Skip to main content
sharethis

ส่องเส้นทางสู่การเลือกตั้งเมื่อคำพูดไม่ได้เป็นนายคน เลือกตั้ง พ.ย. 61 ถูกเลื่อนแล้ว เลือกตั้ง ก.พ. 62 ยังเลือนราง ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. – ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รู้ชะตากรรม หากตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน มิ.ย. นี้ เลือกตั้งจึงไม่อาจเลื่อนได้อีก นอกเสียจากจะใช้ ม.44

ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. 2560 ขั้นตอนที่จะนำพาประเทศไทยกลับสู่การได้มาซึ่งรัฐบาลโดยมีการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกระบวนการได้มา คือการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา(ส.ว.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้มีการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 150 วันภายหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับตามที่กล่าวมามีผลบังคับใช้

ทว่าหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ มีเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด 10 ฉบับภายในระยะเวลา 240 วัน แต่กลับไม่ได้เร่งดำเนินการส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาเป็นลำดับแรก แม้จะมีการส่งร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นลำดับแรกๆ แต่กลับส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นลำดับสุดท้าย

ปัจจุบันนี้มีกฎหมายสองฉบับแรกมีผลบังคับแล้ว ขณะที่สองฉบับสุดท้ายแม้จะผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว แต่ตอนนี้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นสมาชิก สนช. ทั้งหมด 30 คนลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และอีก 27 สนช. ร่วมลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ซึ่งเป็นการยื่นหลังจากที่ส่งร่างกฎหมายไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเตรียมขึ้นทูลเกล้าฯ แต่สุดท้ายก็ชักกลับมาเพื่อยื่นตีความ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่กับ สนช. นานเกือบสองเดือนก่อนที่จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรี

การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายทั้งสองฉบับซึ่งเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2561 ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลายมาเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการเลือนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลบังคับ 90 วันหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม แต่เหตุผลที่ว่าต้องการจะเพิ่มเวลาให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ทันเวลานั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง เช่นการจัดประชุมใหญ่ได้ หรือดำเนินกิจกรรมทางธุรการได้คือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/25557 อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดให้มีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กับการยืนยันสถานะสมาชิกพรรคการเมืองเดิมเท่านั้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ประชุมพรรคการเมืองยังไม่สามารถทำได้ การนำเสนอนโยบายยังไม่สามารถทำได้ เพราะติดล็อคที่ คสช. วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น

“การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย. 2561” คือคำสัญญาในช่วงปลายปี 2560 ที่ประกาศต่อสาธารณชนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ประกาศหลังจากเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ทว่าก็เป็นอีกครั้งที่ คำพูดไม่ได้มีสถานะเป็นนายคน คำสัญญาถูกลบล้างจากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น และถูกแทนที่ด้วยคำสัญญาใหม่ ภายหลังจากที่เกิดการรวมตัวของประชาชน หรือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “คนอยากเลือกตั้ง” ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารทำตามสัญญาที่ได้ประกาศไว้

บรรยากาศการชุมนุมรายครั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2560 มาจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 เห็นได้ชัดว่ามีคนออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนครั้งที่ดูจะเป็นเรื่องน่ากังวลใจที่สุดสำหรับรัฐบาลทหารคือ การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากการคาดคะเนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้ราว 1,500 คน เป็นอย่างน้อย ต่อมา 27 ก.พ. 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศชัดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเส้นทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ก.พ. 2562 พบว่าเส้นทางที่มองเห็นอยู่นั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก ผลการพิจารณาตีความร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่จะเป็นตัวแปรสำคัญ หากผลออกมาในเวลาอันรวดเร็วว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562 ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เส้นตายที่สำคัญคือจะต้องมีการประกาศกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในเดือน มิ.ย. 2561 เพราะกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับต้องรอไปอีก 90 วัน

แน่นอนไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร สิ่งที่รู้ในเวลานี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวันที่ 23 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ส่วน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. นั้นยังไม่มีการกำหนดวันลงมติ          

อย่างไรก็ตาม สมชัย สรีสุทธิยากร เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นที่ยื่นเข้าไปว่าเป็นการขัดแย้งในสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้เนื่องจากสิ่งที่มีการส่งให้ศาลพิจารณาก็คือเรื่องของวิธีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา แม้จะอยู่ในบทเฉพาะกาลก็ตาม หากศาลเห็นว่า ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องร่างกันใหม่ทั้งฉบับ หรือส่งให้กลับไปแก้ไขร่างกฎหมายบางมาตรา ซึ่งเท่ากับว่าระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายจะถูกเพิ่มขึ้นไปอีก

ส่วนประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันในร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น คือการตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ว่าจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสามหรือไม่

โดยมาตรา 95 วรรคสาม ระบุว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ”

และประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงต่อมาคือ เรื่องด้วยด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้พิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุนั้นโดยถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น ว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ระบุว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธี ออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ....”

จะอย่างไรก็ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังคงรอการกำหนดวันลงมติของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ และสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งจะไม่เกินไปกว่าเดือน ก.พ. คือการประกาศกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน มิ.ย. นี้ เพราะช้าไปกว่านี้มาเท่าใดนั้นเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไกลได้เท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะใช้โอกาสที่อาจจะเปิดไว้นี้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่พลังอำนาจมากที่สุดซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากเกมบนกระดานนี้คือ อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งสามารถทำอะไรก็ได้ โดยที่ทุกการกระทำจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net