Skip to main content
sharethis

สภาบริหารของไต้หวันได้ประกาศเกี่ยวกับแผนการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วย 'เศรษฐกิจผู้อพยพใหม่' เปิดช่องให้วีซ่าถาวรให้แรงงานฝีมือจากต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับกลางและช่างเทคนิคในไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 1.2 แสนคน

ไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะงานดูแลผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากต่างประเทศ ที่มาภาพประกอบ: world.wng.org

21 พ.ค. 2561 Radio Taiwan International รายงานว่าเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาสภาบริหารของไต้หวันได้ประกาศเกี่ยวกับแผนการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วย 'เศรษฐกิจผู้อพยพใหม่' เปิดช่องให้วีซ่าถาวรให้แรงงานฝีมือจากต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับกลางและช่างเทคนิคในไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 1.2 แสนคน ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกฎหมายนี้ เช่น ในกรณีที่เป็นนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาสายอาชีพในไต้หวัน จะต้องเป็นนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาอย่างน้อยในระดับอาชีวะ หรือจบการฝึกอบรมอาชีพจากต่างประเทศ และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ส่วนแรงงานต่างชาติช่างเทคนิคระดับล่างและกลาง ต้องเป็นผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือสวัสดิการสังคม (งานเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น งานดูแลผู้สูงอายุ) มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 6 ปี ค่าจ้างอย่างน้อย 41,393 เหรียญไต้หวัน/เดือน ในส่วนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ส่วนผู้ทำงานด้านสวัสดิการสังคม จะต้องได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 32,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน

ส่วนในกรณีการว่าจ้างจากต่างประเทศโดยตรงจะต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทหรือองค์กรต่างชาติ ทั้งนี้บุคคลเหล่านี้จะต้องมีถิ่นที่อยู่ในไต้หวัน และพำนักอาศัยในไต้หวันปีละอย่างน้อย 183 วัน ติดต่อกัน 7 ปี

ด้าน สำนักข่าว CNA ของไต้หวันระบุว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือน (รวมทั้งรายได้ปกติและรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอเช่นค่าล่วงเวลาและโบนัส) ของพนักงานไต้หวันที่มีทักษะปานกลางในอุตสาหกรรมการผลิต และงานเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม อยู่ที่ 39,000 เหรียญไต้หวัน/เดือน และ 30,457 เหรียญไต้หวัน/เดือน ตามลำดับ

ทั้งนี้หากมีการกำหนดค่าจ้างที่สูงขึ้นสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือ จะช่วยป้องกันแรงงานต่างชาติจากการเอาเปรียบโดยนายจ้าง แต่ค่าจ้างนี้ยังต่ำพอที่จะดึงดูดความสนใจจากนายจ้างในท้องถิ่นได้เนื่องจากงานหลายตำแหน่งคนไต้หวันเองก็ไม่นิยมทำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net