Skip to main content
sharethis
การประกวดเพลงชิงชนะเลิศแห่งยุโรป หรือ 'ยูโรวิชั่น' ในปีนี้มีการแสดงของคนที่ร้องเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างชายกับชายพร้อมการแสดงเบื้องหลังตามเนื้อหาจากแดนเซอร์ แต่โทรทัศน์ของจีนตัดการแสดงเขาออก รวมถึงเบลอรูปธงสีรุ้งในหมู่ผู้ชม ทำให้ทางสหภาพการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งยุโรป (EBU) สั่งแบนไม่ให้สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพการแสดงยูโรวิชั่นในรอบถัดไป
 
 
13 พ.ค. 2561 สหภาพการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งยุโรป (EBU) สั่งแบนไม่ให้สถานีโทรทัศน์ 'แมงโกทีวี' ของจีนทำการแพร่ภาพการประกวดร้องเพลง 'ยูโรวิชั่น' ในรอบสุดท้ายของปี 2561 หลังจากที่พวกเขาเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วนของการประกวด ซึ่งทาง EBU แถลงให้สาเหตุว่าที่พวกเขาสั่งแบนเพราะสถานีโทรทัศนของจีนไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับการให้คุณค่าต่อ "ความเป็นสากล" และ "การเปิดรับทุกคน" ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจดั้งเดิมของ EBU ที่ "เฉลิมฉลองความหลากหลายผ่านทางดนตรี"
 
ในการแข่งขันยูโรวิชั่นรอบก่อนชิงชนะเลิศมีผู้แสดงจากไอร์แลนด์ชื่อ ไรอัน โอชอฮ์เนสซี ร้องเพลงชื่อ "Together" เนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างชายสองคน ระหว่างร้องเพลงก็มีแดนเซอร์ชายทำการแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวตามเนื้อหาของเพลงไปด้วย แต่โทรทัศน์แมงโกของจีนกลับเซนเซอร์การแสดงชุดนี้ของโอช็อกฮ์เนสซี อีกทั้งยังเซนเซอร์การแสดงของอีกชาวอัลแบเนียอีกคนหนึ่งเพียงเพราะมีรอยสัก และทำการเบลอธงสีรุ้งที่กลุ่มคนดูเป็นคนถือ
 
แมงโกทีวีเป็นโทรทัศน์ของรัฐบาลมณฑลหูหนาน ประเทศจีน โดยเมื่อปี 2559 ทางการจีนเคยกำหนดให้การรักเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่า "ไม่เหมาะสม" ที่จะให้เผยแพร่ทางโทรทัศน์และอ้างว่าเป็น "พฤติกรรมแปลกประหลาด" 
 
ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนประกาศต่อต้านการเซนเซอร์นี้ เช่นกลุ่มไชนาเรนโบว์มีเดียอวอร์ดที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT ระบุในเว่ยป๋อว่าการเซนเซอร์การแสดงในยูโรวิชั่นถือว่า "มากเกินไป" ทั้งที่เมื่อราว 20 ปีที่แล้วหูหนานทีวีเคยมีรายการที่สัมภาษณ์เกย์โดยเฉพาะมาก่อน แต่ทำไมคราวนี้พวกเขากลับทำตัวล้าหลังลงกว่าเดิม
 
โอชอฮ์เนสซีกล่าวว่าเขายินดีที่ทาง EBU ยืนหยัดสนับสนุนความหลากหลาย สำหรับเขาแล้วความรักก็คือความรักไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ และการที่ EBU โต้ตอบการเซนเซอร์นี้โดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยถือว่า "มาถูกทางแล้ว"
 
เจมี ฮัลลิเวลล์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโปลิแทน เขียนถึงปรากฏการณ์ที่ว่าทำไมการประกวด้องเพลงยูโรวิชั่นถึงกลายเป็นพื้นที่การพูดคุยในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
 
ฮัลลิเวลล์ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่อง "อัตลักษณ์ความเป็นแฟนคลับยูโรวิขั่น" ระบุว่า ถึงแม้ยูโรวิชั่นจะไม่ได้ถูกแปะฉลากว่าเป็น "อีเวนต์เกย์" ในตัวมันเอง แต่ความเป็นแฟนคลับของยูโรวิชั่นในโลกออนไลน์ทำให้เกิดพื้นที่กำกวมที่คนสามารถแสดงตัวตนแบบ LGBT ของตัวเองได้ รวมถึงโซเชียลมีเดียที่ทำให้แฟนๆ ที่ชื่นชอบเรื่องเดียวกันเชื่อมโยงเข้าหากันได้ บางคนถึงขั้น "เปิดตัว" (coming out) เรื่องเพศสภาพ-เพศวิถึของตัวเองเพราะรายการนี้ และการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้เองที่ทางรายการมองว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับกลุ่มคนดูโดยที่ไม่ต้องแปะป้ายว่าเป็น "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" (identity politics) 
 
ยูโรวิชั่น เป็นการประกวดร้องเพลงประจำปีในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกของ EBU โดยประเทศที่ร่วมเข้าแข่งขันแสดงสดทางโทรทัศน์จะเลือกเพลงและนักร้องมาประเทศละหนึ่งชุด แต่ละชุดจะใช้ผู้แสดงไม่เกินหกคน โดยเพลงที่เข้าประกวดต้องเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ในแง่การตัดสินแต่ละประเทศจะใช้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นและการโหวตจากผู้ชมทางโทรศัพท์ ซึ่งแต่ละประเทศไม่มีสิทธิตัดสินหรือโหวตให้กับประเทศของตัวเอง ซึ่งในปี 2561 นับเป็นการจัดครั้งที่ 63 มีประเทศเข้าร่วม 43 ประเทศ เคยมีนักร้องดังๆ ที่ผ่านการชนะการประกวดเวทีนี้อย่าง วงแอ็บบา และ ซีลีน ดิออน
 
ฮัลลิเวลล์ระบุอีกว่าตัวยูโรวิชั่นเองก็ยืดอกแสดงความภาคภูมิใจที่พวกเขาสนับสนุนเรื่องนี้ แม้แต่นักแสดงยูโรวิชั่นเองบางคนก็แสดงออกผลักดันในเรื่องนี้ด้วย เช่น ในการประกวดปี 2557 มี Drag Queen (คนแต่งกายข้ามเพศในเชิงศิลปะการแสดง) อย่างคอนชิตา เวิร์สต ฉายา "สุภาพสตรีผู้มีหนวดเครา" ก็กลายเป็นตัวแทนผู้ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี รวมถึงเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับสหภาพยุโรปในประเด็นนี้ในเวลาต่อมา
 
 
เรียบเรียงจาก
 
China Barred From Airing Eurovision Finale After Censoring LGBT Content, Advocate, 11-05-2018
 
Eurovision pulls plug on China after censorship of LGBT act, CNN, 11-05-2018
 
How Eurovision became an online haven for LGBT fans across the world, Pink News, 10-05-2018
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net