทย พรรคแนวร่วมรัฐบาลได้ที่นั่ง ส.ส. รวม 76 ที่นั่ง ส่วนแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" และพรรคมรดกซาบาห์ หรือ Warisan ได้ ส.ส. รวมกัน 118 ที่นั่ง ส่วนพรรค PAS ได้ ส.ส. 17 ที่นั่ง ขณะที่ผู้สมัครอิสระได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง ขณะที่ยังไม่ทราบผลอีก 8 เขตเลือกตั้ง โดยเท่ากับว่าพรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. เกิน 112 ที่นั่งซึ่งเพียงพอสำหรับตั้งรัฐบาลแล้ว

ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. ตามเวลาประเทศไทย มาเลเซียกินีรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการล่าสุดของทั้ง 222 เขตเลือกตั้ง แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" และพรรคมรดกซาบาห์ หรือ Warisan ได้ ส.ส. รวมกัน 122 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมรัฐบาลได้ ส.ส. 79 ที่นั่ง ส่วนพรรค PAS ได้ ส.ส. 18 ที่นั่ง ขณะที่ผู้สมัครอิสระได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง

สำหรับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซียซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างแนวร่วมพรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) หรือ BN และแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) หรือ PH ซึ่งเปิดลงคะแนนในเวลา 08.00 - 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 222 ที่นั่ง และที่นั่งในสภาของรัฐบาลท้องถิ่นอีก 505 ที่นั่งในพื้นที่ 12 รัฐจากทั้งหมด 13 รัฐ

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคที่ชนะตั้งรัฐบาลได้ต้องรวมเสียงข้างมากให้ได้ตั้งแต่ 112 ที่นั่งขึ้นไป โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้ง 14,940,624 คน โดยข้อมูลเมื่อเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นมีผู้มาใช้สิทธิ 69% อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาปิดหีบเวลา 17.00 น. กระทั่งถึงเวลาที่รายงานข่าวอยู่นี้ ยังไม่มีรายงานจำนวนผู้มาใช้สิทธิโดย กกต.มาเลเซีย

ทั้งนี้ กกต.มาเลเซียถูกวิจารณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเลือกจัดวันเลือกตั้งในวันพุธ แทนที่จะจัดเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์ นอกจากนี้ในวันเลือกตั้ง ขั้นตอนการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งยังเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีผู้มาเข้าแถวรอใช้สิทธิเลือกตั้งยาวเหยียด และจนถึงเวลาปิดหีบเวลา 17.00 น. มีรายงานจากหลายหน่วยเลือกตั้งที่ยังคงมีประชาชนรอใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้ลงคะแนน

โดยในการแถลงกลางดึกของมหาธีร์ นอกจากเขาจะยืนยันความมั่นใจของแนวร่วมฝ่ายค้านว่าได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่งไปแล้ว มหาธีร์ยังตำหนิ กกต.มาเลเซียด้วยว่าไม่ยอมทำตามหน้าที่

ในการแถลงข่าวเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอบคำถามว่าจะดำเนินคดีเอาผิดนาจิป ราซัก หรือไม่ โดยมหาธีร์ตอบว่าเขาไม่มุ่งแก้แค้น แต่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม นอกจากนี้ในเวลา 05.15 น. มหาธีร์กล่าวด้วยว่ารัฐบาลใหม่ จะมุ่งทำงานเพื่อขออภัยโทษให้กับ "อันวาร์ อิบราฮิม" อดีตเด็กปั้นและคู่อริทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันหันมาฟอร์มทีมเดียวกัน

"เมื่อเขาได้รับการอภัยโทษ เขาจะมีคุณสมบัติพอที่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่เขาจะต้องลงสมัครการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรืออย่างน้อยไปลงสมัคร ส.ว." มหาธีร์กล่าวในการแถลงข่าว

 

หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล-รัฐมนตรีอย่างน้อย 6 รายสอบตก

ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 9 พ.ค. เวลา 21.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของมาเลเซีย มีรายงานในเว็บไซต์มาเลเซียกินีว่าหัวหน้าพรรคการเมือง และรัฐมนตรีว่าการในพรรคร่วมรัฐบาล BN 2 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 คน แพ้การเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 มาเลเซีย

โดย Liow Tiong Lai หัวหน้าพรรคสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน หรือ MCA และยังเป็น รมว.คมนาคม แพ้การเลือกตั้งที่เขต Bentong รัฐปาหัง ให้กับ Wong Tack จากพรรคกิจประชาธิปไตย หรือ DAP

ส่วน S Subramaniam หัวหน้าพรรคมาเลเซียอินเดียคองเกรส หรือ MIC ซึ่งเป็น รมว.สาธารณสุข แพ้การเลือกตั้งให้กับ Edmund Santhara จากพรรคยุติธรรมประชาชนหรือ PKR ที่เขต Segamat รัฐยะโฮร์

มาเลเซียกินีรายงานด้วยว่า Mah Siew Keong ผู้นำพรรค Gerakan ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งก็กำลังแพ้คะแนนให้กับ David Nga จากพรรค DAP

นอกจากนี้มีรัฐมนตรีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการที่แพ้เลือกตั้งได้แก่ Razali Ibrahim รมช.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรค UMNO แพ้ที่เขต Muar รัฐยะโฮร์

Chua Tee Yong รมช.การค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม จากพรรค MCA แพ้ที่เขต Labis รัฐยะโฮร์

Hamim Samuri รมช.ทรัพยากรธรรมชาติ จากพรรค UMNO แพ้ที่เขต Ledang รัฐยะโฮร์ และ Nogeh Gumbek รมช.เกษตร จากพรรคประชาธิปไตยซาราวักก้าวหน้า (SPDP) แพ้ที่ Mas Gading รัฐซาราวัก

 

ศึกขับเคี่ยวระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน+อดีตรัฐบาล

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นกลางสัปดาห์คือ 9 พฤษภาคม 2561 นั้นเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างแนวร่วมพรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) หรือ BN และแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) หรือ PH

โดย "แนวร่วมแห่งชาติ" ปกครองมาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2500 ส่วนพันธมิตรแห่งความหวัง รวมตัวกันตั้งแต่ 22 กันยายน 2558 แทนที่แนวร่วมฝ่ายค้านเดิมคือ "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat) หรือ PR หลังจากพรรคร่วมฝ่ายค้านคือพรรคกิจประชาธิปไตย DAP มีแนวทางไม่ตรงกับพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือ PAS ในเรื่องการใช้กฎหมายชารีอะห์

โดยพรรคฝ่ายค้านใหม่ประกอบด้วย พรรคยุติธรรมประชาชน PKR พรรคกิจประชาธิปไตย DAP พรรค AMANAH ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรค PAS และต่อมาในเดือนกันยายน 2559 พรรค Bersatu หรือ PPBM ที่มีอดีตรองรัฐมนตรีรัฐบาลนาจิป และมหาธีร์ โมฮัมหมัด มาเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งและครองอำนาจในมาเลเซียมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2500 อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังคือการเลือกตั้งปี 2551 และ 2556 ฝ่ายรัฐบาลได้ที่นั่ง ส.ส. ไม่ถึง 2 ใน 3 ติดต่อกัน และฝ่ายค้านได้ที่นั่ง ส.ส. เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี 2556 ที่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านได้คะแนนรวมทั่วประเทศมากกว่ารัฐบาล คือ 50.87% ต่อ 47.38% อย่างไรก็ตามด้วยการออกแบบเขตเลือกตั้งที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเขตเมืองและชนบท จึงทำให้พรรครัฐบาลยังรักษาที่นั่ง ส.ส. เอาไว้ได้ที่ 140 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายค้านได้ 82 ที่นั่ง

 

อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ไม้เบื่อไม้เมาฝ่ายค้าน สู่ผู้ท้าชิงรัฐบาล

สำหรับผู้นำพรรคฝ่ายค้าน มหาธีร์ โมฮัมหมัด อายุ 92 ปี เกิดที่อลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยของมาเลเซียระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2546 และก่อนหน้านี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับฝ่ายค้านซึ่งนำโดยอันวาร์ อิบราฮิม-หลิมกิตเสียง มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีกรณีอื้อฉาวเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ซึ่งถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย หรือ 1MDB ทำให้เขาออกมาวิจารณ์นาจิปบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกันนาจิปเองก็สั่งปลดรัฐมนตรีหลายคนที่เรียกร้องให้เขาออกมาอธิบายเรื่องนี้รวมทั้งมุไฮยิดดิน ยาซิน (Muhyiddin Yasin) รองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.จากรัฐยะโฮร์ ทำให้ต่อมาเขาออกไปตั้งพรรคเบอซาตู (Bersatu) หรือ PPBM ในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งเขาเชิญมหาธีร์เข้าร่วมด้วย

(ซ้าย) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 90 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย และภรรยา เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 ขณะที่คนที่ช่วยอำนวยความสะดวกพามหาธีร์ฝ่าฝูงชน คือคู่ปรับเก่าอย่าง "ฉัว เทียนชาง" ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคยุติธรรมประชาชน หรือ PKR ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" สมัยที่เพิ่งตั้งพรรคฝ่ายค้าน เคยถูกตำรวจมาเลเซียทุบและควบคุมตัวเมื่อเดือนเมษายนปี 2542 (ขวา) หลังจากที่เขานำผู้ชุมนุมกว่า 3,000 คน ประท้วงคำตัดสินของศาลซึ่งลงโทษ อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้จำคุก 6 ปี ในข้อกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) นอกจากนี้ เทียน ฉัว ยังเคยถูกจองจำในปี 2544 ในยุคของมหาธีร์ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) ในข้อกล่าวหาเตรียมอาวุธร้ายแรงโค่นรัฐบาล (ที่มา: มาเลเซียกินี)

โดยมหาธีร์ปรากฏตัวในที่การชุมนุมใหญ่ของเบอเซะ หรือ "Bersih 4.0" ที่จัดโดยฝ่ายค้าน อดีตคู่อริของเขาที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ระหว่าง 29-30 สิงหาคม 2558

โดยในการชุมนุมดังกล่าวผู้ที่ช่วยพามหาธีร์ ฝ่าฝูงชนเข้ามาในจัตุรัสเมอเดก้า ก็คือ ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) ซึ่งในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2544 เทียนฉัว เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) มาแล้ว โดยเขาถูกรัฐบาลมหาธีร์กล่าวหาว่าเตรียมโค่นรัฐบาลด้วยการใช้ "ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด ระเบิดขวด สะเก็ดลูกปืน และอาวุธอันตรายอื่นๆ"

เทียนฉัวให้สัมภาษณ์ในเวลานั้นว่า "มหาธีร์มีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเขาสนับสนุน (Bersih 4.0) แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะลืมไปว่าส่วนหนึ่งของปัญหาทุกวันนี้ก็มาจากระบบที่มหาธีร์สร้างขึ้น ในขณะที่พื้นที่ประชาธิปไตยกลับถูกปิดลง" เขากล่าวต่อว่า "ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือกันในวันนี้" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ท่าทีของมหาธีร์ยิ่งมาทางฝ่ายค้านมากขึ้น หลังจากมุคริซ มหาธีร์ บุตรชาย ถูกบีบจากรัฐบาลนาจิปให้ลาออกจากตำแหน่งมุขมนตรีรัฐเคดาห์ เมื่อกุมภาพันธ์ 2559 และในเดือนกันยายน 2559 เขาก็เข้าร่วมกับพรรค PPBM ที่แยกตัวออกมาจากรัฐบาลนาจิป

และในเดือนพฤศจิกายน 2559 พรรค PPBM ก็เข้าร่วมกับพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) หรือ PH

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซีย พรรคฝ่ายค้านเลือกคู่อริเก่าของพวกเขาคือ "มหาธีร์ โมฮัมหมัด" เป็นประธานแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน และถูกวางตัวเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนภรรยาของอันวาร์ อิบราฮิม คือวัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล ถูกวางตัวเป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งถูกจองจำ และการคืนดีของมหาธีร์

ส่วนอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำสำคัญของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน เคยถูกมหาธีร์ปลดออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 และถูกฟ้องจำคุกข้อหาคอร์รัปชันและร่วมเพศทางทวารหนัก ต่อมาหลังจากพ้นโทษเมื่อปี 2547 และพ้นกำหนดห้ามรับตำแหน่งการเมืองในปี 2551 เขาก็ลับมาเล่นการเมืองในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตามเขาถูกฟ้องในข้อหาร่วมเพศทางทวารหนักอีกครั้งในปี 2551 ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องเมื่อมกราคม 2555 แต่เขาถูกศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินเมื่อ 4 มีนาคม 2557 ให้ควบคุมตัวเขาระหว่างดำเนินคดี อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลสูงสุดของมาเลเซียก็มีคำตัดสินสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และยืนยันโทษจำคุก ซึ่งผู้สนับสนุนเขาเห็นว่าคดีนี้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง

อนึ่งรายงานในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย Sin Chew Daily เมื่อ 12 มีนาคม 2561 มหาธีร์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าหากเขาสามารถย้อนเวลาได้เขาจะไม่ตัดสินใจไล่อันวาร์ อิบราฮิมออกจากตำแหน่งรองรายกรัฐมนตรี และกล่าวด้วยว่าเขาขอสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเกลียดเขาอีกแล้ว

ส่วนอันวาร์ซึ่งปัจจุบันถูกย้ายที่จองจำมารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการผ่าตัดไหล่ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงด้วยการเลือกพรรคฝ่ายค้าน โดยตัวของอันวาร์นั้นคาดหมายว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 8 มิถุนายนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท