Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ร่วมกันขึ้นป้ายยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ยืนยันที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จ.ยโสธร ร่วมกันขึ้นป้ายยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ยโสธรไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น

มิตร มรรคผล กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า ถึงโรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ยังยืนหยัดในการคัดค้านมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าการสร้างโรงงานจะก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เราเคยพึ่งพิง อย่างเช่น ลำน้ำเซบายที่ชาวบ้านได้อาศัยมาโดยตลอดที่อาจจะมีการแย่งชิงน้ำ ทั้งก็ยังอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กลับไม่ได้รับรู้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าจะมีการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้แหล่งน้ำลำเซบายและชุมชน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น

“เราก็พยายามคัดค้านหลายวิธีทั้งทำหนังสือส่งไปหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการขึ้นป้ายคัดค้าน ซึ่งป้ายผ้าที่ได้มาเราได้รับบริจาคมาจากวัด จากชาวบ้านด้วยกัน เราไม่ได้มีนายทุนอยู่เบื้องหลังแต่พวกเราทำเพราะจิตสำนึกที่เรารักทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไม่อยากจะให้มีโรงงานใกล้ลำน้ำเซบายและชุมชนของเรา วันนี้การขึ้นป้ายคัดค้านทางกลุ่มก็พยายามสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้ว่าถึงแม้โรงงานน้ำตาลจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแต่ทางกลุ่มก็ยังจะคัดค้านเหมือนเดิม” มิตร กล่าว

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากกรมโรงงานอุสาหกรรม และเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว แต่ตนเห็นว่า ว่าอีไอเอก็ยังมีข้อขัดแย้งกับข้อมูลพื้นที่ เนื่องจากในรัศมี 5 กิโลเมตรพื้นที่คาบเกี่ยวกัน 2 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ และ จ.ยโสธร โดยในส่วนของจังหวัดยโสธรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น แต่จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมาไม่ได้ทำตามกระบวนการการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมจะต้องทำตั้งแต่การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือการเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net