สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 พ.ค. 2561

 

ก.แรงงาน พลิกชีวิตผู้ต้องขัง จัดคอร์สฝึกอาชีพแล้วกว่า 4 พันคน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กพร. กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนิน “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง” จำนวนกว่า 37,000 คนนั้น มีการประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในระดับพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสและคุณภาพที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทักษะฝีมือ ส่งเสริมการมีงานทำของคนทุกเพศ ทุกวัย ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในปี 2560 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 7,313 คน ส่วน ในปี 2561 ดำเนินการฝึกอบรมแล้ว 4,168 คน จากที่ตั้งเป้าหมาย 2,485 คน ส่วนความร่วมมืออื่นๆ มีการแนะแนวอาชีพ ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน แนะนำการประกอบอาชีพอิสระ รับลงทะเบียนและบริการจัดหางานให้ ซึ่งเมื่อพ้นโทษสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพอิสระได้

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้สนพ.พะเยาหน่วยงานในสังกัดกพร. ได้ร่วมมือกับเรือนจำจังหวัดพะเยา เปิดฝึกอาชีพเสริมและทดสอบฯ ตามโครงการดังกล่าว ให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 4 รุ่น ได้แก่ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 จำนวน 2 รุ่น สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 จำนวน 1 รุ่น และสาขาพนักงานนวดไทย ระดับ 1 จำนวน 1 รุ่น รวมทั้งสิ้น 100 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทดสอบฯ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม ศกนี้ ณ เรือนจำจังหวัดพะเยา ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา ทางสนพ.พะเยา เน้นเลือกฝึกอาชีพร่วมกับการทดสอบฯ ในสาขาที่ได้รับการประกาศค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างตามฝีมือซึ่งจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และยังเป็นสาขาที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของสถานประกอบกิจการ นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่ผ่านมาตรฐานฝีมือฯ ในสาขาที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ อย่างสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จะได้รับการประเมินความรู้ความสามารถภายในเรือนจำ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ ได้เมื่อพ้นโทษ และมีแผนการฝึกอบรมและทดสอบฯ ในเดือนมิถุนายน อีกด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติดานุสรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพะเยา กล่าวว่าการฝึกอบรมและทดสอบฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยทางหอการค้าจังหวัดพะเยา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการประสานกับนายจ้างและสถานประกอบกิจการ ในการเผยแพร่ข้อมูล สร้างการรับรู้และเจตคติที่ดีในการรับผู้ต้องขังเข้าทำงาน รวมถึงมุ่งเน้นการรับงานจ้างจากสถานประกอบกิจการให้ผู้ต้องขังได้ผลิตชิ้นงานภายในเรือนจำ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ผู้ต้องขัง เป็นการลดเวลาว่างและเพิ่มทักษะฝีมือให้กับผู้ต้องขังระหว่างต้องโทษด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/5/2561

ไต้หวันจ่ายเต็มที่ 2 ชีวิตแรงงานไทยในเหตุไฟไหม้โรงงาน

วันที่ 11 พ.ค.2561 นายธงชัย ชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เปิดเผยถึงการช่วยเหลือครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ที่บริษัทชินพูน สาขาผิงเจิ้น เป็นโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้า หรือ PCB รายใหญ่ของโลก เมื่อค่ำวันที่ 28 เม.ย.2561 โดยแรงงานไทยที่เสีย ชีวิต 2 คน ได้แก่ นายภานุพงษ์ เสงี่ยม อายุ 24 ปี ชาว จ.ฉะเชิงเทรา และนายเชิดศักดิ์ บุรัมสูงเนิน อายุ 42 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ จัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน เอสพี ลีดเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด ของคนไทย และบริษัทจัดหางาน SUMMIT CO.,LTD. ของชาวไต้หวัน ทางสำนักงานการค้าไทยและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป และสำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงไทเป ได้ประสานให้การช่วยเหลือทายาทของแรงงานที่เสียชีวิต ในการติดตามการช่วยเหลือและจัดพิธีศพแรงงาน ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ค.

นายธงชัย เปิดเผยอีกว่า นางลัพธวรรณ วอลซ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสำนักงานแรงงาน ณ กรุงไทเป ได้ดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวและทายาทของแรงงานที่เสียชีวิตในด้านต่างๆ ได้แก่ นำเข้าพบอัยการนครเถาหยวน เพื่อให้ข้อมูลและขอรับใบมรณบัตร อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทายาทขอรับตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ 1 ราย เพื่อเข้าสู่การพิสูจน์อัตลักษณ์ และรอผลการพิสูจน์ศพ การรับฟังการชี้แจงสิทธิประโยชน์เงินทดแทนทางกฎหมายแรงงานและรับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือจากกองแรงงานนครเถาหยวน โดยมีผู้แทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน สำนักงานแรงงาน ณ กรุงไทเป และฝ่ายคุ้มครองคนไทยของ สนง.การค้าและเศรษฐกิจไทย ณ กรุงไทเป เข้าร่วมฟังการชี้แจง นอกจากนี้ตัวแทนนายจ้างได้เข้าพบทายาท กล่าวแสดงการขอโทษต่อทายาทในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเสนอเงินช่วยเหลือสงเคราะห์ทายาทพร้อมเงินบริจาคในจำนวนที่ทายาทตกลงยอมรับด้วยแล้ว

"นายจ้างบริษัทไต้หวัน และนายจ้างบริษัทไทย ให้การช่วยเหลือมากกว่าที่ระบุในสัญญา รวมทั้งได้ร่วมจัดพิธีศพ โดยนายจ้างออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และได้รับเกียรติจากรัฐบาลไต้หวันเป็นพิเศษ ทางครอบครัวและทายาทแรงงานที่เสียชีวิตต่างพอใจต่อการชดเชยที่ได้รับ รวมทั้งการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของไทยสำนักงานแรงงานและสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ทั้งหมดเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมผู้แทนบริษัทนายจ้างไทยในวันนี้ (11 พ.ค.)" นายธงชัย กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 11/5/2561

พนักงานประกันสังคม ขอเพิ่มสวัสดิการเท่าข้าราชการ

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่กระทรวงแรงงาน นายศาสลักษณ์ ศาสตร์บัญชา ประธานสหภาพพนักงานประกันสังคม นำพนักงานประกันสังคมประมาณ 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการแรงงาน ของพนักงานประกันสังคม โดยมีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นผู้รับหนังสือแทน ซึ่งทั้งหมดได้มีการเข้าหารือกันราวๆ 30 นาที โดยนายจรินทร์รับปากจะพิจารณาเรื่องให้อย่างเร็วที่สุด

นายศาลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ขณะนี้ค่าตอบแทนของพนักงานประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 4 พันคน ที่ส่วนใหญ่แม้ว่าจะได้ค่าครองชีพชั่วคราวจำนวน 2,000 บาท แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องรวมกับเงินเดือนแล้วไม่เกิน 13,285 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่ระเบียบกำหนด แต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน นอกจากนี้ พนักงานในส่วนอื่นๆ หลายๆ คนเงินเดือนเต็มเพดาน โดยยังไม่มีการปรับ ที่ผ่านมาฝ่ายลูกจ้างได้พยายามบอกกล่าว และเรียกร้อง และมีการตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างการทำงานของพนักงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริหาร สปส. ตัวแทนพนักงานมีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2559 แต่นับตั้งแต่มีการตั้งคณะทำงานฯ กลับพบว่ามีการเรียกประชุมเพียง 1 ครั้ง นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้มีการปรับสิทธิการลาให้เทียบเท่าข้าราชการด้วย เช่น วันลาอุปสมบทจาก 30 วัน เป็น 120 วัน ลาช่วยภรรยาเลี้ยงบุตรจากที่ไม่เคยได้รับ ก็ให้ได้สิทธิลา 120 วันเท่าข้าราชการ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเงินบำเหน็จที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานประกันสังคม มีพนักงานเกษียณการทำงานไปแล้ว 3 รุ่น แต่ไม่เคยมีเงินติดมือกลับออกไป และล่าสุดกำลังจะมีเกษียณอีก 1 รุ่น

"เหตุผลที่ต้องเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากว่าในการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐจำกัดจำนวนข้าราชการไม่ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการจัดจ้างพนักงาน ที่ทำงานเหมือนกับข้าราชการทุกประการ ล่าสุดสัดส่วนพนักงานกับข้าราชการ คิดเป็น 7 ใน 10 คน อายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป แต่เพดานเงินสูงสุดอยู่แค่ 26,900 บาท เท่านั้น อย่างเช่น ผมทำงานมา 21 ปี อีกนิดหน่อยเงินเดือนก็ตันแล้ว เราเรียกร้องมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานให้สูงกว่าเดิมแล้ว แต่ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมไม่ได้ดำเนินการ" นายศาสลักษณ์ กล่าว

ด้านนายจรินทร์ กล่าวว่า การเรียกร้องของพนักงานครั้งนี้เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ โดยไม่มีการเอาผิดคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนข้อเสนอต่างๆ นั้น จะมีการตั้งคณะทำงานที่พนักงานมีส่วนร่วมในการพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ นั้นจะต้องมีการเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ด้วย ตรงไหนที่ยังด้อยและควรได้ก็ต้องได้ ส่วนไหนที่เรียกร้องแล้วไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนก็ต้องพิจารณาต่อไป โดยจะพยายามอิงให้ได้ใกล้เคียงกับระบบข้าราชการ ตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ ได้ให้นโยบายไว้

"ยืนยันว่าผมจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด ถ้าไม่เร็วก็มาติดตามทวงถามได้ ผมเป็นคนหน้าบางอยู่แล้ว พนักงานเหล่านี้เป็นคนของเรา เรามีหน้าที่ที่ต้องดูแล เพราะคนเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลผู้ประกันตน หากเขามีความสุขก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข ผู้ที่มารับบริการก็จะมีความสุขตามไปด้วย แต่ถ้าหากคนของเรา เรายังดูแลไม่ได้แล้ว เราจะไปดูแลใครได้" นายจรินทร์ กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ค่าตอบแทนของพนักงานเอามาจากเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งการเอามาใช้อยู่ภายใต้กฎหมายหลายตัว โดยบอร์ดไม่มีอำนาจในการทำเรื่องโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างพนักงานและค่าจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการสรุปผล คาดว่าไม่เกินเดือนสิงกาคมนี้จะเสนอเข้าบอร์ดประกันสังคม สำหรับเรื่องสิทธิวันลานั้น ตามข่าวที่ออกมาอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพนักงานมีสิทธิลา และยังได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นพนักงานรายเดือน ไม่ใช่รายวัน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/5/2561

ก.แรงงาน ย้ำบริษัทจัดหางานฯ รับผิดชอบแรงงานไทย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยที่กลับจากไปทำงานในแอฟริกาใต้และยังไม่ได้รับคืนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากนายจ้าง โดยแรงงานได้ไปยื่นข้อร้องเรียนกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและกรมการกงสุล ได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานให้กับนายจ้างที่แอฟริกาใต้ จากการประชุมทราบว่า ขณะนี้ บริษัทจัดหางานฯ ได้ช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับแรงงานในประเทศไทย พร้อมทั้งดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อตรวจสอบข้อมูลและติดตามสถานการณ์ยื่นขอคืนเงินสะสมของแรงงานไทยทุกคน ซึ่งมีแรงงานที่เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วจำนวน 1,813 คน ได้รับเงินสะสมคืนไปแล้วจำนวน 684 คน ยังไม่ได้รับเงินสะสมจำนวน 1,129 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2561) และมีแรงงานอีกจำนวน 913 คน เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งสถานะยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสรรพากรแอฟริกาใต้ และหน่วยงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ MIBFA

ทั้งนี้ ตามกฎหมายการจ้างงานของแอฟริกาใต้ นายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสะสมเข้ากองทุน Provident Fund ในสัดส่วน 50 : 50 (คนละครึ่ง) และเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสะสมคืนจากกองทุนดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติพบว่าแรงงานส่วนใหญ่จะมอบอำนาจให้บริษัทนายจ้างแอฟริกาใต้เป็นผู้ดำเนินการแทนในเรื่องการขอคืนเงินสะสม โดยเมื่อได้รับเงินคืน บริษัทนายจ้างจะนำเงินส่งผ่านบริษัทจัดหางานในประเทศไทยเพื่อส่งคืนให้กับแรงงานไทยต่อไป แต่พบว่ามีแรงงานไทยบางส่วนยังไม่ได้รับเงินสะสมดังกล่าวคืน ซึ่งการคืนเงินสะสม แรงงานจะได้รับคืนในส่วนที่ตนถูกหักเงินไปเต็มจำนวน รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบหลังหักภาษี เนื่องจากส่วนของนายจ้างที่สมทบไปจะต้องนำไปหักภาษีตามอัตราที่กำหนดในขณะที่ขอคืน คงเหลือจำนวนเท่าใดก็จะนำไปรวมเป็นเงินสะสมให้กับแรงงานต่อไป เช่น แรงงานได้รับเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 30,000 บาท หักสะสมเข้ากองทุนร้อยละ 6 คิดเป็นเงิน 1,800 บาท ทุกเดือน หากมีระยะเวลาการจ้างงาน 5 ปี (สัญญาการจ้างงานปีต่อปี) คนงานจะมีเงินสะสมในกองทุน (1,800 บาท x 12 เดือน x 5 ปี) เท่ากับ 108,000 บาท รวมกับส่วนที่นายจ้างสมทบหลังหักภาษีอีก 86,400 บาท (108,000 บาท หักภาษีประมาณร้อยละ 20) รวมเป็นเงินที่แรงงานจะได้รับคืนประมาณ 194,400 บาท ทั้งนี้ ระยะเวลาการยื่นขอคืนเงินสะสมจนถึงการคืนเงินสะสมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

นายอนุรักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้บริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานแอฟริกาใต้ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ หากแรงงานไทยคนใดได้รับแจ้งจากสรรพากรแอฟริกาใต้เกี่ยวกับการยื่นภาษี ขอให้ติดต่อบริษัทจัดหางานฯ โดยทันที เพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกับบริษัทนายจ้างโดยตรงต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร.0-2245-6708-9

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/5/2561

ตั้งศูนย์เลี้ยงลูกบุคลากรแรงงาน ก.แรงงาน ทำเป็นตัวอย่างให้เอกชนดูแลลูกจ้าง

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดศูนย์สวัสดิการส่งเสริมพัฒนาการบุตรของบุคลากรกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ศูนย์ดังกล่าว เปิดให้บริการในระยะแรกตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้บริการรับเลี้ยงบุตรหลานของบุคลากรในสังกัดกระทรวงแรงงานตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่กำลังปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลางาน เบื้องต้นมีการรับเลี้ยงเด็กไว้ประมาณ 14 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในระยะแรกศูนย์จะเปิดให้บริการรับเลี้ยงเด็ก 2 ช่วงอายุ คือ เด็ก เนอร์สเซอรี่ อายุ 2.5 ปี ถึงครบเข้าอนุบาล ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. และเด็กวัยเรียน อนุบาล-ป.6 ตั้งแต่เวลาเลิกเรียน-17.30 น. โดยมีครูที่มีประสบการณ์ด้านการสอนคอยดูแล 1 คน พร้อมทั้งจัดสวัสดิการเสริมสร้างพัฒนาการ อาทิ อาหารว่างและเครื่องดื่ม 2 มื้อ มีมุมเรียนรู้ตามพัฒนาการและความสนใจ มีห้องนอนสำหรับเด็กเล็ก มีตารางเรียนและทำกิจกรรม เป็นต้น

“ศูนย์สวัสดิการส่งเสริมพัฒนาการบุตรฯ แห่งนี้ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการศูนย์เลี้ยงเด็ก เพื่อผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการและชุมชน โดยความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ จะใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นตัวอย่างในการให้สถานประกอบการนำไปเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้มีการตั้งศูนย์ในสถานประกอบการเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างทั่วประเทศ”พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/2/2561

เครือข่ายแรงงานรำลึก 25 ปี ‘เคเดอร์’ ยื่น 13 ข้อจี้รัฐปฎิรูปความปลอดภัยในการทำงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี คสรท.ได้ร่วมกับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรำลึกถึง 25 ปี เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ที่ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กระทรวงแรงงาน สำหรับปีนี้ได้เตรียมข้อเสนอของเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน รวม 13 ข้อ ยื่นต่อ รัฐบาล และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งรัดให้ปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายของผู้ใช้แรงงานด้วย

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.ขอให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการงาน จนกว่าแพทย์จะสิ้นสุดการรักษา/ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศปี 2558 ให้เบิกได้ถึง 2 ล้านบาท แต่เข้าถึงสิทธิได้ยาก 2.ให้รัฐออกนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกฎกระทรวงให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานประกอบการเบี่ยงเบนให้คนงานที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้สิทธิอื่น เช่น ประกันสุขภาพหมู่ หรือ รักษาเอกชนโดยไม่ระบุว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีบทลงโทษกรณีสถานประกอบการไม่ส่งเรื่องแจ้งคนงานบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เข้ากองทุนเงินทดแทน 3.การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาให้ถึงที่สุดจนหายดี และเงินประเมิน ต้องทดแทนให้คนงานที่สูญเสียอวัยวะ อยู่ได้อย่างไม่ลำบากตลอดชีพ

นายสาวิทย์ กล่าวว่า 4.ขอให้ คสรท.หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแพทย์ หรือ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน 5.ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเนื่องใน "วันความปลอดภัยแห่งชาติ" ทุกปี เฉกเช่นเดียวกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรของคนงานที่มีการทำงานและผลงานอย่างต่อเนื่อง 6.ให้คสรท.หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างน้อย 1 คน ในฐานะองค์กรผลักดัน 7.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ 8.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ และบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มีความรับผิดชอบในภารกิจเข้มงวด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งในเรื่อง การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การเยียวยาและการฟื้นฟู เพื่อให้คนที่ประสบเหตุสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารการจัดการ ขอให้ คสรท.หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า การตรวจสุขภาพประจำปีให้มีการตรวจแบบอาชีวเวชศาสตร์และต้องตรวจทุกคน แจ้งผลให้คนงานทราบ โดยมีสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน 10.ให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่ง ให้มีนโยบายปลอดภัย และมีคนปฎิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังและมีส่วนร่วมจากคนงานในสถานประกอบการนั้น โดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยมาจากองค์กรของลูกจ้าง หากสถานประกอบการใดไม่มี ให้คนงานเลือกตั้งกันเอง 11.ขอให้รัฐเร่งออกกฏหมายโรคจากการประกอบอาชีพ 12.ขอให้รัฐจัดให้มีคลินิกวินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีระดับมาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถวินิจฉัยโรคได้ ที่สำคัญเมื่อวินิจฉัยคนงานว่าเจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการทำงานแล้ว คณะกรรมการแพทย์ต้องยึดเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิกองทุนเงินทดแทน และ 13.ขอให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/5/2561

อดีตแรงงานไทยที่แอฟริกาใต้นับพันร้อง ก.แรงงาน ช่วยตามเงินสะสมเลี้ยงชีพ

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2561 นายณัฐวัชต์ คชภูมิ อายุ 57 ปี อดีตผู้จัดการภาคสนามในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศแอฟริกาใต้ เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ให้ช่วยติดตามทวงคืนเงินสะสมเลี้ยงชีพคนงานไทย 1,186 คน ที่ไปทำงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในแอฟริกาใต้และถูกบริษัทนายจ้างหักเงินเดือนเข้ากองทุนเลี้ยงชีพทุกเดือน มียอดเงินสะสมคนละหลักแสน แต่ทำงานครบตามสัญญาจ้าง ไม่ได้เงินสะสมคืน

นายณัฐวัชต์กล่าวว่า ในปี 2555 สมัครไปทำงานเป็นผู้จัดการภาคสนาม ในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของบริษัท Murray & Roberts ProJects โดยบริษัทจัดหางาน เอ.เค.แกรนด์ จำจัด เป็นผู้จัดส่งไปทำงาน ได้รับเงินเดือนเกือบ 1 แสนบาท ทุกเดือนจะถูกนายจ้างหักเงินเดือนเกือบ 1 หมื่นบาท ส่งเข้ากองทุนสะสมเลี้ยงชีพ (MIBFA) ของประเทศแอฟิกาใต้ ตลอดระยะเวลาจ้าง 2 ปี มีเงินสะสมกว่า 1 แสนบาท ยังไม่รวมกับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบให้อีกส่วนด้วย

"หลังจากที่ทำงานได้ 2 ปี จึงได้ออกจากงาน แต่ไม่ได้เงินสะสมทั้งหมดคืน เมื่อถามบริษัทจัดหางานที่จัดส่งไปทำงานก็บอกให้รอไปก่อน ตนตามทวงมานาน 4 ปีแล้ว จึงอยากทราบความชัดเจนว่า เงินจำนวนนี้อยู่ที่ไหน ยังอยู่กับกองทุน หรือมีการโอนไปที่อื่นแล้ว เพราะคนงานทุกคนไม่มีเอกสารอะไรเลย อยากให้ ก.แรงงาน ช่วยดำเนินการเร่งรัดติดตามเงินก้อนนี้ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่แรงงานไทยต้องได้" อดีตผู้จัดการภาคสนามฯ ในประเทศแอฟริกาใต้ กล่าว

ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานที่ยังไม่ได้รับคืนเงินสะสม ได้ยื่นข้อร้องเรียนกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ร่วมกันประชุมหารือกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ขณะนี้ บริษัทจัดหางาน ได้ช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับแรงงานในประเทศไทย พร้อมทั้งดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อตรวจสอบข้อมูลและติดตามสถานการณ์ยื่นขอคืนเงินสะสมของแรงงานไทยทุกคน

ทั้งนี้ตามกฎหมายการจ้างงานของแอฟริกาใต้ นายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสะสมเข้ากองทุน Provident Fund ในสัดส่วน 50 : 50 เมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสะสมคืนจากกองทุนดังกล่าวได้ตามกฎหมาย บริษัทนายจ้างจะนำเงินส่งผ่านบริษัทจัดหางานในประเทศไทยเพื่อส่งคืนให้กับแรงงานไทย แต่พบว่ามีแรงงานไทยบางส่วนยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งทางบริษัทจัดหางานต้องรีบไปดำเนินการ และเชื่อว่าไม่มีใครอมเงินคนงาน

ที่มา: ไทยรัฐ, 9/5/2561

7 องค์กรภาคี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แถลงการณ์ "ไม่ยอมรับผลสอบคัดเลือกข้าราชการท้องถิ่น สายงานผู้บริหาร"

6 พ.ค. 2561 สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย , สมาพันธ์ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย , สมาพันธ์อำนวยการท้องถิ่นแห่งประเทศไทย , สมาพันธ์ช่างองค์กรปกครองแห่งประเทศไทย , สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด (แห่งประเทศไทย) , สมาพันธ์พนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย , ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ไม่ยอมรับผลการสอบคัดเลือกสายงานบริหารและอำนวยการท้องถิ่นของคณะอนุกรรมการสรรหาข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหาร ฉบับที่ 1

โดยสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้รับการร้องทุกข์/ร้องเรียนจากผู้เข้าสอบคัดเลือกดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในหลายประเด็น สรุปที่สำคัญได้ 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ข้อสอบอัตนัยไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและประกาศรับสมัครสอบ 2. การตรวจข้อสอบอัตนัยมีข้อสงสัยหลายประการที่อาจส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม

จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1. ขอให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ได้มีคำสั่งระงับประกาศผลการสอบคัดเลือกไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2. ขอให้คณะอนุกรรมการฯ จัดให้มีการตรวจข้อสอบอัตนัยใหม่ทั้งหมด และ 3. ขอให้ระงับการสอบสัมภาษณ์ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จ เป็นต้น

ที่มา: ชุมชนคนท้องถิ่น, 8/5/2561

สั่งระดมข้าราชการไปตัดอ้อย

8 พ.ค. 2561  ที่ บริเวณ ม.2 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว  มีการระดมคนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อยในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ตามหนังสือสั่งการด่วนที่สุดของ นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ ที่ สก.0918.1/ว.326 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา เรื่อง การดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มพลังมวลชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อย เนื่องจากจังหวัดสระแกว แจ้งว่า เกษตรกรประสบปัญหาอ้อยคงค้างไม่สามารถตัดอ้อยให้ทันกำหนดในการปิดหีบอ้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จังหวัดจึงให้อำเภอจัดโครงการกิจกรรมในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8 - 14 พ.ค. นี้

นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ระดมคนมาดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย อาทิ ที่ทำการปกครองอำเภอรวมสถานศึกษา 30 คน , กรมทหารพรานที่ 13 จำนวน 20 คน , ตำรวจ สภ.วังสมบูรณ์ 20 คน , เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 20 คน , เกษตรอำเภอ - ปศุสัตว์ - พัฒนาการ 12 คน , เจ้าหน้าที่ อบต.วังใหม่ 25 คน , เทศบาลวังสมบูรณ์ 10 คน , กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยฯ ต.วังใหม่ ทุกคน รวม 56 คน , กลุ่มพลังมวลชนจิตอาสา หมู่บ้านละ 5 คน รวม 70 คน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยฯ ต.วังสมบูรณ์ ทุกคน 32 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน โดยพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ 2 วัน ในพื้นที่ ม.2 ต.วังใหม่ และ วันที่ 10 พ.ค. ในพื้นที่ ม.1 ต.วังทอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องแต่งกายชุดปฏิบัติงานพร้อมตัดอ้อยและอุปกรณ์ในการตัดอ้อย ในช่วงเวลา 08.00 - 16.30 น. ด้วย

มีรายงานว่า ภายหลังมีการนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในแต่ละอำเภอ ก็มีเสียงติติงและโห่ฮาอย่างมากในทุกพื้นที่ว่า ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสา รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงาน จะสามารถตัดอ้อยได้หรือไม่ เพราะไม่มีความชำนาญ และส่วนใหญ่แทบไม่เคยทำงานตัดอ้อยมาก่อน แม้กระทั่งเจ้าของไร่อ้อยเอง ส่วนใหญ่มักจะใช้การจ้างแรงงานชาวกัมพูชาตัดอ้อยเกือบทั้งสิ้น การให้ไปทำงานตัดอ้อยตั้งแต่ 08.00 - 16.30 น. เชื่อว่าจะได้ผลเพียงเล็กน้อยและสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากสำนักงานจังหวัดสระแก้ว ซึ่งวันนี้ (8 พ.ค.) จ.สระแก้ว มีการดำเนินการโครงการนี้ 2 พื้นที่ ใน ต.ท่าเกษม อ.เมือง ซึ่งมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย

พล.ท.ชวลิต สาลีตี๊ด อดีตหัวหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ กล่าวว่า การตัดอ้อยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่รับราชการและมาอยู่ในพื้นที่ ไม่ยุ่งยากเท่าไหร่เพียงแต่ต้องตัดให้ถูกวิธี เราไม่รู้เลยว่าวิธีการเขาตัดกันอย่างไร เป็นงานที่หนักมาก เหนื่อยที่สุด ทำไปได้สักพักก็ต้องหยุดพัก

ทพ.วิเชียร จุมพล เจ้าหน้าที่ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 13 บอกว่า ไม่เคยตัดอ้อยมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน ตัดได้ 1 ชั่วโมง ก็ว่าจะพักแล้วครับ สู้แดดไม่ไหว เพราะเราไม่ถนัด ไม่คล่อง ไม่รู้ว่าเขาตัดอย่างนี้หรือเปล่า ซึ่งตั้งแต่ทำงานทหารพรานมา 30 ปี ไม่เคยตัดอ้อย ไม่เคยทำไร่เลย ครั้งแรกในชีวิต

สำหรับบรรยากาศการระดมคนไปตัดอ้อยในวันนี้ แต่ละภาคส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ได้จัดคนมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งหลังเวลาผ่านไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถตัดอ้อยได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 งานเศษ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ทำให้จิตอาสาหลายคนทยอยกันไปนั่งพักในร่มบริเวณรอบๆ เป็นระยะๆ ซึ่งเจ้าของไร่และชาวไร่ในพื้นที่บอกว่า การตัดอ้อยลักษณะนี้อาจจะทำให้ได้ผลผลิตไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่รู้วิธีตัดเหมือนชาวกัมพูชา ไม่ตัดถึงโคนต้น อีกทั้งอ้อยบางส่วนล้ม ทำให้ยากต่อการตัดอย่างมาก

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสิ่งที่สมาคมและเกษตรกรชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้ช่วยเหลืออ้อยค้างไร่กว่า 4 แสนตัน จำนวน 40,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 1,000 ราย ที่คาดว่า จะตัดอ้อยเข้าโรงงานไม่ทันการปิดหีบปีนี้ โดยการเลื่อนการปิดหีบออกไป และให้จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการประชุมเจรจากับคู่สัญญา หากปีนี้ดำเนินการไม่ทันควรมีการช่วยเหลือชดเชยบ้าง และทำสัญญาพักหนี้ หรือจะไม่มีการฟ้องร้องชาวบ้านกรณีที่ไม่ได้ตัดอ้อย พร้อมทั้งไปเจรจาแก้ปัญหาการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชาให้สามารถดำเนินการได้ทุกจังหวัด ไม่จำกัดเฉพาะจังหวัดพื้นที่ติดชายแดนสระแก้วเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่เคยตัดอ้อยกัน ไม่สามารถทำได้ทั้งวันแน่ แค่มาถ่ายรูปตัดอ้อยสร้างภาพได้เท่านั้น

อ.สามารถ นิ่มเงิน นักวิชาการท้องถิ่น กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบหญ้าปากคอก คือ แก้ไม่ตรงจุด เรื่องนี้เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 1,000 ราย ที่ไปร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งเมื่อศาลตัดสินออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติตาม ตะแบงเอาชนะคะคานกัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคำว่า จิตอาสา คือการไปช่วยทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถนน หนทาง งานสาธารณะ แต่นี่เป็นผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงานอุตสาหกรรม การตัดอ้อยเขาใช้แรงงานกัมพูชา ใครๆ ก็รู้ นี่ให้จิตอาสาและผู้สูงวัยหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ไปทำจะสามารถทำได้เต็มวันตั้งแต่เช้ายันเย็นหรือ เพราะปกติเขาใช้รถตัดและมีรถคีบ

ที่มา: คมชัดลึก, 8/5/2561

ก.แรงงาน ชี้แจงยังไม่ปลดล็อคอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวประกอบอาชีพช่างตัดผม-ช่างเสริมสวย ชี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากระทรวงแรงงานมีแนวคิดเปิดให้แรงงานต่างด้าว สามารถประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม ช่างเสริมสวยในประเทศไทยได้นั้น ว่า ยังไม่สามารถทำได้ โดยเดิมกำหนดไว้ให้เฉพาะคนไทยทำเท่านั้น ส่วนการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (งานห้าม 39 อาชีพ) ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้มีข้อยุติในการกำหนดงานที่กำหนดห้ามคนต่างด้าวทำ หรือจะปลดล็อกอาชีพสงวนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในหลายช่องทางทั้งจัดการประชุมหรือทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย อาทิ หน่วยราชการ ภาคเอกชน สภาวิชาชีพ ต่างๆ สถาบันการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้การจัดทำกฎหมายฯ เป็นไปอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า กรมจัดหางานขอย้ำว่า ในการประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำนั้น จะคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสการประกอบอาชีพของคนไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยขั้นตอนการยกร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากผู้แทนจากหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้ รมว.แรงงานพิจารณาลงนามต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบผลประโยชน์ของคนไทย

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 8/5/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท