นักการเมืองหญิงยังถูกกลั่นแกล้ง-คุกคาม ในการเลือกตั้งท้องถิ่นศรีลังกา

ถึงแม้การเลือกตั้งท้องถิ่นศรีลังกาจะจบสิ้นไป 2-3 เดือนแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่ากล่าวถึงคือกรณีการข่มขู่คุกคามนักการเมืองหญิงที่ลงสมัครเลือกตั้งที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมือง นักข่าวศรีลังกาจากสื่อพลเมืองกราวน์วิวส์ อมาลินี เดอ เซย์ราห์ และ ไรซา วิกเกรมาทังก์ รวบรวมรายงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้

ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือน ก.พ. 2561 ศรีลังกาจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้ามากขึ้นบ้างในประเด็นความเท่าเทียมกันทางเพศจากการที่กำหนดโควตาผู้แทนฯ ที่เป็นผู้หญิงร้อยละ 25 ในสภาท้องถิ่น แต่การเมืองศรีลังกาก็ยังคงมีการข่มขู่คุกคาม การข่มเหงรังแก การเหยียด ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงต่อตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิง

ในการกำหนดโควตานักการเมืองหญิงในการเลือกตั้งท้องถิ่นของศรีลังกา ทำให้หลายกลุ่มแสดงความยินดีโดยเฉพาะกลุ่มด้านสิทธิสตรี แต่ทว่าศูนย์เพื่อการเฝ้าระวังความรุนแรงช่วงเลือกตั้งของศรีลังกาก็ตรวจพบว่าเกิดกรณีการคุกคามรังแกตัวแทนหญิงและแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงต่อพวกเธอ เช่น การใช้ก้อนหินขว้างปาบ้านของพวกเธอ ผู้สมัครหญิงคนหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้สนับสนุนเธอเอง มีกรณีกลุ่มคนที่สนับสนุนคู่แข่งไปล้อมบ้านผู้สมัครหญิงรายหนึ่งจนเธอเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองและลูกสาวจนต้องถอนตัวจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการกลั่นแกล้งด้วยวิธีการอ้างกฎหมายอย่างการยื่นคำร้องในเรื่องเท็จต่อตำรวจเพื่อกล่าวหาผู้สมัครหญิง

กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งระบุว่าคนที่ก่อเหตุเหล่านี้จำนวนหนึ่งถูกบงการโดยผู้สมัครชาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักบวชทางศาสนาที่รณรงค์ต่อต้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง ความรุนแรงเหล่านี้ถูกประณามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่าเป็นการทำลายความสำคัญของการมีตัวแทนผู้หญิงในการเมือง

ถึงแม้ว่าการข่มขู่คุกคามทางกายภาพและทางทรัพย์สินจะถูกบันทึกไว้อย่างครอบคลุมหลายกรณี แต่ก็ยังมีความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังคงมีคนพูดถึงน้อยคือความรุนแรงการสื่อสารทางเทคโนโลยีทั้งโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปข่มขู่ โดยที่สมาคมเพื่อการสื่อสารอย่างก้าวหน้าเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า "ความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี" ซึ่งบางครั้งความรุนแรงจากโลกออนไลน์ก็ส่งผลกระทบมาถึงโลกภายนอกด้วยไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจของผู้คนหรือกระทั่งความรุนแรงทางกายภาพ

ในรายงานของอมาลินี เดอ เซย์ราห์ และ ไรซา วิกเกรมาทังก์ ที่นำเสนอในสื่อพลเมืองกราวน์วิวส์ยังได้พูดคุยกับผู้ลงสมัคร ส.ส.ท้องถิ่นหญิงหลายคนซึ่งถูกถึงการถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ

เจกาธีสวารัม จยาจันดริกา หรือที่รู้จักในนาม "มีนา" ผู้ลงสมัครสังกัดพรรคยูเอ็นพีเล่าเรื่องที่ถูกคุมคามจากการที่ผู้คนขว้างปาก้อนหินใส่ รวมถึงกล่าวแสดงความไม่พอใจที่ตำรวจไม่ยอมสืบสวนกรณีที่เธอถูกคุกคาม นอกจากนี้ยังมีการรังแกผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยการตัดต่อรูปเธอเข้าไปอยู่กลางกลุ่มผู้ชายแล้ววงรูปหน้าเธอด้วยวงกลมสีแดงพร้อมข้อความที่ระบุว่า "เธอเป็นเมียน้อยรัฐมนตรีคนอื่นสักคนหนึ่งในรูปนี้"

การข่มเหงรังแกด้วยการตัดต่อรูปมีนาทำให้ผู้หญิงที่อาสาสมัครรณรงค์หาเสียงให้เธอเลิกเข้าร่วมเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นเป้าหมายไปด้วย หลังจากที่ถูกคุกคามมีนาก็ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้เธอเล็งเห็นว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติทางเพศในการเมืองศรีลังกา

ทางด้านโรซี เซนานายาเก นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของเมืองโคลอมโบบอกว่าปัญหาการคุกคามผู้หญิงในตอนนี้มักจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะกับคนในช่วงอายุใดก็ตาม บางครั้งก็เป็นการสื่อสารแบบแพร่จากกลุ่มเฟสบุ๊คไปสู่โปรแกรมแช็ตต่างๆ สิ่งที่เธอพบเจอมาคือการแสดงความคิดเห็นลดทอนคุณค่าของผู้หญิงว่าไม่ควรค่าพอกับการเป็นนักการเมือง ถูกกล่าวหาในเรื่องที่เธอไม่มีอำนาจควบคุม ทั้งนี้ เซนานายากาก็บอกว่าพื้นที่ออนไลน์ทำให้เธอได้รับเสียงสนับสนุนเช่นเดียวกัน การรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตจึงมีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง

เจวานี กริยาวาซัม สมาชิกสภาเมืองชิลอว์และทนายความมองเรื่องเกี่ยวกับโลกออนไลน์แบบเดียวกับเซนานายาเกคือมันมีส่วนช่วยให้การรณรงค์กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้มีกลุ่มคนที่ปกปิดชื่อตัวเองคุกคามทั้งในอินเทอร์เน็ตและแผ่ขยายออกมาคุกคามในโลกความจริงด้วย การคุกคามเหล่านี้ยังส่งผลกระทบมาถึงครอบครัวเธอ เช่นเคยมีคนโทรขู่ฆ่าเธอ ขู่ไม่ให้เธออกจากบ้านแล้วแม่เธอเป็นคนรับสาย รวมถึงถูกขู่ไม่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทางการ

นอกจากนี้ตอนที่กริยาวาซัมวิพากษ์วิจารณ์ กนาสรา เธโร และอัมพิติยา สุมานา เธโร ผู้นำกลุ่มพุทธหัวรุนแรงโบดู บาลา เซนา ผ่านทางเฟสบุ๊คก็มีคนโต้ตอบเธออย่างหนัก กริยาวาซัมวิจารณ์ที่กลุ่มพุทธกลุ่มนี้สนับสนุนความรุนแรงต่อกลุ่มน้อยศาสนาอื่นโดยเฉพาะมุสลิม

แม้แต่ผู้หญิงที่ไม่ได้อยากลงเล่นการเมืองเอง แต่เป็นนักสตรีนิยมที่อยากส่งเสริมผู้หญิงในพื้นที่การเมืองอย่าง บิสลิยา บุตโต ก็ถูกคุกคามหลังจากที่มีคนเสนอรายชื่อเธอเข้าชิงตำแหน่งในการเลือกตั้ง บุตโตเล่าว่าไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้นที่ทำการข่มเหงรังแกผู้สมัครหญิง แม้แต่ตำรวจก็มีส่วนคุกคามผู้สมัครหญิงด้วยในกรณีที่เธอเผชิญคือการที่ตำรวจบุกเข้ามาในบ้านยามวิกาล พวกเธอถูกกล่าวหาในเรื่องทางการเงินที่ไม่เป็นความจริงและถูกกล่าวหาเรื่องมีอาวุธในครอบครอง

นอกจากกลุ่มศาสนาพุทธจะพยายามกีดกันผู้หญิงจากพื้นที่การเมืองในศรีลังกาแล้ว บุตโตเล่าว่าแม้แต่ศาสนาอิสลามเองก็มีครูสอนศาสนาเผยแพร่บทเทศนาต่อต้านการที่ผู้หญิงเข้าไปเป็นนักการเมืองโดยกล่าวหาว่าผู้หญิงที่ลงสมัครเลือกตั้ง "ไม่ใช่หญิงมุสลิมที่แท้จริง" เมื่อวิดีโอเผยแพร่ออกไปก็ส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนทางการเมืองที่พวกเธอได้รับ มีกลุ่มสิทธิสตรีกลายกลุ่มที่ส่งจดหมายร้องเรียนเรื่องนี้ไปให้กับหัวหน้าสารวัตรตำรวจได้รับทราบแต่ก็ยังมีความกังวลว่ากระบวนการยุติธรรมในศรีลังกาจะให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงได้จริงหรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

An Uneven Playing Field, Groundviews, 04-05-2018

 

An uneven playing field for female candidates in Sri Lanka, Global Voices, 09-05-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท