Skip to main content
sharethis

โฆษกพรรคอนาคตใหม่ชี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้สนับสนุนพรรคโดนคุกคาม ระบุหากเกิดกรณีแบบนี้อีกก็จะออกแถลงการณ์อีกเพื่อให้สื่อรับรู้ ยันไม่หยุดที่จะพบปะประชาชน ชี้ไม่รู้จะจัดตั้งพรรคมาทำไม หากมีพรรคแล้วไม่ได้ทำอะไร พร้อมชวนย้อนดูเหตุการณ์ของพรรคอื่นที่โดน คสช. ตักเตือนหลังทำกิจกรรมการเมือง 

(ภาพจากเพจ อนาคตใหม่ - the future we want) 

2 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่ ภิศิษฐ์ วงศ์ทอง รองนายก อบต.น้ำพี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ถูกกดดันจากองค์กรที่สังกัด โดยข้อกล่าวหาว่าเขาเข้าร่วมการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง หลังจากที่รองนายก อบต. น้ำพี้ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่พาธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เดินทางไปพบปะประชาชนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจากคนในท้องถิ่น

 “ทำให้ล่าสุด ภิศิษฐ์ ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบต.น้ำพี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรสามารถเดินหน้าไปได้ แม้จะยืนยันว่าการเข้าร่วมสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของชาวอุตรดิตถ์ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่สามารถทำได้โดยไม่ควรถูกคุกคามโดยรัฐ” แถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ระบุ

ประชาไทสัมภาษณ์ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเธอเพิ่มเติมรายละเอียดว่า ทางพรรคได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ไปทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก ซึ่งทางภาคเหนือพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องการเกษตร สิทธิที่ดินทำกิน สินค้าเกษตรราคาตก  โดยการลงพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีตำรวจทหารมาสังเกตการณ์แต่ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อกลับมา ภิศิษฐ์ รองนายก อบต.น้ำพี้ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกไปคุย และมีการกดดันว่าทำผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน และกดดันอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดต้องทำหนังสือลาออกจากการเป็นรองนายก อบต. เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

พรรณิการ์ชี้ว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่โดนคุกคาม แต่ก่อนหน้านี้สมาชิกพรรคก็ถูกคุกคามในหลายพื้นที่ ก่อนหน้านี้เราก็มีแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กรณีนี้เป็นกรณีแรกที่ต้องมีการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะภิศิษฐ์เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคและเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่อื่นส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านปกติ ซึ่งก็ถูกคุกคามเช่นกัน เพียงแต่ไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกรณีนี้ และพวกเขาก็ค่อนข้างชินจากการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้จัดการประชุมจัดตั้งพรรค ซึ่งมีสมาชิกพรรคมาเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ในวันงานมีเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปทะเบียนรถทุกคันที่จอดอยู่บริเวณห้องประชุม หลังจากนั้นเมื่อสมาชิกกลับไปในพื้นที่ สมาชิกหรือแม้แต่สมาชิกที่เป็นเครือข่ายเยาวชนโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานถูกเจ้าหน้าที่ตามไปที่บ้านและคุกคามทำให้หวาดกลัว โดยกล่าวในทำนองว่า การไปประชุมแบบนี้เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและทำไม่ได้ ในขณะที่ความเป็นจริงคือการประชุมครั้งนี้นั้นถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้ขออนุญาตการประชุมจาก คสช. ผ่าน กกต. เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

“เรายืนยันที่จะลงพื้นที่ต่อไป คงไม่หยุดที่จะไปพบปะกับประชาชน เพราะพรรคการเมืองเราเป็นพรรคใหม่ แล้วก็มีเวลาไม่มากจนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง หน้าที่ของพรรคการเมืองคือการลงไปพบคนในพื้นที่เพื่อดูว่าปัญหาคืออะไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราจะจัดตั้งพรรคการเมืองมาทำไม ถ้าเราจะตั้งเสร็จแล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เราก็คงต้องเผชิญกับ คสช. ไปแบบนี้ ถ้าสมาชิกถูกคุกคามแบบนี้อีก คือกระทบกับชีวิตของเขาอย่างหนัก เช่น ต้องออกจากงาน เราก็ทำได้เพียงการออกแถลงการณ์แบบนี้ออกมา เพราะเอาเข้าจริงเราไม่ได้มีอาวุธหรืออำนาจที่จะไปสู้รบปรบมือกับ คสช. ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อเราแถลงการณ์และสื่อให้ความสนใจ ก็จะทำให้ คสช. ต้องคิดมากขึ้นในการจะทำอะไรโจ่งแจ้งแบบนี้” พรรณิการ์กล่าวทิ้งท้าย

ช่วงเวลาขณะนี้ที่ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ยังห้ามการแถลงนโยบายหรือการหาเสียง การลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนดูจะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลือสำหรับทุกพรรคการเมือง และไม่ใช่เพียงแค่พรรคอนาคตใหม่ที่ประสบปัญหา สุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตหลักสี่ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยสาขาเขตหลักสี่ ก็เจอคำสั่งของผอ.เขตหลักสี่ อ้างคำสั่ง คสช. ไม่ให้มีกิจกรรมการเมือง สั่งห้ามขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของพรรค รวมถึงกิจกรรมฉีดยุง วัคซีนหมาแมว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว 16 ต.ค. 60 เกิดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จากกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนย่านลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ เขตลาดพร้าว เขตบางเขน ร่วมงาน “ดอกดาวเรืองแทนดวงใจ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” โดยติดชื่อตนเองที่รถขยายเสียง มีรถนำขบวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่าจะให้ คสช.พูดคุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ในเรื่องนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในแฟนเพจเฟซบุ๊คของตนเองโดยมีข้อความบรรยายว่า ได้นำสับปะรดที่ซื้อโดยตรงจากเกษตรกรชาวไร่สับปะรดมาแจกประชาชนในย่านพระราม 8 ซึ่งเป็นเขตฐานเสียงของรัชดา โดยในวิดีโอนั้นเป็นภาพของรถขนสับปะรดที่มีรูปและชื่อของ รัชดา ธนาดิเรก ในฐานะพรรคประชาธิปัตย์อยู่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เกิดการตีความว่าผิดประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ หรือผิดคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net