Skip to main content
sharethis
ขบวนการสามัญชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ชี้ว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง ส่วนปัญหาการทุจริต ยังเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ยังกีดกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ จี้ คสช. ประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอน-ชัดเจน หยุดจำกัดสิทธิฯ ปชช. 'ผสานวัฒนธรรม' ชี้ '4 ปีรัฐประหาร นิติรัฐสูญหาย เลือกตั้งคือทางออก' 

22 พ.ค.2561 เนื่องในในวาระครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารโดย คสช. ขบวนการสามัญชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมทั้งหยุดการใช้อำนาจข่มขู่ คุกคาม และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยทันที พร้อมระบุว่าการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธซึ่งเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวิธีทางตามกระบวนการประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ ให้สิทธิแก่ผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่ และไม่ใช้ความรุนแรงใดๆอันจะเป็นอันตรายแก่ผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ขบวนการสามัญชน

เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา เข้ายึดกุมอำนาจและบริหารประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร

รัฐบาล คสช. ได้ทำลายหลักการประชาธิปไตยลงอย่างราบคาบจากการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ และขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล

รัฐบาล คสช. ยังได้ทำลายหลักสิทธิมนุษยชนสากลในทุกๆด้าน มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ข่มขู่ คุกคาม จับกุม สอดแนม และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้รัฐบาล คสช. ยังออกกฎหมายและคำสั่งที่ขัดกับหลักนิติรัฐอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่หัวหน้ารัฐบาล ทำให้ขาดการตรวจสอบ ไร้ซึ่งความโปร่งใส และไร้ความยุติธรรม

ขบวนการสามัญชน เกิดจากการรวมตัวของประชาชน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักศึกษา และภาคประชาสังคม ผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม ขอแถลงการณ์ให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมทั้งหยุดการใช้อำนาจข่มขู่ คุกคาม และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยทันที

สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันนี้ ขบวนการสามัญชนเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธซึ่งเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวิธีทางตามกระบวนการประชาธิปไตย เราจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ ให้สิทธิแก่ผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่ และไม่ใช้ความรุนแรงใดๆอันจะเป็นอันตรายแก่ผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด

เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่จากการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หากแต่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

ขบวนการสามัญชน
22 พฤษภาคม 2561

 
 

ครป. จี้ คสช. ประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอนและชัดเจน

ขณะที่ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  ออกแถลงการณ์ เรื่อง “4 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการปฏิรูปประเทศไทย” ระบุว่า การปฏิรูปประเทศในสถานการณ์อนาคตข้างหน้า เราไม่อาจฝากความหวังไว้กับกลไกของรัฐ คสช. ได้อีกต่อไป ดังนั้น การปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤติที่สังคมไทยเผชิญอยู่นั้น จึงเป็นภารกิจของประชาชนที่ต้องทำให้การปฏิรูปเป็นจริง เราจึงขอเรียกร้องให้ คสช. ดำเนินการตามสัญญาด้วยการคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว เร่งประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอนและชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยต่อไป
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 
 
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  เรื่อง “4 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการปฏิรูปประเทศไทย”
 
นับเป็นเวลา 4 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยอ้างว่า “สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ เป็นผลให้ประชาชน  ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  นั้น
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอแสดงท่าทีและความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังนี้
 
1. เราเห็นว่า การปฏิรูปประเทศ อันหมายถึง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศในทุกด้าน ให้ดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งป้องกันการผูกขาด แก้ปัญหาการทุจริตฉ้อฉล และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม อันเป็นข้อเสนอประชาชนก่อนจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และต้องถือเป็นภารกิจหลักของ คสช. และรัฐบาลทุกชุดที่จะต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ช่วงที่ผ่านมา พบกว่าการปฏิรูปประเทศของ คสช. มีแต่การแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และแผนงานที่ซ้ำซ้อน ซ้ำซาก สิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่มีผลงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ถือว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง
 
2. เราเห็นว่า ปัญหาการทุจริต ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลอันเป็นโรคร้ายของสังคมไทยในยุครัฐบาลเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการโกงเงินคนจนที่ลุกลามกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ กรณีเงินทอนวัด กรณีกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ รายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือTI) ระบุว่า แทบไม่เห็นผลงานการปราบปรามทุจริตของคณะรัฐประหารไทยว่า มีความแตกต่างจากก่อนที่จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ TI ได้แถลงถึง ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2560 ผลปรากฏว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 96 ของ 180 ประเทศทั่วโลกได้คะแนน CPI 37 คะแนน จาก 100 คะแนน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ได้ 43 คะแนน
 
ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ คสช. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตในช่วงที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการแบบฉาบฉวย แค่การโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ไม่ได้มีมาตรเด็ดขาดในการเอาคนกระทำผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังกีดกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย แม้กระทั่งการข่มขู่คุกคามประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการ SLAPP (Strategic Litigation against People Participation) หรือการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน ในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองของประชาชนด้วย
 
3. เราเห็นว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลที่ผ่านมา ก่อให้เกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” กลุ่มธุรกิจหรือนายทุนรายใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ผ่านมามากกว่าคนยากจน ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังปรากฏตามตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อปี 2560) ที่ระบุว่า ธุรกิจขนาดใหญ่มีจำนวนน้อย เพียง 0.3 % ของประเทศ แต่มีสัดส่วนรายได้จำนวนมากถึง 50.7 % ของรายได้ประชาชาติทั้งหมด ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดกลางจำนวน 0.51 % มีสัดส่วนรายได้ 14.6 % และธุรกิจรายย่อย 99.19 % แต่มีรายได้ร่วมกัน 34.7 % นั่นหมายความว่า คนส่วนน้อยควบคุมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ดังที่ องค์กรการกุศล OXFAM ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีการกระจายรายได้แย่ที่สุดในโลกเป็นรองแค่รัสเซียและอินเดียเท่านั้น นั่นหมายถึงรัฐบาลล้มเหลวในการกระจายรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศ
 
4. เราเห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาของการปกครองประเทศ พบว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมากที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะคำสั่งฯ ที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ได้ให้การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่ที่ผ่านมาการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม อีกทั้งการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้มีหลักการว่า “การชุมนุมหรือการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลักษณะใด สามารถกระทำได้ หรือลักษณะใด ไม่สามารถกระทำได้” ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมักวินิจฉัยโดยอ้างเหตุความมั่นคงเป็นหลัก ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา
 
ครป.เห็นว่า การปฏิรูปประเทศในสถานการณ์อนาคตข้างหน้า เราไม่อาจฝากความหวังไว้กับกลไกของรัฐ คสช. ได้อีกต่อไป ดังนั้น การปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤติที่สังคมไทยเผชิญอยู่นั้น จึงเป็นภารกิจของประชาชนที่ต้องทำให้การปฏิรูปเป็นจริง เราจึงขอเรียกร้องให้ คสช. ดำเนินการตามสัญญาด้วยการคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว เร่งประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอนและชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยต่อไป
 
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน
 
แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
 
แถลงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561

 

'ผสานวัฒนธรรม' ชี้ '4 ปีรัฐประหาร นิติรัฐสูญหาย เลือกตั้งคือทางออก' 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ ชื่อว่า '4 ปีรัฐประหาร นิติรัฐสูญหาย เลือกตั้งคือทางออก' เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรวมกลุ่ม การแสดงออกทางความคิดเห็นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร การใช้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่มากเกินความจำเป็นก็อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศยิ่งขึ้น อีกทั้งรัฐบาลและผู้นำคสช.บางคนต้องยุติการข่มขู่หรืออ้างประกาศคำสั่งของคสช.ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมมากีดกั้นการแสดงออกโดยชอบธรรมของประชาช

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้มหาวิทยาลัยและบุคลากรอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมเพื่อให้สามารถแสดงเจตนารมย์ได้อย่างสันติ  โดยไม่กีดกั้นและแสดงอคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน อันเป็นประเพณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด

"ยิ่งไปกว่านั้นที่ผ่านมา นอกจากยึดเอาประชาธิปไตยและสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนไปแล้ว คสช. ยังได้ทำลายหลักการทางกฎหมายและนิติธรรม นิติรัฐของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งไม่มีการดำเนินการใดๆที่เหมาะสมเพียงพอที่เอื้อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติดังที่เป็นข้ออ้างในการก่อการรัฐประหาร  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่ารัฐบาล และคสช.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนประชาธิปไตยและนำไปสู่การเลือกตั้งดังที่ได้สัญญาไว้ เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อย่างชอบธรรม  สร้างประชาธิปไตย และฟื้นฟูความเข้มแข็งแก่นิติธรรม นิติรัฐต่อไป" แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net