Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ในงาน Oslo Freedom Forum 2018 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ นอกเหนือจากปาฐกถาที่น่าสนใจอย่างของ Wael Ghonim ผู้นำการปฏิวัติอียิปต์คนสำคัญที่ได้พูดให้ข้อคิดต่อนักเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีปาฐกถาของ Vanessa Berhe เพื่อนของผมอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุเท่ากับผม แต่เธอรณรงค์ในสิ่งที่ดูเล็กๆ แต่ยากยิ่งกว่า นั่นก็คือการทวงคืนอิสรภาพชีวิตของคุณลุงเธอที่ถูกเผด็จการในประเทศเอริเทรียพรากไปกว่า 17 ปีแล้ว เธอเริ่มต้นเล็กๆ จนการรณรงค์ของเธอ จนก่อตั้งองค์กร One Day Seyoum เป็นที่รู้จักไปในระดับโลก บทปาฐกถาของเธอนอกจากจะให้ข้อมูลถึงเผด็จการอันเลวร้ายในประเทศนั้น ยังให้เราเห็นว่าคนเล็กๆ ที่สนใจต่อปัญหาอย่างจริงใจก็อาจจะสร้างแรงกระเพื่อม ใหญ่ได้   ผมและภวัต อัครพิพัฒนา จึงถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยมีข้อความดังต่อไปนี้ - เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

 


วันที่ 21 กันยายน 2001 มีเสียงคนเคาะประตูบ้านลุงของฉันในอัสมารา เมืองหลวงของเอริเทรีย ตอนนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ลุงของฉันยังอยู่บนเตียงนอนกับภรรยาของท่านซึ่งท้องได้เจ็ดเดือนแล้ว กับลูกเล็กๆ วัยสองขวบที่นอนหลับสนิทอยู่ข้างๆ คุณลุงของฉันท่านลุกขึ้นไปเปิดประตู และไม่กี่นาทีต่อมาก็กลับมาบอกภรรยาว่า ตำรวจต้องการเรียกท่านไปพบ ท่านจะกลับมาในช่วงบ่าย เวลาตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบสิบเจ็ดปีแล้ว ลุงของฉันก็ยังคงไม่ได้กลับมาที่บ้าน

ปี 2001 เป็นปีสำคัญของประวัติศาสตร์เอริเทรีย ความสำคัญนั้นมาจากคำสัญญาที่ผู้นำผู้ซึ่งปลดปล่อยประเทศเมื่อสิบปีกว่าก่อนได้ให้ไว้ เมื่อกลุ่มกองโจรชื่อ EPLF เอาชนะสงครามที่ดำเนินมากว่ากว่าสามสิบปีเพื่ออิสรภาพจากเอธิโอเปีย กลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นพรรคการเมืองชื่อ PFDJ หัวหน้ากลุ่ม ไอซัส อเฟเวิรกี้ ได้กลายเป็นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ สงครามนี้แรกเดิมทีได้ก่อขึ้นในฐานะของการสู้เพื่อประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเท่าเทียม แต่การเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผู้นำของเอริเทรียสัญญาว่าการไม่มีประชาธิปไตยเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ผู้นำระบอบใหม่จำเป็นต้องใช้เวลาสักหน่อยในการวางรากฐานประชาธิปไตย และประชาชนก็ให้เวลาแก่พวกเขา


ไอซัส อเฟเวิรกี้

เวลาชั่วคราวถูกกำหนดให้สิ้นสุดลงในปี 2001 สิบปีให้หลังการประกาศอิสรภาพของเรา สงครามระหว่างเขตแดนอันโหดร้ายกับเอธิโอเปียได้สิ้นสุดลงแล้ว การเลือกตั้งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในช่วงท้ายของปีนั้น แต่บรรยากาศแห่งความตรึงเครียดได้แพร่กระจายไปทั่ว ประชาชนต่างก็มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่า เหตุการณ์ในปี 2001 จะเป็นแม่แบบสำหรับชาติที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ ทำให้พรรคต่างๆ ที่มีบทบาททางการเมืองต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้วิสัยทัศน์แห่งเอริเทรียในแบบของพวกเขากลายเป็นจริง

คุณลุงของฉันเป็นคนที่มีวาทศิลป์ ไม่เกรงกลัวอำนาจ และเป็นคนโด่งดังคนหนึ่ง แม้ตอนในระหว่างสงครามเพื่อเอกราช ท่านก็มีปัญหากับผู้นำซะแล้ว ท่านถูกคุมขังอยู่หนึ่งปีขณะที่ทำงานเป็นครูในค่ายกองโจร นี่ก็เพราะการเห็นด้วยกับทัศนะประชาธิปไตย

ในระหว่างสงคราม ท่านเป็นช่างภาพและนักทำสารคดีที่มีฝีมือยอดเยี่ยมและเป็นที่รู้จักนับถือ งานของท่านเป็นที่รู้จักและยกย่องไปทั่วโลก หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ท่านได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เอริทีวี แต่เพราะเขายังคงพูดต่อต้านผู้นำอยู่เนืองๆ เขาถูกย้ายจากตำแหน่งอันทรงอำนาจนี้ไปอยู่ในตำแหน่งที่มีสร้างพิษภัยได้น้อยลงนั่นก็คือ กระทรวงการท่องเที่ยว แต่แล้วในที่สุด เซเย็มก็ลาออก เขามาเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ ทำประเด็นในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวเอริเทรียน

และขณะที่นโยบายของรัฐบาลก็เพิ่มความเป็นเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ การรายงานข่าวของเซเย็มก็เข้มข้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ท่านเข้าร่วมในขบวนการของนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองผู้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปจากผู้นำระดับสูงที่สุดในรัฐบาล พวกเขาเหล่านี้ใช้แค่ปากกาและเสียงของเขาเท่านั้นเป็นอาวุธ

เมื่อนักศึกษาผู้ประท้วงนโยบายใหม่ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขาในเดือนเมษายนปี 2001 ถูกสลายโดยกำลังของตำรวจ กักขังตัว และฆ่าตายในระหว่างการกักกัน  เซเย็ม เขียนว่า “ผู้นำในอนาคตกำลังถูกฆ่าตายโดยผู้นำในวันนี้” ท่านกดดันรัฐบาลให้เปิดการสนทนากับประชาชนเพื่อให้ประเทศได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ในขณะเดียวกัน กลุ่มของนักการเมืองที่รวมกันสิบห้าคนและผู้นำระดับสูงของกองทัพก็เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ไอซัส อเฟเวิรกี จดหมายนี้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเลย พวกเขาเรียกระบอบของประธานาธิบดีว่าผิดกฏหมายและผิดรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้ถูกเตือนว่าอย่ากระทำเช่นนี้อีก แต่พวกเขาก็ยังทำ และทำออกมาดังเสียด้วย เจ้าหน้าที่ข้าราชการเหล่านี้พูดทั้งในระดับท้องถิ่นและในสื่อต่างชาติ และประเด็นนี้ก็ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ


คุณลุงและฉัน

วันที่ 18 สิงหาคม 2001 โลกทั้งใบกำลังจับจ้องไปที่กรุงนิวยอร์กและการโจมตีก่อการร้ายที่เกิดก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลเอริเทรียน ปิดสื่ออิสระทั้งหมดอย่างเงียบๆ ไม่กี่วันหลังจากนั้น นักหนังสือพิมพ์สิบคน รวมถึงคุณลุงของฉันและนักการเมืองอีกสิบเอ็ดคนผู้ซึ่งมีบทบาทกับกลุ่มประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจับตัวไปจากบ้านและจับขังคุก

จนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่มีใครเลยที่ถูกกล่าวหา ถูกลงโทษ หรือได้รับคำสั่งจากทางการถึงเหตุผลของการจับกุมนี้ กระทั่งทุกวันนี้ ข่าวสารที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขานั้นมาจากผู้คุมนักโทษซึ่งหนีออกมาและเล่าว่านักโทษเหล่านี้อยู่ในคุกที่ควบคุมความปลอดภัยเข้มข้นที่สุดกลางทะเลทราย ที่ตอนเช้าร้อนดั่งไฟ และเย็นน้ำแข็งในตอนค่ำ พร้อมกับแขนและขาที่ถูกมัดแน่นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง กระทั่งถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมพวกเขา และยังไม่มีใครในหมู่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกมา

ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เอริเทรียก็ไม่มีการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญ สภา และการเลือกตั้งใดๆ อีกเลย และตั้งตอนตอนนั้นประเทศนี้ไดกลายเป็นประเทศที่มีการเซ็นเซอร์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กลายเป็นประเทศเดียวในแอฟริกาเท่านั้นที่ปราศจากสื่อสารมวลชนอิสระใดๆ เลย และก็มีคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และกระนั้นก็ยังถูกสอดส่องอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล ที่นี่ปราศจากพื้นที่ของประชาชน แม้มหาวิทยาลัยที่มีเพียงแห่งเดียวก็ยังถูกสั่งปิด และไม่มีแม้แต่คนเดียวในประเทศนี้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในที่สาธารณะ สัญลักษณ์ของการต่อต้านใดๆ ที่เกิด ผลลัพธ์จะตามด้วยการข่มขู่ การจำคุก หรือความตาย การคุกคามนี้แผ่ซ่านไปทั่วประเทศ

ตอนที่คุณลุงของฉันได้รับการเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากงานของท่าน ท่านตอบกลับว่า “ถ้าเราไม่ให้เสียงแก่ประชาชนแล้ว ก็จะไม่มีใครให้แก่พวกเขา” คุณลุงท่านพูดถูก การคุมขังคุณลุงและเพื่อนของท่านเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ใหญ่กว่าของประธานาธิบดีเอริเทรียในการควบคุมประชาชนชาวเอริเทรียนอย่างเบ็ดเสร็จ การปิดสื่อสารมวลชนอิสระคือการทำลายประชาธิปไตยโดยรวม นี่คือเหตุว่าทำไมในสัปดาห์นั้นของเดือนกันยายนปี 2001 เป็นที่รู้จักกันในฐานะของสัปดาห์ที่เอริเทรียนได้ถูกปกครองด้วยเผด็จการอย่างเป็นทางการ

การปิดกั้นเสียงของคนที่กล้าจะต่อต้านอาชญากรรรมของพวกเขา การปิดกั้นสถาบันที่สนันสนุนให้เกิดการสนทนาและการถกเถียง และสร้างสภาพแวดล้อมที่การพูดต่อต้านต้องแลกมาด้วยชีวิต ทำให้รัฐบาลเอริเทรียสามารถทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาปรารถนา โดยไม่มีเสียงใดๆ คัดค้าน

ทุกวันนี้ ประชาชนชาวเอริเทรียนกำลังทุกข์ระทมอย่างหาที่สุดไม่ได้

ในประเทศที่มีประชากรห้าล้านคน มีเรือนจำกว่าสามร้อยแห่ง กว่าพันชีวิตที่ถูกพราก โดยปราศจากกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุผลร้อยแปด สภาพความเป็นอยู่และการซ้อมทรมานในคุกเหล่านี้รุนแรงเกินกว่าจะจินตนาการได้ ในปี 2015 คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติกล่าวหาว่ารัฐบาลเอริเทรียนทำอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติในคุกตาราง ค่ายทหาร และพื้นที่อื่นๆ รอบประเทศ

ที่นี่ไม่มีเสรีภาพทางทางศาสนา การรวมตัว และการเคลื่อนไหว คุณจะไม่ได้รับการอนุญาตออกนอกประเทศถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งนั่นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องการให้คุณอยู่ในประเทศ

และเหยื่อที่ถูกทำร้ายมากที่สุดก็คือเหล่าเยาวชน  อเฟเวิรกี้ กำลังปล้นเอาอนาคตของเยาวชนไปจากพวกเขา

คนหนุ่มสาวถูกบังคับให้ในปีสุดท้ายของมัธยมปลายคือการเกณฑ์ทหาร และหลังจากนี้ พวกเขาต้องเข้าโครงการรับใช้ชาติโดยบังคับ ซึ่งทำงานเพื่อรัฐบาลในภาคส่วนต่างๆ อย่างไม่ได้รับค่าตอบแทน

ปัญหาไม่ใช่ว่าเอริเทรียนั้นมีโครงการรับใช้ชาติแบบเกณฑ์ทหารหรือการรับใช้ชาติแบบอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ก็มี แต่ปัญหาที่เรามีก็คือการกระทำอย่างเหี้ยมโหดต่อคนงานที่ทำงาน และข้อเท็จจริงอื่นๆ อีกมากมาย รายงานของสหประชาชาติในปี 2015 โยงโครงการเหล่านี้ให้อยู่ประเภทเดียวกับการค้าทาส มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคที่มีไม่กี่แห่ง และกระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงเป็นผู้ตัดสินด้วยว่าวิชาใดที่คุณจะต้องศึกษา เมื่อพวกเขาเรียนจบแล้ว พวกเขาต้องเข้าร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ ในโครงการรับใช้ชาติที่ไม่มีการกำหนดแน่ชัด ไม่ใช่แค่คนที่ไปเกณฑ์ทหารจะถูกกระทำอย่างย่ำแย่และถูกละเมิดสิทธิต่างๆ แต่ศักยภาพของพวกเขาซึ่งสามารถนำมาพัฒนาและใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและโลกก็ถูกทำให้เสียเปล่าอย่างที่สุด

คนหนุ่มสาวถูกบังคับให้เลือกระหว่างชีวิตในประเทศเอริเทรียซึ่งไร้อนาคต หรือหนีไปในที่พวกเขาอาจจะต้องเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ไม่คาดฝันซึ่งย่ำยีหรือกระทั่งฆ่าพวกเขา คนมากกว่าห้าพันคนหนีในทุกๆ เดือน - เลือกที่จะตายจากการหนีมากกว่าการอยู่อย่างเป็นทาส

ผู้นำทุกวันนี้กำลังฆ่าผู้นำในอนาคต - เหมือนที่คุณลุงของฉันได้เตือนไว้ตั้งแต่ปี 2001

ฉันเกิดและเติบโตในประเทศสวีเดน ห่างไกลจากคุณลุงของฉันและเอริเทรียมาก แต่แม้ระยะทางจะห่างระหว่างเรา แม่ของฉันก็มักจะบอกเล่าเรื่องราวของพี่ชายของเธอเพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน เมื่อฉันเข้าเรียนมัธยมปลาย ฉันตัดสินใจแล้วว่านั่นคือช่วงเวลาที่ฉันต้องทำอะไรสักอย่างในนามของคุณลุงของฉัน

ฉันปวดร้าวใจจากความไม่ยินดียินร้ายที่มีต่อกรณีของคุณลุงของฉัน และต่อสถาณการณ์ต่างๆ ในเอริเทรีย และฉันก็พบว่าตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้นด้วย ตอนที่ฉันอายุ 16 ปี อายุมากพอที่จะแบกรับความรับผิดชอบ และในช่วงสามปีมานี้ ฉันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งทำงานอย่างแข็งขัน นั่นแปลว่าฉันเองก็มีทักษะการรณรงค์อยู่บ้าง ฉันยังอยู่ในประเทศที่เครื่องมือคือการประท้วงและการพูดนั้นสามารถทำได้อย่างอิสระเสรี ฉันไม่มีข้ออ้างที่จะนิ่งเฉยอีกต่อไป 

ในโอกาสครบรอบปีที่คุณลุงของฉันถูกคุมขังในปี 2013 ฉันเปิดตัวองค์กร สักวันหนึ่งเซเย็ม (One Day Seyoum) ขึ้น โดยมีพันธกิจที่จะให้ชื่อของคุณลุงฉันมีความสำคัญ เราเริ่มทำการรณรงค์ในอินเทอร์เน็ตใช้วิดีโอ และการร่วมลงชื่อ และสร้างกลุ่มรณรงค์ในโรงเรียนมัธยมสามแห่งในกรุงสตอกโฮลม์ การจัดตั้งของเราถูกนำเสนอในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน และไม่นานข่าวก็เริ่มกระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่ตอนนั้นเรายังคงรณรงค์อย่างแข็งขันไม่หยุดนิ่งเพื่อคุณลุงของฉันและเพื่อนๆ ของท่าน ซึ่งถูกคุมขังพร้อมกับท่าน เราใช้การรณรงค์ทางกฏหมาย ทางการเมือง ทางสากล วิดีโอเป็นตอนๆ และทูตประจำโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรอบโลกเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเอริเทรีย

วันหนึ่ง เซเย็ม องค์กรของเราขับเคลื่อนจากความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งของคุณลุงของฉันต่อประชาธิปไตย การตรวจสอบ และเสรีภาพในการแสดงออก เซเย็มตระหนักถึงอำนาจของการสื่อสารและเราก็ใช้กลยุทธ์ของคุณลุงเพื่อช่วยให้ท่านเป็นอิสระ เราทำทุกอย่างภายใต้อำนาจของเราเพื่อมิให้คุณลุงของฉันและเพื่อนของท่านถูกลืมเลือน ขณะเดียวกัน เราก็เผยแพร่เรื่องราวของประชาชนเอริเทรียนที่พวกเขาต้องการจะบอกเล่าหากพวกเขามีอิสระ เรื่องราวซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างยาวนานในการปิดซ่อนกำบังไว้

ฉันส่งเสียงของฉันนั้นก็เพราะไม่มีราคาอะไรที่สูงเกินไป ประเทศของฉันกำลังถูกจับตัวเป็นตัวประกัน เรากำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะเห็นคนรุ่นที่สูญเปล่า ทว่าโลกทั้งใบก็ดูจะเงียบเชียบ ฉันส่งเสียงของฉันก็เพราะว่าความเงียบนั้นน่ะเป็นสิ่งค้ำจุนอำนาจของระบบ ฉันส่งเสียงของฉันเพราะมันเป็นภารกิจของฉัน ฉันเป็นชาวเอริเทรียนที่โชคดีเพียงพอได้เกิดที่นอกประเทศ ความโชคดีนั้นไม่ได้ลบเลือนความรับผิดชอบ แต่กลับเพิ่มมันมากขึ้น และที่ฉันส่งเสียงของฉันก็เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คุณลุงสอนฉันมา ถ้าฉันไม่ทำ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครหละจะทำ

พวกเราจำนวนมากโชคดี เรามีเครื่องมือในการสื่อสารและประท้วง เราไม่มีข้ออ้างที่จะนิ่งเงียบได้ เราต้องใช้ความโชคดีนั้น อำนาจนั้น ในการแพร่กระจายเรื่องราวเหล่านี้ไปทั่วโลกและกดดันต่อรัฐบาลเอริเทรียนอย่างไม่ลดละ ไม่ว่ามันจะใช้เวลายาวนานแค่ไหนกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ความจริงที่ว่าเรายังต้องต่อสู้อีกยาวนานไม่ควรทำให้เราเสียกำลังใจ ไม่มีเผด็จการใดหรอกสืบเนื่องไปตลอดกาล แต่พวกเขาจะสืบเนื่องต่อไปอีกยาวนานถ้าหากพวกเขาไม่โดนท้าทาย

ฉันจะอุทิศชีวิตที่เหลือทั้งหมดถ้าฉันจำเป็นต้องทำ เพื่อให้เห็นวันหนึ่งที่ไม่ใช่แค่คุณลุงฉันที่จะได้เป็นอิสระกลับบ้านของท่านได้ แต่รวมถึงประเทศเอริเทรียที่ท่านฝันใฝ่ถึง - ที่ที่ชาวเอริเทรียจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง - จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา ฉันขอเรียกร้องต่อพวกเราทุกๆ คนให้เข้าร่วมกับฉันในทุกๆ ทางเท่าที่พวกท่านสามารถทำได้



หมายเหตุ: พูดที่งาน Oslo Freedom Forum 2018 จัดโดย Human Rights Foundation

ผู้อ่านสามารถฟังต้นฉบับได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Qf37EaGy9yo นาทีที่ 48.34 ถึง 59.22

‘One Day Seyoum’ © Vanessa Berhe 2018 Translated by Netiwit Chotiphatphaisal and Pawat Akarapipattana


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net