Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ความเป็นพระจริง/พระปลอม เป็นนามธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้ วาทกรรมนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำลายคนเห็นต่างและยกย่องสำนักลัทธิเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่ว่าท่านจะแท้หรือปลอม หลักการทางพระวินัยไม่มีการสั่งบังคับให้เขาต้องสึกออกไปจากการเป็นสมณะ การละเมิดเช่นนี้เกิดขึ้นในรัฐศาสนาเท่านั้น ซึ่งพระเองทำตัวเป็นข้าราชการและยอมอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้นำฆราวาส


พระแท้/พระปลอมตามธรรมวินัย

ตามพระธรรมวินัย พระแท้คือ อริยบุคคลทั้ง 8 ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหัตผล พระแท้ประเภทนี้ไม่จำกัดสถานภาพว่าจะต้องเป็นนักบวชหรือผู้ครองเรือน อยู่ที่ศักยภาพในการเข้าถึงไตรลักษณ์ นั่นหมายความว่า พระที่เข้าพิธีบวชห่มจีวรทั่วไป เป็นเพียงพระปลอม (สมมติสงฆ์) ถูกคณะสงฆ์สมมติขึ้นเพื่อเขาจะเปลี่ยนสถานะจากผู้ครองเรือนมาเลี้ยงชีพด้วยการขออาหารบิณฑบาต ฉะนั้น หากพูดให้แรงขึ้น พระทุกรูปที่เราเห็นล้วนเป็นพระปลอม (สมมติสงฆ์) แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะท่านอาจกำลังปฏิบัติเพื่อเป็นพระแท้ก็ได้

เราไม่มีเครื่อง GT 200 ตรวจวัดระดับจิตใจว่าใครเป็นพระแท้/พระปลอม สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรพุทธก็พยากรณ์ (ประกาศ) ออกมาว่าใครเป็นอริยบุคคลแล้วบ้าง ต่อมาเหล่าสาวกก็พยากรณ์กันเอง แต่ละสำนักก็ใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น คนที่หลวงตามหาบัวยืนยันว่าเป็นอรหันต์ อาจไม่ได้รับการยอมรับในสายสวนโมกข์เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเหมือนกัน เพราะแต่ละองค์กรก็เรียกศรัทธาและขับเคลื่อนกันไปได้

ที่บอกว่า ทุกรูปล้วนเป็นพระปลอม เพราะการบวชเป็นแต่เพียงการประชุมสงฆ์เพื่อสมมติให้นาย ก. เป็นพระในพุทธศาสนา เป็นการรับสมาชิกใหม่ แต่เพราะใช้ภาษาบาลี (เพื่ออ้างว่าตนเป็นพุทธแท้) จึงทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดไปว่าน่าจะเป็นการสวดยัดความเป็นพระเข้าไปในตัวคน แต่ก็ไม่แปลก เพราะพุทธไทยมีรากฐานมาจากศาสนาผี เชื่อว่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จะเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นพระแท้ได้ ซึ่งความเป็นพระแท้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาปฏิบัติจนได้มรรคผล

ความเป็นพระจึงไม่มีอยู่จริง มีแต่สถานะใหม่ที่สังคมสงฆ์มอบให้ผ่านการทำหน้าที่สมณะ คนที่เข้าพิธีบวชแล้วรู้สึกว่าความเป็นพระเข้ามาอยู่ในตัวเอง (เหมือนถูกผีสิงหรือถูกล้างบาป) ตัวเองบริสุทธิ์กว่าคนอื่นๆ มองฆราวาสว่าไม่มีองค์/คุณธรรมของความเป็นพระ หรือเมื่อตนละเมิดวินัยก็รู้สึกว่าความเป็นพระลดลงไป คนประเภทนี้เป็นคนไม่ปกติ และถูกแนวคิดความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีครอบงำอย่างมาก เพราะวินัยต่างๆ มีไว้เพื่อให้ฝึกสติและก้าวสู่การพัฒนาปัญญาต่อเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มหรือลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะพระสงฆ์แต่อย่างใด ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง


ปาราชิกแล้ว จะไม่สึกก็ได้


อาบัติชนิดที่ร้ายแรงที่สุดของพระเรียกว่า “ปาราชิก” แปลว่า “พ่ายแพ้” หมายถึง เมื่อละเมิดอาบัติใหญ่ข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อแล้วต้องพ่ายแพ้ต่อข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ แต่ไม่มีโทษถึงขั้นหมดสิทธิ์พัฒนาตน พระพุทธเจ้า“มิได้”ตรัสว่า พระที่อาบัติปาราชิกต้องหมดโอกาสได้สวรรค์ ได้นิพพาน หรือไม่มีทางเจริญในชีวิต ยิ่งกว่านั้น ปาราชิกแล้ว มิได้หมายความว่า ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเป็นภิกษุ แบบที่สอนกันในประเทศเถรวาททั่วไป

การล่วงอาบัติปาราชิก พระพุทธเจ้ากำหนดโทษไว้คือ “นาสนะ” แปลว่า การทำให้ไม่เห็นหน้าอีก กล่าวคือ การขับไล่ไปจากสำนัก (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 352) เรียกอีกอย่างตามภาษาพระวินัยคือ อสํวาโส (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 20) แปลว่า ไม่มีสังวาส กล่าวคือเมื่อทำอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่มีสิทธิจะอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ที่ยังบริสุทธิ์ หมายความว่า ควรถูกไล่ออกไปจากคณะ

สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือ การไล่ออกจากคณะสงฆ์ ไม่ใช่การจับสึกหรือบังคับให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะการตัดสินใจเป็นสมณะเป็นสิทธิพื้นฐานที่แต่ละคนจะทำเมื่อไรก็ได้ เช่นเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะก็บวชด้วยตนเอง ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าลัทธิต่างๆ จะทำได้คือ เมื่อเขาไม่สามารถทำตามข้อปฏิบัติที่ตนกำหนด ก็ไล่ออกไปจากการสังกัดของตน ส่วนเขาจะไปอยู่สำนักลัทธิไหน หรืออยู่คนเดียว ตั้งสำนักใหม่ ให้ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล

พระเทวทัตพยายามแยกสงฆ์ด้วยข้อเสนอ 5 ประการคือ ภิกษุต้องอยู่ป่าตลอดชีวิต บิณฑบาตเท่านั้น (ไม่รับงานนิมนต์) ใช้ผ้าบังสุกุล อยู่เฉพาะใต้โคนไม้ (ไม่อยู่ในกุฏิ) และไม่ฉันเนื้อสัตว์ เมื่อพระพุทธเจ้าปฏิเสธ ท่านก็ได้ชักชวนผู้ที่สนใจในข้อวัตรที่เคร่งครัดเหล่านี้แยกตัวออกไป โทษตามพระวินัยที่พระเทวทัตกระทำคือ สังฆาทิเสส อาบัติชนิดนี้จะแก้ได้ด้วยการเข้ามาสารภาพผิดและอยู่ปฏิบัติธรรมภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นอาบัติในระดับเดียวกับการที่พระสำเร็จความใคร่หรือจับต้องตัวสตรี พระพุทธเจ้ามิได้จับสึกพระเทวทัต แต่ตัดสินให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส นั่นคือ หากพระเทวทัตอยากอยู่ในคณะสงฆ์ของพระองค์ต่อก็ต้องปรับปรุงตัวเอง แต่หากไม่อยากอยู่ด้วยแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิของพระเทวทัต และแน่นอนว่า พระองค์ไม่ทรงขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแผ่นดิน ให้ช่วยจับสึกพระเทวทัตในฐานะที่ทำลายพระพุทธศาสนา   


การสึกเป็นความประสงค์ส่วนบุคคล ไม่มีการบังคับ

การลาสึก (วิพฺภม) จึงเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่คนอื่นไม่สามารถละเมิดได้ การล่วงอาบัติปาราชิกของพุทธศาสนา ก็ลงโทษด้วยการนาสนะหรือไล่ออกจากคณะ เพื่อไม่ให้อยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ที่เหลือเท่านั้น ให้สังเกตว่า เมื่อพระภิกษุทำความผิดขั้นปาราชิกแล้ว พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอปาราชิกแล้ว” หรือ “ดูก่อนภิกษุ เธอยังไม่ปาราชิก” (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 49) กล่าวคือ เขาพ่ายแพ้จากการเป็นพระในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สถานะ “ภิกษุ” ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของเขายังไม่หายไปไหน

ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอ (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 488) เป็นอีกสถานะหนึ่งที่แยกออกจากคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือนทั่วไปตามแบบสังคมอินเดียโบราณ (ปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็น) ผู้คนจำนวนมากเห็นดีเห็นงามกับการใช้ชีวิตทั่วไป มีการประกอบอาชีพ แต่งงาน ดูแลสมาชิกในครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธชีวิตรูปแบบนั้น พวกเขาจึงสละเรือน ละทิ้งอาชีพ ใช้ชีวิตด้วยการขอทาน คนเหล่านี้จึงเรียกว่า ภิกษุ หรือ บรรพชิต แน่นอนว่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั่วไปก็จัดเป็นภิกษุในนิยามนี้ สถานะภิกษุจึงไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้น เพราะพระองค์ก็เลียนแบบวิถีนักบวชที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ภิกษุเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในแง่เศรษฐกิจ คนเหล่านี้เลี้ยงชีพด้วยการขอทาน และเอาเวลาที่เหลือไปแสวงหาความสุขภายใน วิธีการแสวงหาความสุขจึงมีหลากหลายแล้วแต่เจ้าลัทธิจะเสนอ ภิกษุแต่ละรูปจึงมีลักษณะลื่นไหล คือออกจากสำนักนี้ไปสู่สำนักใหม่ เมื่อเห็นว่าดีก็อยู่นาน ไม่ดีก็ลาออกไป หรือเมื่อละเมิดข้อกำหนดก็ถูกไล่ออก (นาสนะ) การไปจับสึกหรือบังคับให้เปลี่ยนเป็นฆราวาสจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และพระพุทธเจ้าเองก็ใช้รูปแบบเดียวกันนั้นในการรับเข้าหรือขับออก

หลักฐานสำคัญที่สะท้อนว่า ภิกษุไม่ได้เป็นสถานภาพของพุทธศาสนาคือ เทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนักบวชทั้ง 5 (ปัญจวัคคีย์) พระองค์ทรงเรียกผู้ฟังเหล่านั้นว่า “ภิกษุ (ภิกฺขเว)” ทั้งที่พวกเขาเป็นเพียงนักบวชทั่วไป เมื่อจบธรรมเทศนา โกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบัน และได้รับการเข้าสังกัดเป็นสมาชิกรูปแรก (วินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม 4 ข้อ 13) กล่าวให้ชัดคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ประทานสถานะภิกษุให้แก่โกณฑัญญะ เพราะท่านเป็นภิกษุ (นักบวช) อยู่ก่อนแล้ว หากแต่เพียงรับท่านเข้ามาเป็นสมาชิกของสังฆะในพุทธศาสนาเท่านั้น

ต่อมามีการตีความ “ภิกษุ” ให้กว้างกว่านั้น นอกจากจะหมายถึงผู้ขอ ที่เลี้ยงชีพด้วยการขอทานแล้ว ภิกษุยังหมายถึง “ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ” (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550, น. 488) กล่าวคือ ใครก็ตามที่ตระหนักว่า ชีวิตเต็มไปด้วยทุกข์ และพยายามปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เขาก็คือ ภิกษุ นิยามนี้อาจใช้ได้ในทางธรรม แต่ในสถานะทางสังคม ต้องยอมรับว่า ภิกษุ ใช้กับนักบวชเท่านั้น ข้อสังเกตคือ พระพุทธเจ้าไม่เคยเรียก วิสาขา อนาถปิณฑิกเศรษฐี โพธิราชกุมาร หรือ ฆราวาสคนอื่นๆ ว่า “ภิกษุ” แม้พวกเขาจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็ตาม  

เป็นไปได้ว่า เนื่องจากคำสอนของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่เจาะจงไปที่พระภิกษุ จึงมักเริ่มต้นด้วยคำว่า “ดูก่อนภิกษุ” สิ่งนี้อาจทำให้ฆราวาสรู้สึกเหินห่าง นักปราชญ์จึงพยายามอธิบายว่าพุทธศาสนามีความเป็นสากล คือ ใครก็สามารถนำไปปฏิบัติและได้ผลเช่นเดียวกัน นิยามใหม่นี้ได้รับความนิยมในคัมภีร์ยุคหลัง หนึ่งในนั้นคือ วิสุทธิมรรค ซึ่งเกิดหลังพุทธปรินิพพานราว 700 ปี (มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2508, น. 7)


ทำไมสังคมไทยจึงไม่เข้าใจระบบ “ภิกษุ” ในแบบพุทธกาล

เหตุที่คนไทยนึกภาพภิกษุในฐานะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและไม่ควรถูกละเมิดด้วยการจับสึกไม่ได้ เพราะการเป็นภิกษุในประเทศไทยไม่สามารถทำได้เองแบบที่มีในอินเดีย แต่ต้องเขียนใบสมัครเพื่อเข้ารับการบรรพชา-อุปสมบท กับพระอุปัชฌาย์ ผู้ซึ่งถูกแต่งตั้งมาจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ของรัฐและรับเงินเดือนงบประมาณแผ่นดิน กล่าวคือ ผู้ที่สนใจปฏิบัติและเรียนรู้พุทธศาสนาภายใต้ระบอบแบบนี้ ไม่ได้เป็นภิกษุที่อธิษฐานบวชด้วยตนเองมาก่อน การไล่ออกของคณะสงฆ์ไทยจึงใช้วิธีจับสึก เพราะถือว่า การบวชทั้งหมดเป็นสิ่งที่ท่านมอบให้เอง แต่ทั้งนี้ก็ถือเป็นการละเมิดพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้ากำหนดให้นาสนะ (หรือไล่ออกจากคณะสงฆ์) เท่านั้น มิได้ให้อำนาจในการจับสึกหรือถอดเขาออกจากการเป็นภิกษุ  อย่างน้อยที่สุด สิ่งนี้ก็สะท้อนว่า รูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทยไม่ได้เป็นไปตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้ากำหนด เพราะละเมิดเสรีภาพผู้อื่นอย่างมาก


วิธีสร้างพระแท้

สังคมไทยมีกระบวนการสร้างพระแท้หลายชุดในแบบของตน ธรรมกายมีหนังสือ “คู่มือพระแท้” พระแท้ของธรรมกายต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ รู้วิธีซักตากจีวร วิธีกวาดขยะ ถูพื้น ล้างห้องน้ำ ตลอดจนสามารถท่องจำบทสวดมนต์พระปริตรต่างๆ และเทศน์สอนพุทธบริษัทได้ตามคำอธิบายของธรรมกาย พุทธทาสก็ผลิตหนังสือ “คู่มือดูพระ” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระดี/ไม่ดี ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง พระแท้ในแบบสวนโมกข์คือผู้เข้าใจอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท อีกทั้งปฏิบัติอานาปานสติการคำอธิบายของพุทธทาสภิกขุ ส่วนพระแท้ในสายวัดป่า คือผู้ที่ดูแลครูอาจารย์ รักษาข้อวัตรและปฏิบัติธรรมภายใต้การแนะนำของท่านอย่างใกล้ชิด การปฏิบัติในสายต่างๆ ไม่เพียงแต่บอกวิธีการปฏิบัติเพื่อเป็นพระแท้ แต่แนะนำไปในตัวว่า หากปฏิบัติผิดไปจากตน เข้าใจพุทธศาสนาต่างจากตน คนเหล่านั้นล้วนเป็นพุทธ/พระปลอม   


สังคายนาเกิดขึ้นเพื่อกำจัดพระปลอม

วาทกรรมเรื่องพระปลอม ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำจัดภิกษุที่เห็นต่างไปจากตน ปรากฏการณ์นี้พบได้เมื่อครั้นสังคายนาครั้งที่ 3 ที่เชื่อกันว่า พระเจ้าอโศกเป็นองค์อุปถัมภ์โดยการให้พระโมคคัลลีปุตติสสเถระเป็นผู้คัดกรองพระภิกษุด้วยการทดสอบความรู้ทางศาสนา พระรูปใดตอบไม่ตรงกับที่พระเถระ (ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอรหันต์) เสนอก็จะถูกจับสึกไปเสีย อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่านี้พบในคัมภีร์ของเถรวาท และถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองเสมอมาของประเทศพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยข้ออ้างที่ว่า ทำเช่นนี้แล้ว พระปลอมจะสูญหายไปและทำให้ศาสนาเจริญยิ่งขึ้น

แต่จารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบและยอมรับกันทั่วไป ไม่ได้บันทึกเรื่องราวครั้งนั้น หากแต่พบอีกเสาซึ่งระบุว่า พระองค์ทรงมีความเป็นกลางทางศาสนาและสนับสนุนให้ทุกศาสนิกเคารพความเชื่อที่แตกต่างของกันและกัน การทำสังคายนาครั้งที่สามจึงตีความได้อย่างน้อย 2 ทางคือ 1) ชาวเถรวาทแต่งเรื่องนี้ขึ้นเองเพื่ออธิบายที่มาของตนและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระราชา เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับรัฐต้องรับหน้าที่สนับสนุนศาสนาพุทธเป็นหลัก 2) พระเจ้าอโศกสนับสนุนให้ทำสังคายนาและจับสึกพระหลายรูปจริง แต่ไม่บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ เพราะอาจรู้สึกผิดที่ล่วงละเมิดหรือทำลายสถานะพระภิกษุของผู้เห็นต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธเถรวาทเชื่อว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นจริงและกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูป/จับสึกพระ ยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน

สังคายนาครั้งที่ 1 ไม่มีการทำเช่นนี้ ปุราณะ เป็นพระมหาเถระซึ่งมีลูกศิษย์มากมายไม่ได้รับการนิมนต์จากพระมหากัสสปะ (ประธานในพิธี)  ท่านเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตกลงกัน เพราะบางอย่างท่านได้ฟังจากพระพุทธเจ้าไม่สอดรับกับการทำสังคายนาครั้งนี้ จึงยืนยันว่า ท่านจะยังคงปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อไป พระมหากัสสปะก็ไม่กล่าวหาว่าปุราณะเป็นพระปลอม แต่นักวิชาการพุทธเถรวาทยุคหลังมองว่า ปุราณะอาจเป็นต้นกำเนิดของมหายาน คือ กลุ่มพระที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสังคายนาครั้งแรกและแยกตัวออกไปปฏิบัติในรูปแบบของตน (ซึ่งก็อ้างได้ว่าจริงแท้ เพราะฟังมาจากพระพุทธเจ้าเช่นกัน)

เป็นความโชคดีที่พุทธศาสนาสมัยพุทธกาลแยกขาดจากอำนาจรัฐ หากเป็นเช่นปัจจุบัน พระมหากัสสปะอาจขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูจับสึกพระปุราณะและลูกศิษย์ในโทษฐานกระด้างกระเดื่องต่อพระอรหันต์ 500 รูป อันจะส่งผลให้พุทธบริษัทแตกแยกและพุทธศาสนาเสื่อม

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การปฏิรูปหรือทำสังคายนาไม่สามารถผสานคณะสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในทางตรงกันข้ามจะนำมาสู่ความแตกแยก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะปกติของมนุษย์มีความหลากหลาย จะน่ากลัวก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการทำลายความเป็นภิกษุของผู้คิดต่าง ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพทางความเชื่อ


ถูกจับขังคุกแล้วยังเป็นพระอยู่ไหม?

ดังกล่าวไปแล้วว่า แม้จะทำผิดวินัยขั้นร้ายแรงถึงปาราชิกก็ตาม คณะสงฆ์ลงโทษได้เพียงขับออกจากหมู่ (นาสนะ/ไม่ให้อยู่ร่วมด้วย) แต่ไม่มีสิทธิในการจับสึกหรือบังคับให้ต้องเปลี่ยนชุดฆราวาส นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่พระเหล่านั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา เพราะการสึกเป็นเจตจำนงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น และแน่นอนว่า ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่จีวร เพราะพระที่ถูกโจรขโมยจีวรจนต้องนุ่งห่มเปลือกไม้ใบหญ้า หรือแก้ผ้าอาบน้ำก็ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระ กล่าวโดยสรุปคือ แม้จะเป็นแค่พระปลอม (สมมติสงฆ์) แต่ใครก็ทำลายไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล

ประเด็นที่สังคมไทยสนใจคือ หากพระเหล่านั้นเป็นพระราชาคณะ มียศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้รับการถวายโดยพระมหากษัตริย์ เมื่อพ้นโทษแล้วจะได้ตำแหน่งนั้นกลับคืนหรือไม่ กรณีของพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) เป็นตัวอย่างของพระที่ต้องคดีและได้รับการถวายคืนสมณศักดิ์ในที่สุด


ยิ่งมีพระปลอมมาก ยิ่งกลายเป็นรัฐโลกวิสัย

ขอทานอินเดียจำนวนมากได้เปลี่ยนมาห่มจีวรและนั่งขอทานอยู่ตามสังเวชนียสถาน พระเหล่านี้ได้เงินบริจาคจากชาวพุทธทั่วโลกที่เดินทางไปแสวงบุญ เสร็จภารกิจในช่วงเย็นก็ถอดจีวรออกใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป คนอินเดียไม่ได้มองว่าเป็นภัย เพราะเขาเลือกที่จะทำบุญหรือไม่ก็ได้ พระธรรมทูตไทยพยายามขอให้รัฐช่วยจับสึกพระปลอมเหล่านี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะนั่นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะรับเงินบริจาคโดยไม่ได้บังคับขูดรีดใคร ใครศรัทธาอยากช่วยก็ทำบุญ ไม่อยากช่วยก็ไม่ต้องทำ

ถ้าสังคมไทยมีพระปลอมเช่นนี้เป็นจำนวนมาก มีวิธีต่างๆ ในการหาเลี้ยงชีพ จะทำให้ชาวพุทธรู้จักเลือกพระที่จะทำบุญด้วย แต่น่าเสียดาย ที่คนไทยและรัฐไทยมีนิสัยชอบปฏิรูป ทนไม่ได้กับความคิดต่าง อยากให้ทุกคนเป็นแบบเดียวกัน เราจึงพยายามทำให้พระสงฆ์เป็นแบบเดียวเพื่อจะรับการทำบุญของคน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนทั่วไปโง่เขลา ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า พระรูปไหนเป็นพระแท้/พระปลอม เป็นคนดี/คนชั่ว เราจึงต้องใช้วิธีเผด็จการเลือกให้เขา สิ่งนี้ไม่ต่างกับการเติบโตอย่างช้าๆ ของประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง กล่าวในทางตรงกันข้ามคือ ยิ่งอยากทำลายพระปลอมและสร้างพระแท้รูปแบบเดียวมากเท่าไหร่ ไทยยิ่งกลายเป็นรัฐเผด็จการทางศาสนาและทำลายเสรีภาพมากขึ้นเท่านั้น



เอกสารอ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). (2550). ศัพท์วิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2508). วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 1. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net