อุ้มไปค่าย-เข้าค้น-เฝ้าหน้าบ้าน-ห้ามไม่ให้ร่วม: สถานการณ์สกัดคนอยากเลือกตั้งทั่วประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากกรณีกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยนัดหมายจัดการชุมนุม “22 พฤษภา เราจะหยุดระบอบ คสช.” เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และเรียกร้องให้ คสช.หยุดสืบอำนาจ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 21 พ.ค. และมีกำหนดการจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันที่ 22 พ.ค. นั้น  ก่อนหน้ากิจกรรม มีรายงานการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่เดินทางไปที่บ้านของผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเป็นระยะตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา

(ดูในรายงาน ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย และ มองทหาร-ตำรวจตระเวนเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา)

การติดตามและคุกคามถึงที่บ้านโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. จนถึงช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. มีประชาชนอย่างน้อย 54 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้าน นัดหมายพบเจอ เฝ้าติดตาม หรือถูกโทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนเท่าที่ทราบเท่านั้น สถานการณ์ลักษณะนี้เป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นกับประชาชนในหลักหลายร้อยคนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งหมดถูกสอบถามว่าจะเดินทางไปชุมนุมในวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ หรือไม่ และหลายกรณีมีการขอหรือข่มขู่ไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม ทั้งยังมีลักษณะปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้น อาทิเช่น การเข้าควบคุมตัวไปค่ายทหาร การนำหมายค้นเข้าตรวจค้น การนำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปล้อมบ้าน การติดตามความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง หรือการให้เซ็นเอกสารข้อตกลงไม่ไปร่วมการชุมนุม

ผู้ถูกติดตามคุกคามหลายสิบคนเป็นผู้เคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่ยังเข้าติดตามกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแต่อย่างใด เช่นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ หรือคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด ซึ่งไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมในปีนี้

ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในขณะนี้

ทหาร-ตร.บุกอุ้มคนให้เช่าเครื่องเสียงไปค่ายทหาร

วันที่ 20 พ.ค. 61 เวลาประมาณ 16.00 น. นายอุทัย แถวโพธิ หรือ ‘จี๊ด’ ซึ่งเป็นผู้เคยให้บริการเช่าเครื่องเสียง และเคยให้เช่าเครื่องเสียงในการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าควบคุมตัวจากบ้านพัก ภรรยาเปิดเผยว่าในขณะควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับใดๆ แต่แจ้งว่าจะพาตัวไปสอบถามข้อมูลที่มณฑลทหารบกที่ 11 แต่ไม่ระบุว่าเป็นเรื่องอะไร เพียงแต่บอกว่าได้รับคำสั่งมา ภรรยาและลูกชายจึงได้ขอติดตามไปด้วย และขณะควบคุมตัว ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าขับรถกระบะที่บรรทุกเครื่องเสียงออกไปด้วย

เมื่อไปถึงค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ได้ให้ภรรยาและลูกรอที่รถ ก่อนพาตัวนายอุทัยเข้าไปยังตึกภายในค่ายมทบ.11 จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้ขับรถพาภรรยาและลูกกลับไปส่ง โดยที่ยังควบคุมตัวนายอุทัยและได้ยึดรถเครื่องเสียงไว้

ต่อมามีรายงานว่าในสายวันนี้ 21 พ.ค. 61 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนายอุทัยไปส่งคืนที่บ้านแล้ว โดยเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารทั้งคืน และถูกให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลง (MOU) ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ส่งคืนรถเครื่องเสียงที่ยึดเอาไว้ด้วยแต่อย่างใด


ภาพนายอุทัย แถวโพธิ

นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านผู้ชุมนุมหลายราย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด

นอกจากการบุก “อุ้ม” ไปค่ายทหาร ยังมีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาล เข้าไปตรวจค้นบ้านของผู้เคยร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหลายราย อาทิเช่น กรณีน.ส.กุลวดี ดีจันทร์ หนึ่งในผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง และเป็นผู้ถูกดำเนินคดี ARMY57 ย่านปทุมธานี (ดูในรายงานข่าว)

นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หนึ่งในผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 8-9 นาย นำหมายค้นของศาลมาที่บ้าน ตั้งแต่เวลา 6.45 น. ของวันที่ 21 พ.ค.61 โดยเมื่อเข้าตรวจค้นก็ไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายใด เจ้าหน้าที่ได้สอบถามเรื่องการไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ซึ่งนายอนุรักษ์ยังยืนยันว่าจะไปร่วมกิจกรรม


ภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์
(ภาพจากเฟซบุ๊กของนายอนุรักษ์)

ด้านนายเทวินทร์ พูลทวี และนางประนอม พูลทวี สองสามีภรรยา ซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมหน้ากองทัพบก หรือ “ARMY57”  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยเข้าติดตามนัดหมายพูดคุยอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีทั้งการนัดกินข้าว เข้าไปเยี่ยมบ้าน ติดตามถ่ายรูป และมีการขอไม่ให้ไปร่วมการชุมนุมทั้งในวันที่ 19 และ 21-22 พ.ค.นี้   ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. 61 ได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 12 นาย เดินทางโดยรถ 7 คันรถ นำหมายค้นเข้ามาตรวจค้นที่บ้านของทั้งสองคน แต่ไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นบ้านของผู้เคยร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งอีกรายหนึ่ง ที่เคยเขาไปช่วยงานด้านการแจกจ่ายอาหารในที่ชุมนุม โดยมีการนำหมายค้นเข้าตรวจค้น ขณะเธอไม่อยู่บ้าน มีเพียงลูกชายอยู่บ้านขณะการตรวจค้น และไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายใด


ภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านนายเทวินทร์ พูลทวี

นำกำลังหน่วยสวาท-หน่วยอรินทราช กว่า 50 นายบุกล้อมบ้าน ก่อนบังคับเซ็น MOU ไม่ไปชุมนุม

ด้านนายสมบัติ ทองย้อย ช่างกรองน้ำ ผู้ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง และถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือ “RDN 50” เปิดเผยว่าในช่วงสายวันที่ 19 พ.ค. 61 ขณะกำลังเดินทางกลับจากการทำงาน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์สอบถามว่าจะกลับบ้านเมื่อไร  และต่อมาญาติซึ่งอยู่บ้านย่านสมุทรปราการ ติดต่อแจ้งว่าได้มีเจ้าหน้าที่จะมาค้นบ้าน โดยมีการนำหนังสือบางอย่างมาให้ดู เพื่อขอเข้าตรวจค้น แต่ไม่ใช่หมายค้นแต่อย่างใด

เมื่อนายสมบัติกลับถึงบ้านพบว่ามีรถเจ้าหน้าที่มากกว่า 10 คัน จอดอยู่ที่หน้าปากซอย ทางในซอยพบว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยสวาท (SWAT)  2-3 คันรถ และเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 50 คน กำลังล้อมบ้านเขาอยู่ เมื่อสังเกตดูแล้วพบว่าเป็นหน่วยอรินทราช ซึ่งถืออาวุธครบมือ ทำให้ในซอยมีแต่เจ้าหน้าที่ชุดดำเต็มไปหมด

เมื่อเข้าไปพูดคุย เจ้าหน้าที่ได้สอบถามนายสมบัติเรื่องการไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศ่าสตร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการให้เขาทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าจะไม่ไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 21-22 พ.ค. นี้ เมื่อเขายินยอมเซ็น เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีการเข้าไปตรวจค้นในบ้าน แต่ได้เชิญเขาให้ไปทำประวัติที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงช่วงเย็นวันนั้น


ภาพเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชพร้อมอาวุธ บริเวณซอยบ้านนายสมบัติ ทองย้อย
(ภาพจากเฟซบุ๊กของนายสมบัติ)

คอยเฝ้าติดตามคนอยากเลือกตั้ง 24 ชั่วโมง จนต้องเข้าไปนอนโรงพัก เพื่อความปลอดภัย

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของนางพรวลัย ทวีธนะวานิชย์ ผู้ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งทั้ง “MBK 39” และ “RDN 50” ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางไปพบ 3 รอบ ที่บ้านย่านจังหวัดปทุมธานี จนในวันที่ 20 พ.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ขับรถติดตามเธอและเพื่อนซึ่งเดินทางจากบ้านไปยังจังหวัดอยุธยาตลอดทั้งวัน

เธอสังเกตเห็นเมื่อได้จอดแวะทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พบว่ามีชายเดินเข้ามาใกล้และพยายามถ่ายรูป หลังจากออกจากที่นั่นก็เริ่มสังเกตว่ามีรถขับติดตามมา เมื่อลองแวะบางสถานที่ถึงสองสามครั้ง รถคันดังกล่าวก็ติดตามเข้าไปด้วย โดยรถมีการติดฟิล์มหนา ทำให้มองไม่เห็นคนในรถด้วย ทำให้เธอเกิดความตกใจกลัว ในช่วงค่ำ ระหว่างกลับจากอยุธยา เธอและเพื่อนจึงตัดสินใจเดินทางเข้าไปที่สภ.คลองหลวง เพื่อพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งเรื่องการโดนติดตามตั้งแต่ช่วงเช้า


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งรายหนึ่ง
ที่จังหวัดกำแพงเพชร

ติดตามหาตัวนักศึกษาหลายคนถึงในมหาวิทยาลัยและที่บ้าน

ด้านนักศึกษาผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีรายงานว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามตัวถึงมหาวิทยาลัยในหลายพื้นที่  เช่น นายยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.61 ได้รับทราบจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสอบถามถึงตน ว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ และพยายามสอบถามถึงจำนวนผู้จะไปร่วมชุมนุมเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง แต่ทางเพื่อนนักศึกษาไม่ได้ทราบรายละเอียดแต่อย่างใด

นายชินภัทร วงค์คม นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 20 พ.ค.61  ได้รับแจ้งว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอบถามถึงเขาจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัย พร้อมสอบถามถึงเบอร์โทรศัพท์และหอพักที่เขาอยู่ โดยระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาติดตามตัวจนถึงวันที่ 23 พ.ค. 61 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ต่อมาในวันเดียวกัน ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองพะเยา 3 นาย เดินทางไปที่บ้านของเขา เมื่อได้พูดคุยกับมารดา พยายามสอบถามว่าชินภัทรอยู่ที่ไหน เนื่องจากได้รับคำสั่งให้ติดตามตัว พร้อมระบุว่าครั้งหน้าเจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามาติดตามเอง ทำให้มารดาของชินภัทรเกิดความหวั่นวิตกอย่างมาก

ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของนายอภิบาล สมหวัง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 61 โดยระบุกับครอบครัวว่ามาติดตามเพราะอภิบาลเคยไปร่วมการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันถัดมายังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์สอบถามบิดาของเขาว่าเขาอยู่ที่ไหน พร้อมกับเตือนว่าหากนายอภิบาลขึ้นเวทีของคนอยากเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ จะต้อง “โดน” แน่

ไปที่ทำงาน-เฝ้าหน้าบ้าน “หมอราชบุรี” ต่อเนื่อง

ส่วนนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ศัลยแพทย์ทั่วไปจังหวัดราชบุรี และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนิน หรือ RDN50 เปิดเผยว่าในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาติดตามพบทั้งที่บ้านและที่ทำงานหลายครั้ง โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ผู้บังคับการของจังหวัดราชบุรีได้เข้าพูดคุยถึงที่ทำงาน ทั้งยังมีตำรวจสันติบาลเข้าไปพูดคุยที่ทำงานเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามเรื่องการไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่าถ้าคุณหมอไปจะทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อนด้วย  และยังพยายามสอบถามกิจวัตรในแต่ละวันของเขาด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบของ สภ.เมืองราชบุรี มารอพบที่หน้าบ้าน และมีการวนเวียนอยู่ที่หน้าบ้านหลายสิบครั้งตลอดหลายวันนี้ โดยระบุว่า “นาย” ให้มาเฝ้าทั้งวันด้วย


ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าพูดคุยกับ น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล

ในที่ทำงาน (ภาพจากเฟซบุ๊กของน.พ.พงษ์ศักดิ์)

ไปบ้านพ่อ “ไผ่ดาวดิน” สามวันติด อ้าง “นาย” ให้มาถาม

ด้านนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือบิดาของ “ไผ่ ดาวดิน” และผู้ถูกดำเนินคดีร่วมชุมนุมที่ราชดำเนิน หรือ RDN50 ก็ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มาหาที่บ้านสามวันติดต่อกัน โดยวันที่ 18 พ.ค. มีทหาร 3 นาย พยายามเข้าสอบถามว่าจะไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่ โดยระบุว่า “นาย” ให้มาถาม และพยายามขอเข้าบ้านและถ่ายรูป แต่นายวิบูลย์ไม่อนุญาต และยืนยันถ้า “นาย” อยากรู้ ให้มาถามเอง

วันที่ 19 พ.ค. ได้มีตำรวจ 4 นาย เดินทางมาถามเรื่องการไปชุมนุมเช่นเดียวกัน นายวิบูลย์ยังยืนยันเช่นเดิมว่าให้ “นาย” มาพูดคุยด้วยตนเอง พร้อมระบุว่าการมาโดยไม่บอกกล่าวเช่นนี้เป็นการเสียมารยาทอย่างมาก และวันที่ 20 พ.ค. ยังมีตำรวจมาที่บ้านขณะที่วิบูลย์ไม่อยู่ โดยภรรยาก็ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าบ้านเช่นกัน


ภาพขณะเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา
(ภาพจากเฟซบุ๊กนายวิบูลย์)

เสนอเหมาซื้อหมูยอที่จะไปขายในงานชุมนุม เพื่อไม่ให้เดินทางไปกทม.

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 61 ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประมาณ 25 นาย เดินทางไปที่บ้านของนางรัตนา ผุยพรม สมาชิกกลุ่มเสรีชนจังหวัดอุบลราชธานีและเคยเดินทางไปร่วมกิจกรรมคนอยากเลือกตั้งก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารมีการพูดคุยขอให้อย่าเดินทางไปกรุงเทพฯ ถ้ารัตนาไป เนื่องจากจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และขัดต่อคำสั่งของ คสช.  และจะทำให้เจ้าหน้าที่ถูกต่อว่า ว่าคุมคนในพื้นที่ไม่ได้ แต่รัตนายืนยันว่าได้สั่งหมูยอเพื่อไปจำหน่ายที่งานไว้แล้ว ถ้าไม่ไปก็จะทำให้ของเสียหาย ถ้าเจ้าหน้าที่ได้มีการพูดคุยว่าจะออกเงินเหมาซื้อหมูยอทั้งหมดไว้ด้วย และจะให้รัตนาไปทำกับข้าวที่สภ.วารินชำราบ โดยอ้างว่ามีงานเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.) ด้วย

 

ติดตามคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด

ขณะที่ผู้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในหลายจังหวัด แม้ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามตัวและพยายามตรวจเช็คความเคลื่อนไหว โดยหลายคนถูกติดตามอย่างต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน

นายคำบง คีรี คนเสื้อแดงในจังหวัดขอนแก่น และเป็นหนึ่งในจำเลยคดีขอนแก่นโมเดล ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านเมื่อวันที่ 18 พ.ค. แต่ไม่พบนายคำบง ต่อมาพบว่ามีชายขับรถวนไปมาอยู่บริเวณบ้านหลายรอบ และมีทหารโทรศัพท์ไปหาคำบง โดยสอบถามว่าเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ และจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ รวมทั้งยังสอบถามถึงอาชีพที่ทำอยู่และรายได้ ทั้งของเขาและครอบครัว นายคำบงยืนยันว่าตนไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร เพราะต้องทำงานรับจ้างได้ค่าแรงไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน และเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ยังได้มีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เดินทางไปที่บ้านอีก พยายามสอบถามเรื่องการเข้าไปชุมนุมในกรุงเทพฯ เช่นเดิม ขณะเดียวกันยังพยายามถามถึง “ท่อน้ำเลี้ยง” ด้วย แต่นายคำบงยืนยันว่าเขาไม่ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ


ภาพเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยกับคนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลราชธานี

นางแจ่มจิตร ศรีโรจน์ คนเสื้อแดงในจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารมาที่บ้านหาทั้งในวันที่ 19-20 พ.ค. โดยพยายามสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่ จะมีการเคลื่อนไหวอะไรไม่ เจ้าหน้าที่ยังมีการขอความร่วมมือไม่ให้ไป โดยระบุว่าคราวนี้เขาเอาจริง “นาย” สั่งมาว่าให้เอาจริง นางแจ่มจิตรจึงแจ้งว่าเธอไม่ได้เดินทางไป

นอกจากนั้นมีรายงานว่ามีแกนนำเสื้อแดงในอีกหลายจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ กำแพงเพชร เป็นต้น ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ เข้าตรวจเช็คความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

ติดตามตรวจเช็คชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายพื้นที่

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจเช็คความเคลื่อนไหวเช่นกัน แม้ไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งมาก่อน   อาทิเช่น กรณีพ่อบุญช่วย โสสีทา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมตำรวจ เดินทางไปพบขณะกำลังทำงานในหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามว่าจะไปกรุงเทพฯ หรือไม่ จะพาชาวบ้านไปด้วยหรือไม่ และจะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไรไหม ทางนายบุญช่วยยืนยันว่าไม่ได้ไปและไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารระบุด้วยว่าอยากให้นายบุญช่วยไปพูดคุยกับพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ “เสธ.พีท” จาก กกล.รส.จังหวัดขอนแก่น โดยให้ไปพูดคุยที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องจาก “นาย” สั่งมา แต่พ่อบุญช่วยปฏิเสธไม่เดินทางไป


ภาพเจ้าหน้าที่เข้าติดตามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

รวมทั้งยังมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านของสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ซึ่งคัดค้านเหมืองทองคำในพื้นที่ ไปติดตามตรวจสอบชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งคัดค้านเหมืองแร่โปรแทซ และชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งคัดค้านโคงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลด้วย

 

ที่มา: www.tlhr2014.com/th/?p=7341

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท