Skip to main content
sharethis

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เผยถูกผู้บริหารคณะบอกผ่านเพื่อนร่วมงาน ไม่ให้จัดเสวนาวิชาการเรื่องงานแปล กรณี 'ไทม์' สัมภาษณ์ประยุทธ์ เหตุเกี่ยวการเมือง หวั่นไม่เป็นวิชาการ ชี้ ไม่ควรห้ามปากเปล่าเพราะทำให้หลายเรื่องไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่กระทำกับนิสิตกรณี ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ อ้าง ถูกห้ามจัดกิจกรรมแปลไทม์ให้ประวิตรฟัง

เมื่อ 27 มิ.ย. ผศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสท์บนหน้าวอลล์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าถูกทางผู้บริหารขอร้องมาอย่างไม่เป็นทางการไม่ให้จัดกิจกรรมวิชาการเรื่องการแปล สืบเนื่องจากข่าวที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับนักข่าวว่าไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในนิตยสารไทม์เนื่องจากอ่านไม่ออก

วาสนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ธนวัฒน์ วงศ์ชัย ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ออกมาโพสท์เฟซบุ๊กว่าถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้เลื่อนจัด หรือให้ย้ายไปจัดกิจกรรม ‘แปลภาษาอังกฤษให้ประวิตรฟัง’  ที่นอกรั้วจุฬาฯ ตนก็ได้หารือกับศูนย์การแปลล่ามเฉลิมพระกียรติของคณะอักษรฯ จุฬาฯ ว่าจะจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการชื่อ “การเมืองเรื่องการแปล ประชาธิปไตยจากมุมมอง Time Magazine” โดยจะเป็นการคุยกันว่าควรจะแปลข่าวหรือสารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร ในกรณีไทม์ที่เขียนเรื่องของประเทศไทย เวลาแปลจะมีปัญหาการเมืองเกี่ยวกับการแปลอย่างไร สื่อควรนำเสนออย่างไร ตั้งใจเชิญนักวิชาการทางด้านการแปล ด้านสื่อ อาจจะมีนักแปลอิสระมานั่งคุยกันเป็นงานวิชาการ

ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ เลิกจัดแปล 'ไทม์' ให้ประวิตรฟังเหตุผู้บริหารขอมา มหา'ลัยปัดห้าม

หน้าปกนิตยสารไทม์ ฉบับที่มีบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยเมื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) วาสนาได้เขียนโครงการส่งให้ผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์เนื่องจากจะขอจัดในนามหน่วยงานของจุฬาฯ ต่อมาเมื่อตอนเที่ยงได้สอบถามไปยังเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์การแปลฯ ก็ได้รับแจ้งมาว่าผู้ใหญ่ขอว่าอย่าจัดเพราะมีความสุ่มเสี่ยงเนื่องจากเป็นเรื่องการเมืองและกลัวว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งตนก็ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารควรประกาศให้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน

“ที่รู้สึกไม่ค่อยถูกต้องเพราะมีประเด็นนิสิตจะจัดงานแปลอังกฤษให้ประวิตรฟังแล้วก็บอกว่าถูกผู้บริหารห้ามไม่ให้จัด ต่อมาจุฬาฯ ก็มีแถลงการณ์ว่าไม่ได้ห้าม นิสิตโกหก ถ้าเขามาบอกว่าห้ามจัดแต่ไม่มีหลักฐานเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรก็แย่เหมือนกัน แต่อันนี้นิสิตก็ออกมาบอกว่าโดนห้ามไม่ให้จัดจริงๆ”

“พอถึงเวลางานเราเองก็ส่งเอกสารขอให้จัด แต่พอจะไม่ให้จัดก็เป็นการบอกกันปากเปล่า ก็รู้สึกว่าตกลงจะเชื่อได้ไหม เราจะจัดการกับความไม่ชัดเจนเหล่านี้อย่างไรในเมื่อไม่รู้ว่าโดนแบนหรือไม่โดนแบน”

“ที่เพื่อนบอกต่อๆ มาอย่างไม่เป็นทางการคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กลัวจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนเราไม่ได้ทำเป็นงานวิชาการจริงๆ ตัวเองก็รู้สึกว่าถ้าผู้บริหารมีความรู้สึกอย่างนั้นก็ควรประกาศออกมาเลยว่าอย่าทำ เข้าใจว่าทำไมเขาไม่อยากประกาศ เพราะถ้าประกาศออกมาเลยก็จะเหมือนว่าไม่เชื่อมั่นในบุคลากรทางวิชาการของตัวเองว่าจะมีความเป็นวิชาการมากพอก็ดูไม่ดี ก็ไม่รู้เหมือนกัน” วาสนากล่าวเพิ่มเติมกรณีที่ถูกขอไม่ให้จัดกิจกรรม

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขอจัดงานแล้วไม่ได้จัดเป็นเรื่องปรกติในกรณีที่มีข้อท้วงติงให้แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ แต่ตนไม่พอใจกับความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ธนวัฒน์ที่เป็นนิสิต ถูกห้ามจัดกิจกรรมอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า

“ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่ขอจัดงานแล้วไม่ได้จัด เพราะมันก็เคยเกิดมาแล้วและมันก็คงจะเกิดอีก แต่ที่รู้สึกแย่มากๆ เพราะไม่พอใจแถลงการณ์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่บอกว่านิสิตโกหก เขาอาจจะโกหกจริงๆ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นไปได้ไหมว่าเขาโดนเหมือนเรา และเขา (ธนวัฒน์) ก็ประกาศออกมาว่าเขาโดนอย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็ออกมาประกาศว่าไม่เคยห้าม สรุปธนวัฒน์โกหกหรือเปล่า ถ้าธนวัฒน์โกหกจริงก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าธนวัฒน์ไม่ได้โกหก แบบนี้มันคือผู้ใหญ่รังแกเด็กแบบขี้โกงซึ่งเรารู้สึกไม่ดี”

“ถ้าจะแบนก็กรุณารับผิดชอบกับการตัดสินใจที่จะแบนหน่อย ถ้าจะไม่แบนก็ให้เขาจัดไป (กรณีธนวัฒน์) ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ สั่งไม่ให้จัด แล้วพอเขาบอกว่าจุฬาฯ บอกว่าไม่ให้จัด แล้วค่อยออกมาปฏิเสธ มันไม่เหมาะสม” วาสนากล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดวานนี้ (28 มิ.ย.61) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เผยแพร่ (ถอดเทป) บทสัมภาษณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ นิตยสารไทม์ ซึ่งสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นการถามตอบระหว่างผู้สัมภาษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ระบุส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งการบริหารงาน การละเมิดสิทธิ การตรวจสอบและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเรียกว่า "สฤษดิ์น้อย (Little Sarit)" ตามชื่อของ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทยขณะนั้นด้วย

โดยบทสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ. ประยุทธ์ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทย ในเว็บไซต์ไทม์ยังสามารถเข้าถึงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net