Skip to main content
sharethis

การลงทุนด้านพลังงานในอาร์เจนตินาโดยจีนทั้งโครงการเขื่อนและพลังงานฟอสซิลถูกต่อต้านด้วยข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลอาร์เจนตินาเองก็ยกเลิกโครงการพลังงานหมุนเวียนโดยอ้างว่ากลัวงบขาดดุล ทำให้เกิดการโต้แย้งกันว่าทุนจีนที่ไม่กำหนดเงื่อนไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นดีต่อประเทศพวกเขาจริงหรือ

เมื่อ 8 มิ.ย. 2561 สื่อ IPS News รายงานว่า ขณะนี้ทางการจีนกำลังเปิดการลงทุนในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกา รวมถึงในอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตามในกรณีของอาร์เจนตินากลายเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากผู้ได้รับผลกระทบในประเทศไม่ว่าจะในแง่สิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจ

จากการศึกษาวิจัยขององค์กรมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (FARN) ระบุว่าทางการจีนเน้นลงทุนด้านพลังงานในอาร์เจนตินา โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโครงการจำพวกพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานจากไฮโดรคาร์บอน โดยมีแค่ร้อยละ 4 เท่านั้นที่เป็นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นภาคส่วนที่อาร์เจนตินากำลังขาดแคลน

มาเรีย มาร์ตา ดิ เปาลา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ FARN กล่าวว่าจีนมีความพยายามส่งออกเทคโนโลยีและผลผลิตของตนเองจึงทำให้มีความพยายามลงทุนด้านพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานน้ำมันในประเทศอื่น เป็นเพราะจีนไม่สามารถสร้างเขื่อนในแม่น้ำของตัวเองได้ จึงมีความพยายามสร้างเขื่อนในที่อื่นเช่นแม่น้ำซานตาครูซของอาร์เจนตินา

จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเขื่อนขนาดยักษ์ 2 แห่งที่สร้างบนแม่น้ำซานตาครูซในปาตาโกเนีย โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบทั้งจากสมัยอดีตผู้นำคริสตินา เคิร์ชเนอร์ และผู้นำปัจจุบัน เมาริซิโอ มาครี แม้ว่าโครงการนี้ทำให้เกิดความกังวลอย่างหนักเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม โดยโครงการดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ และมีการประเมินว่าจะรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 1,310 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กุสตาโว กิราโด ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าจีนปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการพลังงานหมุนเวียน แต่เป็นอาร์เจนตินาเองต่างหากที่ไม่ผูกพันตัวเองกับพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอย่างหนักแน่น ทำให้จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีทุนหนายอมรับข้อเสนอทางธุรกิจอะไรก็ได้จากอีกประเทศหนึ่ง

กิราโด ผู้เป็นนักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการด้านจีนร่วมสมัยศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลานุสในบัวโนสไอเรสกล่าวว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาเคยเดินหน้าแผนการ RenovAr โครงการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนมาก่อนในอดีต RenovAr นี้มีสัญญาร่วมกับจีนโดยมีทุนจีนเป็นเจ้าของร้อยละ 15 นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงพลังงานของอาร์เจนตินาก็ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานหมุนเวียน 147 โครงการ ที่จะสามารถรองรับการผลิตได้ 4,466 เมกะวัตต์

ทว่ารัฐบาลของมาครีกลับประกาศเมื่อเดือนนี้ (มิ.ย. 2561) ให้เลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนออกไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดหนี้และลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก โครงการที่ถูกยกเลิกได้รวมไปถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่อาศัยแผงโซลาร์เซลล์จากจีน 1,200,000 แผง โดยโครงการนี้ ธนาคารการนำเข้า-ส่งออกของรัฐบาลจีนจะให้ทุนมากถึง 330 ล้านดอลลาร์จากงบประมาณทั้งหมด 390 ล้านดอลลาร์

การตัดสินใจของรัฐบาลมาครีเป็นความพยายามทำให้พวกเขาได้เงินกู้จากไอเอ็มเอฟหลังจากวิกฤตความเชื่อมั่นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างหนัก ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ จะถูกยับยั้ง แต่โครงการพลังงานอื่นๆ จากจีนก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอาร์เจนตินา จอร์จ ทายานา ผู้ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2548 ถึง 2558 กล่าวว่าจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นนักลงทุนที่ดีในสายตาของเขา แต่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจะได้ประโยชน์หรือตกเป็นเหยื่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการตัดสินใจของแต่ละประเทศเหล่านั้นเอง เพราะสำหรับทายานาแล้วการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงนั้นดีเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพสัญญาและนโยบายการพัฒนาของประเทศผู้รับที่จะทำให้มันเป็นไปในทิศทางเช่นใด

ในแง่การลงทุนของด้านพลังงานของจีนในอาร์เจนตินาตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะทำให้องค์กรสิ่งแวดล้อมไม่พอใจ โดยเฉพาะกับโครงการเขื่อนแม่น้ำซานตาครูซ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อแหล่งน้ำสำคัญอย่างทะเลสาบอาร์เจนติโน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับธารน้ำแข็งเปริโต โมเรโน ธารน้ำแข็งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอาร์เจนตินา

ปัญหาหนึ่งในการทำสัญญาเรื่องเขื่อนกับจีนในครั้งนี้คือธนาคารจีนทำข้อตกลงว่าจะตัดการช่วยเหลือทางการเงินแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านทางรถไฟถ้าหากไม่มีการอนุญาตให้สร้างเขื่อนแม่น้ำซานตาครูซ มีการเปรียบเทียบจากนักสิ่งแวดล้อมอย่างแฮร์นัน คาซานยาส ว่าก่อนหน้านี้พวกเขาเคยถูกกดดันจากการลงทุนของสหรัฐฯ ในตอนนี้พวกเขาถูกกดดันจากการลงทุนของจีนแทน

คาซานยาส ผู้อำนวยการองค์กรอาเวสอาร์เจนตินาส องค์กรสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดในอาร์เจนตินากล่าวว่า "เขื่อนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการแสดงให้เห็นว่าการกดดันอันมีสาเหตุจากเรื่องเศรษฐกิจอาจถูกนำมาใช้เหยียบย่ำอธิปไตยทางสิ่งแวดล้อมของประเทศได้"

ดิ เปาลา จากองค์กร FARN มองว่ากรณีจีนนั้นมีสิ่งที่แย่ไปกว่าการครอบงำของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) ตรงที่ทุนจีนไม่มีกรอบการทำงานและมาตรการคุ้มครองต่างๆ ทำให้พวกเขาเริ่มสร้างสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม แต่กิราโดโต้แย้งในประเด็นนี้ว่าการที่ทุนจีนไม่ได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากำกับประเทศที่กู้ยืมเงินกลับเป็นเรื่องที่จะให้ผลประโยชน์ได้มากกว่า

เรียบเรียงจาก

China Generates Energy and Controversy in Argentina, IPS News, Jun. 8, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net