Skip to main content
sharethis

พนักงานบริการเผย รัฐไทยล้มเหลวปราบปรามการค้ามนุษย์ ซ้ำตีตราพนักงานบริการ เสมือนการโรยเกลือลงบนแผลสด กสม. ชี้รัฐไทยควรเลิกอคติและหันมาคุ้มครองพนักงานบริการ ระบุสหประชาชาติยังมองเป็น “วิถีชีวิต” หนึ่งของคนไทย ด้านดีเอสไอยอมรับกฎหมายหมิ่นเหม่มีช่องโหว่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิ์แต่จำต้องใช้


 

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้จัดงานเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” เนื่องในสัปดาห์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ คุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการเสวนาโดยคุณปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ PROTECTION international หรือ PI

นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิของพนักงานบริการมาแล้วมากกว่า 30 ปี ได้พูดคุยกับพนักงานบริการมามากกว่า 5 หมื่นคน สำหรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ทางรัฐบาลจะมีนโยบาย การต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง แต่กลับมีพนักงานบริการจำนวนมากถูกจับกุม ถูกตัดขาดจากครอบครัว ถูกสอบปากคำอย่างหนัก และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่นานหลายเดือน ก่อนที่จะส่งกลับบ้าน ทั้งหมดนี้กระทำภายใต้แผ่นป้ายชื่อว่า “การคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์” แต่ในความเป็นจริงกลับเสมือนกับ "การโยนเกลือเข้าไปในแผลสด แล้วเรียกมันว่าการช่วยเหลือ” อีกทั้งการบุกทลายสถานบริการ แล้วนำพนักงานมานั่งแถลงข่าวเหมือนพวกเธอเป็นอาชญากรร้ายแรงก็ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่รุนแรงต่อพนักงานบริการ และสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อพนักงานบริการทั้งหมด โดยมาตรการเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแนวโน้มมจะลดลงแต่อย่างใด

ทันตากล่าวต่อว่าในประเทศไทยมีพนักงานบริการประมาณ 3 แสนคน โดย 10 ปีที่ผ่านมามีการล่อซื้อพนักงานและจับกุมผู้เสียหายประมาณ 300 คนทุกปี แต่ในจำนวนนี้ กลับมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จริงๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้น พนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมตัดสินใจมาทำงานด้วยความสมัครใจและไม่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นกรณีการบุกทลาย นาตาลีอาบอบนวด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจับพนักงาน 121 คน แต่มีเหยื่อของการค้ามนุษย์เพียง 15 คน ล่าสุดกรณีวิคตอเรีย ซีเคร็ท จับพนักงาน 113 คน แต่มีผู้เสียหายเพียง 8 คน ส่วนพนักงานที่เหลือถูกจับข้อหามั่วสุมในสถานค้าประเวณี ความน่าสลดใจอีกประการหนึ่งของกรณีวิคตอเรียซีเคร็ตคือเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมในวันที่พนักงานกำลังประชุมระดมความคิดกันเพื่อเสนอให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการทำงาน กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยโอกาสที่พนักงานกำลังรวมกลุ่มเพื่อสร้างข้อต่อรองกับนายจ้างตามหลักสิทธิแรงงานเพื่อให้ได้ยอดจับกุมที่สูงขึ้น อีกทั้งตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี คือเพื่อช่วยคนที่ด้อยโอกาส แต่จะเห็นว่าการจับกุมไม่ได้เป็นการให้โอกาสแต่อย่างใด

"เมื่อเดือน กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องรายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือซีดอว์ (CEDAW) ว่าที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติต่อผู้หญิงในประเทศยังไง ตามอนุสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้ และ เอ็มพาวเวอร์ ได้ทำรายงานคู่ขนานไปยังคณะกรรมการซีดอว์ จากเหตุการณ์ร้านนาตาลีอาบอบนวด กับสิ่งเกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมการซีดอว์ได้มีข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทยต้องทำตามคือ ให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที รวมทั้งให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี ให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมการซีดอว์" ทันตากล่าว

ทันตากล่าวเพิ่มเติมกับประชาไทว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สร้างความลำบากให้กับชีวิตของพนักงานบริการมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือความถี่ของการสุ่มตรวจและบุกทลายสถานบริการ ในอดีต จะมีการสุ่มตรวจสถานบริการในจังหวัดเชียงใหม่ประมานเดือนละครั้ง แต่ในปีแรกของ คสช. มีการสุ่มตรวจและบุกทลายสถานบริการถึง 15 ครั้ง จนมาถึงปีล่าสุด มีมากถึง 50 ครั้ง ในแง่ของคนที่ทำงานปกป้องสิทธิ ทันตากล่าวว่าเธอไม่ได้มีอคติกับรัฐบาลใดเป็นพิเศษ เพราะการปกป้องสิทธิของพนักงานบริการเป็นสิ่งที่เธอต้องทำทุกรัฐบาล แต่ในรัฐบาล คสช. พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นหดเล็กลงมาก เพราะว่ามีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งไม่อนุญาติให้มีการรวมตัว หรือทำกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะ แต่การทำงานด้านสิทธิพนักงานบริการ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดเรื่องการแก้กฎหมายและวาระทางการเมือง ทุกครั้งที่ทางมูลนิธิต้องการจะจัดกิจกรรมเชิงรณรงค์จึงมักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเตือนว่าอาจจะฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

ขณะที่ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า การล่อซื้อเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพนักงานบริการและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการเป็นอย่างมาก โดยส่วนมากผู้มาล่อซื้อมักจะแฝงตัวมาในฐานะลูกค้าและมักจะถามว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไหม โดยใช้วิธีมาเลือกผู้หญิงไปนั่งพูดคุยด้วย ทำตัวสุภาพ จ่ายทิปดี ซื้อดื่มให้ กลับมาหาบ่อยๆ เหมือนเข้ามาจีบ เพื่อสร้างความไว้ใจและสร้างความรู้สึกที่ดี จนทำให้เราไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการหลอกล่อจูงใจให้เรากระทำความผิดไปด้วย จนกระทั้งวันที่ขึ้นห้องและถูกจับเราถึงรู้ว่าเราถูกล่อซื้อนี่คือวิธีการล่อซื้อกับพนักงานบริการ การล่อซื้อและบุกทลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพียงครู่หนึ่ง แต่หลังจากผู้หญิงถูกจับก็จะถูกลืมหรือไม่มีใครตามเรื่องอีกว่าผู้หญิงเป็นยังไง คดีถึงไหนแล้ว

ไหมยังได้ระบุเพิ่มเติมว่านับตั้งแต่เหตุการณ์บุกทลายและล่อซื้อนาตาลีเมื่อปีพ.ศ. 2559 และเหตุการณ์วิคตอเรียซีเคร็ทในปีนี้ มีพนักงานบริการได้รับผลกระทบมากถึง 234 คน ซึ่งคนที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะถูกคัดออกไปอยู่บ้าน สงเคราะห์บ้านเกร็ดตระการ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บางส่วนจะถูกกันออกไปกักตัวไว้กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภคขั้นพื้นเธอให้กับพวกเธอ แม้กระทั่งเสื้อผ้า ยาแก้ปวด หรือผ้าอนามัย โดยบางรายอาจถูกกักตัวนานถึงแปดเดือน ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จึงต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปให้กับพวกเธอ เมื่อถามกับทาง ตม. ว่าทำไมจึงไม่จัดหาให้ ทางเจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าไม่มีงบประมาน จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า หากไม่มีงบประมาน เหตุใดจึงกักตัวพนักงานบริการเอาไว้ในระยะเวลายาวนานเช่นนี้

ไหมได้แบ่งปันประสบการณ์ของเพื่อนพนักงานที่ตกเป็นเหยื่อของการล่อซื้อ และถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ คนแรกคือหวาน (นามสมมติ) เธอถูกจับกุมที่นาตาลี อาบบอบนวดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แม้หวานจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เธอก็มีลูกและครอบครัวอยู่ในประเทศไทย เมื่อเธอถูกจับกุมตัว เธอถูกควบคุมตัวนานถึง 48 วันโดยไม่สามารถติดต่อญาติได้ ทำให้ลูกของเธอเป็นห่วง อีกทั้งเธอยังถูกแสตมป์หนังสือเดินทางห้ามเข้าประเทศ 100 ปี ในข้อหาค้าประเวณี ทำให้เธอไม่สามารถเจอลูกของเธอที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยได้อีก อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นที่การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายได้

เคสที่สองคือแตน (นามสมมติ) ซึ่งเป็นพนักงานอาบอบนวดนาตาลีเช่นกัน เธอเป็นแรงงานข้ามชาติจึงไม่รู้กฎหมายไทย และไม่รู้ว่าการค้าประเวณีก่อนอายุ 18 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เธอก็เลือกที่จะเข้ามาทำงานดังกล่าวด้วยความสมัครใจเพราะเห็นว่าเป็นงานที่รายได้ดี สามารถส่งเงินให้ที่บ้านได้โดยไม่เดือดร้อนใคร เธอถูกส่งไปอยู่บ้านเกร็ดตระการ นานกว่า 8 เดือน แตนรู้สึกอึดอัดมากและไม่สามารถติดต่อใครได้เลย และหลังจากที่แตนได้สืบพยานล่วงหน้าในคดีค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ให้แม่มารับแตนกลับบ้าน แม่ของแตนต้องข้ามชายแดนมารับลูกสาวที่กรุงเทพ โดยได้รับเงินค่าเสียหายเพียง 3,000 บาท เท่านั้น แต่ชีวิตเธอกลับต้องเริ่มใหม่จากศูนย์

นอกจากนี้ยังมีในกรณีของน้องต้นหอม (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานบริการอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเคร็ท ต้นหอมมาทำงานนี้เพื่อต้องการหาเงินไปรักษาพ่อที่ต้องได้รับการผ่าตัดจนกระทั่งเธอถูกจับ เธอยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเธออายุเกิน 18 ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อจึงบังคับให้ต้นหอมไปตรวจมวลกระดูกถึงสองรอบ และผลก็ออกมาว่าเธออายุเกิน 18 ปีจริงๆ ในช่วงที่เธอถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเกร็ดตระการ ตอนนั้นพ่อป่วยหนักรอการผ่าตัดด่วน เขาอยากคุยกับลูกสาวมาก แต่ไม่สามารถติดต่อได้ สุดท้ายพ่อของต้นหอมเสียชีวิต ขณะที่แม่ของต้นหอมกินไม่ได้นอนไม่หลับจนสุขภาพจิตเริ่มเสีย แม้จนกระทั่งจัดงานศพเสร็จสิ้น ต้นหอมก็ยังไม่ได้รับรู้ข่าวทางบ้านเลย

“การที่ผู้หญิงเดินทางออกจากบ้านเพื่อทำงาน หาเงินให้ครอบครัว อยากเป็นลูกที่กตัญญูและอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นคนที่ผิด แต่ถึงแม้ว่าเราจะผิดยังไงก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างไรกับเราก็ได้ เรายังมีสิทธิมนุษยชน แล้วก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เหตุการณ์เหล่านี้แทบจะมองไม่เห็นเลยว่านี่คือการช่วยเหลือจริงๆ เพราะว่าเจตนารมย์ของกฎหมายการค้ามนุษย์ คือจับกุมผู้กระทำความผิด แต่ที่ผ่านมาจับแต่คนที่ดูแลครอบครัวและเป็นผู้นำครอบครัว ไม่เคยจับผู้กระทำผิดได้จริงๆ นี่เป็นมุมมองของพนักงานบริการที่ฝากมาถาม และฝากมาพูดในวันนี้” ไหมกล่าว

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2555 ตนได้เคยทำงานวิจัยเรื่อง “การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น” ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมของพนักงานบริการหญิง พบว่าการล่อซื้อพนักงานบริการที่ผ่านมา ของประเทศไทย เป็นไปเพื่อต้องการจับกุมหญิงที่ขายบริการ โดยในการ “ล่อซื้อ” การขายบริการทางเพศ เจ้าหน้าที่จะใช้หลักการเดียวกับการล่อซื้อเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติด คือ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยมีสายเข้าไปล่อซื้อโดยต้องจับให้ได้แบบ “คาหนังคาเขา” เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ค้ายา ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้กระทำได้ เนื่องจากการหาพยานหลักฐานในคดียาเสพติดเป็นไปได้ยาก แต่ต่อมามีการนำวิธีการ “ล่อซื้อ” มาใช้กับมนุษย์ นั่นก็คือพนักงานบริการหญิง

“การล่อซื้อพนักงานบริการ ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล ต้องเข้าใจว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกล่อซื้อ เขาอาจไม่ประสงค์ที่จะค้าประเวณีก็ได้ โดยที่เขาอาจต้องการทำงานบริการเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการที่ผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์กับใคร อาจเป็นความสมัครใจ ความรู้สึกพึงพอใจ เนื่องมาจากความไว้ใจเพราะคบหากันมานาน การล่อซื้อโดยการที่เจ้าหน้าที่เข้าตีสนิทจนเกิดความผูกพันจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ และจับกุมผู้หญิงในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างที่สุด จึงต้องระมัดระวัง อีกทั้งการบันทึกภาพ ในบางกรณีการล่อซื้ออาจมีผู้สื่อข่าวเข้าไปพร้อมเจ้าหน้าที่และมีการแถลงข่าว การล่อซื้อในลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงเกิดความอับอายอย่างที่สุด” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

อังคณากล่าวต่อไปว่า กรณีหลังมีการล่อซื้อจับกุมพนักงานบริการ แล้วใช้ผ้าคลุมโม่ง มีงานวิจัยเรื่อง “เด็กคลุมโม่ง” ซึ่งเป็นงานวิจัยของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุชัดเจนว่า คนที่ถูกจับคลุมโม่ง จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดจึงต้องปกปิดอัตตลักษณ์ของตนเอง หนำซ้ำยังถูกสังคมตรีตรา ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือกรณีการจับกุมพนักงานบริการอาบอบนวดนาตาลี ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบและออกรายงานแล้วพบว่าพนักงานบริการหญิงที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นหญิงต่างชาติเมื่อถูกล่อซื้อและถูกจับกุม ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพราะปกติคนในครอบครัวจะไม่รู้ว่าผู้หญิงนั้นประกอบอาชีพอะไร เนื่องจากอาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ การล่อซื้อและนำตัวผู้หญิงมาแถลงข่าวจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้เกิดความอับอายและเกิดการตีตรามากขึ้นไปอีก

"ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับเพศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพัน ไปถึงครอบครัว และคนรอบข้างเรา เจ้าหน้าที่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง การนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย สังคมอาจได้เพียงแค่ความสะใจ และอาจตีตราบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี สมควรประณาม แต่ในทางกลับกันเรื่องนี้กลับเป็นความย้อนแย้ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง” นางอังคณากล่าว

อังคณาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ กสม. ได้เข้าไปตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิในกรณีการบุกทลายอาบอบนวดนาตาลี โดยกล่าวว่าตนได้เข้าไปพูดคุยกับพนักงานบางส่วนที่ถูกกักตัวอยู่ที่ ตม. เพื่อเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ พนักงานเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติ และคนจากพื้นที่สูงและถูกควบคุมตัวมามากกว่า 20 วันแล้ว อังคณาพบว่าแม้สถานที่ควบคุมตัวของทาง ตม. จะไม่ใช่เรือนจำ แต่กลับมีสภาพแย่กว่าเรือนจำ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับให้ผู้หญิงหรือใครก็ตามให้อยู่ในระยะเวลายาวนานได้ หลังจากนั้นก็มีญาติของผู้หญิงไปร้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ว่าการกักตัวของ ตม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงเชิญ กสม. ไปให้ข้อมูลกับศาล จนศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวพนักงานที่เป็นคนพื้นที่สูงกลับบ้านในทันที ส่วนพนักงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ให้กักตัวไว้ได้ แต่ต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างดีในฐานะของพยาน เช่นการมีค่าตอบแทนรายวัน ซึ่งระบุเอาไว้ตาม พรบ.คุ้มครองพยานปี 2546 แต่ในตอนนั้นเจ้าหน้าระบุว่า พยานไม่ได้ร้องขอค่าตอบแทน ตนจึงขอเรียนว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เขาไม่รู้กฎหมายไทย จึงไม่ใช่หน้าที่ของพวกเธอที่จะต้องร้องขอ แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องจัดหาให้ตามสิทธิตามกฎหมาย

อังคณากล่าวทิ้งท้ายว่าเมื่อเดือนที่แล้วคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธินุษยชน ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและได้เข้าไปดูสถานการณ์สิทธิฯ ในธุรกิจการค้าบริการด้วย โดยคณะทำงานได้บรรยายว่า ธุรกิจดังกล่าวถือเป็น Way of life หรือวิถีชีวิตรูปแบบหหนึ่งของคนไทย รัฐไทยจึงควรทำให้ธุรกิจบริการเป็นสิ่งเพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการสามารถเข้าถึงสวัสดิการและความปลอดภัยในชีวิต

“คณะทำงานของสหประชาชาติเขาเห็นว่าสถานบริการก็เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เป็นวิถีชีวิต เขาไปพัทยา หรือกรุงเทพฯ ถนนทุกสายก็มีสถานอาบอบนวด ที่วอล์คกิ้งสตรีทของพัทยาก็มีแต่สถานบริการทั้งถนน แต่ทำไมการทำงานบริการยังผิดกฎหมาย และเขาก็ยังมีข้อเสนอถึงประเทศไทยว่า แทนที่จะให้ผู้ค้าบริการทางเพศที่เปราะบาง เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เราขอกระตุ้น ให้รัฐบาลไทยเน้นเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจสถานบริการให้ดีขึ้น และให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเต็มที่”

ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน ยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี หรือกฎหมายสถานบริการ ยังคงมีความหมิ่นเหม่ และช่องโหว่ที่เอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว แต่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อมีกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนเรื่องที่ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในส่วนนี้หรือไม่ ตนไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่โดนส่วนตัวก็อยากให้มีการขึ้นทะเบียนโสเภณีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ให้พนักงานสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เฉกเช่นที่แรงงานควรจะได้รับ ในเรื่องของการค้าประเวณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กฤตธัชมองว่า ทุกวันนี้กฎหมายยังเอาผิดแต่ผู้ประกอบการและพนักงานบริการ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ซื้อ หรือลูกค้าที่มีรสนิยมแปลกๆ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กต่างหากที่เป็นต้นต่อของปัญหา แต่กลับไม่ต้องรับโทษใดๆ จึงเสนอให้มีการเพิ่มโทษในส่วนนี้ แต่สุดท้ายแล้วปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือหน่วยงานรัฐทุกวันนี้ยังคงปล่อยปละละเลยในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในธุรกิจบริการ เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้จึงต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลและทุกหภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันจัดการอย่างจริงจังในอนาคต

ตัวแทนจากดีเอสไอกล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ตนพบว่าผู้หญิงที่ถูกหลอกมาขายบริการก็มีไม่น้อยเช่นกัน ในกรณีที่ตนเคยเจอกับตัวเอง คือเหยื่อเป็นคนสัญชาติลาวถูกหลอกว่าให้มาขายไก่ย่างที่ไทย แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ขายบริการในร้านคาราโอเกะ ค่าตัว 2000 บาทต่อรอบ แต่เด็กได้จริงๆ แค่รอบละ 100 บาท จนสุดท้ายเด็กต้องหนีมาให้ตำรวจช่วย สถานบริการจำนวนมากก็ยังคงมีปัญหาเรื่องบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิ์ลูกจ้างอยู่อย่างต่อเนื่อง  

ขณะที่ช่วงท้ายของการเสวนานางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้อ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและยุติการล่อซื้อโดยมีใจความสำคัญระบุว่า เดือน มิถุนายน ถูกจัดให้เป็น เดือนแห่งการ ต่อต้าน การค้ามนุษย์ สำหรับปีนี้ เป็นการ ครบรอบ 10 ปีกฎหมายค้ามนุษย์ อีกนัยหนึ่งคือ ครบรอบ 10 ปี การจับมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมี สหรัฐอเมริกาเป็น “พี่ใหญ่” โดยสาระสำคัญของกฎหมายค้ามนุษย์ คือ การเอาผิด หรือ ลงโทษ “ผู้หาผลประโยชน์” จากการค้าแรงานทาส และ การค้าประเวณี จึงเห็นเสมอ ที่รัฐบาลบุกเข้า ปราบปราม จับ แรงงานประมง และ บุกเข้าปราบ จับ แรงงานในสถานบริการ วิธีการหาหลักฐานเพื่อ หาคนผิด หรือเรียกว่า “ล่อซื้อ” ประการหนึ่งคือคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นหลักฐาน สำคัญ ที่ผิดกฎหมายจึงเกิดการ “ล่อซื้อ” ขึ้น เพื่อสร้างหลักฐานที่ ผิดกฎหมาย เป็นการมัดผู้กระทำผิด แบบดิ้นไม่หลุดโดยลืมข้อเท็จจริงไปว่า เด็ก หรือ คนอายุ ต่ำกว่า 18 ได้รับการคุ้มครอง ภายใต้กฎหมาย “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” อยู่แล้ว

นอกจากนั้น ปฏิบัติการ คือ การบุกเข้าปราบและการสร้างหลักฐาน ดังกล่าว ทำให้สังคมเห็นภาพเสมือนหนึ่ง การปราบปราม อาชญากรรม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของพนักงานบริการ และเป็น สาเหตุให้เกิด การเลือกปฏิบัติ จึงมีการร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการซีดอว์ (CEDAW) หรือ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ได้มีการประชุม ซึ่ง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากประเทศไทยและ มีข้อสรุป ให้กับรัฐบาลไทยต้องทำตาม คือ ให้หยุดการล่อซื้อและบุกทลายทันที และให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี โดยให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ แทน แต่แนวทางดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จาก เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบ ในประเทศไทย นอกจากนั้น การ “ล่อซื้อ” เป็นวิธีการที่นิยม ใน NGOs กระทำการร่วมกับเจ้าหน้าที่

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และ เครือข่ายพนักงานบริการทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่ และองค์กร NGOs ต่างชาติ  ดังนี้ 1. ให้ รัฐเข้มงวดในข้อตกลง ที่ได้รับข้อเสนอมาจาก องค์กรนานาชาติโดยเฉพาะ CEDAW 2. ให้ รัฐ ฯ และ องค์กร NGO นานาชาติ ที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ หยุด ทำการ “ล่อซื้อ” และให้ ถือว่า การล่อซื้อ เป็นความผิด ตามกฎหมาย เพราะ เป็นการร่วมกระทำความผิด และ เป็นการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต นอกจากนั้น ความผิดที่เกิดจาก ไม่ว่าผู้ใด รวมถึงเจ้าหน้าที่ ด้วย ต้องรับโทษตามกฎหมาย 3. ให้ รัฐ ฯ ให้ความคุ้มครองคนอาชีพบริการ ตามเจตนารมณ์ ของกฎหมาย อันไม่ถือว่า “ผู้ค้าประเวณี” เป็นผู้ผิด แต่ เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม จึงต้องให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือ

หลังอ่านแถลงการณ์ ทางคณะผู้จัดงานได้แจกผ้าขนหนูให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยกล่าวว่าปกติแล้ว เมื่อมีการบุกทลายสถานบริการ มักจะมีกองทัพนักข่าวเข้าไปรุมถ่ายรูปพนักงานบริการจนเกิดความอับอาย โดยอุปกรณ์เดียวที่พวกเธอสามารถใช้ปิดบังใบหน้าได้ก็คือผ้าขนหนูเหล่านี้ คณะผู้จัดจึงเชิญชวนให้แขกภายในงานเอาผ้าขนหนูคลุมหัวให้สื่อมวลชนภายในงานถ่ายรูป เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึกของพนักงานเหล่านั้น อีกทั้งยังขอวอนพี่น้องสื่อมวลชนให้ใช้ภาพดังกล่าวแทนภาพการบุกทลายอาบอบนวด ที่พนักงานต้องถูกถ่ายรูปอย่างไม่เต็มใจ

“ถ่ายเลยค่ะ ครั้งนี้เราเต็มใจให้ถ่าย” หนึ่งในคณะผู้จัดงานกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net