Skip to main content
sharethis

เป็นบรรทัดฐานสำคัญอีกคดีที่นานาชาติจับตา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น ยกฟ้องนักวิจัยชาวอังกฤษที่เปิดข้อมูลบริษัทสับปะรดกระป๋องไทยละเมิดสิทธิแรงงาน ศาลชี้ติชมด้วยความเป็นธรรม เป็นประโยชน์สาธารณะเข้าข้อยกเว้นกฎหมาย ด้าน iLaw เข้าฟังคำพิพากษา สรุปละเอียดยิบน่าสนใจยิ่ง


ภาพจากเฟสบุ๊ค Andy Hall

31 พ.ค. 2561 เพจ iLaw ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่อานดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักวิจัยชาวอังกฤษที่ถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุต จำกัด ผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีจัดแถลงข่าวและเผยแพร่รายงาน "Cheap Has a High Price" กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในบริษัทโจทก์ ก่อนหน้านี้ในวันที่ 24 เมษายน 2561 ศาลอุทธรณ์เคยนัดอานดี้ฟังคำพิพากษามาครั้งหนึ่งแล้วแต่อานดี้ไม่มาศาลเนื่องจากอยู่ต่างประเทศ (อ่านสาเหตุที่จำเลยไม่อยู่ไทย)  ศาลจึงสั่งให้ออกหมายจับและนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันนี้ แต่เนื่องจากจำเลยยังคงไม่มาศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง โดยในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตอังกฤษ ฟินแลนด์ และสถานทูตอียูมาด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยกฟ้องจำเลย โดยสรุปใจความได้ว่า ข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องว่าจำเลยเผยแพร่นั้น เป็นการกล่าวหาโจทก์ทำนองว่าละเมิดสิทธิแรงงาน ค้ามนุษย์ จ้างแรงงานเด็ก ยึดหนังสือเดินทางลูกจ้าง ไม่ทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้อง เป็นการทำผิดต่อกฎหมายแรงงาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งข้อความเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเท็จจริง แม้โจทก์จะมีพยานที่เป็นพนักงานบัญชีของบริษัทมาเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่เมื่อพิจารณาแล้วโจทก์เป็นผู้ประกอบการธุรกิจย่อมต้องมีเอกาสารรายละเอียดเกี่ยวกับลูกจ้างแต่ละคนของโจทก์ แต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่ได้นำสำเนาเอกสารมาส่งศาลประกอบการเบิกความ จึงถือว่าเป็นการเบิกความลอยๆ

ศาลวินิจฉัยต่อว่า ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาเบิกว่าความ เคยตรวจสอบโรงงานของบริษัทโจทก์ 4 ครั้ง เคยสัมภาษณ์แรงงาน 3 คนและแรงงานไม่ได้กล่าวหาว่าโจทก์ทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ประกันสังคมมาเบิกความว่า บริษัทโจทก์ไม่เคยถูกลูกจ้างร้องเรียนเรื่องสิทธิประกันสังคม ด้านฝ่ายจำเลยได้สัมภาษณ์แรงงานของบริษัทโจทก์ โดยให้คนพาออกมาสัมภาษณ์ที่หัวหินและให้ค่าเดินทาง 300 บาทต่อคน เห็นว่าข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ได้จากการไปตรวจสอบ เป็นลักษณะการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่การสืบหาข้อเท็จจริง บริษัทโจทก์ย่อมต้องส่งเอกสารที่ไม่ผิดกฎหมายให้ตรวจสอบอยู่แล้ว จึงยากที่จะเข้าถึงข้อมูลเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานตามความเป็นจริงได้

เมื่อข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกัน ศาลอุทธรณ์รับฟังแล้วเชื่อว่า ฝ่ายโจทก์จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้างไม่ครบทุกคน มีการจ้างแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทางซึ่งเป็นการจ้างที่ผิดกฎหมาย โจทก์ยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้าง หลังจากจำเลยได้สัมภาษณ์ลูกจ้างแล้วจึงคืนให้ภายหลัง ในวันที่ไม่มีงานทำโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แรงงานตามเวลาเท่าที่ทำงานจริง ลูกจ้างบางส่วนทำงานล่วงเวลาเกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ปรากฎว่า โจทก์มีบันทึกความยินยอมของลูกจ้างที่ให้หักค่าถุงมือ ปลอกแขน เสื้อผ้า หมวก ฯลฯ ที่ใช้ในการทำงาน โจทก์มีห้องน้ำให้ไม่เพียงพอแก่ลูกจ้าง และมีการหักค่าเข้าห้องน้ำหากนานเกิน 10 นาที ส่วนการที่โจทก์ไม่เคยถูกร้องเรียนก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์ปฏิบัติถูกต้อง พยานของฝ่ายโจทก์ที่มาเบิกความเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่โจทก์อาจให้คุณให้โทษได้ จึงต้องเบิกความอย่างระมัดระวัง ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง

ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยได้สัมภาษณ์แรงงานในบริษัทโจทก์จริง โดยมีคนพามาให้ แม้ฝ่ายจำเลยจะไม่สามารถนำคนที่ให้สัมภาษณ์มาเบิกความต่อศาลได้เพราะเดินทางกลับประเทศไปแล้ว แต่ก็มีอดีตลูกจ้างในบริษัทโจทก์อีก 3 คนที่มีเอกสาiรับรองการเป็นลูกจ้างจริง ไม่มีส่วนได้เสียและมาเบิกความต่อศาลได้ โดยให้ข้อเท็จจริงไปทำนองเดียวกันว่า โจทก์กระทำผิดกฎหมายแรงงาน ยากที่จะแต่งเรื่องขึ้นเองซึ่งสอดคล้องกันและเจือสมกัน

หลังจากจำเลยทำรายงานเสนอให้องค์กร Finnwatch โรงงานแห่งอื่นที่จำเลยศึกษาข้อมูลได้เชิญจำเลยและองค์กร Finnwatch ไปเยี่ยมชมโรงงานและพูดคุย แต่จำเลยพยายามติดต่อกับบริษัทโจทก์แล้ว ไม่ได้รับการตอบกลับเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ของ Finnwatch จึงส่งรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ และนำขึ้นเว็บไซต์ ต่อมาก็จัดแถลงข่าวโดยจำเลยร่วมแถลงด้วย พยานโจทก์รับว่าได้ใช้อีเมล์ที่จำเลยส่งหาจริง เนื่องจากจำเลยก็เคยติดต่อและเยี่ยมชมโรงงานอื่น จึงเชื่อว่า จำเลยได้พยายามติดต่อโจทก์แล้วจริง และตั้งใจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้านในการทำวิจัยแล้วจริง

องค์กร Finnwatch ถือเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อได้รับข้อเท็จจริงจากจำเลยก็ได้พยายามติดต่อกับโจทก์แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จึงนำข้อมูลออกเผยแพร่จึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการกระทำที่ผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิเผยแพร่ข้อมูลได้เพื่อปกป้องส่วนได้เสียของตนเพื่อความชอบธรรม เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1) (3) ของประมวลกฎหมายอาญา ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คำอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกับองค์กร Finnwatch ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่

สำหรับข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ปรากฏตามที่จำเลยอุทธรณ์มาว่า ระหว่างการอุทธรณ์คดีนี้ กฎหมายได้ถูกแก้ไขเมื่อปี 2560 การที่จำเลยจะมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ได้ ต้องมีเจตนาพิเศษโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และความผิดฐานนี้ไม่รวมกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างเพียงว่า จำเลยเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาทโจทก์ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกมาภายหลังกำหนดให้การกระทำไม่เป็นความผิด ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลย

อนึ่งที่มาที่ไปของคดีนี้คือ Finnwatch เผยแพร่รายงานในปี 2556 และบริษัทโจทก์ยื่นฟ้อง คดีใช้เวลาในกระบวนการต่างๆ ค่อนข้างนาน ศาลประทับรับฟัองในปี 2558 และทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบต่อสู้กัน โดยก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด สั่งจำคุกสี่ปี ปรับ 200,000 บาท อานดี้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจึงลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกสามปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท อย่างไรก็ดี เนื่องจากอานดี้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เคยทำประโยชน์ต่อสังคม และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกสามปีจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดสองปี รวมทั้งให้ลงโฆษณาคำพิพากษาบนสื่อตามกำหนด ต่อมาอานดี้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ส่วนฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษโดยไม่ต้องรอลงอาญา

นอกจากคดีนี้แล้วอานดี้ยังถูกเนเชอรัลฟรุตฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราอีกคดีหนึ่ง และถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกสองคดี บริษัท ธรรมเกษตร ผู้เลี้ยงไก่ในจังหวัดลพบุรี ก็ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่ออานดี้ ฮอลล์ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นอีกคดีหนึ่งด้วย
 

ด้านสุธารี วรรณศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทย องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า

“คำพิพากษาในวันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่รับรองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และการทำงานที่ชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ศาลตระหนักถึงการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เปิดเผยข้อมูลเพื่อรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ

การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาชญากรรมและจะไม่มีวันเป็น คำพิพากษาของศาลในวันนี้ส่งสัญญาณในทางบวกให้กับประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยจะไม่ยอมรับการที่กลุ่มธุรกิจใช้กระบวนการดำเนินคดีอาญาคุกคามการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

กระบวนการดำเนินคดีอาญาประเภทนี้มักมีจุดประสงค์เพื่อปิดปากบุคคลที่ลุกขึ้นเปล่งเสียงคัดค้านการละเมิดสิทธิ กระบวนการนี้ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทย ทางการไทยและภาคธุรกิจควรยุติการดำเนินคดีอาญาทุกคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิ โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการเพื่อยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท จนกว่าจะถึงวันนั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่"



หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมข้อมูล เวลา 21.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net