Skip to main content
sharethis

‘ณัฏฐา’ นำทีมยื่นคำร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำสั่งดังกล่าวรวมมิตรให้อำนาจทหารทั้งบุกค้น คุมตัวก่อนส่งตำรวจ ห้ามเสนอข่าวสารกระทบความมั่นคง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฯลฯ ตัวแทนผู้ตรวจการฯ ระบุมีสิทธิโต้แย้งได้ จะเอาเข้าที่ประชุม 12 มิ.ย.นี้

6 มิ.ย.2561 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการผู้ตรวจการฯ เพื่อตอบโต้ต่อหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการฯ ลงวันที่ 3 พ.ค. 61 กรณีที่ให้พิจารณาคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ผู้ตรวจฯ กลับไม่ส่งตีความพร้อมวินิจฉัยไว้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ได้บัญญัติรับรองให้ประกาศคำสั่งการกระทำของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือที่ออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นประกาศคำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า ในการยื่นวันนี้เป็นการมาโต้แย้งต่อคำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ ดังนี้ 1. ร้องเรียนบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับวินิจฉัยเสียเอง ขอยืนยันให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ พิจารณาคำร้องและส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความตามหน้าที่ ว่า คำสั่งหัวหน้ คสช.ที่ 3/58 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2. ยื่นหนังสือผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 279 ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อหลักนิติธรรมในการตรากฎหมาย เพราะทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไร้ความหมาย และมีศักดิ์ต่ำกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.

ด้านนายสงัด กล่าวว่า ผู้ร้องมีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งในคำวินิจฉัยได้ โดยส่งหนังสือโต้แย้งมาภายใน 15 วัน ส่วนเรื่องนี้ตนจะเข้าเสนอเข้าที่ประชุมผู้ตรวจฯ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ภาพรวมของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558  ให้อำนาจฝ่ายทหารหรือ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” มีอำนาจในการตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ส่วนที่นำมาใช้บ่อยที่สุดคือ ข้อ 12 ของประกาศที่กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งบังคับใช้แทนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ส่วนข้อ 5 มีอำนาจออกคำสั่งห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนกระทบความมั่นคงของชาติ หรือความเสงบเรียบร้อยของประชาชน ขณะที่ข้อ 6 ได้กำหนดให้มีอำนาจเรียกบุคคลให้รายงานตัว ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับคำสั่ง คสช.ที่เรียกให้บุคคลมารายงานตัวในช่วงแรกของการรัฐประหาร และข้อ 11 ให้อำนาจกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวและหากฝ่าฝืนเงื่อนไขก็จะมีความผิดด้วย

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์  ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net