Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้เปิดรายงานล่าสุด พบนายทหารกองทัพพม่ารวมทั้ง ผบ.สส. พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการโจมตีชาวโรฮิงญา จนทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพมากกว่า 7 แสนคน พร้อมให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชา และการตรึงกำลังพลของกองทัพพม่า รวมทั้งการจับกุม การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ก่อนที่วิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญารอบล่าสุด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ เพื่อเอาผิดกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าและบุคคลอีก 12 คนในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างการล้างเผ่าพันธุ์ประชากรชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่

รายงานนี้มีชื่อว่า “เราจะทำลายทุกอย่าง”: ความรับผิดชอบของกองทัพต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐยะไข่, พม่า (We Will Destroy Everything”: Military Responsibility for Crime Against Humanity in Rakhine State, Myanmar) เรียกร้องให้มีการยื่นกรณีที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า ไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อการสอบสวนและดำเนินคดี [อ่านรายงานฉบับภาษาอังกฤษ]

แมทธิว เวลส์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิกฤตแห่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งการสังหารบุคคล การข่มขืนกระทำชำเรา การทรมาน การเผาและบังคับให้ต้องอดอาหาร ที่เป็นการกระทำของกองกำลังความมั่นคงของพม่าในหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั่วตอนเหนือของรัฐยะไข่ ไม่ได้เป็นแค่การกระทำของทหารหรือหน่วยทหารที่ประพฤติมิชอบเพียงบางส่วน หากมีพยานหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันว่าการกระทำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วางไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อโจมตีทำร้ายประชากรชาวโรฮิงญา

“คนที่มือเปื้อนเลือดทุกลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชา จนถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย ต้องรับผิดชอบจากบทบาทของตน ในการบังคับบัญชาและมีส่วนก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

ในรายงานฉบับนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังระบุชื่อเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาเก้านายของผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า และชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ชายแดนสามนาย ซึ่งมีบทบาทในปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้

ผลจากการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นเวลาเก้าเดือน ทั้งในพม่าและบังคลาเทศ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฉบับนี้ นับเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากสุด ให้รายละเอียดว่ากองทัพพม่าได้ใช้กำลังบังคับผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กกว่า 702,000 คน หรือกว่า 80% ของประชากรชาวโรฮิงญาในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ให้ต้องหลบหนีไปยังบังคลาเทศนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้

รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชา และการตรึงกำลังพลของกองทัพพม่า รวมทั้งการจับกุม การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชายชาวโรฮิงญาเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยกองกำลังความมั่นคง ซึ่งเกิดขึ้นหลายสัปดาห์ก่อนวิกฤตครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net