Skip to main content
sharethis

ผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.5 แสนคนขณะที่เรือนจำรองรับได้ราว 2 แสน หน่วยงานยุติธรรมเร่งรือกัน น่าสนใจยิ่งที่ตัวแทนผู้พิพากษาพูดถึงต้นตอปัญหาหนึ่งคือ “ยี่ต๊อก” คล้ายคู่มือลับคดีไหนควรลงโทษเท่าไร ใช้ง่าย-ปลอดภัยกับผู้ตัดสินแต่สร้างปัญหาคุกล้น เสนอให้เปลี่ยนแนวคิด ทิศทางการลงโทษ ขณะที่บางส่วนเสนอใช้ “มาตรการทางปกครอง” กับคดีเล็ก รวมถึงการยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกในต่างประเทศ

2 มิ.ย.2561 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานไว้โดยละเอียดถึงการสัมมนาเรื่อง มาตรการเลี่ยงโทษจำคุกก่อนมีคำพิพากษา จัดที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อ 2 มิ.ย.โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผู้เข้าร่วมได้แก่
1.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน 
2.นายณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญา 
4.นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง  อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี

ผู้ต้องขังล้น 3.5 แสน เสนอใช้มาตรการปกครองแทนคุกคดีเล็ก

พล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง แต่ยังกำหนดให้หน่วยงานยุติธรรมสามารถเปลี่ยนโทษหรือกำหนดโทษเป็นอย่างอื่นได้ ความผิดลหุโทษเป็นความผิดที่ไม่เข้าเกณฑ์ลงโทษจำคุก เพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง  โทษจำคุกเป็นโทษทางอาญาที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากโทษประหารชีวิต

ขณะที่ข้อเท็จจริงปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำ 3.5 แสนคน เป็นผู้กระทำผิดครั้งแรก 1.8 แสนคน กระทำผิดครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 คน และกระทำผิดครั้งที่ 3 จำนวน 15,000 คน การแก้ไขที่ผ่านมาคือขยายเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะมีอุปสรรคข้อจำกัดต่อการบริหารงานในเรือนจำตามมาตรฐานสากล ทำให้เกิดผลเสียกับผู้ต้องขังและสังคมที่อยู่ภายนอกเรือนจำ ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการคือกำหนดยุทธศาสตร์ที่ใช้มาตรการทางปกครองแทนโทษอาญา  โดยเฉพาะกฎหมายอาญาเดิมกว่า 800 กว่าฉบับควรมีกฎหมายกลางเป็นตัวเชื่อม ซึ่งโทษทางปกครองที่นำมาใช้กับการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงไม่ควรลงโทษทางอาญา เช่น กรณีขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อคหรือคดีเล็กน้อยอาจจะลงโทษเป็นการเสียค่าปรับ และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเป็นผู้พิจารณาการลงโทษเองได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อีกต้นตอปัญหา ศาลมีตารางลงโทษ "ยี่ต๊อก" ลับในทุกมาตรา

นายดล กล่าวว่า ทางเลือกในการลงโทษที่ไม่ใช่การจำคุกมีหลายอย่าง หลายประเทศกำหนดเป็นมาตรการลงโทษระดับกลาง คืออยู่ตรงกลางระหว่างจำคุกกับปรับแล้วปล่อยกลับบ้าน เช่น จำคุกเป็นช่วง ๆ จำคุกวันหยุด ขังไว้ที่บ้าน ห้ามเข้าสถานที่ใด ห้ามออกจากบ้านหลัง 6 โมงเย็น ห้ามแท็กซี่ป้ายดำเข้ามาในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ  ห้ามเข้าใกล้บ้านผู้เสียหาย  สั่งให้รายงานตัวทุกวัน  ซึ่งทำได้ในชั้นตำรวจเรียกว่าโทษตักเตือน  แต่ในทางปฏิบัติมีเพียงโทษในคดีจราจรเท่านั้นที่ตักเตือนได้ คดีหมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกายตักเตือนไม่ได้  ในต่างประเทศการสั่งประจานก็เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง  เช่นโทษขโมยจดหมายศาลสั่งห้อยป้ายประจาน  คดีขับรถฝ่าไฟแดงศาลสั่งห้อยป้ายประจานแล้วให้ไปยืนที่กลางสี่แยก ตอนเช้า 2 ชม.ช่วงเย็นอีก 2 ชม. ซึ่งไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่เป็นการลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำความผิด

นายดล กล่าวด้วยว่า กฎหมายอาญา มาตรา 56  ซ่อนการลงโทษระดับกลางไว้  เช่น การกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินให้มูลนิธิ  เยียวยาเหยื่อ รวมถึงมาตรการลงโทษที่หลากหลาย  เพียงแต่ศาลไม่รู้ว่าในมาตรา 56 เป็นโทษระดับกลาง เพราะศาลมีตารางลงโทษ "ยี่ต๊อก" ลับ มียี่ต๊อกทุกมาตรา เช่น ลักทรัพย์ลงโทษไม่เกิน 3 ปี ถ้าร่วมกันลักทรัพย์ไม่เกิน 2 คน ลง 2 ปี ตัดไม้ไม่เกินกี่ลูกบาศก์เมตร รอได้  คดีจำหน่ายยาบ้า 1 เม็ด โทษไม่เกิน 4 ปี ซึ่งรอการลงอาญาได้ ตนเคยสั่งรอ เพื่อนมองหน้าเพราะเขาไม่ทำกัน และเสี่ยงต่อการถูกตั้งกรรมการสอบสวน  ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ต้องลงโทษไปตามยี่ต๊อก

นายดลกล่าวต่อว่า ศาลก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้นักโทษล้นคุก คดีตัดไม้พะยูงโทษสูง คนติดคุกส่วนใหญ่เป็นมดมอดเพราะนายทุนไม่ไปตัดเอง ควรลงโทษปรับและสั่งให้ปลูกพะยูง 5 ต้น คุมประพฤติให้ดูแลต้นไม้  5 ปี อย่าให้ต้นไม้ตาย ศาลต้องรับแนวคิดการลงโทษใหม่ แค่เพียงให้หยิบ ม.56 มาใช้ รอการลงอาญา แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขหนักๆ  เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ปิดเรือนจำไปหลายแห่ง มีการลงโทษจำคุกเพียงไม่กี่ปี ขณะที่กฎหมายไทยมีบทกำหนดโทษสูงเกินจำเป็น  ในต่างประเทศคุกมีไว้ขังคนที่เป็นอันตรายต่อสังคม ถ้าออกไปแล้วจะทำผิดอีกและทำให้สังคมเสียหายมากๆ  ขณะที่กฎหมายไทยลงโทษหนักกับคนบางคนที่ไม่สมควรได้รับโทษหนัก

"มาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า มาตรการแทนการลงโทษคือการลงโทษที่สามารถปรามการกระทำผิดได้  เยียวยาผู้เสียหายได้ และสังคมต้องสะใจในระดับหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีมาตรการตรวจสอบไม่ให้การเบี่ยงเบนโทษจำคุกถูกนำไปใช้ทางที่ผิด เราไม่อยากเห็นคนรวยหรือมีอิทธิพลหลุดรอดไปเพราะมาตรการแทนการลงโทษ จึงต้องมีการตรวจสอบว่าสมควรได้รับมาตรการเบี่ยงเบนโทษจำคุกจริงหรือไม่" นายดลกล่าว

ไม่ควรขังระหว่างพิจารณาคดี ยกมาตรการทางเลือกต่างประเทศ

นายน้ำแท้ กล่าวว่า ปัญหาแท้จริงที่ทำให้คนถูกดำเนินคดีคือสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ต้องแก้ทั้งองค์รวม หากจะแก้ไขเฉพาะกรมราชทัณฑ์หรือกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียวจะไม่สำเร็จการพิจารณาว่าจะถูกขังระหว่างพิจารณาหรือไม่ต้องย้อนไปกระบวนการข้างต้นว่าควรจับหรือขังหรือไม่ เพราะถ้าถูกจำคุกสิทธิในการต่อสู้แย่มาก และหากสุดท้ายศาลยกฟ้องก็จะเป็นการถูกขังฟรี หรือผิดจริงก็เป็นโทษเล็กน้อยที่ไม่สมควรถูกขัง เมื่อพิจารณาระดับโทษแล้ว 1 ใน 3 ที่ถูกขังระหว่างพิจาณาเป็นการสูญเสียความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ในอเมริกาจะพิจารณาโทษขังเป็นลำดับสุดท้ายและจำเป็นจริง โดยต่างประเทศขั้นตอนการฟ้องคดีต้องกระทำอย่างรวดเร็วและเปิดเผย โดยพนักงานอัยการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ในพื้นที่หลังเกิดเหตุพร้อมกันทันที  ทำให้ทุกฝ่ายเห็นหลักฐานตั้งแต่ต้น ไม่สามารถทำลายหรือบิดเบือนหลักฐานได้ และอัยการก็สามารถพิจารณาสั่งฟ้องได้แม้จะมีเวลาเหลือเพียงแค่ 10 วัน หรือ 3 ชั่วโมง ขณะที่การขังจะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์หลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ต้องส่งตัวไปให้อัยการพร้อมหลักฐานจับกุมทุกอย่าง  คดีอดีตพุทธะอิสระ ตำรวจมาขอหมายจับและค้านประกันตัว  โดยอ้างว่ามีพยานยังไม่สอบสวนอีก 30 ปาก ซึ่งมีความสงสัยว่าทำไมไม่สอบให้เสร็จก่อนมาขอหมายจับ

น้ำแท้กล่าวอีกว่า ในอเมริกาการจับกุมผู้ต้องหาอัยการต้องแจ้งข้อหาภายใน 72 ชั่วโมง และการออกหมายจับต้องได้รับคำร้องจากอัยการว่าพยานหลักฐานพอให้ควรฟ้องหรือไม่ หลังออกหมายจับแล้วอัยการจะมีเวลา 30 วันในการฟ้อง  ถือว่ามีเวลาพอที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขณะที่ญี่ปุ่นกำหนดฝากขัง 10 วันเพื่อให้อัยการร่างฟ้อง โดยทุกประเทศใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมน้อยกว่าไทย ในส่วนของยุโรปยังมีมาตรการทางเลือกแทนการขัง สิ่งน่าสนใจคือ การจำกัดไม่ให้ไปไหนหรือไม่ให้เจอคนบางคน เพราะเป็นอันตรายต่อคนนั้นคนเดียว

“ส่วนไทยจะแก้ปัญหาแบบไทย ๆ คือ การรับสารภาพทันทีห้ามไม่ให้รับฟัง ถ้าไม่มีหลักฐานอื่น เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ร้องสื่อ ทำให้กระบวนการอัยการบ้านเราขาดหายไป เมื่อทำการปฏิรูปก็ได้ยินว่ากฎหมายไทย ๆ เหมาะกับสังคมไทย  กฎหมายจะต้องเป็นไปตามหลักสากล ต้องแยกให้ระหว่างกฎหมายอาญาหรือวิ อาญา ไม่ใช่กฎหมายแบบไทย" นายน้ำแท้ กล่าว

2 แสนนักโทษยาเสพติด ควรไปบำบัด ไม่ใช่ขังคุก

นายณรงค์ กล่าวว่า เรื่องที่ทำให้ราชทัณฑ์หนักใจ คือการบริหารจัดการบุคลากรที่จำกัดในสถานที่จำกัด จำนวนผู้ต้องขังกว่า 2 แสนกว่าคนในคดีติดยาเสพติด ควรนำไปบำบัดไม่ใช่จำคุก ส่วนผู้ต้องขังอีก 6 หมื่นกว่าคนที่ถูกขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา หากใช้มาตรการปล่อยชั่วคราวหรือกำไลอีเอ็มอาจทำให้จำนวนลดลงไป หรือพิจารณาแก้กฎหมายชะลอฟ้อง แทนที่จะให้คดีสู่ศาลเลย อัยการสามารถใช้มาตรการคุมประพฤติแทนการสั่งคดี เช่น คดียาเสพติด อาจจะช่วยกรองคดีได้ ทั้งนี้ การใช้มาตรการรอการกำหนดโทษกลไกที่ตามมาต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งช่วยดูแลผู้กระทำผิด เพื่อไม่เป็นอันตรายในชุมชน โดยต้องร่วมมือกันระหว่างคุมประพฤติกับชุมชน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการขังยังจำเป็นต้องมีเฉพาะบางคนที่อาจมีพฤติกรรมหลบหนีหรือยุ่งพยานหลักฐาน หากไว้นอกเรือนจำจะมีปัญหา

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของพล.ต.อ.วันชัย การลงโทษความผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรงต้องใช้มาตรการลงโทษการปกครองแทน  โดยเราต้องวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเข้มข้นว่าความผิดอาญาร้ายแรงที่ต้องมีโทษจำคุกคืออะไร และมีโทษเท่าไหร่ ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ ส่วนจำนวนโทษปัจจุบันเรามีทางเลือกแค่จำคุกกับปรับ กรณีขายซีดีขั้นต่ำปรับ 2 แสนบาท ถ้าไม่ปรับรอกักขัง กฎหมายนี้ต้องทบทวนว่าจะใช้มาตรการกำหนดโทษได้หรือไม่  นอกจากนี้ กลไกการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะศาลถูกจำกัดเรื่องตารางบทลงโทษ หรือยี่ต๊อก หากใช้ดุลพินิจลงโทษไม่ตรงตามยี่ต๊อกอาจเสี่ยงถูกตั้งกรรมการสอบสวนว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ จึงได้ลงโทษต่ำ

ว่าด้วยการจับพระ สึกพระ

ในช่วงท้ายของการสัมมนา มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคำถามถึงกรณีจับกุมดำเนินคดีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่กระทำการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  นายน้ำแท้ กล่าวว่า  ล่าสุดมีข้อเท็จจริงว่า พระสงฆ์ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ  มีการนำเงินเข้าบัญชีจริงเพื่อใช้จ่ายในทางศาสนา ข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เงินทอนวัด กรณีดังกล่าวจึงต้องรอดูว่าเมื่อข้อเท็จจริงถึงชั้นอัยการคดีจะมีหลักฐานชัดเจนอย่างไร  ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อวงการสงฆ์  จะส่งผลให้ต้องปฏิรูปการจับกุมและการสอบสวน

ด้านนายดล กล่าวว่า พระที่บวชมาตั้งแต่เด็ก แตกต่างกับการบวชหน้าศพ เมื่อต้องสึกสำหรับเราอาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าลองไปเป็นพระ การสึกเป็นการทำลายชีวิต พระสงฆ์ที่ไม่ได้เปล่งวาจาสึกในทางธรรมไม่ถือว่าสึก ปัญหาทางธรรมเป็นเรื่องทางจิตใจ เพียงแต่การดำเนินคดีต้องถอดผ้าเหลืองก่อนนำตัวเข้าเรือนจำ ส่วนตัวมองว่าควรจะมีการดำเนินคดีกับสงฆ์ หรือการเข้าค้นควรกำหนดวิธีการให้ชัดเจน  ศาลควรจะมีหลายมาตรฐาน เพราะถ้าให้มีมาตรฐานเดียวใช้คอมพิวเตอร์ตัดสินก็ได้ไม่ต้องใช้ศาล สาเหตุที่ต้องหลายมาตรฐานเพราะคนมีความแตกต่างกัน การบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกันไม่ผิด แต่ไม่ถูก ดุลพินิจต้องใช้ให้พอเหมาะพอดี กรณีตำรวจมีหมายจับ เมื่อไปถึงเขายอมให้จับโดยดีอาจไม่ต้องใช้หมายก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net