Skip to main content
sharethis
สื่อมาเลเซียรายงานว่าการสั่งแบนนำเข้าพลาสติกของจีน ซึ่งแต่เดิมเป็นประเทศที่รับรีไซเคิลขยะพลาสติกรายใหญ่จากอังกฤษส่งผลให้ภาระตกมาเป็นของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน เช่น มาเลเซียที่รับภาระจากพลาสติกเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า ขณะที่ไทยรับเพิ่มมากขึ้นถึง 50 เท่า
 
23 มิ.ย. 2561 สื่อฟรีมาเลเซียทูเดย์รายงานว่าหลังจากที่ประเทศจีนประกาศแบนการนำเข้าพลาสติกตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว สหราชอาณาจักรก็หันมาส่งออกขยะพลาสติกให้กับมาเลเซียแทน ทำให้มาเลเซียแบกรับขยะเหล่านี้มากกว่าเดิม 3 เท่า และส่งผลให้มาเลเซียกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกจากอังกฤษแหล่งใหญ่ที่สุด 
 
แต่ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยน่า รับขยะพลาสติกจากอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า ส่วนเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 สื่อดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นแหล่งติดอันดับ 10 อันดับ แรกที่มีการรับนำเข้าพลาสติก โดยประเทศส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดขยะทางทะเลคือประเทศกำลังพัฒนา
 
ถึงแม้ว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตั้งการจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศแล้ว โดยมีมาตรการสั่งแบนชั่วคราวในเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย หลังจากที่มีขยะพลาสติกนำเข้าตกค้างเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าการที่จีนสั่งแบนการนำเข้าขยะพลาสติกเข้าประเทศตัวเองล่าสุดก็ทำให้ประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกจำนวนมากอย่างอังกฤษหันมาส่งออกไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้แทน
 
จากเดิมที่อังกฤษเป็นผู้ส่งออกพลาสติก 494,000 ต้น และกระดาษรีไซเคิล 1.4 ล้านตัน ให้กับจีน แต่หลังจากที่จีนสั่งแบนการนำเข้าก็ทำให้อังกฤษส่งออกขยะเหล่านี้ไปให้ที่อื่น ไซมอน เอลลิน ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมรีไซเคิลอังกฤษเคยเตือนตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2560 ว่าการที่จีนสั่งแบนการนำเข้าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอังกฤษในเรื่องนี้
 
ประเทศเวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และไทย ต่างก็เป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดึงดูดนักลงทุนจากจีนในภาคส่วนการรีไซเคิลพลาสติกมาตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อให้ช่วยทำแทนในส่วนที่จีนทำไม่ได้ สื่อรอยเตอร์เคยรายงานว่ามาเลเซียมีขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น 450,000-500,000 ตัน ในปี 2560 เทียบกับ 288,000 ตันในปี 2559
 
งานรีไซเคิลพลาสติกคือการนำพลาสติกมาแยกออกเป็นชิ้นๆ ทำความสะอาด และแยกออกเป็นพลาสติกเรซินต่างๆ กัน ก่อนที่จะทำเป็นก้อนเล็กเพื่อนำไปหลอมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
 
จากรายงานของวารสารไซเอนซ์ในปี 2558 ระบุว่าจากปริมาณขยะพลาสติกมากขนาดนี้พวกมันจะกลายเป็นเศษซากในท้องทะเล สร้างปัญหาใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสัตว์น้ำ
 
อย่างไรก็ตามสำหรับคนทำงานรีไซเคิลพลาสติกแล้วเขาบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวพลาสติกเองที่เป็นมลภาวะแต่ปัญหามาจากการขาดความรู้เรื่องพลาสติกว่ามันนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร คนทำงานรีไซเคิลบอกว่าพลาสติก "เป็นสิ่งที่มีมูลค่าซ่อนอยู่ในตัวมาก"
 
ทางด้านนักการเมืองท้องถิ่นมาเลเซีย ซุไลดา คามารูดดิน ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่นมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความตั้งใจอยากเสนอให้สั่งแบนพลาสติกทั่วประเทศเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้กระเป๋าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
China ban sees UK plastic waste exports to Malaysia trebling, Free Malaysia Today, 21-06-2018
 
UK now exporting more waste to countries with highest levels of ocean plastic pollution, The Independent, 17-06-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net