นิธิ เอียวศรีวงศ์: สรรพนามบุรุษที่สอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ครูที่สอนภาษาอินโดนีเซียผมเลือกใช้ตำราชุดที่นักภาษาศาสตร์เป็นคนแต่ง ในตอนนั้นคงเป็นตำราเรียนภาษาอินโดนีเซียเล่มเดียวที่แต่งโดยนักภาษาศาสตร์ ทั้งไม่ได้แต่งเองที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยในสหรัฐ หากนำทีมไปเก็บข้อมูลการใช้ภาษาที่จาการ์ตา ก่อนจะเอามาเขียนเป็นตำรา คงมุ่งหวังให้เป็นตำราเรียนภาษาที่มีชีวิตจริงๆ

ทำไมจึงเลือกจาการ์ตา แทนที่จะเป็นแหล่งซึ่งพูดภาษานี้ (มลายู) มาแต่ดั้งแต่เดิม เช่น เกาะเรียวหรือฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา ผมเข้าใจว่าเพราะจาการ์ตาเป็นที่รวมของคนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษามลายูมาแต่อ้อนแต่ออก และจำเป็นต้องสื่อสารกันด้วยภาษากลางใหม่ซึ่งเรียกว่าภาษาอินโดนีเซีย ดังนั้น ภาษาจาการ์ตาจึงจะเป็นภาษาที่แพร่หลายในสื่อทุกชนิด ไล่ไปถึงแบบเรียนสำหรับเด็ก และภาษาในที่ประชุมระดับชาติ ภาษาของจาการ์ตากำลังกลายเป็นภาษาใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนมลายูแท้

ผลที่เกิดแก่ผมก็คือ เมื่อลองเอาภาษาอินโดนีเซียที่เรียนมาหัดพูดกับเพื่อนชาวอินโดนีเซีย เขาบอกว่าภาษาแบบนี้คือภาษาของคนไม่มีการศึกษา ไม่มีใครเขาพูดกันหรอก

ผมเชื่อว่า หากมีนักภาษาศาสตร์มาเก็บภาษาไทยที่ผู้คนใช้จริงในกรุงเทพฯ คนไทยก็จะตั้งข้อสังเกตอย่างเดียวกัน

ปัญหาที่เกิดแก่ผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักภาษาศาสตร์เจ้าของตำราไปเก็บภาษาในช่วงเพิ่งตั้งประเทศ ยังอยู่ในบรรยากาศการปฏิวัติชาตินิยม ด้วยเหตุดังนั้นจึงบอกเราว่า สรรพนามบุรุษที่สองในภาษาอินโดนีเซียคือ saudara (อ่านตามเสียงว่าซะอุดารา แต่เขาออกเสียงว่าโซดารา) แปลว่าพี่หรือน้อง

มาในภายหลัง เมื่อผมใช้คำนี้กับชาวอินโดนีเซีย ปฏิกิริยาของเขาคือหัวเราะ หรือแนะนำให้ใช้คำอื่น เพราะไม่มีใครเขาใช้กันแล้ว

หากคำนี้เลิกใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สองกันแล้ว มันก็น่าขำจริงเสียด้วย เหมือนคนไทยใช้คำว่า “สหาย” เป็นบุรุษที่สองในการสนทนา หรือคนผิวดำในสหรัฐใช้ brother หรือ sister เป็นบุรุษที่สอง… มันฟังดูเหมือนชวนปฏิวัติ ทั้งๆ ที่เราแค่ถามทาง

วันหนึ่งผมจึงถามอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ว่า ผมจะใช้คำอินโดนีเซียอะไรเป็นบุรุษที่สอง ใช้ anda ได้ไหม ท่านหยุดไปพักหนึ่งแล้วบอกว่ายากชิบเป๋ง แล้วอธิบายว่า ใช้ anda จะฟังดูเหมือนประกาศรัฐบาล หรือโฆษณาสินค้า แล้วท่านก็คิดออกว่าจะอธิบายอย่างไร ก็คือเหมือนภาษาไทยของมึงไง ใช้เรียกไปตามสถานะของผู้ฟัง และ/หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง แต่ไม่แบ่งแยกด้านสถานภาพเท่าภาษาไทย เพราะภาษามลายูมีธรรมชาติของความเสมอภาคมากกว่าแยะ

เออ ใช่ สรรพนามบุรุษที่สองในภาษาไทยก็เป็นเรื่อง “ยากชิบเป๋ง” เหมือนกัน หากต้องอธิบายให้คนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาใช้ให้ถูก

เรามีคำที่ใช้เป็นบุรุษที่สองไม่รู้จะกี่คำนะครับ นับตั้งแต่เอ็ง, มึง, เจ้า, ท่าน และ ฯพณฯ, คำนับญาติ (รวมหลวงพ่อและเจ้าพ่อด้วย), ใต้เท้า, ฝ่าบาท, ละอองพระบาท, ละอองธุลีพระบาท และที่ยังนึกไม่ออกอีกไม่น้อย จะใช้ทั้งหมดนี้ให้ถูกอย่างไร ไม่ใช่แค่เป็นเจ้าของภาษาเท่านั้น แต่ต้องซึมลึกลงไปถึงวัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยด้วย

แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อตอกย้ำเสริมสร้างการแบ่งแยกสถานภาพของผู้คนออกจากกัน ตั้งแต่เกิดก็ค่อยเรียนรู้การใช้สรรพนามบุรุษที่สองอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ไป จนในที่สุดก็ซึมซับความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ไว้เป็นรากฐานของโลกทัศน์ของตนเอง คล่องแคล่วจนสามารถจะพลิกผันคำเรียกบุรุษที่สอง เพื่อแสดงสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันได้อย่างแนบเนียน

เช่น เด็กเสิร์ฟผู้หญิงในร้านอาหารทุกคนต่างเป็น “น้อง” เหมือนกันหมด คำนับญาติถือเป็นสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งแฝงนัยยะของความเหลื่อมล้ำน้อยแล้ว แต่ “น้อง” ในที่นี้ไม่ใช่คำนับญาติแท้ เพราะไม่เคยมีลูกค้าคนใดถาม “น้อง” เลยว่าอายุเท่าไร เพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรเรียก “น้อง” หรือ “พี่” ดี แต่คนในสถานะอย่างนั้นย่อมเป็น “เด็ก (เสิร์ฟ)” เสมออยู่แล้ว ไม่ต่างจาก “บ๋อย” หรือ boy ที่ฝรั่งใช้เรียกคนดำในสถานะอย่างนั้นมาก่อน

ความไม่เท่าเทียมนั้นฝังลึกอยู่ในสำนึกความเป็นไทย สะท้อนออกมาในสรรพนามที่ใช้ในการสนทนากัน หากจำเป็นต้องพบคนแปลกหน้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยั่งให้ได้ในเวลาอันรวดเร็วว่าเขาอยู่ในสถานภาพใด เพื่อต่างฝ่ายต่างสามารถใช้สรรพนามบุรุษที่สองได้ถูกต้อง

ในสมัยโบราณ ความจำเป็นนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะคนที่พบและสัมพันธ์ด้วยไม่ใช่คนแปลกหน้า ต่างฝ่ายต่างรู้สถานภาพของกันและกันอย่างดีแล้ว แต่เมื่อสังคมเมืองเริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ ร.5 ลงมา ความจำเป็นต้องพบและสัมพันธ์กับคนที่ไม่คุ้นเคยก็เกิดขึ้นมากและบ่อยขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือกับคนต่างชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยเป็นตัวกลาง แต่คนต่างชาติกลับใช้ภาษาไทยด้วย “ไวยากรณ์” ทางวัฒนธรรมของต่างชาติ แทนที่จะใช้ไวยากรณ์ทางวัฒนธรรมแบบไทย

ครับ ผมกำลังนึกถึงเจ๊กก่อน ภาษาจีนเป็นภาษาที่แปรผันตามสถานภาพทางสังคมระหว่างคู่สนทนาไม่สู้จะมากนัก เมื่อคนชั้นกลางกรุงเทพฯ เรียกรถเจ๊กหรือรถลากที่สารถีเป็นจีน ต่ำต้อยห่างเหินจากผู้โดยสารซึ่งนุ่งผ้านุ่งเนื้อดีและเสื้อราชปะแตน แต่เจ๊กลากรถก็เรียกผู้โดยสารว่า “ลื้อ” เหมือนที่ใช้กับเจ๊กลากรถคันอื่น

ผมคิดว่า “ลื้อ” เป็นสรรพนามบุรุษที่สองคำแรกที่แปร่งหูคนไทยที่สุด เพราะมันใช้กับคนสูงสุดไปจนถึงคนต่ำสุดได้เหมือนกัน มันแปร่งหูเท่ากับคำว่า “ฉัน-ท่าน” ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำเข้ามาสู่ภาษาไทย ในฐานะสรรพนามที่ไม่แปรผันไปตามสถานภาพของผู้พูด-ผู้ฟังเลย และกลายเป็นเรื่องที่ปัญญาชนไทยสมัยหลังถากถางเยาะเย้ยหรือเอามาเล่นตลก แต่มันเป็นความพยายามที่น่าสนใจยิ่งอันหนึ่งของผู้นำคณะราษฎรในการเปลี่ยนประเทศไทย

คงไม่มีผู้นำคณะราษฎรคนใดที่ใส่ใจกับอำนาจทางวัฒนธรรมของระบอบเก่ายิ่งไปกว่าท่านจอมพล ป. ผมไม่ทราบว่าท่านต่อต้านอำนาจนั้นเพื่อหลักการประชาธิปไตย หรือหลักการความเป็นชาติที่แท้จริง (แต่ออกจะสงสัยว่าเป็นอย่างหลังมากกว่า) ความเป็นชาติของท่านตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียมของประชาชนทุกคน (ซึ่งเป็นหลักการที่ขาดไม่ได้ของความเป็นชาติทั้งโลก) เพื่อกล่อมเกลาให้เกิดความภักดีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือความภักดีต่อ “ชาติ” (อันอาจมีตัวท่านเองยึดกุมการนำไว้อย่างชัดเจน)

ท่านปรีดี พนมยงค์ พยายามเปลี่ยนประเทศไทยด้วยหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามเปลี่ยนรัฐราชสมบัติสยามให้เป็นรัฐชาติไทย ผมคิดว่าสำคัญทั้งสองด้าน และที่จริงควรเสริมกันและกันด้วย

รัฐราชสมบัติมิได้ตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่อาศัยอำนาจทางวัฒนธรรมซึ่งฝังลึกและแน่นหนากว่าการเมืองเสียซ้ำ “การปฏิวัติ” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเข้าไปปรับเปลี่ยนเรื่องที่ดูเหมือนไม่สำคัญ เช่น เสื้อผ้าหน้าผม, ดนตรี, ภาษาและอักขรวิธี, คำทักทาย ฯลฯ แต่ที่จริงคือการปรับระบบความสัมพันธ์ของผู้คนให้กลายเป็นสมาชิกที่เสมอภาคของ “ชาติ”

ว่าเฉพาะเรื่องสรรพนามบุรุษที่สอง ผู้ที่ช่วยท่านเลือกสรรพนามบุรุษที่สองซึ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานภาพ จะเป็นใคร ผมไม่ทราบ แต่คงเป็นคนมีความรู้ จึงทำให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระยาอนุมานราชธนและ/หรือพระสารประเสริฐ

ใครๆ ก็เข้าใจได้ว่า “ท่าน” เป็นคำที่ใช้แทน “ลื้อ” ในภาษาจีน หรือ you ในภาษาอังกฤษ แต่คำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นครั้งแรก ผมได้พบสำนวนแปลนิยายจากภาษาอังกฤษใช้คำ “ท่าน” แทน you มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาษาไทยโบราณใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำยกย่อง เช่น พณะหัวเจ้าท่าน ซึ่งใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่สามก็ได้ หรือบุรุษที่สองอย่างเป็นทางการก็ได้ ดังนั้นหากทุกคนถูกเรียกเป็น “ท่าน” หมด จึงไม่แสดงการเหยียด แต่ก็ไม่ได้ยกจนเกินไปนัก (เช่น พระราชหัตถเลขาใน ร.4 ตรัสเรียกขุนนางบางคนว่า “ท่าน” แล้วต่อด้วยชื่อตำแหน่งหรือยศ)

หากจะแปลคำว่า “ลื้อ” หรือ you เป็นภาษาไทยแล้ว จึงไม่มีคำใดที่พอเหมาะพอควรดีไปกว่าคำว่าท่าน (ในสมัยนั้นนะครับ)

ทําไมจึงไม่เป็นเธอ? เข้าใจว่าคำนี้มาจากคำว่า “ธะ” ซึ่งใช้เป็นบุรุษที่สามเรียกพระมหากษัตริย์ หากใช้เป็นบุรุษที่สองสากล ก็ดูจะยกเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อแปลงมาเป็น “เธอ” กลับถูกใช้ในหมู่ “ผู้ดี” เป็นบุรุษที่สอง (หรือสามก็ได้) สำหรับพูดกับคนในสถานภาพใกล้กัน แต่ต่ำกว่า “เธอ” จึงดูยกเกินไปหากคิดถึงต้นกำเนิดของคำ และเหยียดเกินไปหากคิดถึงการใช้ภาษาที่มีมาก่อน

ใช้ “คุณ” ไม่ได้ เพราะในสมัยนั้นคำนี้ยังใช้สำหรับเรียกเชื้อพระวงศ์ระดับ ม.ร.ว. หรือใช้นำหน้าตำแหน่งของข้าราชสำนักฝ่ายใน เช่น “คุณท้าว”

อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. (หรือแม้แต่คณะราษฎร) ก็อยู่ในอำนาจได้ไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มี ในการสร้างวัฒนธรรมความ “ทันสมัย” ขึ้นจากประเพณีเดิม “การปฏิวัติ” ทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. ไม่ได้สร้างนักปราชญ์ของตนเอง, สำนักวิชาการของตนเอง, หรือโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมใหม่ไว้แต่อย่างไร กล่าวโดยสรุปคือตั้งอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองที่จอมพล ป. ถือเอาไว้เท่านั้น เมื่อท่านหมดอำนาจ นักปราชญ์ที่เคยให้การสนับสนุน (คงอย่างไม่เต็มใจนัก) ก็พากันกระจัดกระจายกลับไปอยู่กับวัฒนธรรมของรัฐราชสมบัติ ซึ่งเริ่มเฟื่องขึ้นตามลำดับหลังจากนั้น

แม้กระนั้นก็มีมรดกทางวัฒนธรรมของจอมพล ป. ที่เหลือตกทอดสืบมาอีกไม่น้อย เพียงแต่เป็นวัฒนธรรมที่ไม่กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทางสังคม หรือกระทบก็ไม่มากนัก เช่น สถาปัตยกรรมและวัตถุธรรมต่างๆ หรือเร่งความเสื่อมสลายของการแต่งกายด้วยผ้านุ่ง หรือแม้แต่การสวมเสื้อของหญิงชายอย่างทั่วหน้าในทุกวันนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่มาก

สรรพนามบุรุษที่สองของไทยจึงกลับเข้าสู่การจัดช่วงชั้นทางสังคมอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่จะใช้ “สูตรช่วงชั้น” เดิมได้ยากขึ้น เพราะแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมเผยแพร่จากโลกตะวันตกเข้าสู่สังคมไทยมากขึ้น และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เปลี่ยนไป ผู้ชายมีปัญหาน้อย เพราะในที่สุดก็รับเอา “ผม-คุณ” มาใช้กับคนที่เท่าเทียมกันได้ ผู้หญิงมีปัญหากว่าแยะ นอกจากไม่มีสรรพนามบุรุษที่หนึ่งซึ่งคงที่ให้ใช้แล้ว ยังมีเรื่องของ “บทบาทและมโนภาพ” ของผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยที่คอยกำกับการเลือกสรรพนามอีกมากกว่าผู้ชายอย่างยิ่ง

แต่คนไทยก็เก่งมากในเรื่องการแบ่งลำดับช่วงชั้น แม้ไม่อาจทำอย่างเปิดเผยได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว อีกทั้งคนในช่วงชั้น “เบี้ย” (subaltern) ก็อาจไม่ชอบที่จะให้ผู้อื่นมาแสดงสถานะด้อยกว่าของตนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงนำเอาสรรพนามที่ดูเหมือนเท่าเทียมแต่เหยียดอยู่ในทีมาใช้อย่างแนบเนียน ดังคำว่าน้องในร้านอาหารดังที่ผมพูดไปแล้ว

อีกคำหนึ่งที่นักข่าวทีวีชอบใช้มากคือคำว่า “เรา” ใช้เป็นบุรุษที่สองสำหรับพูดกับคนไร้อำนาจและจน เช่น เด็กหรือชาวบ้านในชนบท (แต่ไม่กล้าใช้กับเอ็นจีโอซึ่งเป็นผู้นำชาวบ้านในการประท้วง) หากเป็นคุณหนูที่ชนะเลิศการประกวดแข่งขันเล่นเปียโน ก็ไม่ใช้ “เรา” อีกเหมือนกัน แน่นอนว่าไม่มีนักข่าวคนใดใช้ “เรา” เป็นบุรุษที่สองกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร

“เรา” จึงเป็นอีกคำหนึ่งที่สะท้อนความไร้อำนาจ-ความมีอำนาจ, ความจน-ความมี, ไร้เกียรติ-มีเกียรติในสังคมไทยได้อย่างดี นักข่าวสามารถแปรเปลี่ยนสรรพนามบุรุษที่สองไปได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมาก อีกทั้งผู้ชมอาจไม่สะดุดกับการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมของนักข่าว ค่อยๆ ซึมซับลำดับช่วงชั้นนั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ของตนเอง

ทีวีเป็นผู้ให้การศึกษาใหญ่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน (ไม่ได้สอนแต่นักเรียนนะครับ สอนครูด้วย) จึงนับว่าสมแล้วที่ทีวีสาธารณะทุกช่องเคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. ซึ่งยึดถือหลักการความไม่เท่าเทียมของพลเมืองไทยเป็นนโยบายทางการเมืองของตน

 

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_106274

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท