Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นประมาท บ.ธรรมเกษตรฯ เหตุใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอันเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'NSP LEGAL Office

11 ก.ค.2561 สำนักกฎหมายเอ็น เอส พี รายงานผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'NSP LEGAL Office' ว่า วันนี้ (11 ก.ค.61) ศาลแขวงดอนเมือง อ่านคำพิพากษาคดีระหว่าง บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องแรงงานข้ามชาติ จำนวน 14 คน เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็น การทำงานของจำเลยทั้ง 14  ฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 14 ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน จริง โดยพิจารณาจากเอกสารที่แรงงานทั้ง 14 อ้างถึงซึ่งได้แนบไปพร้อมคำร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ได้ไปให้การกับพนักงานตรวจแรงงาน ดังนั้นข้อความในหนังสือร้องเรียนที่แม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาพักผ่อนอย่างละเอียดจึงไม่ใช่การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริง

ประเด็นการทำงานล่วงเวลา ศาลพิจารณาว่า จำเลยมีการทำงานล่วงเวลาจริง เห็นจากรายการในบัตรลงเวลาการทำงานโดยเฉพาะในเดือน พค 59 ที่มีการระบุด้วยลายมือเเทนการลงเวลาในเครื่องอัตโนมัติว่า “เครื่องเสีย” ซึ่งศาลเห็นว่าหากโจทก์ไม่ให้จำเลยทำงานล่วงเวลาจริงก็ไม่จำเป็นต้องให้ลงเวลาในบัตรดังกล่าว ประกอบกับจำเลยรับว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้จำเลยเข้าไปทำงานในเวลากลางคืน และพนักงานของ บ.บีฟูดส์ฯ ได้ให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานฯว่าช่วงไก่อนุบาล จำเป็นต้องมีการทำงานในตอนกลางคืน จริงเป็นการให้การที่รับฟังได้

ประเด็นค่าจ้าง ศาลพิจารณาว่า โจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยต่ำกว่าอัตราจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากการพิจารณาเอกสาร การสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานประกอบกับพิพากษาของศาลแรงงานที่สอดคล้องต้องกันในเรื่องของการจ่ายค่าจ้างว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ประเด็นเรื่องการยึดบัตร ศาลพิจารณาว่าแม้ กสม จะมีรายงานผลการตรวจสอบสรุปว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีที่แรงงานถูกยึดเอกสารและถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่ศาลเห็นว่า กสม ไม่ได้พิจารณาว่าข้อความตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยนั้นเป็นเท็จหรือไม่อย่างไรจึงยังไม่พอฟังว่าการร้องเรียนของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของทั้งสองฝ่าย ศาลฟังได้ว่าแม้จำเลยจะสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้แต่จะต้องขออนุญาตและขอหนังสือเดินทางจากพนักงานของโจทก์ล่วงหน้าและไม่สามารถเดินทางกลับในระหว่างที่มีไก่ในฟาร์มได้อีกทั้งโจทก์รับว่ามีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขับรถรับส่งจำเลยไปตลาดเพียงสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้จำเลยรู้สึกว่าพวกตนถูกจำกัดเสรีภาพได้ ประกอบกับภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งและเบิกว่าเป็นภาพถ่ายขณะลงลายมือชื่อรับเอกสารประจำตัวจากพนักงานของโจทก์โดยโจทก์มิได้นำพนักงานคนดังกล่าวมาเบิกความโต้แย้ง ประกอบกับพนักงานตรวจแรงงานได้เบิกความว่าได้ขอตรวจดูเอกสารประจำตัวของแรงงานต่อผู้แทนของโจทก์ซึ่งผู้แทนของโจทก์เป็นคนนำเอกสารดังกล่าวมาให้ดังนั้นจึงเชื่อว่าเอกสารของแรงงานทั้ง 14 มีผู้แทนของโจทก์ยึดไว้จริง

ดังนั้น ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน เพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอันเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีตามครรลองคลองธรรม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net