Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมราชทัณฑ์เผยว่าได้ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โดยใช้วิธีฉีดยาสารพิษ นับเป็นนักโทษที่ถูกประหารรายล่าสุดนับตั้งแต่การประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 ส.ค. 2552 โดยนับตั้งแต่เปลี่ยนโทษประหารเมื่อธันวาคม 2546 มีผู้ถูกประหารด้วยวิธีฉีดยาสารพิษแล้ว 6 ราย ขณะที่สถิติเดือนเมษายน 2561 มีนักโทษประหารชีวิตทั่วประเทศ 517 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้ว 200 ราย

แฟ้มภาพ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ที่มา: ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์)

สถิตินักโทษประหารชีวิต เดือนเมษายน 2561 (ที่มา: กรมราชทัณฑ์)

18 มิ.ย. 2561 ในจดหมายแถลงข่าวกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม "ราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ" เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ ระบุว่า พ.ต.อ.ณรัชต์  เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00-18.00 นาฬิกา  กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด

พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวอีกว่า การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเปิดเผยต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็นการใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546) การฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552) การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่างคือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิด จะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้

‘โทษประหาร’ ของมันต้องมีหรือถึงเวลาต้องยกเลิก?, 15 มีนาคม 2561

แอมเนสตี้เผย 142 ประเทศไม่ประหารชีวิตแล้ว ปี 60 จีนยังครองแชมป์ ไทยยังใช้โทษนี้อยู่, 12 เมษายน 2561

อนึ่งข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าในเดือนเมษายน 2561 มีนักโทษประหารชีวิตทั่วประเทศ 517 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุด 200 ราย

ข้อมูลจากสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเปิดเผยว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ประเทศบรูไน พม่า ลาว ยกเลิกในทางปฏิบัติ หมายความว่าไม่มีการประหารชีวิตมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว

ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทยยังคงโทษประหารชีวิตไว้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งล่าสุดเมื่อปี 2552 ถ้าอีก 1 ปีกว่านี้ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ก็จะครบ 10 ปี ซึ่งจะถือว่าไทยไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามก็มีการลงโทษประหารชีวิตล่าสุดดังกล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติม

พยานอ้าง ไม่ใช่คนฆ่า ขณะที่พ่อแม่ผู้ตายขอให้ตำรวจรื้อคดี เร่งจับผู้ต้องหาที่เหลือ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงานว่า วัยรุ่นคนหนึ่งที่อ้างว่าขี่รถจักรยานยนต์เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ก่อเหตุแทงนักเรียน วัย 17 ปี จนเสียชีวิต โดยอ้างว่าธีรศักดิ์ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุตัวจริง แต่คนก่อเหตุมี 2 คน โดยคนหนึ่งจับมัดผู้เสียชีวิตไว้แล้วให้อีกคนแทง แต่ตัวเองกับเพื่อนไม่รู้จัก

ส่วน ธีรศักดิ์ ซึ่งถูกประหารชีวิตไปแล้วนั้น ขี่รถจักรยานยนยนต์มาอีกทางสวนกับตัวเองซึ่งเห็นเหตุการณ์ โดย ธีรศักดิ์ ในฐานะที่รู้จักกัน ตะโกนบอกว่าอย่าเข้าไปเขาแทงกัน จากนั้นตัวเองและเพื่อนจึงรีบวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขี่หลบหนี ส่วนธีรศักดิ์หนีไปอีกทาง

ขณะที่พ่อแม่ ดนุเดช สุขมาก ซึ่งถูกแทงเสียชีวิตกลางสวนสาธารณะ เข้ายื่นหนังสือขอให้ตำรวจรื้อคดีและเร่งรัดจับผู้ต้องหาที่เหลืออีก 1 คน มาดำเนินคดีโดยเร็ว โดย 1 ในนั้น คืออดีตแฟนเก่าของเพื่อนสาวของลูกชาย และต้องการขอเปลี่ยนพนักงานสอบสวน เพราะที่ผ่านมากว่า 5 ปี จับผู้ก่อเหตุที่เหลือไม่ได้

พล.ต.ต.สมพงศ์ ทองใบ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ตรัง เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวยังสามารถสอบสวนได้อยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ในอายุความ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวน เพราะทุกนายปฏิบัติหน้าที่อย่างดีอยู่แล้ว และจะเร่งสืบสวนคดีเพิ่มตามคำร้องขอของญาติ

ตร.ยันมีพยานชัด

23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ต.ท.ประเสริฐ สงแสง รอง ผกก.สอบสวน สภ.เมืองตรัง กล่าวว่า ตามที่มีการแชร์กันผ่านเฟซบุ๊กว่า นายธีรศักดิ์ไม่ใช่คนร้ายตัวจริงนั้น จริงๆ แล้วการจะแชร์เรื่องอะไรในเฟซบุ๊ก จะต้องเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ในเมื่อทางตำรวจมีพยานหลักฐานพิเคราะห์ทางคดีและศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว แต่ยังมีการออกมาให้ความเห็นทำไปเพื่ออะไร คนให้ข่าวมีหน้าที่อะไรไม่ใช่พนักงานสอบสวน มีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบข้อเท็จจริงอย่างไร ที่นำไปลงแบบนั้น

พ.ต.ท.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ทั้งที่ทางตำรวจมีพยานหลักฐานชัดเจน มีตัวตน เป็นประจักษ์พยานชัดเจน มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่มาพูดเหมือนฝันไม่ได้ การรับฟังพยานของศาลไม่ใช่รับฟังเรื่องที่บอกเล่ากันมา ศาลไม่รับฟัง คนที่ลงเฟซเองก็ไม่ทราบว่ารู้มาได้อย่างไร วันเกิดเหตุอยู่ตรงไหน ไม่มีใครรู้ น่าเชื่อถือหรือ คนคนนี้เป็นใคร ซึ่งตนจะเรียกมาสอบสวน พร้อมทั้งตรวจปัสสาวะด้วย

พ.ต.ท.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ซึ่งขณะนี้กำลังให้ตำรวจสายสืบไปติดตามตัวอยู่ เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ รู้แล้วทำไมไม่ให้ข้อมูลตำรวจในขณะนั้น จึงคิดว่าการออกมาแสดงความเห็นเพราะอยากเกาะกระแส พูดดีไม่ดีจะเกิดอันตรายด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net