Skip to main content
sharethis

แผนปฎิรูปสื่อมวลชนเตรียมดันกฎหมายคุมสื่อฯ ภายในปี 2561 ตั้ง 9 กรรมการสภาวิชาชีพฯ กำหนดมาตรฐานจริยธรรมสื่อ กำกับดูแลสื่อที่ไม่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพใด พร้อมเพิ่มมาตรการเอาผิดสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ที่เผยแพร่เนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันหลักของประเทศ

สำหรับแผนการการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านซึ่งลงหลักปักฐานประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2561 เป็นต้นมา สื่อมวลชนคือ อีกเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาล คสช. เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป

การปฏิรูปหลักๆ ที่มีการวางแผนไว้โดย คณะกรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมี จิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาล คสช.  มีทั้งหมด 6 เรื่อง ประกอบด้วย การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน , การวางแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ , การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ , การปฏิรูปแนวทางการกeกับดูแลสื่อออนไลน์ , การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์/ กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ และการปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ

รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

1.นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการ

อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช.

2.นางกนกทิพย์ รชตะนันทน์ กรรมการ

อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ , ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

3.พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร กรรมการ

อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.

4. นายธงชัย ณ นคร กรรมการ

บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

5.ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กรรมการ

ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ 

6.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด กรรมการ

ผู้บริหารสื่อเครือเดลินิวส์

7.ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์ กรรมการ

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันการบินพลเรือน , สภาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ

8.นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการ

รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน

9.นายเสรี วงษ์มณฑา กรรมการ

อดีตคณบดีคณะวารศาสตร์ศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , แกนนำกปปส. เวทีราชประสงค์

10.นายสุทธิชัย หยุ่น กรรมการ

อดีตประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

11.ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการและเลขานุการ

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รายชื่อเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

1.นายเสรี วงษ์มณฑา ผู้ช่วยเลขานุการ

 

.

2.นางสาวกุลทิพย์ ศาสตระรุจจิ ผู้ช่วยเลขานุการ

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คระนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

ในส่วนของการวางแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ได้วางเป้าหมายไว้ทั้งหมด 4 เรื่อง คือส่งเสริมให้เกิดสภาผู้ประกอบการและนักวิชาการด้านสื่อมวลชนระดับชาติในการทำหน้าที่กำหับดูแลกันเองของผู้ประกอบการ และผู้ประกอบวิชาชีพ , สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพของนักการสื่อสารมวลชน , สนับสนุนให้เกิดระบบผู้ตรวจการ (ombudsman) เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ และกำกับ มาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งในระดับองค์กร ในระดับกลุ่มวิชาชีพ และในสภาระดับชาติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ สนับสนุนให้เกิดคู่มือมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพสื่อ

ดัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวล เป็นกฎหมายภายในปี 2561

โดยภายในปี 2561 ได้กำหนดแผนการดำเนินการเอาไว้วาง ในช่วง 2 ไตรมาสแรก ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวล พ.ศ. .... ประกอบด้วยตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา , ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ , ผู้ ประกอบกิจการสื่อ , ตัวแทนภาควาการด้านนิเทศศาสตร์ และการสื่อสารมวลชน และตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้าน สื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

ต่อมาในไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือน มิ.ย.- ส.ค. จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ตรวจ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ จากนั้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ในและปี 2562 หลักจากที่กฎหมายมีผลบังคับจะให้สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายธุรการชั่วคราวเพื่อเริ่มการสรรหากรรมการบริหาร และจัดตั้งสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อ

ในส่วนของสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้มีการกำหนดโครงร่างไว้ว่า จะเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้น มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนวิชาชีพใน ประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังคงรักษาหลักการ “กำกับดูแลกันเอง” ของสื่อมวลชนโดยองค์กรวิชาชีพ แต่ให้มีองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมาทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อที่ไม่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพใด

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลกันเองให้เข้มข้นขึ้น โดยให้องค์กรสื่อมวลชน ทุกแขนงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมภายในองค์กร (Media Ombudsman) ไม่ว่าองค์กรสื่อมวลชนนั้น จะถูกกำกับดูแลโดยตรงจากองค์กรวิชาสื่อที่จัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มมาตรการลงโทษองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติ ตามมติขององค์กรวิชาชีพที่สังกัด หรือองค์กรวิชาชีพสื่อที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้วแต่กรณี

ให้มีมาตรการส่งเสริมจริยธรรมและทักษะวิชาชีพผ่านการฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยให้ สภาวิชาชีพที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ให้แก่องค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมในระดับต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุน การมีส่วนร่วมและความตื่นตัวของภาคประชาชนในการกำกับดูแลสื่อมวลชน ผ่านการอบรม เรียนรู้เพื่อให้เท่าทันสื่อ

จัดให้มีกลไกในการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ปฏิบัติตาม กรอบจริยธรรมวิชาชีพจากการถูกแทรกแซงโดยรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ

9 กรรมการสภาวิชาชีพ กำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อฯ พร้อมให้อำนาจลงโทษผู้ฝ่าฝืน

ทั้งนี้ในร่างกฎหมายจะกำหนดให้มี คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยประธานกรรมการ กรรมการซึ่งสมาชิกคัดเลือกกันเองจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวม 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสรรหาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละ 1 คนจำนวนทั้งสิ้น 9 คน

โดยมีอำนาจหน้าที่ในการ กำาหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับ, ส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน, ส่งเสริมการรวมกลุ่มและการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชนและองค์การวิชาชีพ สื่อมวลชนในระดับชาติ ภูมิภาค , พิจารณาเรื่องร้องเรียน ในกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรมผ่านองค์กรสื่อมวลชนที่สังกัด , พิจารณา ตักเตือน ปรับ หรือแก้ไขข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หรือดำเนินการโดยตรงแล้วแต่กรณี ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่าองค์กรสื่อมวลชน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด เผยแพร่คำวินิจฉัย เรื่องร้องเรียนต่อสาธารณชน ตลอดจนการกำหนดโทษปรับทางปกครอง และการส่งคำวินิจฉัย ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วย กสทช. และกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้อง เพื่อลงโทษผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน แต่งตั้งโดย คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนองค์กรสื่อมวลชนที่ ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนวินิจฉัย

การได้มาซึ่ง 9 คณะกรรมการวิชาชีพสื่อฯ

ตามหลักการในแผนปฎิรูปสื่อฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสื่อฯ ทั้งหมด 9 คน โดย 5 คนแรกให้มาจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไปนี้ กลุ่มสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ , กลุ่มสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ , กลุ่มสภาวิชาชีพด้านสื่อออนไลน์ , กลุ่มสมาคมวิชาชีพด้านหนังสือพิมพ์ระดับชาติ , กลุ่มสมาคมวิชาชีพด้านวิทยุและโทรทัศน์ระดับชาติ และกลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น ให้คัดเลือกกันให้เลือกกลุ่มละ 2 คน โดยต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ที่มีสังกัด 1 คนและผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอีก 1 คน

จากนั้นให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน 9 คน ประกอบด้วย คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาทางด้านนิเทศศาสตร์หรือ สื่อสารมวลชน จาก3 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือกลุ่มละ 3 คน รวม 9 คน ทำหน้าที่ในการคัดเลือกรายชื่อที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกลุ่มต่างๆสื่อเข้ามาให้เหลือเพียง 5 คน ส่วนที่มาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฒิด้านนิเทศศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ ด้านสิทธิมนุษยชน รวม4 คน ยังไม่ได้มีการกำหนดที่มา

หวังกำกับดูแลสื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดีย สร้างนวัตกรรม ตรวจสอบ ระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย

สำหรับการแนวทางกำกับดูแลสื่อออนไลน์ มีการตั้งเป้าหมาย เพื่อพัฒนาส่งเสริมและกำกับการบริหารจัดการร่วมกันของเครือข่ายความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ โดยเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ตามแนวทางประชารัฐ , เน้นนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูล และคุ้มครอง การทeธุรกรรมออนไลน์ของประชาชน และปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต , นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบูรณาการงานด้านการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การตรวจสอบ และการระงับการเผยแพร่ข้อมูล-ข้อความที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งระบบแจ้งกลับ และการเยียวยาผู้เสียหายจากภัยทางออนไลน รวมทั้ง การจัดทำกลไกการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในต่างประเทศในการแก้ไขปัญหา อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

โดยภายในปี 2563 มีความคาดหวังว่าจะเกิด ส่วนงานหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานงานกับ ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ในและต่างประเทศ ให้มีลักษณะ Official Point of Contact เพียงหน่วยงานเดียว มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการ มาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เพื่อเป็นการกดดันผู้ให้ บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศ อาทิเช่น ยื่นฟ้องร้องทางแพ่ง ในกรณีเป็นการเผยแพร่เนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อ ความมั่นคงแห่งชาติและสถาบันหลักของประเทศ ที่ไม่สามารถเจรจาขอความร่วมมือได้ มีระบบศูนย์ข้อมูลกลางการระงับการแพร่หลายข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย ผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เพื่อให้ครอบคลุม การเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ ซึ่งใช้ระบบ Content Delivery Network (CDN) ในประเทศ

ทั้งนี้ได้มีการเสนอให้ แก้ไขระเบียบและประกาศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรองรับการจัดตั้ง ระบบศูนย์ข้อมูลการระงับการแพร่หลายข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายที่มีผลกระทบด้านความมั่นคงในทุกมิติด้วย

อย่างไรก็ตามการระงับยับเนื้อหาที่มีการเผยแพร่บนเว็บไชต์ต่างๆ ในเวลานี้มีผลบังคับใช้อยู่แล้วตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net