ดันขยายรัศมีห้ามชุมนุม ชาวบ้านเข้าไม่ถึงทำเนียบ-สภาและการชุมนุมที่ไร้ความหมาย

สตช.เตรียมแก้กฎหมาย เพิ่มรัศมีห้ามชุมนุมรอบเขตพระราชฐานจาก 150 เมตร เป็น 1 กิโลเมตร หวั่นสกัดการชุมนุมของประชาชน เพราะจะทำให้ทำเนียบ-รัฐสภาเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม การชุมนุมจะปราศจากความหมาย นักกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญและเป็นการดึงสถาบันมาใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่

 

  • สตช. เสนอแก้ไขกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยเพิ่มรัศมีห้ามชุมนุมจาก 150 เมตรเป็น 1 กิโลเมตรจากเขตพระราชฐาน ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถชุมนุมใกล้บริเวณหน่วยงานราชการซึ่งเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์อำนาจรัฐได้

  • หากแก้กฎหมายตามที่ สตช. เสนอจะส่งผลให้การแสดงออกของประชาชนเกิดอุปสรรคมากขึ้นและทำให้การชุมนุมของประชาชนปราศจากความหมาย

  • นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า สตช. มีนัยทางการเมืองต้องการสกัดกั้นการชุมนุมของประชาชนโดยดึงสถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้างหรือไม่ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง ประชาชนให้ความเคารพสถานที่เหล่านี้และไม่ละเมิดอยู่แล้ว

  • การเพิ่มรัศมีห้ามการชุมนุมหากกระทบกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 44

 

ตามที่มีการเสนอข่าวในเฟสบุ๊กของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยเสนอแก้ไขใน 2 ส่วนคือ

มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ‘ให้การจัดการชุมนุมสาธารณะหรือการชุมนุมสาธารณะในระยะหนึ่งกิโลเมตรจากแนวเขตพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ/สถานที่สำคัญ จะกระทำมิได้’ และ

มาตรา 7 วรรคสอง ‘ให้การจัดการชุมนุมสาธารณะหรือการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น’

(อ่านเนื้อหาได้ที่ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10160426037460551)

โดยในมาตรา 7 วรรคหนึ่งเดิมบัญญัติว่า การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้

เนื้อหาที่เปลี่ยนคือการเพิ่มเติมคำว่า ‘การชุมนุมสาธารณะ’ ลงไป อีกส่วนคือการเพิ่มระยะรัศมีจากเดิม 150 เมตร เป็น 1 กิโลเมตร ทางไอลอว์ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการแก้ไขตามที่ สตช. เสนอจะทำให้สถานที่ราชการอย่างน้อย 11 แห่ง ได้แก่ รัฐสภา, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงศึกษาธิการ, ศาลฎีกา, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงมหาดไทย, ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงกลาโหม, และสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ จะไม่สามารถจัดชุมนุมได้

การชุมนุมที่ปราศจากความหมาย

ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยมีความจำกัดจำเขี่ยมาก เป็นประชาธิปไตย 4 วินาที หลังการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาชนก็แทบไม่มีส่วนใดๆ ในการตัดสินใจทางการเมือง เหตุนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเพิ่มช่องทางของประชาธิปไตยทางตรงและรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

“รัฐธรรมนูญ 2540 พูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนที่สุด เพื่อขยายช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน มองในแง่นี้ สิทธิการชุมนุมจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้การรองรับ จากงานวิจัยของสมชาย ปรีชาศิลปกุล (คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ดูกฎหมายชุมนุมของประเทศต่างๆ จะเห็นว่ากฎหมายชุมนุมของประเทศตะวันตกเป็นกฎหมายชุมนุมที่รองรับสิทธิการชุมนุมเพื่อให้การชุมนุมทำได้โดยสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม เป็นการออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิ” ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

แต่บริบทการเกิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะของไทยกลับวางบนฐานคิดที่ผิดฝาผิดตัว ประภาส อธิบายว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มากว่าทศวรรษ ทำให้รัฐบาลทุกชุดมีความพยายามออกกฎหมายชุมนุมเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย วิธีคิดของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะจึงมุ่งจัดการกับผู้ชุมนุมมากกว่าการส่งเสริมและรับรองสิทธิ

การขยายรัศมีห้ามชุมนุมตามที่ สตช. เสนอ เข้าใจได้ไม่ยากว่ามีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ เพราะเท่ากับสกัดการชุมนุมของประชาชนบริเวณศูนย์กลางอำนาจและหน่วยราชการที่รับผิดชอบปัญหาของประชาชนหลายแห่ง ถามว่าก็ไปชุมนุมบริเวณอื่นไม่ได้หรือ ก็อาจจะได้ แต่การชุมนุมจะปราศจากความหมาย

“ถ้าไม่ไปชุมนุม กดดัน เรียกร้อง เพื่อให้คนเห็นความเดือดร้อนและต่อรองกับหน่วยงานให้ออกมาเจรจา การชุมนุมจะไม่มีความหมาย ที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ให้ไปชุมนุมที่อื่น ปัจจุบันเสนอให้ไปชุมนุมที่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี ถามว่าตรงนั้นดีหรือไม่ในแง่ความสะดวกสบาย ดีแน่ๆ แต่ผู้ชุมนุมก็จะได้เจอแต่เรือแล่นผ่านไปผ่านมา ไม่ได้เจอกับผู้มีอำนาจทางการเมือง กระบวนการเจรจาต่อรองก็จะไม่เกิดขึ้น

“ที่สำคัญคือการชุมนุมในพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจหรือสถานที่ราชการทำให้เกิดการรับรู้ของผู้คนผ่านข่าวสาร นักข่าวก็ประจำอยู่ทำเนียบและสถานที่ราชการ มันเป็นพื้นที่ข่าว ถ้าชุมนุมแล้วไม่เป็นข่าวก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะหัวใจหลักของการชุมนุมคือการสื่อสารกับผู้คนในสังคมเพื่อให้เห็นปัญหาความเดือดร้อน เข้ามาร่วมรับรู้ ร่วมถกเถียง กดดันให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแก้ไขปัญหาหรือเจรจา โดยสรุปคือถ้าห้ามแบบนี้ การชุมนุมก็จะไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้ชุมนุม”

ประภาสแสงดทัศนะว่า นี่เป็นการอ้างเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย จนตีความเกินเลย ไม่สอดคล้องกับชีวิตสังคมการเมืองของผู้คนที่ต้องการแสดงออก ซึ่งจะทำให้สังคมการเมืองก้าวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

“ความเป็นห่วงต่อพระราชวัง ต่อพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าประชาชน คนยากคนจนที่ชุมนุมก็เคารพสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ไปละเมิดอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่มีการชุมนุมครั้งไหนที่ละเมิดต่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีเหตุอะไรที่ต้องพูดถึง ไม่มีปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา ประชาชนในสังคมไทยตระหนักดีว่าสถานที่แบบนี้ต้องไม่เข้าไปละเมิด ผมจึงคิดว่าการแก้กฎหมายแบบนี้เป็นตีความเกินเลยไปมาก”

ย้ายหน่วยราชการออกพ้นรัศมี 1 กิโลเมตรก่อน แล้วค่อยแก้กฎหมาย

ด้านเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เห็นว่าเป็นการนำสถาบันมาอ้างเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปชุมนุมใกล้พื้นที่อำนาจของรัฐบาล ซึ่งหากทาง สตช. ต้องการแก้กฎหมายตม เขาเสนอว่า

“บทบัญญัติที่เสนอแบบนี้ ตั้งแต่ระยะทางที่ไกลมาก เมื่อบวกกับคำที่ใช้อยู่เดิมในมาตรา 7 จะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนมากเกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นหรือไม่ มันทำลายความสมดุลของตราชั่งไปแล้วหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจถือได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพของผู้ชุมนุมไว้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องมีบทบาทในการพิจารณาประเด็นนี้”

“ชาวบ้านต้องการเข้ามาหาศูนย์อำนาจเพื่อให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อให้ราชการทุกระดับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหา ถ้าชาวบ้านมาชุมนุมไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ปัญหาชาวบ้านยังไงก็ต้องมาที่ทำเนียบ มาที่รัฐสภา

“ถ้าไม่ต้องการให้ชุมนุมใกล้พระราชวังในรัศมี 1 กิโลเมตรจริง แต่รัศมี 1 กิโลเมตรนั้นไปพาดผ่านสถานที่ราชการ หน่วยงานราชการทางอำนาจที่สำคัญที่ประชาชนต้องชุมนุม คุณก็ย้ายหน่วยงานราชการเหล่านั้นออกจากรัศมี 1 กิโลเมตร ตราบใดที่ยังไม่ย้ายศูนย์อำนาจออกจากพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตรรอบเขตพระราชวัง ก็ยังไม่ควรแก้ไขกฎหมาย ย้ายออกให้หมดเสียก่อน แล้วค่อยแก้ครับ”

เลิศศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะแก้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ทำให้การแสดงออกของประชาชนตีบตันมากขึ้น ก็ควรแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธด้วย ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เขาจึงเห็นว่าน่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

การสร้างสมดุลระหว่าง 2 คุณค่า

ในทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นนัยข้างต้น ขณะเดียวกัน ในทางกฎหมาย เรื่องนี้ก็มีประเด็นให้ขบคิดและค้นหา จันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว การห้ามชุมนุมในพื้นที่บางลักษณะ เช่น ที่ประทับของกษัตริย์ ประมุขของรัฐ หรือราชอาคันตุกะ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เนื่องจากมันมีคุณค่าหรือประโยชน์ที่กฎหมายต้องคุ้มครอง กรณีมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เหตุผลก็เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนพระองค์ การอยู่อย่างสันติสุขในฐานะประมุขของรัฐหรือบุคคลสำคัญของรัฐ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็เป็นอีกคุณค่าหนึ่งที่กฎหมายการชุมนุม รัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ ให้การยอมรับและคุ้มครอง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ากฎหมายจะสร้างสมดุลแก่คุณค่าทั้งสองประการนี้อย่างไร

“การกำหนดระยะก็เพื่อสร้างมาตรการสำหรับคุณค่าประการแรก แต่กฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ต้องทำให้ทั้งสองคุณค่าเกิดความสมดุลกัน แต่เท่าที่สำรวจดูกฎหมายของประเทศต่างๆ ระยะทางที่ห้ามไม่ให้ชุมนุมโดยทั่วไปจะกำหนดไว้ประมาณ 100 เมตร”

จันทจิรา กล่าวว่า การเพิ่มคุณค่าประการแรกให้สูงขึ้นไปอีกโดยกำหนดรัศมี 1 กิโลเมตร ฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณาว่าข้อเสนอของ สตช. ได้สัดส่วนกันหรือไม่ระหว่างคุณค่าประการแรกคือการคุ้มครองความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประมุขของรัฐกับเสรีภาพในการแสดงออก ประการต่อมา การที่มาตรา 7 เดิมกำหนดรัศมีไว้ 150 เมตร เป็นมาตรการที่ทำให้คุณค่าประการแรกบรรลุได้หรือไม่ ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายอาจสามารถทำให้บรรลุคุณค่า 2 ประการนี้ได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย

“บทบัญญัติที่เสนอแบบนี้ ตั้งแต่ระยะทางที่ไกลมาก เมื่อบวกกับคำที่ใช้อยู่เดิมในมาตรา 7 จะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนมากเกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นหรือไม่ มันทำลายความสมดุลของตราชั่งไปแล้วหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจถือได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพของผู้ชุมนุมไว้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องมีบทบาทในการพิจารณาประเด็นนี้”

ระยะห้ามชุมนุมในเกาหลีใต้

จันทจิรายังได้เล่ากรณีที่น่าสนใจในเกาหลีใต้ช่วงประมาณปี 1995 ว่า เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนชุมนุมใกล้กับสถานที่ของศาล ซึ่งกฎหมายของเกาหลีใต้ระบุไว้ในทำนองเดียวกับของไทยว่าห้ามชุมนุมในบางพื้นที่ โดยกฎหมายของเกาหลีใต้ระบุว่า ห้ามชุมนุมใกล้ที่ทำการศาลในรัศมี 100 เมตร แต่มีคนโต้แย้งว่าบทบัญญัตินี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ในที่สุด

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีทั้งหมด 9 คน เสียงข้างมาก 5 คนเห็นว่าบทบัญญัตินี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ามีไว้เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่ของศาลให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การตีความของเสียงข้างมากยังเห็นว่า การจะกำหนดระยะรัศมี 100 เมตร ต้องหมายความถึงอาคารที่ศาลใช้นั่งพิจารณาคดีเท่านั้น อาคารสำนักงานหรืออาคารที่ทำหน้าที่อื่นๆ ที่ศาลไม่ได้ใช้พิจารณาคดีไม่นับอยู่ในบทบัญญัตินี้

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย 4 คน เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติลักษณะนี้ กฎหมายก็สามารถคงไว้ซึ่งคุณค่าและการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และรัฐบาล ยังอยู่ในวิสัยที่จะควบคุมการชุมนุมโดยที่ศาลยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้

หวังผลการเมือง?

“ตอนที่ดิฉันไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่หน้าหอศิลป์ตอนครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร กรณีนี้ผู้ชุมนุมฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐว่าขัดขวางการชุมนุม เราพบข้อเท็จจริงว่าเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้เลิกการชุมนุมเพราะตอนนั้นใกล้จะพลบค่ำและอยู่ใกล้สถานที่ประทับหรือวังสระปทุม ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือมีมือที่สามก่อความวุ่นวายได้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แผงเหล็กกั้นผู้ชุมนุมไว้ แต่แทนที่จะกั้นบริเวณหน้าวังสระปทุมกลับมากั้นอยู่ด้านหน้าหอศิลป์ กล่าวคือกั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังหอศิลป์ โดยไม่มีนัยอะไรที่กลัวว่าผู้ชุมนุมจะเข้าไปใกล้สถานที่ประทับเลย เหตุผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจคืออะไร กลัวจริงหรือเปล่า ที่ผ่านมาเคยมีข้อเท็จจริงหรือไม่ที่ผู้ชุมนุมจะเข้าไปใกล้สถานที่ประทับหรือรบกวนความเป็นอยู่ส่วนพระองค์จริงๆ ถ้ามีข้อเท็จจริงแบบนั้นเกิดขึ้น แผงเหล็กควรมากั้นอยู่หน้าวังสระปทุม อันนี้คือข้อสังเกตและพูดไว้ในคดี แต่ศาลไม่ได้นำมาใช้ ศาลไม่พูดถึงประเด็นนี้เลย” จันทจิรา กล่าว

จันทจิรายังกล่าวถึงกฎหมายการชุมนุมสาธารณะเดิมที่มีอยู่ว่า กฎหมายยังต้องทำหน้าที่สร้างสมดุลให้แก่ 3 คุณค่าคือสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม สิทธิเสรีภาพของผู้ที่ไม่ได้ชุมนุมแต่ต้องใช้สถานที่สาธารณะบริเวณนั้น และความสงบเรียบร้อยปลอดภัยของสาธารณะ การมีกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาคุณค่า 3 ประการนี้ให้ดำรงอยู่อย่างสมดุลและทำงานได้ง่ายขึ้นเพราะมีกฎเกณ์ชัดเจน ไม่ต้องรอศาลพัฒนาหลักกฎหมายขึ้นมา

แต่เมื่อมีกฎหมายแล้ว บทบัญญัติควรเป็นอย่างไร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งจันทจิราเห็นว่า

“พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ยังมีบทที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก มีปัญหาในข้อกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงศาลลงมา โดยการให้ศาลเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม ซึ่งศาลไม่ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายปกครองในการบอกว่าควรหรือไม่ควรสลายการชุมนุม ศาลควรทำหน้าที่ตรวจสอบคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายปกครองว่าปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แบบนี้เท่ากับดึงศาลลงมาเป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุม และนี่กำลังดึงสถาบันลงมาเป็นคู่กรณีอีกหรือไม่”

จันทจิราตั้งข้อสังเกตคล้ายกับประภาสว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นการเรียกร้องกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และประชาชนก็ตระหนักดีว่าไม่ควรละเมิดความเป็นส่วนตัวขององค์ประมุข ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายเช่นเพื่อหวังผลทางการเมืองใช่หรือไม่? ทั้งที่ไม่เคยมีข้อเท็จจริงสนับสนุนให้ต้องแก้ไขมาตรา 7 วรรค 1 เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท