Skip to main content
sharethis

รายงานธนาคารโลกเผย LGBTI ไทยกว่าครึ่งถูกเลือกปฏิบัติในโลกการทำงาน-บริการภาครัฐ ทหาร-ตำรวจ-สถาบันศาสนาปัดรับเข้าทำงานมากสุด คนไม่ข้ามเพศเกือบครึ่งยอมรับถ้ามีการเลือกปฏิบัติ เสนอ 6 ด้านพัฒนาหลายมิติ วงเสวนาแนะ ถ้าพนักงานสะดวกใจก็จะทำงานได้ดีขึ้น

ซ้ายไปขวา: ก้าวหน้า เสาวกุล แกรี่ ชโรเดอร์ พอลล์ เฮย์แมน ณัฐพงศ์ วิธิศุภกร ภูมิใจ ไกรสินธุ์ อูลริค ซาเกา

เมื่อ 17 พ.ค. ที่สถานทูตประเทศเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีการนำเสนอรายงานของธนาคารโลก เรื่อง ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย’ และเวทีเสวนาต่อเนื่องจากรายงาน เนื่องในโอกาสวันต่อต้านการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศสากล (IDAHOT - International Day Against Homophobia and Transphobia)

วงเสวนาเล่าปัจจัยบวก-ลบ LGBTI ในที่ทำงาน แนะตัวอย่างต่างประเทศ ถ้าพนักงานสะดวกใจก็จะทำงานได้ดีขึ้น

หลังจากรายงานงานวิจัย มีเวทีเสวนาต่อประเด็นที่งานวิจัยนำเสนอ และรับประเด็นถาม-ตอบจากผู้ร่วมงาน โดยเวทีเสวนามีอูลริค ซาเกา (Ulrich Zachau) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคในมาเลเซีย ไทย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ณัฐพงศ์ วิธิศุภกร จากฝ่ายบริหารความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ บริษัทกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต แกรี่ ชโรเดอร์ จากบริษัท Amadeus พอลล์ เฮย์แมน จากบริษัท OutBKK และก้าวหน้า เสาวกุล ผู้ก่อตั้ง TEAK - Trans Empowerment ชุมชนผู้ชายข้ามเพศ ไทย-อินโดนีเซีย เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยภูมิใจ ไกรสินธุ์

ก้าวหน้าระบุว่า ตนมีงานประจำในบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ในอดีตเคยทำงานที่ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในไทยและไม่สะดวกใจกับการปฏิบัติของเพื่อนร่วมงานต่อคนต่างเพศจึงตัดสินใจลาออก และเมื่อย้ายที่ทำงานก็พบกับผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยน ทั้งยังพบว่าที่ทำงานจ่ายเงินให้เธอและเขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อถามเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าจะทำงานที่นี่ต่อไปเพราะรู้สึกปลอดภัย แต่ทำไมเราต้องเสียสละเงิน ตำแหน่งงาน อะไรมากมายเพื่อทำให้ได้เป็นตัวของตัวเอง เพดานที่มองไม่เห็น (glass ceiling) ยังมีมากในสังคมไทย

แกรี่กล่าวว่า ในฐานะคนอเมริกัน รู้สึกแปลกใจกับการเลือกรับคนเขาทำงานตามเกณฑ์อายุ เพศ เช่น เป็นเพศหญิง อายุ 17-35 ปี เป็นต้น เพราะที่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำได้ และกล่าวว่า บริษัทเองก็อยากจะได้คนที่เก่ง สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่แล้ว ยิ่งต้องเข้าหาลูกค้าที่มีความหลากหลายแล้ว การตัดโอกาสให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเท่ากับตัดโอกาสที่จะเชื่อมต่อกับความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าออกไป

ในสหรัฐฯ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟท์ ต่างเปิดกว้างกับคนข้ามเพศมาก ในพาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (pride parade) บริษัทเหล่านี้ต่างแสดงออกอย่างชัดเจนเพื่อดึงดูดให้คนมาทำงานด้วย หลายบริษัทแข่งกันเรื่องสวัสดิการคนข้ามเพศ ทั้งนี้ สิ่งเล็กๆ ที่จะเริ่มทำได้คือการให้คนข้ามเพศเป็นที่ยอมรับ เช่น ทำให้พวกเขาสะดวกใจที่จะวางภาพของคู่รักเพศเดียวกันในที่ทำงาน เหมือนที่เพื่อนร่วมงานวางรูปสามี ภรรยา สัตว์เลี้ยง หรืออื่นๆ แค่นั้นก็อาจทำให้คนทำงานไม่ต้องพะวงกับเรื่องอัตลักษณ์ และให้ความสำคัญกับผลิตภาพของงาน

ณัฐพงศ์กล่าวว่า ที่กรุงไทย-แอกซ่า อยากให้คนที่มาทำงานมีความสุขและเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ดังนั้นเวลาเปิดตำแหน่งงานจึงไม่ได้จำกัดเพศ สิ่งสำคัญคือเรื่องวัฒนธรรม เมื่อเรารับคนเข้ามาทำงาน ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความยึดโยงกับบริษัท ตอนแรกตัวเองก็รู้สึกลำบากใจที่จะระบุตัวตนในที่ทำงาน แต่ที่ทำงานก็มีวัฒนธรรมที่ทำให้สะดวกใจ มีการเปิดฝ่ายบริหารความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ บุคลากรที่มีความหลากหลายทางเพศและรู้สึกไม่สบายใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ นอกจากนั้นยังมีการขยายการยอมรับไปยังลูกค้าที่มีความหลากหลายทางเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรุงไทย-แอกซ่าระบุไว้ให้ทุกแผนประกันชีวิตของกรุงไทย-แอกซ่า สามารถระบุคู่ชีวิตเพศเดียวกันเป็นผู้รับผลประโยชน์

อูลริคกล่าวว่า กลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดและมีส่วนที่เหมือนกันในสังคมที่เป็นปิตาธิปไตย (Patriarchy) คือการถูกเลือกปฏิบัติในส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับเพศหญิง ซึ่งถูกมองเป็นเพศผู้ตามในสังคมเช่นว่า การถูกเลือกปฏิบัติอยู่บนฐานว่า เหตุใดคนที่เกิดเป็นชายอยู่แล้วจึงสมัครใจลดตัวไปเป็นเพศหญิง

ต่อประเด็นว่าเหตุใดธนาคารโลกจึงใส่ใจเรื่องการไม่กีดกันความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าธนาคารโลกมีเป้าหมายที่จะลดความยากจนและช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นผู้เสียเปรียบทั่วโลกให้มีสิทธิและโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น และเนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่นั้นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ในฐานะของสถาบันธนาคารโลก รวมถึงตัวเขาเองจึงยืนหยัดในคุณค่าดังกล่าว

รายงานเผย LGBTI กว่าครึ่งถูกเลือกปฏิบัติในโลกการทำงาน-บริการภาครัฐ

ข้อมูลทางสถิติได้มาจากการสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์จากบุคคลจำนวน 3,502 คนที่อาศัยในประเทศไทย ในจำนวนนี้ 1,200 คน เป็นผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ใช่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และผู้ตอบแบบสอบถามที่ป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 2,302 คนที่ระบุตนว่าเป็นเกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ หรือเพศอื่นๆ อีกทั้งได้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบของ “เรื่องราวชีวิต” จากผู้ให้ข้อมูลที่มีความหลากหลายทั้งในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจำนวน 19 คนทั่วทุกภูมิภาคหลักของไทย โดยรายงานได้ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นความพยายามในการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก

การตอบแบบสำรวจออนไลน์พบว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยถูกเลือกปฏิบัติในทุกๆ ด้านของชีวิตในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร้อยละ 60 ของกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) ร้อยละ 30 ของกลุ่มเลสเบี้ยน และร้อยละ 20 ของกลุ่มเกย์ตอบว่ามีการเลือกปฏิบัติในการทำงานของพวกเขา มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ใบสมัครของพวกเขาโดนปฏิเสธเพราะมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติเมื่อเข้าถึงบริการของภาครัฐ การอบรม การศึกษา การเช่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงินและประกันสุขภาพ การเลือกปฏิบัติในการทำงานที่พบบ่อยที่สุดคือการถูกปฏิเสธใบสมัครงาน การคุกคามในสถานที่ทำงาน  ประมาณหนึ่งในห้าของกลุ่มเกย์กล่าวว่าพวกเขาถูกมองข้ามในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หรือไม่ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพราะสถานภาพความเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทหาร-ตำรวจ-สถาบันศาสนาปัดคน LGBTI เข้าทำงานมากสุด คนไม่ข้ามเพศเกือบครึ่งยอมรับกับการเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับงานและในแวดวงการทำงานมีลักษณะแตกต่างหลากหลายกันไปตามอาชีพและภาคเศรษฐกิจ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่สามารถเข้าถึงอาชีพในหน่วยงานตำรวจ ภาคส่วนที่เกียวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย กองทัพ และสถาบันเกี่ยวกับศาสนาได้ แต่เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้นในภาคการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก ความงามและสุขภาพ ซึ่งบ่งชี้เรื่องการแบ่งแยกกีดกันทางอาชีพด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศกับข้อจำกัดในความคล่องตัวและความก้าวหน้าทางอาชีพ

“ฉันสมัครไป แต่พวกเขาบอกฉันว่า ‘ตำแหน่งงานนี้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่ใช่ผู้หญิง’ ดังนั้นพวกเขาจ้างฉันไม่ได้ ‘ฉันรู้นะว่าเธอมีความสามารถ ผู้คนเขาสรรเสริญเธอ แต่ว่าสำหรับตำแหน่งนี้ ทางผู้ใหญ่เขาต้องการผู้หญิงแท้ๆ เธอไม่ใช่ผู้หญิง เธอมีคำนำหน้าว่านาย’” รายงานระบุคำพูดของบุคคลเพศกำกวมวัย 27 ปีจากปริมณฑล กรุงเทพฯ

ผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญอุปสรรคท้าทายสำคัญในการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การขอออกบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวสำคัญอื่นๆ กลุ่มเกย์ร้อยละ 40.6 เลสเบี้ยนร้อยละ 36.4 กลุ่มคนข้ามเพศร้อยละ 46.9 ที่ร่วมตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับบริการที่แสวงหาจากรัฐ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความหลากหลายทางเพศตอบว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติแบบไม่ให้เกียรติในยามที่ไปขอรับบริการจากรัฐ มากกว่าร้อยละ 30 กล่าวว่าโดนคุกคาม ล้อเลียน และถูกเรียกร้องให้ต้องทำตามข้อบังคับเพิ่มเติมมากว่าประชาชนทั่วไปในยามที่ต้องการใช้บริการรัฐ

ทั้งนี้ ร้อยละ 37.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่ใช่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบอกว่ายอมรับได้หากว่าผู้จ้างงานเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) กล่าวว่าเป็นเรื่องสมเหตุผลแล้วที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประสบกับการเลือกปฏิบัติบางรูปแบบในเวลาที่เข้าใช้บริการรัฐ

ในด้านการตระหนักรู้ว่าไทยประกาศคุ้มครองต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกฎหมาย รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 7 กับกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 1 รู้ว่าในไทยมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

รายงานของธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้

การสร้างความตระหนักรู้เรื่องนโยบายสาธารณะ

  1. พัฒนาและดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI - Sexual Orientation Gender Identity) และความหลากหลายทางเพศ กฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติและนโยบายตลอดทั้งกลไกรัฐ โดยครอบคลุมไปยังภาคเอกชน ประชาสังคม องค์กรสื่อสารมวลชน และสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดอบรมและสร้างความตระหนัก

  2. รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงในระดับสูง ในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าเป็นพลังของสังคมมากยิ่งขึ้น และต้องยืนยันว่าประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีเส้นแบ่งเกี่ยวกับเพศ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ตัวอย่างเช่น ผู้นำรัฐบาลอาจแถลงนโยบายดังกล่าว หรือกำหนดให้มีการขับเคลื่อนเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศ

ความเท่าเทียมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการจ้างงาน

  1. พัฒน่าร่างและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมและห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

  2. จัดตั้งกลไกการบังคับใช้และติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว และให้มีการเยียวยาในกรณีที่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนข้ามเพศ

  3. จัดตั้งคณะกรมการการจ้างงานอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการดังกล่าวในฐานะกลไกร้องทุกข์ระดับประเทศ

  4. ส่งเสริมการสานเสวนาทางสังคมระหว่างนายจ้างในภาคเอกชน กลุ่มลูกจ้างและพนักงานซึ่งเป็นบุคคลมีความหลากหลายทางเพศในการคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง และส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

ความเท่าเทียมกันในการดูแลสุขภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

  1. จัดทำแนวปฏิบัติและบูรณาการประเด็นการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเข้าไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรที่ให้บริการด้านสาธารณสุข

  2. พัฒนาและใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการประกันสุขภาพเอกชนซักถามเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์

  3. พัฒนาและนำมาใช้ซึ่งมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนต้องออกกรมธรรม์คุ้มครองผู้อาประกันที่เปิดทางให้คู่ชีวิตไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ได้แต่งงานก็ตาม ไม่ว่าจะมีเพศหรืออัตลักษณ์ทางใดก็ตาม สามารถมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์จากการเอาประกันภัยได้

การมีส่วนร่วมในการศึกษาสำหรับทุกคน

  1. บูรณาการแนวปฏิบัติว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศและการไม่เลืกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมทั้งก่อนและระหว่างการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนและครู ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่และที่รับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่

  2. สร้างความตระหนักรู้ในชุมชนโรงเรียนทั้งหมดเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ การรายงานเหตุความรุนแรงและกลไกกาส่งต่อเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างขีดความสามารถในการใช้กลไกนั้นเพื่อป้องกันและรับมือเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งการรังแกและการคุกคามทางโลกไซเบอร์

ความเสมอภาคในสิทธิตามกฎหมาย

  1. ให้มีการออกกฎหมายรับรองเพศสภาพ

  2. ให้มีการออกกฎหมายที่รับรองสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน โดยให้กฎหมายนี้คำนึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะอนุญาตและรับรองการใช้ชีวิตคู่อย่างมีเสถียรภาพระหว่างบุคคลสองคน บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

  3. บูรณาการประเด็นวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเต็มรูปแบบไว้ใน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในแผนพัฒนาหรือนโยบายการพัฒนาในประเทศ

  4. สนับสนุนยอย่างจริงจังให้กลุ่มเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวลและผู้หญิงข้ามเพศในทุกๆ ความพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิผู้หญิง การเสริมพลังให้ผู้หญิง และการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

  5. เสริมสร้างและบังคับใช้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อความรุนแรงทุกรูปแบบอันเนื่องมาจากเพศสภาพ และต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

การศึกษาวิจัยเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้

  1. เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณในภาคส่วนหลัก โดยแจกแจงมิติวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

  2. พัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลที่ผสมผสานกรณีต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับการกีดกันกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและจากองค์กรประชาสังคม

  3. เพิ่มเติมส่วนข้อมูลว่าด้วยวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ในการทำสำรวจระดับประเทศหรือทำข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

  4. วิเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันและเผชิญเหตุความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

  5. ประเมินนโยบายและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในประเทศไทย

  6. ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการรายงานเหตุความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

  7. ให้ทุนทำวิจัยศึกษาเพื่อประเมินมูลค่าของต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเงินที่กระทบต่อสังคม อันมีสาเหตุจากการกีดกันและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและประโยชน์ของการที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net