สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เวลาเราพูดถึง “การปฏิรูปพุทธศาสนา” ในไทย โดยสาระสำคัญแล้วแทบไม่ต่างอะไรจากการปฏิรูปประเทศของ คสช. คือ เป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะเป็นการปฏิรูปโดยฝ่ายก้าวหน้าที่ท้าทายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม

กรอบคิดหลักในการปฏิรูปของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือกรอบคิดเรื่อง “ความมั่นคง” ของสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นบน และ “การจัดระเบียบ” เพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงดังกล่าวนั้นมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างที่ให้หลักประกันอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน

การปฏิรูปพุทธศาสนาไทยก็ดำเนินมาภายใต้กรอบคิดความมั่นคงทำนองเดียวกันนี้ เช่นการก่อตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ที่ถือเป็นนิกายฝ่ายราชสำนักมาตั้งแต่สมัย ร.4 ก่อตั้งศาสนจักรของรัฐ คือ “มหาเถรสมาคม” ที่รวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศขึ้นต่อกรุงเทพฯ ในสมัย ร.5 และผนึกรวมพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐภายใต้อุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในสมัย ร.6

ทั้งหมดนี้คือการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ “ความมั่นคง” โดยถือว่า พุทธศาสนาเป็นกลไกสนับสนุนความมั่นของของชาติ และสถาบันกษัตริย์

หลังปฏิวัติสยาม 2475 ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ที่เรียกว่า “กลุ่มปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” เรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยของรัฐ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจการปกครองสงฆ์เป็น 3 ฝ่าย เลียนแบบการปกครองของบ้านเมืองคือ สังฆมนตรี (เทียบกับรัฐบาล) สังฆสภา (เทียบกับสภาผู้แทน) และคณะวินัยธร (เทียบกับตุลาการ) ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484

แต่ระบบปกครองสงฆ์ที่ปรับตามระบอบประชาธิปไตยนี้ ก็มีอายุแสนสั้น เพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ถูกฉีกทิ้งในยุคเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สังเวยด้วยการจับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ติดคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ แล้วนำระบบมหาเถรสมาคมแบบสมัย ร.5 มาใช้แทน และใช้มาจนปัจจุบัน

ในยุค คสช.อำนาจรัฐพยายามปฏิรูปพุทธศาสนาอีกครั้ง โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอประเด็นปฏิรูปพุทธศาสนา 4 เรื่อง คือ (1) เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุสงฆ์ (2) เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา (3) เรื่องการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและการวิปริตจากพระธรรมวินัย และ (4) เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร

มหาเถรสมาคมรับลูกต่อ โดยมอบหมายให้พระพรหมมุนี, พระพรหมโมลี และพระพรหมบัณฑิต กำหนดกรอบการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6 ด้าน +1  (การปกครอง, การศาสนศึกษา, การเผยแผ่, การสาธารณูปการ, การศึกษาสงเคราะห์, สาธารณสงเคราะห์,พัฒนาพุทธมณฑล)

เมื่อไปดูแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านปกครอง จะพบว่ามีข้อเสนอให้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ และให้บรรจุคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนาดังกล่าวยังเป็นเพียง “แผนยุทธศาสตร์” แต่ในทางปฏิบัติจริง ดูเหมือนกำลังดำเนินต่อเนื่องมาตาม 3 กระบวนการนี้ คือ  (1) กวาดล้างพระทุจริต เพื่อทำให้พุทธศาสนาสะอาด (2) ขึ้นบัญชีพระที่ประพฤติไม่ดี และ (3) ปฏิรูปโครงสร้าง

รูปธรรมที่เราได้เห็น ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ “รถหรู” ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” ผู้ซึ่งคณะกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และแก้กฎหมายให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “พระราชอำนาจ” เท่านั้น ทำให้สมเด็จช่วงขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ จากนั้นก็แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตามมาด้วยใช้มาตรา 44 และใช้กำลังทหาร ตำรวจร่วม 5,000 นายล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย แต่ก็คว้าน้ำเหลว

ล่าสุดก็คือที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้คือ การจับพระผู้ใหญ่สึก 7 รูป ในคดีทุจริตเงินทอนวัด และจับพระพุทธะอิสระสึกข้อหาปลอมแปลงพระปรมาภิไทและอั้งยี่ซ่องโจร ทั้งหมดนี้คือการปฏิรูปในขั้นตอนกวาดล้างพระทุจริต หรือทำผิดกฎหมาย ส่วนบัญชีพระประพฤติไม่ดีนั้นเท่าที่มีเผยแพร่ทางสื่อคือพระที่สนับสนุนเสื้อแดง แต่อาจจะมีเรื่องเงินทอนวัดและอื่นๆ มากกว่านั้นที่ไม่เปิดเผย

แต่การปฏิรูปโครงสร้าง นอกจากทำแผนยุทธศาสตร์ที่ล้อกับไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีการทำอะไรที่เป็นรูปธรรม

ข้อสังเกตคือ การปฏิรูปโครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่เริ่มขึ้นจากข้อเรียกร้องของพระสงฆ์ระดับล่าง หรือฝ่ายก้าวหน้ามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์การปฏิรูปพุทธศาสนาไทย คือการเคลื่อนไหวเรียกร้องของยุวสงฆ์กลุ่มปฏิสังขรณ์ฯ ช่วงหลังปฏิวัติสยาม 2475 ที่ได้รับการสนับสนุนจากปรีดี พนมยงค์ และทำให้เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะ (พยายาม) เลียนแบบโครงสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย (แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว) นอกนั้นเป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและแนวร่วมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการปฏิรูปบนกรอบคิด “ความมั่นคง” ดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุค คสช.กับยุคก่อน 2475 จะเห็นว่า ประเพณีการปราบปรามพระสงฆ์ที่ชนชั้นนำมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรวมศูนย์นั้น เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่อยุธยา,รัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่อยมาถึงสมัย ร.5 แต่ในแง่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพุทธศาสนาในเชิงคำสอน, เชิงสถาบัน และการใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์รัฐนั้น ดูเหมือนชนชั้นนำยุคเก่าจะให้ความสำคัญมากกว่า เช่น การก่อตั้งศาสนจักรของรัฐ, มหาวิทยาลัยสงฆ์, วางระบบการศึกษาสงฆ์ในสมัย ร.5 การยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และสร้างวาทกรรม “ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ” ในสมัย ร.6 เป็นต้น แต่การปฏิรูปพุทธศาสนาในบริบทปัจจุบันดูเหมือนชนชั้นนำจะเน้นการปราบปรามและการจัดระเบียบสงฆ์มากกว่า

ในแง่การมีส่วนร่วม การปฏิรูปสมัย ร.5 ผู้มีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิรูปพุทธศาสนาคือชนชั้นสูงเท่านั้น คือ ร.5, สมเด็จกระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผลของการปฏิรูปคือเกิดศาสนจักรของรัฐ หรือมหาเถรสมาคม, มหาลัยสงฆ์ 2 แห่ง, การวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ทั่วประเทศให้เป็นแบบเดียวกัน สมัย ร.6 ก็มี ร.6 กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ผลคือเกิดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ช่วงหลัง 2475 ผู้มีส่วนร่วมคือกลุ่มปฏิสังขรณ์ฯ ปรีดี และรัฐบาลประชาธิปไตย ผลคือเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ล้อโครงสร้างการปกครองประชาธิปไตยของรัฐ และยุคจอมพลสฤษดิ์กลับไปเอาระบบมหาเถรสมาคมมาใช้และใช้มาจนปัจจุบัน

ส่วนยุค คสช.เป็นการปฏิรูปที่มีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาล คสช.กับมหาเถรสมาคม แต่เป็นการร่วมมือที่ไม่ลงรอยนัก เพราะมีการเมืองระหว่างสีทั้งทางสงฆ์ ทางโลก และอำนาจอื่นๆ เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อน ผลก็คือการปราบปรามพระทุจริตและทำผิดกฎหมายอย่างที่เห็น และข้อเสนอให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนายุค 4.0

ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้ว การปฏิรูปพุทธศาสนาไทยแทบทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปภายใต้อำนาจชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและแนวร่วม ผลก็คือทำให้รัฐกับพุทธศาสนาผนึกรวมเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นโดยลำดับ และชนชั้นนำมีอำนาจใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ควบคุม หรือชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของพระสงฆ์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำผิดกฎหมายและการทำผิดหลักธรรมวินัย

แน่นอนว่า ย่อมไม่มีความคิดเรื่อง “แยกศาสนาจากรัฐ” หรือทำให้รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ผุดเกิดขึ้นมาได้เลยในการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งใดๆ ดังนั้นการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงสวนทางกับการสร้างประชาธิปไตยที่จะสามารถให้หลักประกันว่า รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาให้เป็นจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท