Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ที่มาภาพประกอบ: INESby(CC0)

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่อันหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อมวลชนและสาธารณชนก็คือ ข่าวการบุกตรวจค้นโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การตรวจค้นโรงงานประเภทนี้อีกหลายแห่งทั้งที่ตั้งอยู่ใน จ. ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบังอีก 7 ตู้ที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกงและประเทศญี่ปุ่น โรงงานที่ถูกตรวจค้นหลายแห่งกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และมีการกำจัดกากของเสียอันตรายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด ซึ่งหมายความว่ามีของเสียอันตรายจำนวนมากที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็น เหล็ก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และนิกเกิล สามารถรั่วไหลออกไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมภายนอกและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกที่พักค้างอยู่ที่ฮ่องกงจำนวนหลายแสนตัน โดยประเทศจีนไม่อนุญาตให้นำเข้า นักลงทุนจึงมาตั้งโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย เมื่อมีการคัดแยกได้วัสดุที่รีไซเคิลได้และเป็นประโยชน์ก็จะส่งกลับประเทศจีน ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะนำใส่กระสอบไปลักลอบทิ้งตามบ่อขยะในประเทศไทย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งออกเป็นขยะที่มาจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบำบัดและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานบำบัดและกำจัดขยะ และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ ขยะที่นำเข้ามารีไซเคิลส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ร้อยละ 98 เป็นโทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ กรมโรงงานฯได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า 7 โรงงาน มีโควต้าการนำเข้ารวมประมาณ 117,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้มี 5 โรงงานที่เข้าข่ายมีการนำเข้าโดยผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันไทยเรามีการนำเข้าขยะอิเล็ทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก คำถามสำคัญที่สร้างความกังวลใจก็คือ กฎหมายและกลไกของรัฐมีความพร้อมและประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะรองรับการจัดการขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากมาย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะยาวหรือไม่

ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลักลอบนำเข้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-waste ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยได้โดยง่ายเนื่องจากช่องว่างทางกฎหมาย ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ รวมทั้งการปลดเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เอื้อต่อการเปิดเสรีทางการค้าและการประกอบกิจการของนายทุนไทยกับนายทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด ผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายโดยดำเนินการตามขั้นตอนของอนุสัญญาบาเซล และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะอนุญาตให้โรงงานรีไซเคิลนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเท่านั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตส่วนหนึ่งจึงอาจมาจากการสำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศุลกากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากอนุสัญญาบาเซลฯซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 กำหนดให้การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดนต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศต้นทางและปลายทาง  ทำให้เกิดการล๊อบบี้เพื่อนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากรัฐบาลสองประเทศตกลงกันได้ ก็จะสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯเข้ามากำจัดในประเทศปลายทางได้ เช่น จีนอนุญาตให้นำขยะพิษจากจีนเข้ามาแปรรูปในประเทศไทยได้ เป็นต้น การทลายโรงงานเถื่อนซึ่งสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ สะท้อนปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆที่หย่อนยาน รวมทั้งอาจมีการทุจริตและแบ่งผลประโยชน์กันในกลุ่มข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ

ข้อเท็จจริงทั้งปวงดังกล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมดังนี้

1. ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องประสบกับปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายเพิ่มมากขึ้น ความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ทำไว้กับหลายประเทศก่อให้เกิดข้อผูกพันต้องยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่สินค้าหลายรายการ ซึ่งรวมถึงของเสียเคมีวัตถุและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เท่าที่ผ่านมา ระบบควบคุมทางศุลกากรใช้วิธีการบริหารความสี่ยงโดยคัดกรองสุ่มตรวจเฉพาะกรณีที่มีข้อสงสัยจากประวัติของบริษัท จึงไม่มีการตรวจสอบทางกายภาพกับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้า มีการตั้งเป้าการเปิดตรวจสินค้าขาเข้าไว้ไม่เกินร้อยละ 5 และจะลดการตรวจลงไปอีกตามแนวนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี

2. ปัญหาความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานผู้อนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการนำเข้าของเสียอันตราย ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน เมื่อประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากลิ่น น้ำเสีย และมลพิษอื่นๆที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน มาตรการที่ใช้ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ก็คือ การออกคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือหากเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง ก็อาจออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เมื่อโรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็มักจะกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปรกติ จึงปรากฎอยู่บ่อยครั้งว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าบางโรงงานจะกระทำผิดกฎหมายซ้ำๆ ข้อสังเกตดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาวิจัยปัญหาการจัดการขยะอุตสาหกรรมของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.) จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปกฎหมายด้านการบริหารจัดการมลพิษอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมมลพิษ เข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานได้โดยตรง แทนที่จะกระทำได้เพียงรายงานปัญหาและทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามกฎหมายดังเช่นที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้

3. พระราชบัญญัติโรงงานฯกำหนดบทลงโทษไว้ต่ำมาก ไม่มีการกำหนดระวางโทษขั้นต่ำ อีกทั้งยังกำหนดให้การฝ่าฝืนกฎหมายโรงงานเป็นความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ ฉะนั้น เมื่อมีการปล่อยมลพิษหรือลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ไม่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แม้กฎหมายกำหนดระวางโทษปรับสูงสุดไว้ไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ในทางปฏิบัติคดีทั้งหลายก็มักสิ้นสุดลงในขั้นตอนการเปรียบเทียบปรับโดยผู้ฝ่าฝืนกฎหมายต้องเสียค่าปรับในหลักหมื่นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมองว่าการฝ่าฝืนกฎหมายให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากจะให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ก็จะต้องเพิ่มบทลงโทษ กำหนดโทษขั้นต่ำ และยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้เปรียบเทียบปรับได้

4. การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่ามีการลอบบี้ให้นำเข้าของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล รวมทั้งอาจมีการทุจริตและการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าการวิ่งเต้นเพื่อให้มีการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขาดธรรมาภิบาล

5. ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายซึ่งกำหนดให้มีระบบรับคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste electrical and electronic equipment หรือ WEEE) ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทำให้มีการจัดการ WEEE อย่างไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ถูกนำไปถอดแยกชิ้นส่วนในร้านรับซื้อของเก่าเพื่อนำเอาส่วนที่มีมูลค่าไปขายหรือใช้ประโยชน์ และทิ้งส่วนที่ไม่มีมูลค่ากลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการจัดการของเสียอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น กรมควบคุมมลพิษได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มานานกว่าทศวรรษ สมควรแก่เวลาที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่การออกกฎหมายดังกล่าว โดยยึดหลักความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended producer responsibility: EPR) ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนรับผิดชอบในการรับคืน WEEE เพื่อให้มีการนำไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป

ข่าวการทลายโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ช่วยสะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังหลายประการ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราพูดกันมากเรื่องการปฏิรูป มีการตั้งสภาปฏิรูปและคณะกรรมการปฏิรูปในหลายด้าน ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิรูปกฎหมายและระบบการกำกับดูแลการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาที่ปรากฎชัดเจนอยู่ตรงหน้ามานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการกำหนดโทษขั้นต่ำสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎกระเบียบที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและพิจารณายกเลิกบทบัญญัติในพระราชบัญญัติโรงงานฯที่กำหนดให้มีการเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดฐานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือปล่อยมลพิษที่ไม่ผ่านการบำบัดให้เป็นไปตามคุณภาพที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะต้องปฏิรูประบบสถาบันโดยกำหนดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่กำกับดูแลโรงงานแยกต่างหากจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานผู้อนุญาต อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลในหลายๆประเทศ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net