Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยบริษัทจีนทำตามขั้นตอนทางกฎหมายทุกอย่างแล้ว สามารถเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ได้ หากได้รับการอนุญาจากเจ้าของที่ดินแล้ว ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้บริษัทแจกแจงพื้นที่คุณภาพน้ำนั้น บริษัทไม่ต้องทำ ด้านนักวิชาการเหมืองแร่โต้ หากจะทำอย่างนั้นต้องกลับไปแก้กฎหมายก่อน

สืบเนื่องจากกรณีที่ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์วานรนิวาส ได้ออกมารวมตัวคัดค้านการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแทช ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นหลุ่มขุดเจาะที่ 4 โดยเห็นว่าเป้นการกระทำที่ไชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่าทางบริษัทจำเป็นต้องแจกแจงก่อนว่าพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรให้สำรวจแร่ได้นั้นเป็นพื้นที่ประเภทใด ตามการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่สงวนหรือพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 118

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับกลุ่มอนุรักษ์วานรนิวาส จ.สกลนคร ยื่นหนังสือเพื่อขอทบทวนอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นไปตามมาตรา 188 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 นั้น บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2558 ถึงวันที่ 11 ม.ค. 2563 (มีอายุ 5 ปี) โดยมีเงื่อนไขให้ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนจึงจะเข้าพื้นที่ทำการสำรวจได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำการสำรวจตามแผนงานและเงื่อนไขการอนุญาต มีการเจาะสำรวจไปแล้ว 3 หลุม โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินที่มีการเจาะสำรวจแล้ว ทั้งนี้ กระบวนการสำรวจแร่โพแทชจะใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยในการเจาะสำรวจ และต้องทำการฝังกลบพร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่ทันทีหลังเสร็จสิ้นการเจาะสำรวจ

สำหรับการขอให้ทบทวนอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 188 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ปัจจุบันบริษัทฯ ไม่มีคำขอประทานบัตรและคำขอใด ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 188 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ดังกล่าว

ส่วนกรณีการขอข้อมูลเกี่ยวกับอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทฯ ของภาคีเครือข่ายประชาชนวานรนิวาสนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จะได้ชี้แจงทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรา 188 ใน พ.ร.บ.แร่ ระบุว่า บรรดาคําขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า เป็นคําขอตามพระราชบัญญัตินี้ และให้พิจารณาดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ส่วนมาตรา 189 ระบุว่า บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ระบุว่า หากจะมีการดำเนินการโดยไม่ต้องจำเป็นที่จะต้องทำตาม พ.ร.บ. แร่ โดยเฉพาะมาตรา 188 และ 189 นั้น ก็จะต้องกลับไปแก้กฎหมายเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งประกาศกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดคำขอตาม พ.ร.บ. แร่ 2560 ซึ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 ก็ระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น ให้มีตรวจสอบพื้นที่ที่ยื่นคำขอว่าเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือ กฎหมายอื่นหรือไม่แล้วส่งให้สำนักวิศวกรรมและฟื้นฟูพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเขียนแบบพิมพ์อาชญาบัตร และคำขอ อาชญาบัตรพิเศษ ให้มีการลงรายละเอียดข้างเคียงให้ครบถ้วน ทั้งแสดงแนวเขตการทับคาบเกี่ยวพื้นที่ต้องห้าม ตามกฎหมาย พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

ขณะที่ ณัฐพร อาจหาญ กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการสำรวจแร่โปแทชให้ประชนในพื้นที่ได้รับรู้ โดยเฉพาะแผนที่แนบท้ายโครงการที่จะแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ทั้งหมด 120,000 ไร่ ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจแร่ได้ 5 ปี นั้นจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง และพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ประเภทใด

“ชาวบ้านเราขอมาตลอดยื่นเรื่องของมาตลอด หน่วยงานก็ตอบกลับมาว่าไม่สามารถให้ได้เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสิทธิของบริษัท จากนั้นชาวบ้านก็ไปยื่นขอกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ล่าสุดก็มีการส่งเรื่องกลับมาว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้พิจารณาว่าจะเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่งก็จะเห็นว่าชาวบ้านยังไม่เคยเข้าถึงข้อมูลของโครงการเลย โดยมีความพยายามกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูล และระหว่างนั้นบริษัทกลับดำเนินการไป” ณัฐพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net