Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอข้อมูลการวางระบบเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินและบัญชีวัด รวมทั้งต้องการหาวัดตัวอย่างที่พระไม่จับเงิน เพื่อให้เป็นไปตามพระวินัย ไม่ให้พระต้องอาบัติ นิสสัคคียปาจิตตีย์นั้น ก่อให้เกิดความคิดเห็นตามมามากมาย โดยมากของบุคคลที่เคยคลุกคลีกับสงฆ์จะเห็นว่า เพื่อสงเคราะห์ภิกษุในการใช้ชีวิตและกระทำกิจในปัจจุบัน สังคมชาวพุทธไทยควรยินยอมให้พระรับเงินรับทอง (รวมทั้งทรัพย์สินอื่น) เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ แม้ทำผิดวินัยก็พึงยอม แต่การยินยอมเช่นนี้จะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า สังคมชาวพุทธไทยจะยังมีความชอบธรรมที่จะเรียกตัวเองว่า “เถรวาท” ได้อีกหรือ

บทความนี้ขอเสนอความเห็นต่างโดยมองว่า อาจถึงเวลาที่คณะสงฆ์และชาวพุทธไทยจะต้องพิจารณาพุทธดำรัสร่วมกันอย่างจริงจัง โดยยึดพระพุทธกับพระธรรมเป็นสำคัญ มากกว่ามุ่งหวังเพียงปกป้องพระสงฆ์บางกลุ่ม

“นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์” เป็นชื่ออาบัติเบาที่แก้ไขได้ด้วยการสละสิ่งของ ทรัพย์ หรือวัตถุ (ในกรณีนี้คือเงินทอง) ออกไป ภิกษุจึงจะพ้นจากความผิดได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเรื่องทอง จะอยู่ในสิกขาบทของภิกษุข้อที่ 18 – 20 ในนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ 30 ข้อ กล่าวคือ ภิกษุไม่สามารถ “รับ” และ “เก็บ” เงินทอง ไม่สามารถ “ใช้” ผู้อื่นรับแทน และไม่สามารถ “ยินดี” ในทรัพย์ที่ผู้อื่นเก็บให้ตน (ข้อ 18) ภิกษุไม่สามารถ “ใช้” หรือ “แลกเปลี่ยน” เงินทองกับผู้อื่น (ข้อ 19) และภิกษุไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้าวของ (รวมทั้งทรัพย์) ในลักษณะเป็นการ “ซื้อขาย” กับผู้อื่น (ข้อ 20) เมื่อพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นนี้ ภิกษุใดละเมิดย่อมอาบัติหมวดนี้แน่นอน ไม่อาจตีความเลี่ยงบาลีเป็นอื่นเพื่อปกป้องหมู่คณะของตน

แม้กระนั้น ในพระสูตรสำคัญ (มหาปรินิพพานสูตร) และพระวินัยส่วนอื่น (ปัญจสติกขันธกะ) กลับปรากฏข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดช่องให้อำนาจและเสรีภาพแก่สงฆ์ในการพิจารณาเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ก่อนปรินิพพานไม่นานว่า “อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้าง ก็ถอนได้” (อากงฺขมาโน อานนฺท สงฺโฆ มมจฺจเยน ขฺทฺทานุขุทฺทกานิ สิกฺขาปทานิ สมูหนตุ) พุทธดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นพระกรุณาคุณและพระปัญญาคุณที่แสดงออกมาเป็นความยืดหยุ่นและสนับสนุนการเดินสายกลาง

แม้จะไม่มีข้อระบุชัดเจนว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่สงฆ์สามารถเพิกถอนได้คืออะไร แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตก็เห็นชอบร่วมกันว่า “นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์” อยู่ในกลุ่มของสิกขาบทที่มีโทษเบา สามารถเพิกถอนได้ถ้าสงฆ์ปรารถนาร่วมกัน บทความนี้จึงสนับสนุนให้คณะสงฆ์และชาวพุทธไทยพิจารณาเรื่อง การเพิกถอนสิกขาบทในหมวด “นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์” ที่ว่าด้วยการรับ การใช้ การซื้อขาย และการแลกเปลี่ยนเงินทางตลอดจนวัตถุข้าวของอื่น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น อาจฟังน่าตกใจและดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ซึ่งท้าทายการตัดสินใจของคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง ชาวพุทธบางส่วนอาจยอมรับไม่ได้ในตอนแรก เพราะคิดว่าทำให้ “ความเป็นเถรวาท” เสียหาย 

ที่จริงแล้วความสามารถที่จะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย กลับยิ่งแสดงให้เห็น “พลัง” ของคณะสงฆ์ไทยที่สามารถเรียนรู้และอยู่กับโลกของความเป็นจริงในปัจจุบัน การยึดมั่นถือมั่นในชื่อ “เถรวาท” และอัตลักษณ์ของอดีตที่สลายไปเนิ่นนานแล้วตามสัจธรรมแห่งไตรลักษณ์ ทำให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนาแบบไทยอ่อนแอ เฉื่อยช้า ไม่กล้าก้าวเดินไปข้างหน้า และไม่ยอมเดินสายกลาง เป็นการเห็นแก่พระสงฆ์ อุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ใกล้ชิดมากกว่าจะระลึกถึงพระคุณของครูใหญ่ ซึ่งก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ 

การยึดถือเอาแต่ชื่อที่ฟังเคร่งครัดแต่สาวกไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริง จะทำให้พุทธศาสนาแบบไทยไม่อาจยืนหยัดอยู่ในโลกยุคนี้ที่ซึ่งแนวคิด “โลกียวิสัย” หรือ “ฆราวาสนิยม” (secularism) กำลังลดทอนความสำคัญของศาสนา รวมทั้งแทรกแซงและแทนที่การมีอยู่ของศาสนาด้วย          

ประการที่สอง การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น ไม่ใช่การเปิดทางให้พระรับและใช้เงินทองเป็นกอบเป็นกำแบบผู้ครองเรือน อีกทั้งไม่ใช่การสนับสนุนให้สงฆ์เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยอื่นเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม  แต่คือ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองอย่างเต็มที่

การยินยอมให้ภิกษุรับเงินทองได้ของคณะสงฆ์ จะต้องเกิดขึ้นและดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการทางรัฐหรือสังคมในการป้องกันและควบคุมกิเลสของพระชาวบ้านหรือสมมติสงฆ์ แต่ในการกำกับดูแลมาตรการนั้น ภิกษุจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของวัดได้โดยไม่ต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าทำผิดข้อวินัยหรือไม่ การปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ครองเรือนเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องเงินทองของวัดต่าง ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว ก็ไม่สามารถการันตีความโปร่งใสในทางปฏิบัติได้

ประการที่สาม การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น  เป็นการเกื้อกูลพระนักพัฒนาที่ดี คือมีเจตนาดีในการเข้าไปข้องเกี่ยวกับเงินทองเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ในทางที่ทำให้ท่านไม่ต้องรู้สึกผิดและสับสนในการจับเงินจับทอง ส่วนพระที่ไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับเงินทองก็สามารถใช้ชีวิตตามพระธรรมวินัยเคร่งครัดในแบบที่ท่านต้องการต่อไปได้อย่างปกติ 

ประการที่สี่ การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น จะเป็นการลดทิฐิมานะของชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ “ความเป็นเถรวาท” ข่มเหงเหยียดหยามชาวพุทธกลุ่มอื่น หน้าที่หลักของชาวพุทธเถรวาทไทยคือสืบทอดรักษาคำสอนในพระไตรปิฎกบาลีให้บริสุทธิ์ ซึ่งภารกิจนี้สำคัญยิ่งและพึงเป็นนิยามของ “เถรวาท” ในปัจจุบัน มิใช่ยึดถือชื่อนี้เพื่ออ้างสิทธิ์ในการตีความพระธรรมวินัยแบบที่ตนเชื่อให้อยู่เหนือกว่า (หรือถูกต้องกว่า) ชาวพุทธกลุ่มอื่น ภิกษุเถรวาทไทยจะได้เรียนรู้ความใจกว้าง การดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายกลาง และเข้าใจความหลากหลายของคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างศรัทธาในหมู่ชน และส่งผลดีต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในสังคมปัจจุบันที่เปิดรับพหุนิยมทางศาสนา

ประการที่ห้า การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยว่าด้วยภิกษุกับเรื่องเงินเรื่องทองนั้น เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งรอบด้านโดยปราศจากอคติ จะเป็นการให้ความสำคัญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นการเชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เหนืออื่นใด อีกทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพอย่างจริงใจต่อพระอรหันตสาวกในครั้งพุทธกาลด้วย 

การไม่เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยในครั้งปฐมสังคายนา เกิดจากเจตนาดีของพระอรหันตสาวกก็จริง แต่เจตนาที่ดีในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้วนั้น ไม่พึงถูกนำมาใช้ประโยชน์แต่เปลือกนอก แต่ข้างในกลับอนุโลมให้ภิกษุทำผิดพระวินัยได้ นั่นยิ่งจะเป็นการดูหมิ่นครูบาอาจารย์ตั้งแต่ระดับครูใหญ่ไล่ลงมา 

ด้วยเหตุข้างต้นนี้ และด้วยเหตุแห่งพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลดทิฐิมานะของตนเองลง  มองเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง และช่วยกันหาวิธีให้พุทธศาสนาแบบไทยยืนหยัดอยู่ได้ตราบชั่วรุ่นลูกหลาน ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของโลกทุนนิยมเสรี เพื่อประโยชน์คือความหลุดพ้นจากกองทุกข์ของมนุษยชาติทั้งปวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net