อภิสิทธิ์พินิจ "รวมพลังประชาชาติไทย" ยอมรับพรรคคงต้องแย่งฐานเสียง-แข่งขันกันเป็นปกติ

อภิสิทธิ์ตอบคำถามเจิมศักดิ์ทางช่อง "ฟ้าวันใหม่" ยอมรับพรรคการเมืองแย่งฐานเสียง แข่งขันกันเป็นเรื่องปกติ เรื่องร่วมงานกัน หากนโยบายใกล้กันคงไม่ยาก ส่วนจะร่วมกันหรือไม่ คงต้องรอดู ด้านเจิมศักดิ์ยกตัวอย่างคนออกจากพรรคประชาธิปัตย์อย่าง วีระ มุสิกพงศ์, สมัคร สุนทรเวช, เฉลิม อยู่บำรุง ออกไปแล้วมีปัญหาพอสมควร ที่ประสบความสำเร็จพอมีบ้างหรือไม่ โดยอภิสิทธิ์ตอบว่า "สมัคร" ก็ได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่มา: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์)

4 มิ.ย. 2561 ในรายการ "ต้องถาม" ทางสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ [1], [2] ดำเนินรายการโดยเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มีการสัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตยและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่งเจิมศักดิ์สอบถามกรณีประชุมเปิดตัว "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยเจิมศักดิ์ถามว่า "คุณอภิสิทธิ์กลับมาประเทศไทย เช้าตรู่วันเสาร์ พอวันอาทิตย์วานนี้ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่ชื่อว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย ทำไมเวลาเปิดตัวออกมา สังเกตดูว่าสื่อมวลชนดูจะไม่ค่อยเชื่อคำแถลง 1. เขาไม่ค่อยเชื่อว่า พรรคนี้ไม่สนับสนุน หรือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพยายามจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ฟังสุ้มเสียงสื่อมวลชนเวลาเขาซัก เหมือนกับว่าเขาไม่ค่อยเชื่อในเรื่องนี้ 2. เขาไม่เชื่อว่าหัวหน้าพรรคจะไม่ใช่ อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์"

"ทำไมสื่อมวลชนไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่พรรคนี้ก็พยายามอธิบายว่าเป็นพรรคของประชาชน ตัวหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร ยังไม่รู้ อ.เอนก ยินดีด้วยซ้ำ ถ้าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนการเมือง แต่ว่าคนก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี ตกลงเป็นเพราะคนไม่เชื่อเพราะการเมืองไทยหลอกกันมาตลอด หรือว่าไม่เชื่อเพราะว่าความจริงก็เป็นเช่นนั้นที่สื่อมวลชนเขาจับได้" เจิมศักดิกล่าว

อภิสิทธิ์ ตอบคำถามว่า "แหม มาถามผมนี่ก็ให้ความเห็นยากในระดับหนึ่ง เพราะว่าผมว่าคนที่เขารวมตัวกันก่อตั้งพรรค ก็มีความหลากหลายระดับหนึ่ง เมื่อวานนี้ก็คงจะหลายร้อยคน ผมก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละคนที่ไปรวมตัวกันนี้ ได้มีโอกาสในการวางแผน ประสานงานอะไรต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ที่จะทราบคำตอบต่อคำถามของอาจารย์"

"แต่ผมก็มองอย่างน้อย 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 ที่ถามว่า ทำไมสื่อยังพยายามซักอยู่ว่า เอ๊ะ พรรคนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่นั้น มันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื่องจากท่าทีในอดีตที่ผ่านมาของคุณสุเทพนั้นค่อนข้างชัด ว่าเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าให้ความเห็นทุกครั้งก็จะสนับสนุนการทำงาน แล้วก็เห็นว่าเป็นผู้ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปในสิ่งที่คุณสุเทพสนับสนุน"

"แล้วก็มีข่าวคราวมาตลอดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงจะมีการตั้งพรรค เพื่อที่จะมาสนับสนุน เพียงแต่ว่าในช่วงหลังนี้ ก็คงจะมีหลายพรรคการเมือง ที่แสดงท่าทีทำนองนี้ เช่นพรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคที่คนบอกว่าอะไรนะ พลังประชารัฐ ซึ่งก็มีคนในรัฐบาล น่าจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนอยู่ แล้วรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้พรรคเสนอชื่อ ใครก็ตามเป็นนายกฯ นั้นเพียงพรรคเดียว แล้วก็ดูเหมือนว่า ทุกคนก็เก็งกันว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะยินยอมก็น่าจะเป็นการยินยอมพรรคที่คนในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ขับเคลื่อนมากกว่า"

"เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการพูดถึงว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนใครอย่างไร ผมว่าสื่อมวลชนก็คงอดคิดไม่ได้ ว่าเนื่องจากท่าทีที่ผ่านมาเป็นท่าทีของการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ว่าอย่างที่บอก มีเงื่อนไขตามกฎหมายที่ว่า ก็ไม่ได้ปฏิเสธนี่ครับว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่บอกว่า ตอนนี้จะใช้คำว่า ก็จะฟังเสียงของประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ก็จะต้องมีการพิสูจน์ต่อไป เพราะว่าเรื่องแบบนี้ในที่สุด ทุกพรรคก็จะต้องเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เขาจะสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี"

"ส่วนประเด็นที่ 2 ที่บอกว่า กรณีของ อ.เอนก ผมว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของการมีข่าวในวงในมากกว่า เพราะว่าพูดกันตรงๆ การซุบซิบก่อนหน้านี้มาหลายสัปดาห์แล้ว ก็มีการพูดถึงว่า ดร.เอนก น่าจะเป็นหัวหน้าพรรค ของพรรคการเมืองที่ทางคุณสุเทพมาร่วมก่อตั้ง เพราะฉะนั้นสื่อก็คงได้ข่าวแบบเดียวกับที่หลายๆ คนได้ข่าว แล้วก็อย่างที่บอกครับ ตอนนี้ตามหลักของมันก็คือ ยังตอบไม่ได้ ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เพราะว่ามันต้องมีการประชุมตามเงื่อนไขของกฎหมายเสียก่อน มีผู้ก่อตั้งพรรค”

เจิมศักดิ์ถามต่อไปว่า คุณอภิสิทธิ์ใช้คำว่าตามหลักของมัน ดร.เอนกก็พยายามจะบอกว่าตามหลักของมัน

อภิสิทธิ์ตอบว่า “ท่านก็คงต้องตอบอย่างนั้น”

เจิมศักดิ์ถามว่า "แต่ความจริงมันคืออะไร"

อภิสิทธิ์ตอบว่า “ความจริงนั้นก็คือ สมาชิกต้องเป็นผู้เลือก แล้วก็ทางพรรค รปช. เขาก็ประกาศชัดเจนว่าเขาจะให้สมาชิกเป็นผู้เลือก เพียงแต่ว่าทุกคนก็เก็งกันว่า บรรดาสมาชิกที่มาร่วมก่อตั้งนี้ก็น่าจะยินยอมพร้อมใจสนับสนุน ดร.เอนก”

เจิมศักดิ์ถามต่อว่า "นั่นเป็นคำอธิบาย แต่คุณอภิสิทธิ์เชื่อเช่นนั้นหรือเปล่าว่า ทุกอย่างไม่ได้มีการเตรียมการ"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมคงไปยุ่งกับเรื่องภายในของพรรคการเมืองอื่นเขาก็คงไม่เหมาะ แต่ว่า ณ ขณะนี้ถามว่าในบรรดาบุคคลที่มีการเปิดตัวกันเมื่อวาน ก็ดูจากรูปการแล้วก็เหมือนกับว่า ดร.เอนก ก็น่าจะมีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคมากที่สุด"

เจิมศักดิ์ถามด้วยว่า "ประการที่ 3 สื่อดูท่าทางจะไม่ค่อยเชื่อว่า คุณสุเทพ จะเลิกการเมือง แม้คุณสุเทพจะอธิบายว่า ครั้งนี้ไม่ได้อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนี้ แต่จะออกมายืนเคียงข้าง และจะทำงานร่วมไปกับผู้ก่อตั้งพรรค ในการหาสมาชิก และขณะเดียวกันจะเดินสาย 77 จังหวัด แต่คุณสุเทพจะไม่ลงสมัคร ส.ส. จะไม่เป็นรัฐมนตรี เพียงแต่เป็นคนทำงานในพรรคเท่านั้น ทำไมสื่อมวลชนก็ยังแคะกันอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่เชื่อว่าคุณสุเทพจะเป็นอย่างนั้น"

อภิสิทธิ์ตอบว่า “คงไม่ใช่เรื่องของเชื่อ หรือไม่เชื่อ คงเป็นเรื่องของการใช้คำว่า ตีความเหรอ คือในช่วงของการชุมนุม คุณสุเทพพูด แล้วก็เวลาคนสรุปก็จะบอกว่า เลิกเล่นการเมืองทำนองนี้ แต่สิ่งที่คุณสุเทพอธิบายขณะนี้ก็คือว่า ความหมายของท่าน ก็คือท่านไม่ได้จะเป็น ส.ส. ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แล้วก็อธิบายว่าพรรคที่ตั้งขึ้น จะตั้งขึ้นนี้ ไม่ใช่ กปปส. แต่เป็นบุคคลซึ่งอาจจะเคยร่วมต่อสู้กับ กปปส. มา มีความคิด ความอ่านในทางของการปฏิรูป อยากจะสร้างพรรคการเมืองของประชาชน ของสมาชิก ซึ่งตรงกับแนวคิดของคุณสุเทพ"

"เพราะฉะนั้นคุณสุเทพก็มีสิทธิ์ในการที่จะเข้าร่วม เป็นสมาชิก แต่ยังยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เพราะฉะนั้นที่อาจารย์ถามว่า อ้าว แล้วทำไมสื่อถึงได้ค่อนแคะอะไรต่างๆ นี้ ก็คือเพราะ ผมว่าคนจำนวนหนึ่งตีความคำพูดก่อนหน้านี้ว่า คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของพรรคการเมืองเลย ไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะรับ หรือไม่รับตำแหน่ง แต่ว่าอันนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะย้อนกลับไปฟังว่า ท่านพูดนี้คนจะเข้าใจอย่างไร แต่ท่านก็อธิบายของท่านอย่างนี้ สื่อก็คงตีความว่าอันนี้ไม่ตรงกับที่เขาเข้าใจ จะเห็นว่า รู้สึกวันนี้ผมเห็นข่าว โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษนะ 2 ฉบับ จะพาดหัวว่า Break Promise ซึ่งก็หมายความ แสดงว่า เขาตีความว่าอันนี้ผิดจากที่เคยพูด"

เจิมศักดิ์ ชงต่อไปว่า "บางฉบับบอกตระบัดสัตย์ด้วยซ้ำ" อภิสิทธิ์ตอบกลับว่า "คำว่าตระบัดสัตย์นี้ คุณสุเทพพูดเองนะ บอกว่าแม้ว่าจะต้องถูกโจมตีว่าตระบัดสัตย์ แต่ท่านก็อธิบายอย่างที่ท่านอธิบายนั่นแหละว่า ท่านไม่ได้จะมารับตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าก็เหมือนกับใช้สิทธิ์ของท่าน ในฐานะประชาชน ก็คงต้องดูต่อไปละครับว่าบทบาทในทางการเมืองจะเป็นอย่างไร"

ส่วนคำถามที่ว่าสุเทพค่อยๆ กระเถิบๆ เข้ามาการเมืองหรือเปล่า หรือคิดอย่างนี้ตั้งแต่ต้น แล้วก็ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว

อภิสิทธิ์ตอบว่า “แหม ผมเดาใจนะ ไม่กล้าที่จะไปฟันธงหรอก แต่ว่าที่รู้จักกันมา ผมมองว่า คุณสุเทพไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นอย่างนี้หรอก คือตอนที่เคลื่อนไหวนั้น ผมว่าคำประกาศนั้น เพื่อให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เข้าใจว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของท่าน และคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นสบายใจได้ว่า ไม่ใช่ว่าออกไปต่อสู้เรื่องปฏิรูป หรือขับไล่รัฐบาลคอร์รัปชันแล้วนี้ เพื่อจะมาเป็นการทำฐานการเมืองให้ท่านเข้าสู่ตำแหน่ง ผมว่านั่นคืออารมณ์ในขณะนั้น แต่เมื่อพูดออกไปแล้ว แล้วมาเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ผมว่าก็มีความเห็นที่หลากหลายนะ เพราะว่าผมก็จะสัมผัสกับคนที่เคยไปร่วมชุมนุม ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าจำนวนนึงเขาก็โกรธ แต่อีกจำนวนนึงเขาก็บอกว่า ทำได้ มันก็เป็นความหลากหลายทางความคิด”

“ซึ่งผมก็มองว่าในส่วนของคุณสุเทพ ก็เหมือนกับเคยคุยกับผมนั่นแหละนะ บอกว่า ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากจะต้องมายุ่งเกี่ยวอีก แต่ว่าเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำขณะนี้ จะสมควร หรือไม่อย่างไร ก็นานาจิตตังละครับ ก็แล้วแต่คนจะมอง”

เจิมศักดิ์ถามด้วยว่า "คนค่อนข้างเห็นใจ เพราะเห็นคุณสุเทพ เมื่อวานนี้พอจะขึ้นพูด นึกถึงคนที่เสียชีวิต นึกถึงคนที่บาดเจ็บล้มตาย คนที่เสียสละเงินทองออกมาโดยที่ไม่ได้อะไร ปัจจุบันนี้ อ่านได้หรือไม่ว่า คุณสุเทพมองว่า ถ้าทุกอย่างยุติอยู่แค่นี้ บ้านเมืองก็ไม่ไปไหน การสูญเสียทั้งหมดสูญเสียไปเฉยๆ ฉะนั้นจำเป็นต้องดึงเอาผู้คนที่มีจิตใจอยากจะปฏิรูป อยากจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แล้วฟังจาก ดร.เอนกพูด Target Group ของพรรคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่คนที่เคยออกมาชุมนุม กปปส. แต่มาตั้งแต่ 14 ต.ค. 16, 6 ต.ค.19, พฤษภาทมิฬ, รวมทั้งพันธมิตร ปี 48 – 49 แล้วก็มา 56 – 57 ด้วย ฟังดูอันนี้คือเป้าหมาย คุณอภิสิทธิ์ฟังว่าอย่างนั้นหรือเปล่า"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมมองว่าคนที่ออกไปชุมนุมในช่วงก่อนปี 57 เขามีความคาดหวังว่าบ้านเมืองจะต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง การเมืองมันจะต้องดีขึ้น จะเน้นหลักเรื่องของธรรมาภิบาล แต่ความจริงก็มีข้อเสนอหลายอย่างที่มีการพูดกันบนเวที เช่นการกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ อะไรต่างๆ ประเด็นตอนนี้ก็จะอยู่เพียงแค่ว่า พรรค รปช. จะสามารถเป็นผู้ที่จะสานต่อแนวคิดตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วตรงนี้มันอาจจะไปพันกับคำถาม ที่อาจารย์ถามในช่วงแรก เพราะว่าถ้าคนมองว่า เป็นพรรคเพื่อไปสนับสนุนบุคคล แล้วบุคคลนั้นอาจจะไม่ได้มีความชัดเจนว่า เอาเรื่องของการปฏิรูปนี้ มันก็จะสวนทางกับเจตนารมณ์ตรงนั้น เพราะฉะนั้นก็คงต้องเปิดโอกาส รอดูว่าพรรคนี้เขาจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป และมีจุดยืนในทางการเมืองที่มันสอดคล้องกับการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ ได้มากน้อยแค่ไหน”

เจิมศักดิ์ถามเปรียเทียบแนวทางของพรรค รปช. กับประชาธิปัตย์ด้วยว่า "คุณอภิสิทธิ์พูดถึงเรื่องอุดมการณ์ของพรรค หรือแนวนโยบายอย่างกว้างๆ ดร.เอนกก็ประกาศว่า ขณะนี้มีอุดมการณ์ของพรรคอยู่ 4 – 5 ข้อ ฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ต่างอะไรกับประชาธิปัตย์ 1. เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ กระจายอำนาจ และมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ และพูดถึงเรื่องการปกครองส่วนภูมิภาคว่ามีปัญหา พูดถึงเรื่องลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม จะปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ ไม่เห็นต่างอะไรเลยกับที่เคยสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์"

อภิสิทธิ์ตอบว่า “ผมก็ยืนยันว่าจุดยืนของพรรคฯ ในเรื่องของการปฏิรูปเหล่านี้ชัดเจนนะครับ แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอาจจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากหลายท่านที่รวมตัวกันเมื่อวาน เพราะว่าผมมีความเห็นว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบัน รวมทั้ง คสช. ไม่ได้ทำใน 3 – 4 ข้อนั้น อย่างที่เราอยากจะเห็น เช่นเรื่องการกระจายอำนาจนั้นค่อนข้างชัดว่า กลับสวนทางด้วยซ้ำ รวมไปถึงปัญหาการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มักจะมองข้ามมติของความเหลื่อมล้ำในการตัดสินใจนโยบายแต่ละเรื่องที่เราพูดถึงภาคการเกษตรก็ดี อะไรก็ดี จะด้วยเจตนาหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าตรงนี้ก็เลยทำให้ผมนี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างมาก ทีนี้ก็ถ้าพรรคใหม่เขายืนยันหลักการเหล่านี้ ก็ต้องดูว่าท่าทีของเขาต่อการดำเนินนโยบาย หรือการที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ จะเหมือน หรือจะต่างจากประชาธิปัตย์ก็ดี จากทาง คสช. ก็ดี ก็ต้องว่ากันไป"

"แต่ว่าจุดหนึ่งซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็ทิ้งท้ายไว้มั๊งครับ คุยกับอาจารย์ที่ผมยังแกะไม่ออก ก็คือที่คำพูดของ ดร.เอนก ที่พูดหลายครั้ง ทำนองว่า ตอนนี้ต้องก้าวข้ามเรื่องของอดีตทั้งหมด สีเสื้อ หรืออะไรต่างๆ ซึ่งตรงนี้ที่ผมยังแกะไม่ออกก็คือว่า แล้วมันจะสวนทาง หรือสอดคล้องอย่างไรกับ 2 ประเด็น ประเด็นคือเรื่องของจุดยืนต่อเรื่องการนิรโทษกรรม กับอันที่ 2 ก็คือ คำพูดของ พูดง่ายๆ ก็คือว่า กปปส. ที่บอกว่า ต่อต้านระบอบทักษิณ ว่าแสดงว่าตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่”

จากนั้นเจิมศักดิ์ถามว่า "พอเห็นภาพอย่างที่เล่าให้ฟัง ที่ถ่ายทอดสดทางไลฟ์ ก็นึกว่ามันไม่ต่างอะไรกับประชาธิปัตย์ ถ้าอย่างนี้มีพรรคการเมืองใหม่ทำไม คุณสุเทพก็เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ บังเอิญ คุณสมจิตร นวเครือสุนทร ถามคำถามคุณสุเทพว่า ทำทั้งหมดนี้เป็นสาขาของพรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่า หรือว่าไปแย่งฐานเสียงของประชาธิปัตย์หรือเปล่า คุณอภิสิทธิ์จะตอบอย่างไร"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "ข้อ 1 นี้ผมตอบได้เลยนะครับว่าไม่ใช่สาขาแน่นอน ประชาธิปัตย์ไม่มีแนวความคิดเรื่องการมีพรรคสาขา พรรคนอมินี หรืออะไรทั้งสิ้น และผมก็เชื่อว่า ทั้งคุณสุเทพ และผู้ก่อตั้งพรรค เขาไม่ประสงค์จะเป็นพรรคสาขาของใคร อันนี้ผมว่าตอบง่ายนะครับ ส่วนข้อที่ 2 ที่ถามว่า แล้วอันนี้คือมาแย่งฐานเสียงหรืออะไรนั้น ทุกพรรคการเมืองก็แย่งฐานเสียงกัน แล้วก็ยิ่งถ้าหากว่าการแสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ มันมีความคล้ายคลึงกัน มันก็ทำให้กลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแนวความคิดที่บอกว่าเหมือนกันนี้ ก็ต้องเลือกระหว่างจะสนับสนุนพรรคการเมืองไหน อันนี้ก็คงเป็นความจริงทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ก็จะต้องแข่งขันกันไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา"

จากนั้นเจิมศักดิ์ถามว่า "แข่งขันแล้วต่อไปร่วมกัน ทำงานด้วยกันได้มั้ย"

อภิสิทธิ์ตอบว่า “การทำงานร่วมกันนั้น ถ้านโยบายความคิดพื้นฐานมันใกล้กัน ก็คงจะไม่ยาก แต่ว่าถามว่าจะร่วมกันหรือไม่อย่างไรนั้น ตอนนี้ต้องบอกว่า คงต้องรอดูกระมังครับ ต้องให้เวลาเขาสักหน่อยกระมังครับอาจารย์ เขายังไม่ได้มีการเลือกกรรมการบริหาร ประกาศนโยบาย แล้วก็อย่างที่บอก จะวนเวียนกลับไปสู่ว่า เอ๊ะ จะต้องไปสนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็คงต้องเปิดโอกาสให้เขาทำงานไปก่อน"

ทั้งนี้อภิสิทธิ์ได้ดูคลิปการแถลงข่าวของสุเทพ และให้ความเห็นว่า "ผมว่าแนวคิดในการทำงานการเมืองมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือพรรคการเมืองก็แข่งขันกัน แต่ขณะเดียวกันการทำงานร่วมกัน อาจจะมีความจำเป็นที่เกิดขึ้นในอนาคต ก็อยู่ที่ว่าจะเอาอะไรเป็นตัวตั้ง ผมก็บอกว่ามันก็ต้องอยู่ที่เรื่องของนโยบาย หลักการ ความคิดต่างๆ คุณสุเทพก็ตอบคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่ารู้สึกคุณสุเทพไม่ได้ตอบเรื่องสาขา แต่ผมตอบให้เลยว่าไม่ใช่"

"ที่ผมปฏิเสธว่าไม่ใช่สาขา ก็คือว่า ต่างคนต่างทำงานตามความเชื่อของตัวเอง คำว่าพรรคสาขา คงจะหมายความว่า มีเจตนา ฮั้วกัน รู้กัน แล้วก็เป็นวิธีการในการที่จะหาทางที่จะไปดึงเสียงของหลายๆ ฝ่ายมา แล้วก็จริงๆ แล้วคือ ตกลงกันไว้ อันนี้ผมยืนยันได้เลยว่า ไม่มีแน่นอน ส่วนที่ว่าจะร่วมมือกันหรือไม่นั้น จะไปตอบชัดเจนกว่านี้นั้น คงจะตอบยาก เพราะมันต้องดูต่อไปว่าเป็นอย่างไร" อภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่ง

เจิมศักดิ์ถามด้วยว่า "มีข้อสังเกตอันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถหาคำตอบได้ เลขาของพรรคประชาธิปัตย์คนก่อนคือ เสธ.หนั่น ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคใหม่ แล้วเอา ดร.เอนก มาเป็นหัวหน้าพรรค เที่ยวนี้คุณสุเทพ เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคใหม่ แล้วเอา ดร.เอนกมาเป็นหัวหน้าพรรคตามข่าว ซึ่งจะเป็น หรือไม่เป็นไม่รู้ มันจะอธิบายอย่างไร"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "มันเป็นเหตุบังเอิญทางการเมือง มันก็เกิดขึ้นได้นะครับ แต่ว่าจะเหมือนกันทีเดียวมั้ย ก็คงไม่ใช่ เพราะว่าตอน พล.ต.สนั่น ดร.เอนกอยู่กับประชาธิปัตย์ เป็นรองหัวหน้าพรรคอยู่ด้วย เท่าที่ผมจำได้ แล้วก็พอตัดสินใจมีการแยกพรรคกันออกไป ก็เหมือนกับไปด้วยกัน แต่ครั้งนี้ ดร.เอนก พ้นจากความเป็นสมาชิกของพรรคต่างๆ มาระยะหนึ่ง แต่ว่ามันก็คงเป็นเหตุบังเอิญละครับว่า กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีอดีตเลขาธิการพรรคของประชาธิปัตย์ไปร่วม”

เจิมศักดิ์ถามด้วยว่า "คุณอภิสิทธิ์อยู่กับประชาธิปัตย์มานาน อยู่ในแวดวงการเมืองมา 20 กว่าปี คิดว่าไปรอดมั้ย"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมไม่สบประมาทใครนะครับ ไม่เคยไปประเมินใครต่ำทั้งสิ้น อยู่ที่การทำงาน อยู่ที่ความมั่นคงในเรื่องของหลักการ ผมว่าถ้ามีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนก็ได้ แต่ว่าถ้าไปผูกติดกับเรื่องของตัวบุคคล ก็จะกลายเป็นปัญหาของ เหมือนกับพรรคต่างๆ เรื่องพรรคเฉพาะกิจ ก็ต้องอยู่ที่ว่าเขาจะกำหนดท่าทีอย่างไร"

เจิมศักดิ์ถามว่า "พูดอย่างนี้ก็แสดงว่ามีโอกาสที่จะทำงานร่วมกันได้ ถ้าแนวนโยบายและอุดมการณ์"

อภิสิทธิ์ตอบว่า "ถูกต้องครับ แล้วก็อยู่ที่เงื่อนไข มันมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างนะครับ 1. เราพูดกัน อย่างที่บอก เราจะพูดกันอะไรก็ตาม ผมยังให้ความสำคัญกับกระบวนการของการเลือกตั้ง ความหมายก็คือเราจะมาพูดกันล่วงหน้า อย่างนั้นอย่างนี้นั้นคงไม่ได้ เพราะจุดสำคัญของพรรคการเมืองก็คือว่า เมื่อถึงวันที่มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ละคนแสดงท่าทีต่อสาธารณะอย่างไรในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะต้องถูกซักถามว่า นโยบายเรื่องนั้นจะสนับสนุนบุคคลไหน จะทำงานกับใคร บนเงื่อนไขอะไร นั่นประการหนึ่ง"

"ประการที่ 2 ก็คือประชาชนจะเลือกเข้ามาอย่างไร จำนวน ส.ส. คะแนนเสียงที่ได้รับ ก็จะเป็นตัวที่บอกกับพรรคการเมืองว่า สมควร หรือไม่สมควร ที่จะทำงานกับใครในสถานะใด เพราะฉะนั้นต้องรอตรงนั้นนะครับ"

จากนั้นเจิมศักดิ์ถามว่า "พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ และคนที่ออกไปตั้งพรรค ทำให้นึกถึงคุณวีระ มุสิกพงศ์ก็ดี นึกถึงคุณสมัคร สุนทรเวช นึกถึงคุณเฉลิม อยู่บำรุง และมีอีกหลายคน ดูจะเมื่อออกไปแล้ว ดูจะมีปัญหามากพอสมควร ที่ประสบความสำเร็จพอมีบ้างหรือไม่" ทำให้อภิสิทธิ์ตอบว่า "คุณสมัคร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี"

จากนั้นเจิมศักดิ์ถามว่า "เป็นเพราะพรรคที่ออกไปตั้งใหม่ หรือเป็นเพราะ เขาเอาขึ้นมาชั่วคราวเป็นนอมินี"

อภิสิทธิ์ตอบว่า “แหม เส้นทางการเมืองก็จะคดเคี้ยวกันไปแล้วแต่บุคคลละครับ ของแบบนี้ก็อยู่ที่แต่ละท่านจะประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมว่าหลายคนที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปก็ไปมีตำแหน่งแห่งหนนะครับ ในรัฐบาล บางคนก็มองว่านั่นคือความสำเร็จ”

เจิมศักดิ์ถามต่อว่า "ก็กำลังจะถามว่านี่คือความสำเร็จเหรอ การได้ดำรงตำแหน่ง หรือได้ไปทำงานตามอุดมการณ์ที่มีอยู่" โดยอภิสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า "แต่ละบุคคลก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกันหรอกครับ เขาจะต้องไปประเมินเองว่ามันสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท