Skip to main content
sharethis


แฟ้มภาพ

“ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน”

คือข้อความที่อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักกฎหมายที่ทำงานอยู่กับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ปริ๊นท์ใส่กระดาษ A4 จากที่ทำงานเอาใส่กระเป๋ามาร่วมประท้วงกับประชาชนคนอื่นๆ ที่นัดหมายกันกว้างๆ ทางโซเชียลมีเดียว่าจะมาต่อต้าน คสช. 1 วันหลังคสช.ยึดอำนาจ (23 พ.ค.2557)

บรรยากาศที่เกิดขึ้นเองจากมวลชนไร้การจัดตั้ง การจับกุมที่ชุลมุนวุ่นวาย สามารถดูได้ในคลิปวิดีโอนี้

ในวันนั้นเจ้าหน้าที่จับกุมคนประท้วงไป 5 คนเพื่อคุมตัวในค่ายทหารแห่งไหนไม่มีใครทราบแน่ชัด ในจำนวนนั้นมีอภิชาติ และธนาพล อิ๋วสกุล บก.วารสารฟ้าเดียวกัน ธนาพลได้เล่าถึงช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันกับอภิชาติ อ่านที่นี่

เขาถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนส่งตัวให้ตำรวจและถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ในการชุมนุมเกิน 5 คน ประชาชนหลายคนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารในช่วงนั้นถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่นั้นรับสารภาพและศาลมักลงโทษจำคุก 6 เดือนและโทษนั้นให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) แต่อภิชาติกลับต่อสู้คดี

เขาเคยเขียนความในใจไว้เมื่อราวสองปีก่อนว่า “ผมไม่ได้หวังว่าศาลไทยจะพิพากษาคดีให้ผมชนะได้อย่างง่าย เพราะข้อต่อสู้ของผมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่แค่เรื่องผมกับ คสช. แต่เป็นเรื่องหลักการแนวคิดประชาธิปไตย เป็นข้อต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจเผด็จการและทำลายหลักการกฎหมายจากปลายกระบอกปืนทั้งหมด ผมตั้งใจที่จะให้ข้อต่อสู้ในคดีนี้สร้างบรรทัดฐานต่อสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

คดีของเขานั้นต่อสู้กันยาวนานถึง 2 ปี และมีความซับซ้อน คือ ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องเมื่อ 11 ก.พ.2559 โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้องเนื่องจากเหตุเกิดในท้องที่ สน.ปทุมวัน แต่ตำรวจกองปราบเป็นผู้สอบสวนและโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นถึงเขตอำนาจสอบสวน ต่อมาอัยการอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อ 11 ต.ค.2559 ว่า พนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวน การสอบสวนนั้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ใหม่ จนวันที่ 19 ธ.ค.2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีอีกครั้ง ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และปรับเป็นเงิน 6,000 บาท (อ่านรายละเอียดคำพิพากษา)

ยาวนานมาถึงวันนี้ 31 พ.ค.2561 หรือประมาณ 4 ปีหลังเกิดเหตุ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ก่อนหน้านี้คือประกาศ คสช.ที่ 7/2557)

แต่ให้ลงโทษเฉพาะโทษปรับ 6,000 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุก เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ  

ผู้สังเกตการณ์คดีระบุว่า การอ่านคำพิพากษาเป็นไปโดยเข้มงวด ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังคำพิพากษา รวมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือของผู้สังเกตการณ์ไว้ระหว่างฟังคำพิพากษาโดยอ้างว่าเป็นนโยบายใหม่ของศาลแขวงปทุมวันตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

เหตุผลสำคัญที่น่าสนใจยิ่งของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานไว้ก็คือ

“จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของ คสช. ในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อ คสช. เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจและบริหารราชการของ คสช. ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว

ส่วนประเด็นที่จำเลยเห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังและเป็นคุณแก่จำเลย ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บัญญัติว่า การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่เป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 อีกต่อไป อุทธรณ์ในประเด็นนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ จำเลยยังอุทธรณ์ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม แต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ซึ่งยังถูกรับรองต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 อีกด้วย ส่วนสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับเป็นกฎหมายนับตั้งแต่ คสช. ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ขณะที่เสรีภาพในการชุมนุมตาม ICCPR นั้น ศาลเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยก่อน คสช. ทำรัฐประหารอยู่ในสภาพที่มีความไม่สงบเรียบร้อย จึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกมาภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ไม่ลงโทษจำคุก และยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 นอกนั้นให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา คือปรับ 6,000 บาท

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net