Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหาร ช่วยทำความคิดของตัวเองให้สอดคล้องกับตัวเองก่อนที่จะไปเถียงกับฝ่ายที่คิดตรงข้ามนะคะ

1) ประโยคยอดฮิต “ถ้าเป็นญาติพี่น้องของคุณที่โดนคนร้ายฆ่า คุณจะรู้สึกอย่างไร” ถ้าดิฉันพนันได้ว่าทุกวงสนทนาจะมีประโยคนี้อยู่ด้วย ดิฉันคงรวยมาก แต่ประเด็นคือเวลาเราตัดสินประเด็นสาธารณะ มันดีแล้วที่เราจะคิดแบบที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย หรือไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องไม่ใช่หรือ ถ้ามีผู้พิพากษาที่ลูกถูกฆ่าตาย ทำไมต้องให้ผู้พิพากษาถอนตัวจากคดีนั้น นี่เป็นเพราะเราคิดว่า เวลาคนเราตัดสินประเด็นเรื่องความถูกผิด หรือตัดสินนโยบายสาธารณะ เราต้องตัดสินเหมือนเป็นผู้ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องไม่ใช่หรือ แน่นอนละ ถ้าใครที่ลูกตายจากอาชญากรรม อาจจะอยากแขวนคอคนที่ฆ่าลูก แค่ทำไมเราถึงคิดว่าความเห็นที่มาจากความแค้นและความเสียใจ มีความชอบธรรมมากกว่าความเห็นของคนที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง นี่แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นวัตถุวิสัยและความเป็นกลาง ไม่ได้หมายความว่าคนที่ตัดสินไม่ควรมีความเห็นอกเห็นใจทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่การเห็นใจในฐานะคนเป็นกลางกับการเสียใจในฐานะเป็นฝ่ายเสียหาย ไม่เหมือนกัน ในการตัดสินประเด็นสาธารณะ จอห์น รอลส์ และ โทมัส ฮอบส์ บอกว่า การตัดสินใจที่ชอบธรรม คือการตัดสินใจที่เราไม่รู้ว่าเราจะเป็นผู้เล่นอยู่ฝ่ายไหนในสถานการณ์นี้ ความยุติธรรมมาจากการไม่เข้าข้างตัวเองไง

2) การที่ฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหาร บอกว่าไม่มีสถิติที่แสดงว่าโทษประหารทำให้อาชญากรรมลดลง แล้วฝ่ายสนับสนุนให้มีโทษประหาร บอกว่า ฝ่ายตรงข้ามพิสูจน์ไม่ได้ว่าโทษประหารไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง (บางคนถึงกับบอกว่า ให้พิสูจน์ว่ามีโทษประหารแล้วอาชญากรรมเพิ่มขึ้น จึงจะยกเลิกโทษประหารได้) อันนี้มันงงไปกันใหญ่นะคะ หลักการใช้เหตุผลพื้นฐานบอกว่า ภาระการพิสูจน์หรือ burden of proof อยู่ที่ผู้กำลังโต้แย้ง คือถ้าคุณถึงกับฆ่าคนเพราะอ้างว่ามันจะทำให้อาชญากรรมลดลง คุณต้องพิสูจน์ว่าคุณคิดถูก ไม่ใช่ให้คนอื่นมาพิสูจน์ว่าคุณผิด เหมือนดิฉันเขื่อว่ามีพระเจ้า ให้คุณมาพิสูจน์เอาสิว่าไม่มีพระเจ้า ไม่ได้ค่ะ ผิดกติกา คนที่กำลังเสนอความคิดใดก็ต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าความคิดนั้นถูกต้องนะคะ

3) อันนี้ทำให้ตกใจมาก จิตตกไปพักหนึ่ง เพราะเป็นคำพูดที่แพร่หลาย และมีนัยที่สำคัญมาก มีทนายสองคนที่ออกทีวีในสองรายการพูดแบบนี้ตรงกัน มีคุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้สนับสนุนโทษประหาร ออกมาพูดเหมือนกันเป๊ะ แต่มันผิดมาก ผิดที่สุด ผิดแบบไม่น่าให้อภัย (หมายถึงผิดตามมาตรฐานของตัวคนพูดเอง) คือเวลาฝ่ายเสนอให้ยกเลิกโทษประหารบอกว่า โทษประหารไม่ดีเพราะมีแพะ คือจับคนผิด ที่อเมริกาก็มี เช่ามีองค์กร The Innocence Project ที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ช่วยคนออกมาจากการประหารที่อเมริกา แสดงว่ามีการจับคนผิด แม้ในประเทศที่มีเทคโนโลยีและมีกฏระเบียบดีกว่าเราก็มีจับคนผิด (เควิน เสปซี่ เล่นหนังดีที่กล่าวถึงประเด็นนี้ ชื่อ The Life Of David Gale)

ฝ่ายสนับสนุนโทษประหาร (เป็นทนายด้วย) ออกมาพูดสิ่งที่ชวนแตกตื่นมาก คือบอกว่า แพะเป็นส่วนน้อย ไปเยียวยาเอาทีหลัง ไปจับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องเอาทีหลัง กฏหมายเขาเขียนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนมาก จะเอาประโยชน์คนส่วนน้อยมาขัดประโยชน์คนส่วนมากได้อย่างไร กล่าวคือแม้ประหารแพะบ้างก็ยอม เพื่อให้คนทำผิดจริงๆถูกประหารด้วย อันนี้ทำให้สลดใจกับความไม่สอดคล้องในความคิดของสังคมไทย คือก่อนอื่นต้องพูดถึง ความคิดที่ถือกันว่าเป็นหลักนิติธรรมพื้นฐาน คือมีนักกฏหมายชาวอังกฤษ William Blackstone ศตวรรษที่ 18 ศึกษาระบบกฏหมายของอังกฤษแล้วก็พูดถึงหลักการที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว” ประเทศสมัยใหม่ปัจจุบันที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยต่างยอมรับหลักการนี้ คือหัวใจมันอยู่ที่ว่า บุคคลเอามาใช้เป็นเครื่องมือไม่ได้ เอาประโยชน์ของบุคคลมาเสียสละให้รัฐไม่ได้ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองคนทุกคน ไม่ใช่เอาคนมาเสียสละให้รัฐ รัฐที่ไม่คิดแบบนี้ คือประเทศอย่างจีน ไม่ได้บอกว่าจีนดีหรือไม่ เพียงแต่บอกว่านี่เป็นวิธีคิดที่ไปทางเดียวกัน หลักกฏหมายของประเทศเรา ซึ่งเอาแบบมาจากตะวันตก มีความคิดประเภทที่ว่า บุคคลถูกถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิดโดยศาล มีความคิดประเภทที่ว่าตำรวจไม่มีสิทธิยัดเยียดข้อหา ตำรวจจะหาหลักฐานได้ตามระเบียบวิธีที่กฏหมายกำหนด นอกไปจากนั้นหลักฐานจะใช้ในศาลไม่ได้ แม้หลักฐานจะพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหา แต่ถ้าได้มาอย่างผิดไปจากวิธีที่กฏหมายกำหนดก็ใช้ในศาลไม่ได้ เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าถึงแม้การสร้างหลักฐานปลอมจะจับคนร้ายได้จริงในคดีหนึ่ง แต่ในคดีอื่นๆการสร้างหลักฐานปลอมจะทำให้คนบริสุทธิ์เดือดร้อน เราไม่เอาคนบริสุทธิ์ในคดีหนึ่งไปเสียสละเพื่อจะจับคนร้ายในคดีอื่นๆ (แม้จะจับคนร้ายได้บ่อยกว่าที่จะปรักปรำผู้บริสุทธิ์)

เราเห็นอยู่แล้วว่าถ้าศาลคิดว่า มี reasonable doubt คือมีเหตุอันควรสงสัย แต่แทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลย กลับใช้วิธีคิดแบบข้างต้นนี้ คือคิดว่าตัดสินผิดตัวไม่เป็นไร เพราะโดยรวมแล้วถูกมากกว่าผิด แม้จะมีเหตุอันควรสงสัยศาลก็ต้องลงโทษอยู่ดี เพราะความเป็นไปได้มีมากกว่า ที่ผู้ต้องหาเป็นคนผิดจริง และเราไม่ควรบอกอีกต่อไปว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะลงโทษ เพราะต่อให้มีผู้บริสุทธิ์อยู่บ้าง แต่คนที่ถูกสงสัย ถูกจับโดยตำรวจ มีที่ผิดมากกว่าไม่ผิด โดยวิธีคิดเดียวกัน เราก็ต้องขอให้แพะเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ทำไมสังคมโลกจึงคิดว่าปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าตัดสินผิดคนเดียว หนึ่งคือเป็นเพราะถ้าใช้วิธีของรอลส์และฮอบส์ ว่าเราไม่รู้เราจะเป็นคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ คือเป็นคนที่ญาติเราถูกฆ่าแล้วคนร้ายลอยนวล กับเป็นแพะที่ถูกโทษประหาร ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร รู้แต่เป็นหนึ่งในสองคนนี้ เราอยากให้มีโทษประหารหรือไม่ เชื่อว่าคนที่รักชีวิตทุกคนตอบว่าไม่อยากให้มีโทษประหาร เพราะการที่รัฐเอาชีวิตเราไปโดยเราไม่ผิด แย่กว่าการที่รัฐไม่ลงโทษคนผิดให้เรา

อีกเหตุผลหนึ่งคือ แม้เราจะตัดสินโดยให้ปัจเจกบุคคลเสียสละให้รัฐ เราก็ต้องมองภาพรวม มากกว่าสถานการณ์ใดสถานการณ์เดียว แม้ให้ความเป็นธรรมในสถานการณ์นี้ แต่ถ้าหลักคิดของรัฐคือปัจเจกบุคคลถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ถูกสละให้ประโยชน์ส่วนรวมได้ ถึงที่สุดก็ไม่มีปัจเจกคนไหนมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีความมั่นคงในเสรีภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้นประโยชน์โดยรวมก็ไม่เกิดอยู่ดี เพราะปัจเจกแต่ละคนถูกลดทอนเป็นเครื่องมือได้ สวัสดิภาพของเขาไม่มีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นจะเห็นว่าการประกันความเป็นธรรมให้แต่ละคน โดยไม่เรียกร้องให้บุคคลเสียสละสวัสดิภาพของตนให้สังคม กลับประกันประโยชน์ของสังคมเอง

ดิฉันไม่ได้ว่าทุกคนต้องเห็นดีเห็นงามกับเสรีนิยมประชาธิปไตย เพียงแต่อยากชี้ว่า สิ่งที่เราพูดในประเด็นเฉพาะ เช่นเรื่องเรารับได้ที่คนบริสุทธิ์จะถูกประหาร เพราะมีจำนวนน้อยกว่าคนผิดที่ถูกประหาร มีนัยกว้างขวางกระทบกระเทือนถึงเสาหลักของระบบการปกครองและระบบกฏหมาย แค่อยากให้เราเข้าใจตรรกะในสิ่งที่ตัวเองพูด และแสดงความคิดที่สอดคล้องกับความเชื่ออื่นๆของตัวเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net