“เรารักนายหลวง”: การสร้างอัตลักษณ์ ตัวตน และอำนาจอธิปไตยในสามจังหวัดชายแดนใต้

จากคำว่า “ในหลวง” ที่สะกดไม่ถูกสู่หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของอนุสรณ์ อุณโณ ที่เจ้าตัวลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไปศึกษาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ชี้อำนาจอธิปไตยแข็งตัวคือต้นตอความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดแบบรวมศูนย์ ให้คนในพื้นที่กำหนดชะตากรรมตัวเอง เผยการเมืองระดับชาติมีผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ 

นับตั้งแต่ความขัดแย้งระลอกในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ปะทุขึ้น มีงานวิชาการจำนวนมากที่พยายามจะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวจนอาจจะกล่าวได้ว่าสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นแหล่งอุตสหกรรมงานวิชาการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แต่งานวิชาการเหล่านั้นก็มักจะวิเคราะห์ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ ความมั่นคง หรือนโยบายสาธาณะ น้อยมากที่จะอธิบายผ่านมุมมองมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ศึกษาจะต้องลงไปคลุกคลีอยู่กับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อค้นหาว่าคนธรรมดาสามัญใช้ชีวิตอย่างไรในสภาวะที่ความตายสามารถมาเคาะประตูบ้านพวกเขาได้ตลอดเวลา

เพื่ออุดช่องว่างทางวิชาการดังกล่าว อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงลงไปใช้ชีวิตในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเวลาหนึ่งปีที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จนกลายมาหนังสือที่ชื่อว่า “We Love Mr.King: Malay Muslims of Southern Thailand in the Wake of Unrest” ซึ่งอาจจะพอแปลไทยคร่าวได้ว่า “เรารักนายหลวง: มุสลิมมาเลย์ชายแดนใต้ในกระแสความไม่สงบระลอกใหม่” โดยอนุสรณ์ได้พูดคุุยกับประชาไทถึงความเป็นมาเป็นไปของหนังสือชื่อชวนอ่านเล่มนี้ รวมถึงข้อค้นพบจากในพื้นที่ที่สะท้อนภาพปัญหาการเมืองระดับชาติได้เป็นอย่างดี

 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ (ภาพจากเฟสบุ๊ค)

หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นอย่างไร?

ในแวดวงการศึกษาเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกล่าสุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังสือเล่มนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่สามข้อด้วยกัน ข้อที่หนึ่งก็คือถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยเกิดขึ้นจำนวนมากจนกระทั่งเกิดการประชดประชันขึ้นว่าเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอุตสาหกรรมงานวิจัย หรือเป็นมหาสมุทรแห่งงานวิจัย แต่น้อยมากที่จะมีงานศึกษาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา หรือ ethnography ซึ่งอันนี้ข้าใจได้เพราะว่าเหตุการณ์ความไม่สงบนี้มันเป็นเรื่องของความเสี่ยงในชีวิต งานชาติพันธุ์วรรณามันแปลว่าคุณจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อย่างน้อยที่สุดโดยมาตรฐานระดับปริญญาเอกคือหนึ่งปี ซึ่งการลงไปในพื้นที่แบบนี้อย่าว่าแต่คนนอกเลย คนในกันเองก็ยังไม่ไว้ใจกันเพราะคุณก็ไม่รู้ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน ฉะนั้นงานทางชาติพันธุ์วรรณามันจึงหายไปโดยปริยาย หนังสือของผมเล่มนี้จึงเป็นงานชาติพันธุ์วรรณาที่ว่าด้วยชีวิตของผู้คนสามัญ ที่เป็นมลายูมุสลิมในสถานกาณ์ความไม่สงบ

อันที่สองคือ งานชิ้นนี้ลงไปดูว่าสถานการณ์ความไม่สงมันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ยังไง พวกเขาเผชิญมันแบบไหน เขาเข้าใจและอธิบายมันอย่างไรแลพยายามจะต่อสู้ดิ้นรน ประคับประคองชีวิตเขาให้อยู่รอดในสถานการณ์เหล่านี้ได้ยังไง ประการที่สามก็คือที่ผ่านมามันแทบจะไม่มีงานชิ้นไหนที่พยายามจะสร้างทฤษฎี (theorize) มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น งานส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่กับคำถามที่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมันเป็นเรื่องของอะไร ใครอยู่เบื้องหลัง และต้องการอะไร เพราะความไม่สงบระลอกใหม่มีความแตกต่างกับระลอกก่อนหน้า คือมีลักษณะนิรนาม ในแง่ที่ว่ามันเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง และต้องการอะไร คำถามพวกนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในแวดวงวิชาการหลังเหตุการณ์มันปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เพราะมันไม่มีใครอ้างว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบและต้องการอะไร มันเป็นความรุนแรงที่นิรนามมากๆ และงานอีกกลุ่มก็จะเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ คืออธิบายสาเหตุของความขัดแย้งว่ามาจากประวัติศาสตร์ซึ่งมีการขับเคี่ยวกันมานานระหว่างสยามกับหัวเมืองมลายู งานทางรัฐศาสตร์ก็จะดูในเรื่องของรูปแบบการปกครอง แต่มันไม่มีงานที่พยายามจะสร้างทฤษฎีขึ้นมา ประวัติศาสตร์เขาก็จะเล่นข้อเท็จจริงเป็นหลัก การเมืองการปกครองก็จะไปดูกลไกของรัฐหรืออะไรก็ว่ากันไป แต่งานของผมมันจะแยกตัวออกมาในแง่ที่ว่ามัน theorize สิ่งที่เกิดขึ้น

ผมมองเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่เป็นผลพวงประการหนึ่งของการบรรจบกันระหว่างสิ่งที่ผมเรียกว่าอำนาจเหนือชีวิต หรืออำนาจแบบ soveriegn power ซึ่งมีหลากหลายชนิดและพยายามที่จะกดลงไป จัดวางตัวเองลงไป หรือพยายามกำกับควบคุมผู้คนในพื้นที่ เหตุการณ์ความไม่สงบรอบนี้มันคือการปะทะกันของบรรดาอำนาจเหนือชีวิตหลายๆ ประเภท ที่พยายามจะแทรกตัวเองลงไปในชีวิตของผู้คนตรงนั้น ในขณะเดียวกันผมก็ลงไปดูว่าผู้คนในพื้นที่เองก็พยายามที่จะเจรจาต่อรองกับอำนาจเหนือชีวิตชนิดต่างๆ เหล่านี้อย่างไร พยายามจะดูว่าพวกเขาพยายามที่จะอิงอาศัย อำนาจเหนือชีวิตเหล่านี้ในการจะได้มาซึ่งตัวตน หรือที่ในทางมานุษยวิทยาเรียกว่าศักยภาพกระทำการหรือ agency ในนามของผู้คนเหล่านี้อย่างไร นี่ก็เลยเป็นที่มาของประโยคที่ว่าเรารักนายหลวง มันเป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่คนในพื้นที่พยายามที่จะสร้างตัวตนของเขาผ่านอำนาจเหนือหัวคือองค์อธิปัตย์ซึ่งก็คือกษัตริย์ไทย เพื่อที่ตัวเองจะได้ใช้หรือได้มาซึ่ง agency และใช้ไปในพื้นที่ 

“เรารักนายหลวง” คืออะไร?

ถามว่าประโยค “เรารักนายหลวง” มันมาได้อย่างไร มันเป็นประโยคที่คนในพื้นที่ที่ผมศึกษาเขาสลักลงไปในพานพุ่มที่ทำเพื่อที่จะเข้าร่วมพิธีขบวนพาเหรดในพิธีเปิดงานที่เราเรียกว่าตาดิกาสัมพันธ์ คือเป็นงานกีฬาสีระหว่างโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาระดับประถม ที่อยู่ในความดูแลของมัสยิดแต่ละแห่ง เด็กที่เรียนอยู่ในตาดิกาก็จะเข้าสู่โรงเรียนปอเนาะในระดับมัธยม เดิมทีตาดีกาสัมพันธ์มันจะจัดโดย ตาดีกาของแต่ละตำบล เป็นเจ้าภาพและแข่งกันเองระดับตำบล แต่ตอนที่ผมไปศึกษา ในปีนั้นเป็นปีแรกที่ทางอำเภอกับปลัดอำเภอมาแจ้งว่าต่อไปนี้ ให้งานงานตาดีกาสัมพันธ์ในอำเภอรามันไม่ต้องมีการจัดระดับตำบลแล้ว แต่ให้มาจัดร่วมกันระดับอำเภอโดยอ้างว่าต้องการลดภาระค่าใข้จ่ายในกับตาดีกาแต่ละตำบล คนในตาดีการู้ดีว่าสาเหตุ จริงๆ ไม่ใช่ต้องการลดค่าใช้จ่าย เพราะในความเป็นจริงทางอำเภอก็ไม่เคยช่วยค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่เหตุผลจริงๆ คือต้องการจะมาสอดส่งตรวจตราทุกๆ กิจกรรมของตาดีกา คล้ายๆ กับที่เขาเข้าไปสอดส่องปอเนาะ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดอิสลามสุดขั้วที่เขาเชื่อว่าเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบมันปะทุขึ้นมา เขาจึงต้องการสอดส่องทุกอย่าง

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะรู้ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร ถึงแม้จะไม่ค่อยสมัครใจที่จะไปเข้าร่วมแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ไม่งั้นก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าต่อต้านรัฐ หรือฝักใฝ่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว จึงต้องจำใจเข้าร่วม แต่จะเข้าร่วมยังไงเพื่อให้ได้รับการเคารพองค์อาจภาคภูมิ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพินอบพิเทาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ตัวเองไม่ชอบหน้า ก็เลยคิดได้ว่าไปในฐานะเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี ก็จึงกลายเป็นเรารักนายหลวง เพราะประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าคุณปวารณาตัวเองเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี คุณไม่ได้ไปที่นั่นในฐานะพลเมืองของรัฐไทย แต่ในฐานะพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เมื่อเข้าไปแบบนี้คุณจึงไม่ต้องพินอบพิเทาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ผมจึงชี้ว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีการที่คนในพื้นที่พยายามจะสร้างและแสดงออกซึ่งศักยภาพกระทำการผ่านการสร้างตัวตน ผ่านตัวของกษัตริย์ไทยในฐานะที่เป็นองค์อธิปัตย์ 

แต่เรื่องมันซับซ่อนขึ้นไปกว่านั้น เพราะว่าองค์อธิปัตย์ในความหมายนี้มันไม่ง่ายเสียทีเดียว คำว่านายหลวงมันเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ว่า ผมอยู่ในศาลาหน้าบ้านและเด็กที่จะไปร่วมงานก็จะเอาพานพุ่มที่มาวางบนโต๊ะ ผมก็เห็นว่าเขียนผิด เลยถามว่าทำไมถึงใช้คำว่านายหลวง เขาก็งง ทุกคนคิดว่าสะกดถูก ทุกคนก็ประหลาดใจ ปนตลกว่าทำไมตัวเองถึงไม่รู้เรื่องอะไร หากมองโดยผิวเผิน การสะกดผิดจากในหลวงเป็นนายหลวงมันอาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการศึกษาไทยที่ไม่สามารถสอนหนังสือให้คนในพื้นที่สะกดในหลวงอย่างถูกต้องได้ หรืออาจจะเป็นผลพวงอันไม่ตั้งใจของการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ แต่ผมตีความมันอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่านี่เป็นความพยายามของคนในพื้นที่ที่จะสร้างตัวตนของเขาผ่านกษัตริย์ และใช้ agency ผ่านกษัตริย์ โดยที่เขาไม่กระทำผิดข้อบังคับทางศาสนา 

ในประโยคเรารักนายหลวง คำว่า “รัก” มันแสดงออกซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนม ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ใช่การแสดงความเคารพสักการะต่อสิ่งที่เหนือกว่า ซึ่งสำหรับมุสลิมแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่คุณจะเคารพสักการะได้ยกเว้นแต่อัลเลาะห์ ส่วนคำว่า “นายหลวง” มันก็คือ Mister มันก็คือคนชื่อหลวง หรือมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่กษัตริย์แต่อย่างใด เรารักนายหลวงจึงเป็นการแสดงออกซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนม ระหว่างมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ไม่ใช่การแสดงออกถึงความเคารพสักการะแบบสาวกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำว่านายหลวงเป็นการพรากเอาสภาวะกึ่งเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ออกไปเพื่อจะทำให้การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นไปได้ เพราะอะไร เพราะกษัตริย์ไทย แม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่เป็นต้นมาจะมีการเอาแนวคิดธรรมราชาเข้ามาเนื่องจากอิทธิพลจากตะวันตกรวมถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ชนชั้นนำไทยทำก็คือพรากเอาความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความเป็นสมมติเทพออกจากสถาบันกษัตริย์ตามคติเทวราชา แล้วรับเอาแนวคิดธรรมราชาไปใช้ รัชกาลที่เก้าก็ขึ้นครองราชย์ในฐานะธรรมราชา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่จอมพลสฤษฎิ์ขึ้นมามีอำนาจเป็นต้นมา มีการฟื้นฟูประเพณีหลายอย่างที่มีอิทธิพลจากพราหมน์ฮินดูขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 2530 ที่มีการเร่งสร้างสภาวะความเป็นกึ่งเทพของกษัตริย์ขึ้นมา ก็ทำให้กษัตริย์ไทยในแง่หนึ่งมีลักษณะประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในทางสังคมศาสตร์ เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า remystification of the monarchy คือการทำให้สถาบันกลับไปเป็นสิ่งเร้นลับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 

ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ ในความเห็นหรือความเชื่อของคนไทยจำนวนมากในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงเป็นคล้ายกึ่งเทพ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ความเป็นกึ่งเทพตรงนี้มันจึงทำให้มุสลิมไม่สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนกับคนไทยทั่วไป สุดท้ายผมไปถามคนที่ทำพานพุ่มว่าคำว่า “นายหลวง” เขาหมายถึงอะไร เขาก็ตอบว่า ในหลวงคือคนธรรมดาสามัญเหมือนกับพวกเขา มันก็เลยสามารถทำให้เขาสถาปนาความสัมพันธ์ตรงนี้ขึ้นได้โดยไม่ละเมิดหลักการศาสนา ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เขาอาจจะไม่ได้มีเจตนาจะพรากสถานะความเป็นเทพของกษัตริย์ผ่านคำคำนี้ เพราะสำหรับเขาเขาคิดว่ามันสะกดถูก แต่นายหลวงสำหรับเขาคือมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มุสลิมก็จะไม่มีปัญหากับการรักนายหลวง เพราะเป็นการแสดงความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง นี่จึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อหนังสือ 

 

 

ตัวอย่างปกหนังสือ We Love Mr King (ภาพจาก เฟสบุ๊ค Anusorn Unno)

ข้อค้นพบใหม่ในพื้นที่มีอะไรบ้าง?

สิ่งที่น่าสนใจคือหนึ่งคือในเชิงของวิวาทะกับประวัติศาสตร์ เรามักจะมองประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่มองไม่เห็นความสลับซับซ้อนข้างในนั้น ไม่ว่าจะเป็น การปะทะกันระหว่างชาตินิยมไทยหรือชาตินิยมมลายู เวลาฝ่ายขบวนการจะชูประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มักจะบอกว่าเราเคยเป็นอาณาจักรปัตตานีที่ยิ่งใหญ่ แต่เอาเข้าจริง งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่ามีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนกว่านั้น เพราะในหมู่บ้านที่ผมไปศึกษามีตำนานการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านว่าถูกตั้งขึ้นมาโดยญาติของเจ้าเมืองรามัน ซึ่งถูกมอบหมายให้มาฝึกช้างศึกม้าศึกในสงครามกับอาณาจักรปัตตานี บวกกับมีเรื่องเล่าต่อมาว่าคนในหมู่บ้านเป็นลูกหลานหรือได้รับการรับเลี้ยงดูจากคนในรั้วในวังรามัน ฉะนั้นปัตตานีในความนึกคิดของคนในหมู่บ้านจึงเป็นอริกับพวกเขา ฉะนั้นเวลากลุ่มเคลื่อนไหวพยายามจะชูประวัติศาสตร์ปัตตานีอันยิ่งใหญ่มันจึงไม่มัดใจคนในหมู่บ้านนี้ สิ่งที่มันเวิร์คมากกว่าในการชักจูงให้คนเข้าร่วมกับขบวนการจึงเป็นเรื่องของความอยุติธรรมที่คนในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่มากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ประสบพบเจอเหมือนๆ กัน

อันที่สองก็คือ ในแง่หนึ่ง เราพบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่มันทำให้อำนาจเหนือความเป็นความตายของคนในพื้นที่ มันขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมันก็มีหลากชนิด มันไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่รัฐนอกรีตที่จะพรากเอาชีวิตพวกเขา มันมีทั้งฝ่ายกระบวนการเคลื่อนไหว คนที่อยู่ในขบวนการผิดกฎหมาย หรือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งคนเหล่านี้สามารถที่จะใช้ความรุนแรง หรือพรากเอาชีวิตคนได้โดยที่ไม่ต้องรับผิด ฉะนั้นมันไม่ได้มีเฉพาะคนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับฝ่ายเคลื่อนไหวเท่านั้นที่ชาวบ้านจะต้องต่อรองด้วย หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านเขาอยู่ในสภาวการณ์แบบนี้ได้อย่างไร และการที่เหตุการณ์ความไม่สงบมันทวีความรุนแรงขึ้น มันทำให้อำนาจเหนือความเป็นความตายในชีวิตประจำวันมันกระจายตัวอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขา เขาก็เจรจาต่อรองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเรารักนายหลวงก็ชี้ให้เห้นถึงความพยายามในการเจรจาดังกล่าว

อีกสิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ ถึงแม้ว่าการประดับประโยคเรารักนายหลวงลงบนพานพุ่มจะเป็นการจัดวางให้กษัตริย์ไทยให้อยู่ในสภาวะยกเว้นจากความเป็นกึ่งเทพ แต่กระบวนการสร้างตัวตนหรือแสดงออกซึ่งศักยภาพกระทำการผ่านองค์อธิปัตย์ มันมีความขัดแย้งกันภายในตัวเอง เพราะในฟากหนึ่งเราสามารถที่จะสร้างตัวตนของเราได้ผ่านกษัตริย์ด้วยการพรากสถานะความเป็นกึ่งเทพของกษัตริย์ไป แต่เวลาคุณจะใช้ศักยภาพกระทำการผ่านกษัตริย์ คุณก็ต้องกลับไปหาความเป็นกึ่งเทพขอกษัตริย์อีกอยู่ดี เพราะถ้ากษัตริย์เป็นคนธรรมดา คุณก็ไม่สามารถใช้ agency ตรงนี้ได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงมีกระบวนการที่ขัดกันเองภายใน คือพรากสถานะกึ่งเทพออกมา แต่พอจะใช้ก็ต้องคืนสถานะกึ่งเทพนั้นกลับไปอีกอยู่ดี โดยปกติแล้วถ้าสิ่งที่คนในพื้นที่เรียกร้องเป็นเรื่องของความเสมอภาค และความเท่าเทียม แต่สถานะของกษัยรติ์มันเป็นการจัดวางลำดับอำนาจเชิงศีลธรมที่มันเป็นลำดับชั้น ซึ่งมันไปด้วยกันไม่ได้กับความเสมอภาค หรือเท่าเทียม ฉะนั้นสิ่งที่ผมเสนอไปในหนังสือก็คือ กษัริย์ไทยจะต้องไม่ใช่ “ศูนย์รวมจิตใจ” (embodiment) ของรัฐไทยในสภาวะยกเว้น หากจะต้องเป็นรัฐไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างยืดหยุ่นและแยกย่อย คนมาเลย์มุสลิมจึงจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ และเหตุการณ์ความไม่สงบมันถึงจะคลี่คลายได้

ประการที่สามก็คือ บทสรุปของหนังสือของผม ผมตั้งชื่อว่า soveriegnty in crisis คืออำนาจอธิปไตยในสภาวะวิกฤติ ผมสรุปความคิดในหนังสือทั้งหมดว่าเป็นปัญหาของอำนาจอธิปไตยที่มันจัดการไม่ได้ ตั้งแต่สมัยอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับหัวเมืองมลายูมันเป็นระบบรัฐบรรณาการ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอธิปไตยแบบเด็ดขาด และไม่มีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน จึงเกิดการปะทะกัน เกิดสงครามรบพุ่งกันเรื่อยมา จนกระทั่งสยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่และผนวกเอาหัวเมืองมลายูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมยใหม่ ปัญหาอำนาจอธิปไตยที่คลุมเครือจบไป แต่ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา ปัญหาคือมันทำให้ ตัวตน หรือ subjectivity ของคนในพื้นที่มีปัญหา เนื่องจากอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นตัวตั้ง มันไปผูกอยู่กับชาติพันธุ์ไทยและศาสนาพุทธ ขณะที่คนในพื้นที่เป็นคนมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม มันจึงเกิดวิกฤตของอำนาจอธิปไตย ตัวตนของคนในพื้นที่จึงขัดแย้งกับตัวตนของประชาชนที่รัฐไทยอยากให้เป็น และปัญหานี้มันก็ยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น เพราะรัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์หนักขึ้นเรื่อยๆ เอาความมั่นคงของรัฐไปตัวตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนจะมีการรัฐประหาร มีการพยายามจะเสนอรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ หรือการรูปแบบการปกครองตนเอง มีข้อเสนอเต็มไปหมด เช่นปัตตานีมหานคร จังหวัดจัดการตนเอง หรืออะไรก็ว่ากันไป ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการอำนาจอธิปไตยที่ยืดหยุ่น และแยกย่อย แต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมาประตูนี้ถูกปิดตาย ทหารนำประเทศ ความมั่นคงเป็นหลัก ประชาชนไม่มีความหมายอะไร 

ฉะนั้นยิ่งตอนนี้ ตัวแทนอำนาจอธิปไตยเพิ่มขึ้นมาอีกคนคือประยุทธ์ ที่คุณ มีมาตรา 44 ที่สามารถประกาศสภาวะยกเว้นได้ตลอดเวลา มันก็ยิ่งหนักข้าไปอีก ทั้งสองเรื่องมันเป็นเรื่องเดียวกัน คือปัญหาที่ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของใคร ในระดับประเทศเราตอบไม่ได้แต่ไม่ใช่ของปวงชนแน่ๆ ขณะที่ในพื้นที่เอง อำนาจอธิปไตยที่เขาอยากจะบ่งชี้ตัวเองผ่าน มันก็ดันไปผูกกับ ศาสนาพุทธและชาติพันธุ์ไทย และมีแนวโน้มที่จะแคบลงเรื่อยๆ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถจะแก้ได้เลย ตราบเท่าที่อำนาจอธิปไตยของประเทศ นี้ยังไม่ถูกใช้ในรูปแบบประชาธิปไตย 

ทำไมปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในภาคใต้ถึงแรงกว่าภาคอื่นๆ?

อย่างน้อยที่สุด ภูมิภาคอื่นๆ มันยังแชร์กันในเรื่องของศาสนา คืออย่างน้อยก็ยังเป็นพุทธเหมือนกัน แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นจุดปะทะที่มีนัยสำคัญยิ่งระหว่างโลกสองโลก โลกที่เป็น mainland Southeast Asia มันถูกครอบครองโดยพุทธ ในขณะที่โลกในแถบคาบสมุทรมันถูกครอบครองโดยอิสลาม และสามจังหวัดมันคือข้อต่อระหว่างสองโลกนี้ มันจึงเป็นจุดปะทะอันยิ่งใหญ่มาก ในบริเวณอื่นๆ มันอาจจะยังมีความคุกรุ่นอยู่บ้าง แต่มันก็จัดการได้ระดับหนึ่ง ในภาคเหนือ หรือล้านนา อาจจะมีความต่างในในทางชาติพันธุ์ แต่อย่างน้อยที่สุดศาสนาพุทธก็เข้าไปครอบงำความเชื่อท้องถิ่นได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกันในทางอีสาน พุทธก็เข้าไปครอบงำได้ แต่สามจังหวัดมันไม่ได้ เพราะเขาเป็นอิสลาม อีกข้อก็คือ มลายูเองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แยกออกมาจากจากภูมิภาคอื่นๆ ในแง่ของภาษา ภาคกลาง เหนือและอีสาน ก็จะคล้ายคลึงกันระดับหนึ่ง ตัวเขียนก็ยังคล้ายๆ กัน อย่างคนลาวนี่คือแทบจะพูดภาษาเดียวกันกับเราเลย มลายูมันคนละเรื่อง คนละภาษา เพราะฉะนั้นมันไปด้วยกันไม่ได้เลยทั้งในแง่ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ มันจึงทำให้การสร้างตัวตนของรัฐไทยในภาคอื่นๆ พอจะทำได้ แต่สามจังหวัดทำไม่ได้เลย

รัฐไทยเวลามันเผชิญกับโจทย์ทางด้านความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาแทนที่มันจะปรับตัวเอง ให้มีความยืดหยุ่น และสามารถจะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง มันกลับไปสร้างสภาวะยกเว้นขึ้นมา และเรียกมันว่าราชอาณาจักรไทย โดยมีกษัตริย์เป็นศูนย์รวมของของตัวนั้น และให้ราชอาณาจักรไทยเป็นเครื่องดูแลความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดว่ากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมพก คือจะต้องดูแลคนทุกศาสนา และชาติพันธุ์ แต่รัฐไทยมันไปบ่งชี้ตัวเองเข้ากับศาสนาพุทธและชาติพันธุ์ไทย มันก็เลยไม่มีที่ว่างให้มลายูมุสลิมเข้าไป ปัญหาคือวิธีการเช่นนี้มันไม่จีรัง ลักษณะที่มันเป็นสภาวะยกเว้นเช่นนี้เกิดจากการใช้อำนาจที่มันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมันไม่ตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้คนได้ในระยะยาว ฉะนั้นแทนที่คุณจะอาศัยกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของรัฐไทยในสภาวะยกเว้นในการเผชิญกับโจทย์เรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และศาสนา เราต้องการรัฐที่มีความยืดหยุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อำนาจอธิปไตย ที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ ไม่เฉพาะในเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา แต่รวมถึงจินตนาการทางการเมืองประเภทอื่นๆด้วย ไทยต้องเลิกเป็นรัฐรวมศูนย์เหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำกัน

ถามว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้มีกี่ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ คำตอบคือมีแค่สองประเทศคือไทยกับกัมพูชา และทั้งสองประเทศนี้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษแบบเดียวกันคือ the Kingdom of Cambodia กับ the Kingdom of Thailand กัมพูชาไม่เจอปัญหาเพราะชาติพันธุ์เขาค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน จึงไม่เจอโจทย์เรื่องชาติพันธุ์และศานา แต่ของเราเรามีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา และหลายประเทศในโลกนี้เวลาเขาเจอปัญหาดังกล่าว เขาจะใช้รูปแบบรัฐในลักษณะอื่น ที่มันยืดหยุ่นและแยกย่อยมากขึ้น กลายเป็นระบอบสหพันธรัฐ สาธาณรัฐ เพราะมันประจักษ์กันแล้วว่าไอรูปแบบของรัฐเดี่ยวมันไม่มีความสามารถมากพอที่จะรองรับ ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในชาติได้ มันทำได้ระดับหนึ่งแต่ถึงที่สุดแล้วมันก็จำเป็นจะต้องปรับตัว 

รัฐไทยสอดส่องมากขึ้นในรัฐบาลทหาร?

จริงๆ แล้วการสอดส่องมันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐไทยพยายามตลอดเวลาที่จะเข้าไปแทรกแซง ซึ่งมันสร้างความไม่พึงพอใจให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก ยิ่งในรัฐบาลนี้พื้นที่ทางการเมืองมันปิดตาย เขามีความไม่พอใจสูงกว่าเมื่อก่อนแต่ไม่สามารถจะระบายออกได้ เมื่อประเทศถูกปกครองด้วยทหารโอกาสที่จะต่อรองจึงถูกปิดลง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความคุกรุ่น ที่มันเก็บกดเอาไว้ และรอเวลาปะทุขึ้น ความสงบที่เกิดขึ้น จริงๆแล้ว มันเป็นแค่ชั่วคราว แต่เรากำลังก็จะเจอฉากใหม่อีกเยอะ

คนในพื้นที่เองก็พูดชัดเจนว่า เมื่อก่อนเขาไม่เคยเข้าใจเลยว่ารัฐประหารมันจะส่งผลต่อปัญหาภายในพื้นที่อย่างไร แต่สี่ปีที่ผ่านมานี้ เขาตระหนักดีแล้วว่ามันเกี่ยวกัน แม้มันอาจจะแก้ได้ไม่หมด แต่อย่างน้อยที่สุดการมีรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากกระบวนการที่ชอบธรรมและถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตย จะเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาในการเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่สำหรับกลุ่มติดอาวุธ แต่หมายถึงในพื้นที่ทางการเมืองแบบเปิดด้วย ที่สำคัญคือกลุ่มติดอาวุธจำนวนหนึ่งเขาเคลื่อนไหวต่อสู่ด้วยอุดมการณ์ และอุดมการณ์มันเป็นเรื่องของการขับเคี่ยวกันทางความคิดและการเมือง ถ้าคุณเปิดพื้นที่ให้เขาได้ลุกขึ้นมาและพูดถึงอุดมการณ์ของเขาได้อย่างเปิดเผย ได้มาถกเถียงพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและไม่ผิดกฎหมาย โอกาสที่ความรุนแรงจะลดลงก็จะมีมากขึ้น

เดิมทีเราไม่เคยเห็นความไม่สงบในภาคใต้เป็นเรื่องเดียวกับความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือทั้งสองเรื่องมันโจทย์เดียวกัน คือมันเป็นปัญหาวิกฤติของอำนาจอธิปไตย ในระดับประเทศ มันคือการตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร คือคุณเขียนในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่ ในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน เขาไม่ได้ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสยาม มาตั้งแต่แรก พอมันถูกผนวกเข้ามา โดยไม่ได้ถามความยินยอมพร้อมใจของคนในพื้นที่ สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 มันทำกันโดยกรุงเทพกับอังกฤษ มันไม่ได้มาถามคนในพื้นที่มาตั้งแต่ต้น ในตอนแรกๆ คนที่กระด้างกระเดื่องคือเจ้าเมืองในพื้นที่ที่สูญเสียอำนาจไป แต่ ณ ปัจจุบัน คนที่ได้รับผลกระทบคือคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่สามารถระบุตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยได้ กลุ่มติดอาวุธเขาก็เลยสามารถดึงแรงสนับสนุนจากฐานล่างขึ้นมาได้เยอะ 

ทางออกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง?

อย่างน้อยที่สุด คนในพื้นที่เขาต้องการอิสระในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง อิสระที่จะมีความคิดความเชื่อ อิสระที่จะปฏิบัติกิจวัตรทางศาสนาโดยไม่ถูกขัดขวาง อิสระที่จะปฏิบัติตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เขาเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย การใช้ภาษา ให้เขาได้มีอิสระได้แสดงออกกันไป กล่าวรวมๆ คือต้องให้อิสระเขาในการดูแลตัวเอง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ถ้ารัฐส่วนกลางไม่อนุญาต รัฐเดี่ยวแบบรัฐไทยมันไม่ยืดหยุ่นพอ ที่จะทำได้ ตอนนี้เราก็มีรูปแบบการปกครองพิเศษ เช่นกรุงเทพมหานคร พัทยา เลือกตั้งผู้ว่าเองได้ มันก็คือโมเดลเดี่ยวกัน คือให้อิสระในการดูแลตัวเอง คือมันไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับประเทศไทย คุณแค่ไม่ให้เขาเพราะคุณกลัวไปเองว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาที่บานปลาย

ถามว่าความกลัวนี้มันเกิดจากอะไร อาจเป็นเพราะคุณลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งของอิสลามคือ มันไม่แยกมิติต่างออกไปจากศาสนาเลย อิสลามมันจึงไม่ใช่แค่ศาสนาแต่มันครอบคลุมไปทุกมิติของชีวิตคุณ การเมืองก็มีการเมืองแบบอิสลาม เศรษฐกิจแบบอิสลาม มีกฎหมายองตัวเอง แต่เราไม่มีการเมืองแบบพุทธ หรือเศรษฐกิจแบบพุทธ อิสลามมันมีหมดเพราะมันเป็นคำสอนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตของคน พอเป็นเช่นนี้ เวลามีการปะทะต่างๆ ความเป็นอิสลามมันจึงเด่นชัดขึ้นมากลายเป็นสิ่งที่กระทบชีวิตของคนเป็นอันดับแรกๆ  คนไทยสวนใหญ่จึงไม่เข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ เพราะศาสนาพุทธไม่ได้ครอบคลุมชีวิตคนไปทุกมิติแบบนี้

คำถามสุดท้าย ผู้อ่านจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้?

คุณจะเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงที่ผ่านมาในลักษณะที่มันปราณีตและละเอียดละออขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่องของความรุนแรงเลือดสาด คุณจะเห็นชีวิตประจำวันของคนสามัญ ที่เขาอยู่ภายใต้สถานการณ์นั้น อันที่สองคือ มันจะชี้ชวนให้เราทำความเข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นโจทย์ที่งานศึกษาทั่วไป  ยังไม่เคยตอบหรือตั้งคำถาม คือโจทย์ว่าด้วยวิกฤติของอำนาจอธิปไตยและวิกฤตการสร้างตัวตนของคนในพื้นที่ สามคือ สองวิกฤติใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมา คือการเมืองระดับประเทศกับในสามจังหวัด ซึ่งดูเหมือนจะแยกขาดจากกัน แต่เอาเข้าจริงสำหรับผมมันเรื่องเดียวกัน มันคือวิกฤตของอำนาจอธิปไตยในประเทศนี้ที่ยังจัดการไม่ลงตัวเสียที 

คำถามสุดท้ายจริงๆ ตอนเลือกชื่อหนังสือ กลัวบ้างไหม?

ไม่กลัว เราก็วิเคราะห์ไปตามเนื้อผ้า มันมีทฤษฎีรองรับเยอะ แต่ผมไม่อยากพูดภาษาทฤษฎีในบทสัมภาษณ์ลองไปอ่านในหนังสือดู 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท