Skip to main content
sharethis

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ถึงแก่อนิจกรรมแล้วด้วยวัย 88 ปี โดยในโลกวรรณกรรมเขาเป็นผู้ให้กำเนิด "บราโว่" องค์กรลับกำจัดเหล่าร้าย และตัวละครอย่าง "ธนุส นิราลัย" ใน "สารวัตรเถื่อน" "แม่ลาวเลือด" "หักลิ้นช้าง" ฯลฯ จนถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายฉบับ รวมทั้งละครช่อง 7 "สารวัตรใหญ่" ฉบับรีบตัดจบในปี 2537 โดยบทบาทในช่วงท้ายของชีวิตนอกจากต่อต้าน "ทักษิณ" แล้ว ยังเป็นประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และยังมีส่วนแข็งขันในการคัดค้านนิติราษฎร์ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเนติวิทย์

ที่มาของแหล่งภาพประกอบ: ACT, สำนักพิมพ์มติชน, ชีวิตดารา, ละครแม่ลาวเลือดออกอากาศปี 2533 ทางช่อง 3 และสารวัตรเถื่อนออกอากาศปี 2560 ทางช่อง 7

21 มิ.ย. 2561 ในรายงานของมติชนออไลน์วานนี้ (20 มิ.ย.) พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่ปรึกษาบริษัท มติชน(มหาชน) จำกัด อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วเมื่อเวลาของ 22.30 น. ของวันที่ 20 มิ.ย. หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมอายุ 88 ปี

สำหรับ พล.ต.อ.วสิษฐ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี บิดามารดามีอาชีพเป็นครู จบการศึกษาชั้นมัธยมจาก "โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน" เมื่อ พ.ศ. 2487 สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากจากโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร รุ่นลมหวล ศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถือเป็นสิงห์ดำรุ่น 1 และได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ต่อมาได้เข้าศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา จบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 23)

ชีวิตครอบครัว สมรสกับ คุณหญิงทัศนา (บุนนาค) เดชกุญชร เมื่อ พ.ศ. 2500 (ปัจจุบันมีสถานะหย่า) มีบุตร 2 คน คือ ว่าที่ ร.ต. ดร. สุทรรศน์ เดชกุญชร และ ร.ต.ต.หญิงปรีณาภา เดชกุญชร

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร กล่าวเปิดงาน "ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร" เมื่อ 26 มกราคม 2560 (ที่มา: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย))

สำหรับประวัติการทำงาน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร จากข้อมูลในวิกิพีเดีย พล.ต.อ.วสิษฐรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการแผ่นดิน (ต่อมาคือกรมประมวลข่าวกลาง) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. 2513 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2532 และในปี พ.ศ. 2539 - 2543 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรีเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

 

พล.ต.อ.วสิษฐกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อนึ่งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเวลานั้น พล.ต.อ.วสิษฐ ซึ่งมียศพันตำรวจเอก เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทในการดูแลความสงบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงบริเวณพระราชวังดุสิตด้วย โดยเป็นผู้ติดต่อและเจรจากับทางฝ่ายผู้ชุมนุมและเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง ในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อนจะสลายตัวไป อย่างไรก็ตามเกิดเหตุปะทะที่ลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกนอกประเทศ

โดยในการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พล.ต.อ.วสิษฐ ได้แสดงปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2560 หัวข้อ "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา" ด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นักประพันธ์อาชญนิยาย
ผู้ให้กำเนิด "บราโว่" และ "สารวัตรเถื่อน"

โปสเตอร์ละคร "สารวัตรเถื่อน" สร้างจากบทประพันธ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เวอร์ชันออกอากาศปี 2560 ทางช่อง 7

ส่วนหนึ่งของ "อาชญนิยาย" ผลงานของวสิษฐ เดชกุญชร ที่มีผู้นำมาประกาศขายในเว็บขายของออนไลน์แห่งหนึ่ง

นอกจากนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ยังมีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจ โดยในงานเขียนเขาใช้ทั้งจริง และนามปากกา "'โก้ บางกอก" นิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายครั้ง ที่สำคัญคือนวนิยายชุดแนวอาชญนิยายที่เขาเขียนถึง "บราโว่" องค์กรลับต่อต้านการก่อการร้าย โดยมีตัวละครหลักที่ชื่อ "ธนุส นิราลัย" กับ "ลำเพา สายสัทกุล" เริ่มตั้งแต่สารวัตรเถื่อน ที่ "ธนุส นิราลัย" สวมรอยเป็นสารวัตรใหญ่ เพื่อทำลายเครือข่ายเจ้าพ่อในอำเภอสมมติ "วัฒนานิมิตร" จ.ชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมี แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ, ประกาศิตอสูร

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ดงเย็น, จันทน์หอม, ลว.สุดท้าย, สารวัตรใหญ่, สันติบาล, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, พรมแดน และหนังสือรวมเรื่องสั้น "สัพเพเหระคดี" เล่ม 1 และ 2 นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ และมีงานเขียนสารคดีเฉลิมพระเกียรติ “รอยพระยุคลบาท: บันทึกความทรงจำของพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี 2524–2543 ก่อนตีพิมพ์รวมเล่มในปี 2544

 

ตำนานละครถูกหั่น "สารวัตรใหญ่" 2537

เพลงประกอบละคร "สารวัตรใหญ่" ฉบับที่ออกอากาศปี 2537
ที่มา: YouTube/เพลงในความทรงจำ

ตัวอย่างละคร "สารวัตรใหญ่" เตรียมออกอากาศทางช่อง 7 ในปี 2561
ที่มา: YouTube/Ch7HD

 

อนึ่งในปี 2537 มีการออกอากาศละคร "สารวัตรใหญ่" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 กำกับโดย นิรัตติศัย กัลย์จาฤก นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล รับบท "พ.ต.ต.ใหญ่ เวโรจน์" ออกอากาศทุกคืนวันพุธและพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 11 พฤษภาคม จนถึงวันพุธที่ 6 กรกฎาคม โดยเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลานั้นเพราะเนื้อหาของละครวิจารณ์การทำงานของวงการตำรวจและผู้มีอำนาจ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าช่วงท้ายๆ ดูไม่รู้เรื่อง เพราะมีการตัดเนื้อหาละครให้จบเร็วขึ้น โดยออกอากาศเพียง 17 ตอน จากเดิมที่วางเอาไว้ 24 ตอน นอกจากนี้ยังมีการรีเมคละคร "สารวัตรใหญ่" เตรียมออกอากาศทางช่อง 7 อีกครั้งในปี 2561 ด้วย

 

ต่อต้านนิติราษฎร์-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงกรณีเนติวิทย์

ในช่วงท้าย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร แสดงจุดยืนต่อต้านนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ โดยในปี 2555 เขียนบทความ "“ว่าด้วยกลุ่มนิติราษฎร์อีกครั้ง” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 3 1 มกราคม 2555 คัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้เขายังได้รับเชิญไปออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กำหนดออกอากาศระหว่าง 11-15 มีนาคม 2556 โดย พล.ต.อ.วศิษฐ์ ออกอากาศตอนที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ส่วนแขกรับเชิญตอนอื่นๆ ประกอบด้วย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญ

อย่างไรก็ตามหลังการออกอากาศตอนที่ 4 ในคืนวันที่ 14 มีนาคม 2556 ที่เป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์กับสุลักษณ์ ก็มีกลุ่มบุคคลไปร้องเรียนถึงสถานีโทรทัศน์ และนำไปสู่การระงับการออกอากาศตอนที่ 5 ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในปลายปี 2556 ช่วงชุมนุมต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นการชุมนุมของ กปปส. นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร ได้เดินทางไปปราศรัยกับผู้ชุมนุมด้วยทั้งเวทีหลักและเวทีย่อย

ในปี 2560 หลังเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิต ต่อมา พล.ต.อ.วสิษฐ ได้เขียนบทความ "เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังถูกทำลายโดยนิสิต" ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 กล่าวหาว่าเนติวิทย์กราบลงบนพื้นแสดงความเคารพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามเป็นความเข้าใจผิดของ พล.ต.อ.วสิษฐ เพราะหลังมีข่าวลือในโลกออนไลน์ ต่อมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม เก่ง การุณ โหสกุล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าเหตุการณ์และภาพดังกล่าว เป็นตัวเขาที่ไปขอขมาคุณหญิงสุดารัตน์ก่อนลาสิกขาบท ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์เดินทางไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนเนติวิทย์ในเวลานั้นได้โพสต์ชี้แจงด้วย ทั้งยังกล่าวว่าจะไม่ว่าอะไร พล.ต.อ.วสิษฐ ซ้ำยังเห็นใจที่ พล.ต.อ.วสิษฐ ตกเป็นเหยื่อของความเท็จ ของสื่อที่บิดเบือน และชราภาพที่ครอบงำ "คุณลุงก็เป็นนักเขียนที่มีคนอ่านพอสมควร ต่อไปขอให้คุณลุงได้เขียนข่าวอย่างรอบคอบกว่านี้ อย่าได้ทำแบบนี้กับผมอีก และคนอื่นๆ อีกเลย" โพสต์ของเนติวิทย์ระบุตอนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net