Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียคือชัยชนะจอมปลอม เพราะถึงแม้ว่าพรรค U.M.N.O. ที่เคยปกครองประเทศมาตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นฝ่ายแพ้ แต่มหาธีร์คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค U.M.N.O. ระหว่างปี 1981 ถึง 2003

รัฐบาลของนาจิบ ราซัค แพ้การเลือกตั้งเพราะมีเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่น แต่ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีเรื่องอื้อฉาวและมีการแจกผลประโยชน์ให้พรรคพวกเช่นกัน นอกจากนี้มหาธีร์มีประวัติในการปกครองแบบกึ่งเผด็จการโดยจับนักการเมืองฝ่ายค้านเข้าคุกหลายครั้ง

รัฐบาลใหม่ของพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan มีข้อตกลงว่ามหาธีร์จะเป็นนายกสองปี หลังจากนั้น อันวาร์ อิบราฮิม จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งแทน อันวาร์ เป็นอดีตนักการเมืองคนโปรดของมหาธีร์ในพรรค U.M.N.O. ก่อนที่จะทะเลาะกับมหาธีร์และถูกจำคุกภายใต้ข้อหาเท็จเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

สรุปแล้วผลการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแค่ละครเปลี่ยนเก้าอี้ของนักการเมืองกระแสหลักที่เคยผูกพันกับพรรค U.M.N.O. ส่วนพรรคอื่นๆ ในแนวร่วมก็ผลัดกันกิน

สำหรับสหายเราในพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย P.S.M. ปรากฏว่าพรรคไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภาเลย ในอดีตพรรคเคยมีข้อตกลงกับฝ่ายค้านเลยชนะที่นั่งบ้าง ปีนี้พรรคไม่ยอมทำข้อตกลงกับฝ่ายค้านเพราะนำโดยคนอย่างมหาธีร์

มาเลเซียไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะมีการออกแบบระบบการเลือกตั้งตามเชื้อชาติ และมีการใช้กฏหมายความมั่นคงภายในเพื่อข่มขู่นักการเมืองฝ่ายค้านเสมอ

นโยบายการเมืองเชื้อชาติมีวัตถุประสงค์ในการระงับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนชั้นล่าง รัฐบาลมาเลเซียใช้ประเด็นเชื้อชาติเป็น “หน้ากากบังหน้า” เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเอง โดยอ้างว่ารัฐบาลผสมของแนวร่วมชาติเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ขณะที่ในความเป็นจริงมันเป็นแนวร่วมระหว่างนายทุนเอกชน (นายทุนจีนและอินเดีย) กับนายทุนข้าราชการ (นายทุนมาเลย์) และการเมืองชนชั้นถูกปราบปรามตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน

ความคิดเรื่องการเมืองเชื้อชาติเป็นเครื่องมือที่รัฐต่างๆ ใช้เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจหรือปัญหาข้อกังวลของประชาชนที่มาจากโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น

การจลาจลปี ค.ศ. 1969 ถูกอ้างเสมอเพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายการเมืองแบบเชื้อชาติ แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการจลาจลครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเช่น U.M.N.O. กับพรรคนายทุนจีน M.C.A. ลดลง พรรคที่ได้คะแนนเพิ่มเป็นพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับคนชั้นล่าง ทั้งๆที่บางพรรคยังอาจอยู่ในกรอบเชื้อชาติเป็นส่วนใหญ่ ในสถานการณ์แบบนี้องค์กรเยาวชนของ U.M.N.O. เป็นผู้ก่อความรุนแรงก่อน โดยเข้าไปโจมตีชาวจีนเพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของรัฐที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินและปราบปรามพรรคฝ่ายค้าน

ตั้งแต่ปี 1969 ชนชั้นปกครองมาเลเซียใช้นโยบายชาตินิยม-เชื้อชาติเพื่อสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวนาและกรรมาชีพเชื้อสายมาเลย์ โดยพยายามสร้างภาพปลอมว่าคัดค้านนายทุนจีนและนายทุนต่างชาติ และในขณะเดียวกันมีการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สังกัดชนชั้น

หลังการเลือกตั้งทั่วไปรอบปัจจุบันไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานอะไรว่าพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีประชาธิปไตยเต็มใบแต่อย่างใด

 

 

ที่มา: turnleftthai.wordpress.com

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net