Skip to main content
sharethis

ตร.เตือน จะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านเพื่อไทยแก้เกมลดคนแถลงจาก 7 เป็น 3 แถลงข่าว 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย คสช. จ่อเอาผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.การชุมนุมและพ.ร.บ.คอมฯ

 

ภาพ ตร.เตือนพรรคเพื่อไทย เกรงจะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. พร้อมขอสังเกตการณ์ (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Charan Ampornklinkeaw)

17 พ.ค.2561 ภายหลังจากพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวเรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ณ ที่ทำการของพรรคเพื่อไทย ในวาระครบรอบ 4 ปี คสช. นั้น

ล่าสุด สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเตรียมดำเนินคดีกับ พรรคเพื่อไทย จากการแถลงข่าวดังกล่าว ว่า การแถลงข่าวดังกล่าว เข้าข่ายความผิดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามมีการประชุมพรรคการเมือง แต่พรรคเพื่อไทย กลับมีการแถลงข่าวพาดพิง คสช. เท่าที่ตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เข้าข่ายความผิด 3 เรื่อง คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่า ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรค และ ความผิด พ.ร.บ.การชุมนุม ที่มีการมั่วสุมเกิน 5 คน รวมถึงความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก
 
จากนี้ ทางฝ่ายกฎหมาย คสช. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนจะดำเนินคดีกับใครบ้าง หรือ จะดำเนินคดีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา
 
ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ระบุว่า คสช. สามารถร้องทุกข์ กล่าวโทษ ที่ใดก็ได้ ทั้ง สถานีตำรวจพื้นที่ หรือที่กองปราบปราม จากนั้น ก็จะมีการส่งเรื่องมาให้พิจารณา ว่าจำเป็นต้องตั้งเป็นคณะทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยมี การดำเนินคดีกับพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด
 

ตร.เตือน จะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านเพื่อไทยแก้เกมลดคนแถลงจาก 7 เป็น 3

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคและสมาชิกพรรคทยอยเดินทางเข้าพรรคกันอย่างคึกคัก อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จาตุรนต์ ฉายแสง ชูศักดิ์ ศิรินิล นพดล ปัทมะ ชัยเกษม นิติสิริ และวัฒนา เมืองสุข เพื่อเตรียมข้อมูลแถลงข่าวประเมินผลงาน 4 ปีดังกล่าว
ที่มาภาพ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย
 
ไทยรัฐออนไลน์  รายงานต่อว่า เวลาประมาณ 10.15 น. พ.ต.อ.เทียนชัย คามะปะโส รอง ผบก.น.1 เข้าสังเกตการณ์ พร้อมแจ้งต่อแกนนำพรรคเพื่อไทยเกรงว่า จะกระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง โดย ภูมิธรรม ชี้แจงว่าไม่มีปัญหาหากจะเข้าสังเกตการณ์ และเคยแถลงข่าวมาโดยตลอดอยู่แล้ว จากนั้น พ.ต.ท.ศักดิเดช กัมพลานุวงศ์ รอง ผกก.สส.สน.มักกะสัน และ พ.ต.ท.ปุญรัสมิ์ โชติ รอง ผกก.ป.สน.มักกะสัน ได้ชี้แจงข้อกฎหมายต่อ พล.ต.ท.วิโรจน์ ภูมิธรรม และชูศักดิ์ อีกครั้งว่า ย้ำถึงการแถลงข่าวที่อาจละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งต่อ คสช.
 
กระทั่งเวลา 10.45 น. แกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันจะแถลงตามเดิม แต่มีการลดจำนวนผู้แถลงลงจากเดิม 7 คนเหลือ 3 คน ประกอบด้วย ชูศักดิ์ จาตุรนต์ และวัฒนา ส่วนแกนนำคนอื่นยืนอยู่ด้านล่างเวที เช่นเดียวกับนายตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นายที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้แกนนำที่มาแถลงล้วนไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเชื่อมโยงนำไปสู่ประเด็นทางข้อกฎหมายที่อาจเกิดผลกระทบกับพรรค
 
โดย ชูศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนแถลงข่าว มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาบอกการแถลงวันนี้อาจขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 แต่ยืนยันการแถลงเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ สามารถดำเนินการได้ พรรคแถลงไม่รู้กี่ครั้งไม่เคยมีปัญหา แต่ครั้งนี้เมื่อจะแถลงประเมินผลงานครบรอบ 4 ปีรัฐประหารกลับมีปัญหา จากผู้ที่จะแถลง 7 คนจึงต้องลดผู้แถลงเหลือเพียง 3 คน ก็ขอให้สื่อแปลเอาเองว่าหมายความว่าอย่างไร ส่วนผลงาน 4 ปี ของ คสช.ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ในประกาศฉบับที่ 1 คสช. ระบุว่า ต้องการให้เกิดความรักความสามัคคี สัญญาจะใช้อำนาจเผด็จการไม่นาน ปราบปรามการทุจริต วันนี้ครบ 4 ปี พบว่าการสร้างความปรองดอง ไม่เคยเห็นความจริงใจ คสช.กลายมาเป็นคู่ขัดแย้ง ที่บอกจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน มีการเลื่อนเลือกตั้งมา 4 ครั้ง จะปฏิรูปโครงสร้างการเมืองกลับได้รัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองที่ถอยหลัง ได้ประกาศคำสั่ง คสช.ที่ทำลายพรรคการเมือง การประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ คนในสังคมยังมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ถือว่าประกาศฉบับที่ 1 ล้มเหลว รัฐบาลและคสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมน การแถลงครั้งนี้เรามา 3 คน ไม่ได้มา 3 หมื่นคนเต็มสนามฟุตบอล เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า อย่างไหนเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง

4 ปีที่ล้มเหลว นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย 

สำหรับรายละเอียดคำแถลงพรรคเพื่อไทย เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย มีดังนี้
 

คำแถลงพรรคเพื่อไทย 

เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าและยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน

คสช.ได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจตามประกาศฉบับที่ 1/2557 ว่า ต้องการให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนเกิดความรัก ความสามัคคี ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย พร้อมกับสัญญาว่าจะใช้อำนาจเผด็จการไม่นาน และต่อมาก็ประกาศว่าจะปราบปรามและแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังโดยไม่เลือกปฏิบัติ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า 4 ปี ของการรัฐประหารเป็น 4 ปีแห่งความล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาส และจะนำประเทศไปสู่ความมืดมน และอันตราย

1.  ความล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างในการยึดอำนาจ

พลเอกประยุทธ์ ฯ แถลงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ว่าจะมุ่งสร้างความปรองดอง  ในสามเดือน แต่ไม่เห็นความจริงใจในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังคงมีอยู่ โดย คสช. ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง การคืนความเป็นธรรม ให้ความชอบธรรมกับทุกฝ่ายไม่เกิดขึ้น กลับมีแนวโน้มที่จะทำให้เงียบหายไป

ประกาศว่าจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ครบ 4 ปีแล้ว ประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น หาเหตุเลื่อนการเลือกตั้งมาโดยตลอดหลายครั้งหลายหน

ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง  แต่กลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปไกล ทำลายพรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ เลย

ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับทำให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนขึ้น กำลังซื้อหดหาย ปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้น

การปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว ทั้งที่ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมหาศาล

2.  ล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง

  คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นขาดความเป็นอิสระมีแต่คนในรัฐบาล ข้าราชการในกองทัพ และข้าราชการอื่นๆ ไม่มีองค์ประกอบในส่วนของภาคประชาชน และองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วม แนวทางการสร้างความปรองดองถูกควบคุมและเห็นชอบโดยหัวหน้า คสช. กระบวนการสร้างความปรองดองไม่เป็นไปตามหลักการสากล ขาดการยอมรับจากภาคส่วนของสังคม ไม่ศึกษาสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่แท้จริง และไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ที่หัวหน้า คสช. และคนใน คสช. เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งในอดีต และมาเป็นคู่ขัดแย้งในปัจจุบัน สัญญาประชาคมที่ทำขึ้นเป็นลักษณะสัญญาฝ่ายเดียวของ คสช. จึงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

3.  ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น

การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพียงเพื่อสร้างภาพ คสช. แต่งตั้งกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ไม่มีการประชุมมาแล้วถึง 8 เดือน ปัญหาคอรัปชั่น กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และ คสช. ที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังให้สัมภาษณ์ว่า หากตนเองถูกเปิดโปงเพียงเรือนแรก ก็จะลาออกไปแล้ว แต่กลับมีการปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ละเลยที่จะดำเนินการ ขณะที่ผู้ร้องเรียนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ บางคนถูกดำเนินคดี ส่วนองค์กรตรวจสอบต่างๆ ก็มุ่งช่วยเหลือปกปิด หรือทำให้ล่าช้า และสุดท้ายก็เงียบหายไป องค์กรตรวจสอบต่างๆ เช่น ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับการต่ออายุให้อยู่ครบวาระ และเลยวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่บางองค์กรกลับให้สิ้นสุดลง  4 ปีที่ไม่มีนักการเมืองกลับพบการทุจริตอย่างกว้างขวาง ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย (CSI) เดือนธันวาคม 2560 พบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศไทย (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ปรับตัวในทิศทางตกต่ำลง เมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร

4.  ล้มเหลวในการทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตย

นับแต่รัฐประหาร เป็นต้นมา ประเทศต้องอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน การแสดงออกทางความคิดเห็นถูกปิดกั้น ได้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปอย่างมาก วางกลไกที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่มีประเทศใดเคยใช้มาก่อน วางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจโดยในวาระเริ่มแรกให้อำนาจ คสช. เลือกผู้สมควรได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 244 คน ให้วุฒิสภามีอำนาจออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้เพื่อให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายพรรคการเมืองจะประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 แต่จนถึงปัจจุบัน คสช. ก็ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองตามกฎหมายดังกล่าว ซ้ำร้ายยังออกคำสั่ง คสช.รีเซ็ตสมาชิกพรรค และยุบสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วทั้งหมด การกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้บังคับเป็นเวลาถึง 20 ปี เป็นการพันธนาการประเทศและประชาชนไว้กับแนวคิดของ คสช. โดยที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว การรัฐประหารอันถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง คสช. กลับกำหนดในรัฐธรรมนูญ  ให้นิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง กำหนดให้การกระทำของตนและพวกทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

5.  ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

นับแต่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอย่างต่อเนื่อง การออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายของศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ ไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จำกัดและริดรอนสิทธิ เสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางเฟสบุ๊คของบุคคล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายและคำสั่งที่ตนเองออกใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับแล้ว ประชาชนก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น ปรากฏตามรายงานประจำปี 2560/61 ของ AMNESTY INTERNATIONAL

6.  ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมากตลอด 4 ปีงบประมาณ นับเป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล คสช. ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีเดียว เท่ากับยอดเงินฯ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง 2 ปีงบประมาณ คือ ปี 2556 รวมกับปี 2557

รัฐบาล คสช. มีแนวโน้มใช้เงินเกินตัวมากขึ้นทุกๆ ปี อย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ซึ่งต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สามารถบริหารให้การขาดดุลงบประมาณลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นรัฐบาล หากรัฐบาล คสช.ปล่อยให้แนวโน้มการใช้จ่ายเช่นนี้ดำเนินต่อไป วินัยทางการคลังของประเทศย่อมได้รับความกระทบกระเทือน

ถึงแม้รัฐบาล คสช. จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจไทยในยุค คสช. เติบโตในอัตราที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆ ในอาเซียนในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ด้วยแนวคิด ทัศนะ และนโยบายของรัฐที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดของสินค้า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กำลังซื้อภาคประชาชนลดลง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยถูกทิ้งขว้างตามยถากรรม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้รับการแก้ไข เงินที่รัฐบาลใส่ลงในระบบไม่เกิดการใช้จ่าย เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

7. ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

รับปากต่อประชาชนว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา และจะอยู่ไม่นาน แต่กลับอยู่ยาวถึง 4 ปี และมีแนวโน้มจะมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไป เมื่อเข้ามายกตนว่าเป็นคนดี ด่าว่า และกล่าวร้ายนักการเมือง และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายมายอมรับว่าตนเป็นนักการเมือง และยังไปชักชวนนักการเมืองมาร่วมรัฐบาล เพื่อพยุงอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ประกาศว่าจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ผ่านมา 48 เดือน ประชาธิปไตยยังมืดมน ทั้งๆ ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชน และรับปากต่อผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่สุดท้ายก็เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 ครั้ง การกระทำและพฤติการณ์ส่อว่าได้เสพติดอำนาจ และวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เริ่มตั้งแต่การวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาและอำนาจของ ส.ว. การทุ่มเทงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะหวังผลทางการเมือง ล่าสุดมีการดูดนักการเมืองจากค่ายต่างๆ เพื่อมาร่วมงานกับตนเอง อันแตกต่างจากการประกาศครั้งแรก เมื่อเข้ามายึดอำนาจ

โดยสรุปสิ่งที่ คสช. และหัวหน้า คสช.ทำในช่วง 4 ปี คือ การใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การทำทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องการสร้างรัฐเผด็จการโดยใช้ระบบราชการเป็นกลไก ทำให้กลไกภาคประชาชนและพรรคการเมืองอ่อนแอ ใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อปกป้องและเอื้อต่อตนเอง

ดังนั้น 4 ปีของ คสช. คือ การนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมน และอันตราย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกมองเป็นเพียงบ่าว ทั้งๆ ที่พวกเขาคือนาย เพราะเป็นผู้เลือกส.ส.และรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันนำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา  พร้อมด้วยหลักนิติธรรม ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ฯลฯ และไม่ยอมให้เผด็จการทำลายประชาธิปไตยอีกต่อไป เพื่ออนาคตที่สดใสและเกิดความรัก ความสามัคคี ความเมตตา ปรารถนาดีระหว่างประชาชน อย่างแท้จริง

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย
17 พฤษภาคม  2561

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net