Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานรถไฟลงสำรวจพื้นที่หลัง รฟท.สั่งเดินหน้าเร่งแผนมักกะสันรับลงทุนแสนล้าน พบ 'ทำเลทอง' ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีแม่น้ำ ถ.พระราม 3 เนื้อที่ 227 ไร่ ว่าจ้างที่ปรึกษาหลายครั้งปัจจุบันเป็นภูเขาขยะ ย้ำสหภาพแรงงานเห็นด้วยนำที่ดิน รฟท. มาทำประโยชน์

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้ลงพื้นที่ 'ย่านสถานีแม่นํ้า' พบกลายเป็น 'ภูเขาขยะ'

12 ก.ค. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพื่อรองรับการลงทุน เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าในพื้นที่มักกะสันซึ่งจะมีมูลค่านับแสนล้านบาทนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำข้อสรุปแผนพัฒนาพื้นที่แปลงเอราว 140 ไร่ซึ่งต้องยกให้เอกชนที่เข้ามาพัฒนารถไฟไฮสปีด เบื้องต้นจะยกที่ดินให้เอกชนราว 100 ไร่ ขณะที่อีก 40 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่พวงรางไปสู่ศูนย์ซ่อมภายในพื้นที่มักกะสันนั้น รฟท.จะเป็นผู้รับผิดชอบตามเดิม

ส่วนด้านแผนการย้ายบ้านพักพนักงานและโรงซ่อมบำรุงในพื้นที่มักกะสันนั้น รฟท.ได้เตรียมพื้นที่สองแปลงใหญ่จำนวนมากกว่า 100 ไร่ไว้รองรับประกอบด้วย 1.พื้นที่บริเวณ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 2.พื้นที่บริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่รูปแบบธุรกิจการเดินรถในอนาคตนั้นรฟท.จะแบ่งแยกระหว่างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟดีเซลกับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าให้ตั้งอยู่คนละที่กันเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาย่านศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรด้านรถไฟฟ้าและรถไฟดีเซลรองรับโครงการรถไฟสายใหม่อีกหลากหลายเส้นทางในอนาคตที่จะมีการเปิดเดินรถทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟขนส่งสินค้า รถฟ้าชานเมืองและรถไฟความเร็วสูง (อ่านเพิ่มเติม: รฟท.สั่งเดินหน้าเร่งแผนมักกะสันลงทุนแสนล้าน, ไทยโพสต์, 3/7/2561)

สหภาพแรงงานรถไฟลงสำรวจพื้นที่พบ 'ทำเลทอง' ติดแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นภูเขาขยะ

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้ลงพื้นที่ 'ย่านสถานีแม่นํ้า' และได้ระบุว่าที่ดินจุดนี้ถือว่าเป็นทำเลทองในเขตกรุงเทพฯ โดยที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำในพื้นที่แห่งนี้น่าจะประมาณสัก 200 กว่าไร่ ด้านข้างจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือขนาดใหญ่ผ่านได้ แสดงว่ามันสามารถที่จะทำท่าเรือน้ำลึกได้ และพื้นที่แห่งนี้เคยผ่านการว่าจ้างที่ปรึกษาหลายครั้งแต่ในท้ายที่สุดมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันพบว่าที่จุดนี้กลายเป็น 'ภูเขาขยะ' ทั้งๆ ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ให้ รฟท. โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินได้

"ใต้ภูเขาขยะเหล่านี้ มันจะมีทรัพย์สินของการรถไฟซ่อนอยู่รึเปล่า ถ้าฟังจากคนที่ดูแลในพื้นที่ เขาบอกว่ามีทรัพย์สินของรถไฟ แคร่บ้าง ล้อบ้าง ซากรถบ้าง ก็คงใช่ กองขยะแห่งนี้ แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่า ไม่รู้ว่าเป็นกองขยะพิษรึเปล่า เป็นขยะพิษ อย่างที่เคยเกิดในที่แถวชลบุรีรึเปล่า ซึ่งก็น่าเสียดายนะครับว่าเรากำลังพูดถึงภาวะการขาดทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย เราพูดถึงหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเราก็พูดกันมาโดยตลอดว่า หนี้สินของการรถไฟที่เกิดขึ้นนั้นหลักๆ ก็เกิดขึ้นจาก เรื่องของการบริการในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ต้นทุนต่อ 1 กิโลเมตร ผู้โดยสารเดินทาง 1 คนเนี่ย ต้นทุนของการรถไฟก็จะมีอยู่ที่ประมาณ 2.50 บาท ในขณะนี้ แต่การรถไฟถูกรัฐบาลให้เก็บค่าโดยสารเพียง 24 สตางค์ ต่อ 1 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน 30 กว่าปี นะครับ รถไฟไม่เคยได้ปรับค่าโดยสารก็เลยทำให้เกิดภาวะหนี้สินที่มันพอกพูนขึ้นมาเป็นแสนสามหมื่นกว่าล้านบาท"

"ในขณะนี้เขามีความพยายามกันว่า เอ๊ะ! จะแก้หนี้กันยังไงนะครับ แล้วก็มีแนวคิดหนึ่งซึ่งสหภาพแรงงานฯ ก็เห็นด้วยในการเอาที่ดินมาดำเนินการแก้หนี้นอกเหนือจากการที่จะไปบอกรัฐบาล หรือรัฐบาลต้องแถลงความจริงแก่สังคมว่า เหตุที่รถไฟเป็นหนี้เพราะอะไร แล้วก็ถ้าจะเป็นหนี้ต่อไปเนี่ย สังคมต้องยอมรับได้ว่ามันเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐไม่ใช่ว่ามาโทษพนักงานว่าบริหารไม่ดีดำเนินการไม่ดีซึ่งเป็นพนักงานส่วนใหญ่ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่โดยตลอด" นายสาวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้นายสาวิทย์ยังระบุว่าสหภาพแรงงานฯ เห็นด้วยกับแนวคิดนำเอาที่ดินของ รฟท. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาหารายได้ มาเพิ่มมูลค่า เพื่อเอาเงินเหล่านั้นไปพัฒนาบำรุงกิจการ รฟท.

"อยากจะบอกนะครับกับผู้ที่เกี่ยวข้องบอกกับพี่น้องประชาชนพี่น้องสื่อมวลชนทั้งหลายว่าการพิจารณาการฟื้นฟูรถไฟเป็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำแล้วก็ต้องรีบทำ แล้วก็ปัญหาเรื่องภาวะหนี้สินที่รัฐบาลยังคงค้างชำระต่อการรถไฟ แล้วก็ด้านหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับสังคมแล้วก็ชี้แจงกับสังคมซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารการรถไฟ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง รัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งก็คือว่าที่ดินของการรถไฟทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นที่อุบลราชธานี ที่บุ่งหวาย บ้านโพธิ์มูลที่เราลงไปดูกัน แม้กระทั่งที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ ทั้งหมด วันนี้ยังคงเป็นที่บุกรุกของกลุ่มทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่เชียงใหม่ ที่พิษณุโลก ที่หาดใหญ่ แล้วก็อีกหลายพื้นที่ซึ่งยังสามารถที่จะหาประโยชน์หารายได้จากมูลค่าของที่ดินเหล่านั้น เพื่อที่จะมาดำเนินการเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระหนี้สินที่รถไฟต้องแบกรับจากการบริการในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนก็จำเป็นต้องต้องหาแนวทางในการแก้ไข"

"ซึ่งสหภาพก็พยายามอย่างเต็มที่นะครับ ในการที่จะช่วยเหลือผู้บริหารนะครับมีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะสนับสนุนการพัฒนากิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะว่าเราไม่ได้ไปขัดขวางการพัฒนาอะไร ผมว่าการพัฒนานั้นต้อง ต้องดูจากความเป็นจริงนะครับ เอาความจริงมาคุยกันแล้วมาแก้กันว่าจะเป็นแบบไหน ท้ายที่สุดมันยอมรับกันได้แค่ไหน ในแง่ของนโยบายของรัฐบาลมันยอมรับกันได้แค่ไหน ในเรื่องของภาวะหนี้สิน แต่ท้ายที่สุดเนี่ย ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่หลายคนบอกว่าเป็นพื้นที่ทำเลทองจะมีการบริหารจัดการยังไง โดยเฉพาะที่แห่งนี้นะครับ ก็ขอย้ำว่ามันได้ผ่านการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาก็เอามาสะสางทำมาสเตอร์แพลนทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่างในหลายครั้งที่ผ่านมา หลายสถาบัน หลายสำนัก ท้ายที่สุด มันก็จบลงเพียงแค่กองขยะอย่างที่เราเห็น แล้วที่สุดแล้วเนี่ยมันจะแก้ไขปัญหากันยังไงอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมจะฝากพี่น้องคนรถไฟฝากพี่น้องสื่อมวลชนและประชาชน ให้ทุกคนได้เข้าใจนะครับ" นายสาวิทย์ ระบุ

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 คณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ตีกลับผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่นํ้า ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้ รฟท.ไปประเมินราคาที่ดินใหม่ และผลตอบแทนที่เป็นราคาปัจจุบันมากที่สุด เนื่องจากราคาประเมินที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการศึกษามานานแล้วนั่นเอง โดยย่านสถานีแม่นํ้ามีพื้นที่ทั้งหมด 277 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท เป็นพื้นที่ติดแม่นํ้าเจ้าพระยา หน้ายาวประมาณ 2 กิโลเมตร นับเป็นทำเลใจกลางเมืองใกล้กับศูนย์กลางเศรษฐกิจและแหล่งงานสำคัญอย่างสาทร สีลม แม้จะมีแผนพัฒนาแต่ปัจจุบันกลับพบว่าทำเลดังกล่าวได้รับการบุกรุกทำแคมป์ที่พักคนงานรูปแบบก่อสร้างอาคารถาวรเต็มพื้นที่ อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่จอดรถคอนเทนเนอร์กันอย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งๆ ที่ รฟท. ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าแก่รายใดแต่อย่างใดทั้งสิ้น (อ่านเพิ่มเติม: โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีแม่น้ำ ทำเลทองริมเจ้าพระยา, ฐานเศรษฐกิจ, 23/9/2560)

ต่อมาในเดือน ต.ค. 2560 ได้มีการเปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ รฟท. จัดตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริหารที่ดินไม่ได้ใช้ในการเดินรถ จำนวน 38,469 ไร่ มูลค่า 300,000 ล้านบาท ให้เอกชนเข้าร่วม PPP จัดหาประโยชน์ระยะยาว 30 ปี รูปแบบเชิงพาณิชย์ เช่น ย่านมักกะสัน 497 ไร่ สถานีแม่น้ำ 277 ไร่ สถานีบางซื่อ 218 ไร่ ย่าน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ สถานีเชียงใหม่ สถานีสงขลา หาดใหญ่ และหัวหิน 30 ปีได้ผลตอบแทน 6 แสนล้านเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว โดย รฟท.จ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนธุรกิจ จะมีผลตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินในระยะเวลา 10 ปี (2561-2570) อยู่ที่กว่า 120,000 ล้านบาท และระยะเวลา 30 ปี (2561-2590) จะอยู่ที่ 630,000 ล้านบาท (คิดเป็นปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท) เป็นรายได้จากค่าเช่าสัญญาเดิม ผลตอบแทนรายได้จากที่ดินแปลงใหญ่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด (อ่านเพิ่มเติม: ลุยประมูลที่ดินรถไฟ-ขสมก. ขุดกรุทำเลทองล้างหนี้ 2 แสนล้าน, ประชาชาติธุรกิจ, 5/10/2560)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net