Skip to main content
sharethis

เร่งปั้้นอาชีวะอีก 5 ปี ต้องการ 2 ล้านคน/เตือนนายจ้างจัดประชุมคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง/โรงงานผลิตไก่ส่งนอกไฟไหม้ที่โคราชยันจ้างพนักงานทั้ง 500 กว่าคนเหมือนเดิม ขณะที่ผู้บาดเจ็บปลอดภัยทุกคนแล้ว/อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ บินเกาหลีทำบันทึกข้อตกลงคุ้มครองแรงงานกว่าแสนราย กรณีต้องคดีอาญา-ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

เร่งปั้้นอาชีวะอีก 5 ปี ต้องการ 2 ล้านคน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการอาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต หรือ TVET 4.0 จัดโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีนโยบายให้เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาทั้งปริมาณและคุณภาพเพื่อให้ตรงกับความต้องการในสาขาการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve และประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะต้องเน้นทั้งความรู้ในด้านทักษะวิชาชีพ ที่ต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์การทำงานจริงกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ตรงนี้จะต้องร่วมมือกับผู้ประกอบทุกภาคส่วนในการมาร่วมจัดการศึกษา ซึ่งทำให้นักศึกษาที่เรียนจบการศึกษาสามารถทำได้งานทันทีโดยไม่ต้องไปผ่านการฝึกอบรมใหม่ 

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีแรงงานประมาณ 35-40 ล้านคน แต่พบว่าแรงงานที่จบอาชีวศึกษาและมีทักษะวิชาชีพ ประมาณ 6-8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน ร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแรงงานทักษะฝีมือมากถึง ร้อยละ 40-50 เพราะฉะนั้น เรายังมีช่างเทคนิคที่มีทักษะวิชาชีพน้อยเกินไปจึงต้องเร่งสปีดในการผลิต ที่ต้องให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งถ้ารอเพียงการผลิตในระบบการศึกษาคงไม่เพียงพอและไม่ทันกับความต้องการของประเทศที่ จึงต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันพัฒนาแรงงานที่มีอยู่ให้มีทักษะเพิ่มขึ้น ซึ่งภายในระยะเวลา 5 ปีความต้องการแรงงานทักษะวิชาชีพของประเทศอยู่ที่ 2 ล้านคน

“การร่วมมือกันสร้างและผลิตกำลังคนต้องอาศัยการร่วมมือทั้งภาคการศึกษาและผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่ทำให้เกิดการทำงานที่เป็นภาพใหญ่ ดังนั้น ผู้บริหารวิทยาลัยจะไม่ใช่แค่บริหารสถานศึกษา หรือดูแค่หลักสูตร แต่ต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ภาคประกอบการในการร่วมขับเคลื่อน สร้างกำลังคน ตรงนี้จะช่วยให้การผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศและตอบสนองความต้องการของกลุ่ม S-Curve ของประเทศประสบความสำเร็จ”รองนายกฯ กล่าว

ด้าน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า สอศ.เร่งดำเนินการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งภาพรวมแนวโน้มดีขึ้น โดยในปีการศึกษา 2561 สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 39.70 และสายสามัญ ร้อยละ 60.30 ขณะที่ตามนโยบายรัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนสายอาชีพและสามัญอยู่ที่ 50:50 ซึ่ง สอศ. กำลังเร่งสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากขึ้น ขณะที่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ภายใน 5 ปี ต้องการกำลังคนจำนวน 2 ล้านคน อยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างกลุ่มพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ก็จะมีความต้องการกำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรม

“ภายใน 5 ปีนี้จะต้องผลิตกำลังคนให้ได้ตามความต้องการของรัฐบาล และการดำเนินการจะมีการผลิตใน 2  ระบบ คือ การเรียนในระบบ ที่ผลิตกำลังคนได้ปีละ 2 แสนคน และหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งหลักสูตรระยะสั้นสามารถผลิตกำลังคนได้ถึง 1.2 ล้านคนต่อปี ซึ่งก็จะพยายามเร่งดำเนินเพิ่มผู้เรียนมากขึ้น และการพัฒนาเชิงคุณภาพได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ในการร่วมกันพัฒนาทักษะครูและนักเรียนอาชีวะอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558  ซึ่งทำได้กว่า 2 แสนคนแล้วและคงจะมีความร่วมมือกันต่อไป”เลขาฯ กอศ. กล่าว

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นการทำงานร่วมกับ 7 องค์กรภาครัฐ ตามแนวนโยบาย “รัฐร่วมเอกชน” ในระยะเวลา 5 ปี(2558-2563) ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท มุ่งตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ และพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชน โดยนำกระบวนการสอนรูปแบบสะเต็ม (STEM) ไปสู่ระบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งพลังคนสาขาสะเต็มจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการได้ขับเคลื่อนงาน 3 ส่วน คือ การจัดตั้งศูนย์สะเต็มในโรงเรียนมัธยมศึกษา 12 แห่ง,การจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET Hub จำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศเพื่ออบรมพัฒนาครู แรงงานนักเรียนอาชีวะเป้าหมายเพื่อผลิตช่างเทคนิคในกลุ่มอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ แปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น และการสร้างการเรียนรู้ ความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนรู้สะเต็มและอาชีวศึกษา โดยขณะนี้มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 9 แสนคน

“หัวใจสำคัญในการผลิตช่างเทคนิคที่มีศักยภาพ คือ การเพิ่มและเติม 2S คือ STEM และ SKILLs หมายถึง การเพิ่มองค์ความรู้ด้านสะเต็ม และเติมทักษะวิชาชีพให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่แก่ครูอาชีวะเพื่อนำไปถ่ายทอดและผลิตช่างเทคนิครุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีตรรกะการคิด คำนวณ วิเคราะห์ และ สื่อสาร ได้หลายภาษา รวมถึงมีภาวะผู้นำและทักษะการเข้าสังคมควบคู่ทักษะการควบคุมเครื่องจักรกลสมัยใหม่” นายอาทิตย์ กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 14/7/2561

เตือนนายจ้างจัดประชุมคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 คน มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา เสนอแนะ และร่วมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง

นอกจากนี้กฎหมายยังได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการอย่างน้อย 3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง หรือเมื่อกรรมการฯ เกินครึ่งหนึ่งหรือสหภาพแรงงานร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14/7/2561

โรงงานผลิตไก่ส่งนอกไฟไหม้ที่โคราชยันจ้างพนักงานทั้ง 500 กว่าคนเหมือนเดิม ขณะที่ผู้บาดเจ็บปลอดภัยทุกคนแล้ว

ความคืบหน้า กรณีที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน แวนการ์ด ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา  ซึ่งไฟได้ลุกไหม้จนทำให้อาคารผลิตอาหารประเภทไก่ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ พังเสียหายหมดทั้งหลัง ส่งผลให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานกว่า 500 คน ไม่มีที่ทำงานนั้น

นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน แวนการ์ด ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตนเองก็รู้สึกเป็นห่วงพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ จึงได้ได้สอบถามไปยังโรงงานฯ และได้รับการยืนยันจากโรงงานแล้วว่า ทางโรงงานยังจ้างพนักงานทั้งหมดเหมือนเดิม

โดยระหว่างที่โรงงานปรับปรุงอาคารผลิตอาหารส่งออก ซึ่งคาดว่าประมาณ 2-3 เดือน ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเยียวยาพนักงานทั้งหมดอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากที่ปรับปรุงอาคารเสร็จแล้ว ก็พร้อมที่จะให้พนักงานทั้งหมดเข้ามาทำงานได้ตามปกติ ส่วนพนักงานคนใดที่จะลาออกไป ก็จะได้รับเงินประกันการว่างงาน 3 เดือน ตามกฎหมาย โดยช่วงที่ว่างงานทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด ก็จะหาตำแหน่งงานว่างมาให้เลือก เพื่อที่จะสมัครเข้าทำงานใหม่ได้ทันที นายปรีชาฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพนักงานที่วิ่งหนีตาย จนเกิดการล้มเหยียบกันได้รับบาดเจ็บหลายสิบรายนั้น ขณะนี้ทุกคนปลอดภัยดีแล้ว ยังเหลือเพียง 6 ราย ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 2 ราย และพนักงานโรงงาน 4 ราย ที่สำลักควันไฟ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาล ป.แพทย์ ซึ่งทั้งหมดอาการปลอดภัยแล้ว คาดว่าจะสามารถกลับบ้านได้ภายในวันนี้ (13 ก.ค. 2561)

ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน 3 กำลังเก็บรวบรวมหลักฐาน พร้อมทั้งอยู่ระหว่างสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะทราบสาเหตุที่แท้จริงภายในสัปดาห์หน้า

ที่มา: คมชัดลึก, 13/7/2561

อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ บินเกาหลีทำบันทึกข้อตกลงคุ้มครองแรงงานกว่าแสนราย กรณีต้องคดีอาญา-ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานชาวไทยเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีมากกว่าแสนคน ตนจึงเดินทางไปทำบันทึกข้อตกลงกับอธิบดีแรงงานของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อขอให้มีการคุ้มครองแรงงานไทยในกรณีที่มีปัญหาต้องคดีอาญาหรือตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายร่างกาย ควรได้รับการเยียวยาตามกฎหมายของประเทศเกาหลี เช่นเดียวกับคนเกาหลีที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยก็จะได้รับการดูแลตามกฎหมายของไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ที่เข้าเมืองโดยถูกต้องเท่านั้น

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวถึงการเสนอให้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เพิกถอนรายชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจาก 82 รายชื่อ เหลือ 78 รายชื่อ ว่า คณะทำงานสหประชาติว่าด้วยการบังคับหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ( WG). ระบุว่ายูเอ็นไม่จำเป็นต้องเพิกถอนรายชื่อ เพราะคณะทำงานอาจเก็บรายชื่อไว้ก่อน เมื่อญาติของผู้สูญหายแสดงความประสงค์ว่าไม่ติดใจสงสัยแล้ว จึงจะเพิกถอนรายชื่อ

ทั้งนี้ผู้ที่ถูกระบุในบัญชีรายชื่อผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 ซึ่งติดตามตัวพบจำนวน 4 ราย โดย 2 รายยังมีชีวิตอยู่และอีก 2 ราย เสียชีวิตหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาแล้วถึง 10 ปี จึงต้องให้ญาติแสดงความจำนงว่าไม่ติดใจสงสัย ส่วนรายชื่อบุคคลสูญหายที่เหลือจำนวนหนึ่งเป็นผู้สูญหายจากการประกาศสงครามกับยาเสพติด ปี 2546 จำนวน 38 ราย. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนเผ่าในพื้นที่ภาคเหนือ

ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิฯได้ลงพื้นที่พบปะครอบครัวของผู้สูญหาย โดยญาติไม่ได้ติดใจสงสัย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ปรากฏในคำสั่งศาล ส่วนที่เหลือเป็นผู้สูญหายจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าญาติจะไม่ติดใจหรือข้องใจกับการหายตัวไปของคนในครอบครัว แต่กรมคุ้มครองสิทธิฯยังต้องลงพื้นที่เพื่อให้ญาติยืนยันเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนเสนอให้ยูเอ็นเพิกถอนจากบัญชีรายชื่อ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/7/2561

ย้ำแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานผิด กม.ฟันนายจ้างไปแล้ว 115 ราย

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้บูรณาการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  โดยจัดชุดปฏิบัติการ 113 ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ที่ออกตรวจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) กันอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้  ดังนั้น จึงขอแนะนำนายจ้างว่าหากยังมีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่กับตนเองโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ให้รีบส่งกลับประเทศโดยด่วน อย่าจ้างต่ออีกเป็นอันขาด เพราะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องถูกดำเนินคดีมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวก็จะมีความผิด มีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างจำเป็นจะต้องจ้างแรงงานต่างด้าว สามารถจ้างได้แต่ต้องเป็นแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานเท่านั้น โดยแรงงาน 3 สัญชาติคือ เมียนมา ลาว กัมพูชา สามารถเข้ามาทำงานได้ตามระบบ MOU

ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้ชุดปฏิบัติการทั้ง 113 ชุด ได้ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้วจำนวน 1,248 ราย/แห่ง จับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 115 ราย/แห่ง ขณะที่ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวไปแล้วจำนวน 24,943 คน จับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 641 คน ส่วนใหญ่เป็นเมียนมา 347 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 187 คน ลาว 55 คน เวียดนาม 34 คน และอื่นๆ 18 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร.0 2354 1729  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร. สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ข่าวสด, 12/7/2561

เพลิงไหม้โรงงานแปรรูปไก่ส่งออก โคราช คนงานวิ่งหนีอลหม่าน คาดเสียหายนับสิบล้าน

เมื่อเวลาประมาณ 10.40 น. ของวันที่ 12 ก.ค. 2561 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารภายในโรงงานของบริษัท แวนการ์ด ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแปรรูปอาหารสัตว์ส่งออกต่างประเทศ เช่น ไก่ย่าง ไก่ทอด และไก่แช่แข็ง เป็นต้น

โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นบริเวณภายในห้องย่างไก่ของอาคารฝ่ายผลิต ซึ่งขณะเกิดเหตุมีพนักงานกำลังทำงานอยู่ภายในอาคารโรงงานหลายร้อยคน พนักงานทั้งหมดจึงพากันวิ่งหนีเอาตัวรอดออกมาจากอาคารอย่างอลหม่าน เบื้องต้นมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสำลักควันไฟรวม 4 ราย ล่าสุดทั้งหมดอาการปลอดภัยแล้ว

ซึ่งในเวลาต่อมา นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา ได้เดินทางไปตรวจสอบโรงงานที่เกิดเหตุ พร้อมสั่งการให้ระดมเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงรวมกว่า 20 คัน เข้าฉีดน้ำควบคุมเพลิง ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงสามารถควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดได้ เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้หลายสิบล้านบาท

นางช้อย กรอบกระโทก พนักงานฝ่ายผลิตของโรงงานที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนกำลังทำงานย่างไก่อยู่ภายในอาคาร ทันใดนั้นตนก็เห็นควันไฟพวยพุ่งอยู่บริเวณด้านบนหลังคาเพดาน ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่รีบพากันวิ่งหนีออกจากอาคาร จากนั้นไม่นานเปลวไฟก็ได้โหมลุกลามไหม้อย่างรุนแรง โชคดีที่ตนและพนักงานคนอื่นๆ วิ่งหนีออกมาได้ทัน

นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากระบบเครื่องจักรภายในโรงงานมีปัญหา หรือไม่ก็เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งขณะเกิดเหตุมีพนักงานที่กำลังทำงานเห็นกลุ่มควันไฟ ทางเจ้าหน้าที่ควบคุมจึงรีบตัดระบบไฟฟ้าและระบบแก๊สภายในโรงงานทั้งหมด ก่อนจะรีบเคลื่อนย้ายพนักงานทั้งหมดออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่าขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้มีคนงานทำงานอยู่ภายในโรงงานกว่า 400 คน และมีรายงานผู้ที่สำลักควันไฟหลายคน แต่โชคดีที่คนงานทั้งหมดปลอดภัย ไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิต

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/7/2561

กสร.เน้นคุณภาพพนักงานตรวจแรงงาน แก้ปัญหาค้ามนุษย์

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้กลไกสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าวคือพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับดูแลให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กสร.ได้จัดอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายแก่พนักงานตรวจแรงงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการสอบข้อเท็จจริงและการเขียนคำสั่ง รวมถึงเทคนิคและจิตวิทยาในการสร้างความรู้และความเข้าใจกับนายจ้าง ลูกจ้าง ในการปฏิบัติตามสิทธิ หน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การดำเนินการในการคุ้มครองแรงงานเกิดผลสัมฤทธิ์ และส่งผลให้การดำเนินการและป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนันต์ชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมพนักงานตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 14 กรกฎาคม 2561 โดยมีพนักงานตรวจแรงงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเข้ารับการอบรม จำนวน 50 คน ทั้งนี้ กสร.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว กรมสุขภาพจิต มาร่วมให้ความความรู้แก่พนักงานตรวจแรงงานในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ,12/7/2561

จิตแพทย์-นักจิตวิทยา-พยาบาลจิตเวช บุกสธ. ร้องโครงสร้างใหม่ ถูกลดอัตราแต่งานเพิ่ม

วันที่ 9 ก.ค. 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สมาพันธ์สหวิชาชีพทางจิตเวช ยาเสพติด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.) ประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยา รวมตัวเรียกร้องขอให้ผู้บริหารสธ.เห็นใจ และปรับโครงสร้างสร้างอัตรากำลังกลุ่มงานจิตเวชอย่างเป็นธรรม เพราะกระทบขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทุกระดับ

นพ.สุเมธ ฉายศิริกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมสาขาจิตเวช ร.พ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากกรอบโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาล่าสุดนั้น พบว่าไม่มีกรอบกำลังกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่ต้องได้รับการรักษาขาดคนดูแลต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราพยายามดูแลคนไข้ตามบริบทของรพช. ตามอัตรากำลังที่มีอยู่ โดยดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยวิตกกังวล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ป่วยยาเสพติด ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ซึ่งดำเนินการโดยพยาบาลจิตเวช

แต่ปัจจุบันสิ่งที่ สธ. ออกโครงสร้างอัตรากำลังกลับไม่มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ทำให้ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานสูญเสียไป จากกรอบอัตรากำลังใหม่นั้น ทำให้มีการเอางานจิตเวชออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชขาดคนดูแลเพียงพอ ทั้งๆที่เป็นกลุ่มงานที่อ่อนไหว ซึ่งที่ผ่านมาเรามีพยาบาลจิตเวชดูแลคนไข้อยู่ แต่ล่าสุดกลับให้ไปทำอย่างอื่น กระทรวงกำลังจะลอยแพคนไข้จิตเวชและยาเสพติด

“จริงๆ กระทรวงตั้งคณะทำงานเรื่องกรอบอัตรากำลังตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งเราได้เสนอไปยังกองทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ 10 เมษายน 2561 แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับไม่ได้รับการพิจารณา แปลว่างานที่พวกเราทำมาตลอดไม่ได้เดินหน้าต่อ พวกเราจึงต้องมาเรียกร้องว่า เพราะอะไรการทำงานของเรา จึงไม่ได้รับการดำเนินงานต่อ เพราะอะไร มีการดึงเรื่องหรือไม่ หรือไปขัดใคร การมาครั้งนี้จึงมาทวงถามและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ว่า เราจะทำงานอย่างไรต่อไป และพวกเราจะได้รับการดูแลอย่างไร ซึ่งขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ก็ได้รับผลกระทบ เพราะลดอัตรากำลังลงเช่นกัน ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีจิตแพทย์ 5 คน กรอบโครงสร้างใหม่ให้มี 3 คน ส่วนอีก 2 คนก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน หรือพยาบาลจิตเวช ก็ถูกลดอัตรากำลัง และย้ายให้ไปทำส่วนอื่นๆ ทั้งๆที่ภาระงานด้านนี้เยอะ และพวกเขาก็เรียนมาด้านนี้” นพ.สุเมธ กล่าว

นพ.สุเมธ กล่าวว่า พวกเราต้องการให้กระทรวงเห็นความสำคัญ อย่าลอยแพพวกเรา และเร่งดำเนินการอย่างเป็นธรรมที่สุด ซึ่งหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในอีก 1-2 เดือน พวกเราจะมาทวงถามอีก

ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องที่มีการเรียกร้องจริงๆแล้วอยู่ในแผนจัดทำอัตรากำลังที่มีการประกาศไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2560 ซึ่งทำความเข้าใจ และกำหนดว่าเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม ให้แต่ละร.พ.ดำเนินการจัดคนลงกรอบตามที่ประกาศ แต่มีบางหน้างานที่ไม่พอเหมาะกับกำลังคนที่มีอยู่จึงมีการเสนอขึ้นมาใหม่ กลุ่มงานจิตเวชก็เป็นกลุ่มงานหนึ่งที่เสนอมาตั้งแต่การประกาศกรอบครั้งแรก มีคณะทำงานร่วมกันตลอด ซึ่งเวลางวดเข้ามาแล้ว

รองปลัดสธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คงเป็นธรรมชาติที่พอเปลี่ยนโครงสร้างใหม่อาจจะกระทบกับการปฏิบัติงานบ้าง แน่นอนว่ากลุ่มงานจิตเวชเดินหน้ามาได้ไกล สามารถสร้างคนทำงานลงไปครอบคลุมถึงระดับชุมชน ซึ่งมีหลายขนาด ตั้งแต่ระดับ 10-120 เตียง แต่ในแต่ละระดับก็ไม่สามารถทำให้มีกรอบเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งโดยข้อเสนอต้องการให้แยกกลุ่มงานชัดเจน จึงมี 2 แนวทางที่คิดไว้คือ ร.พ.ขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีกรอบอัตรากำลังที่สามารถเกลี่ยกันได้ แต่รพ.ขนาดเล็กต้องพิจารณาหลายอย่าง ทั้งเรื่องจำนวนคนทำงาน และความก้าวหน้าของคนทำงานด้วย ต้องออกแบบแล้วในที่สุดทุกคนได้ประโยชน์

“ดังนั้นเราจะค่อยๆ ไล่ดูทีละระดับของร.พ.ชุมชน ตั้งแต่ขนาดใหญ่ ลงไปขนาดเล็กเพื่อให้ออกแบบได้พอเหมาะกับขนาดของร.พ. ซึ่งจริงๆ คณะทำงานทำเสร็จแล้ว เพียงแต่มีห้วงเวลาว่าช่วงเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม เราดำเนินการให้คน 4 แสน บุคลากรทุกวิชาชีพกว่า 4 แสนคนลงไปอยู่ในกรอบให้เรียบร้อย เพื่อมาเกลี่ยกรอบอีกในเดือนสิงหาคม ถ้าร.พ.ใหญ่การแยกคนลงแต่ละร่องงานไม่ยาก แต่ร.พ.ขนาดเล็ก การแยกคนออกไปหลายๆ กล่อง จะมีปัญหาอีกแบบ แต่ยืนยันว่าร.พ.ชุมชนขนาดเล็ก เราเขียนเนื้องานไว้ ไม่ได้แปลว่าเอางานจิตเวชออกไปจากรพ.” รองปลัดสธ. กล่าว และว่า สำหรับปัญหากรอบอัตรากำลังในภาพรวมทุกวิชาชีพนั้นขาดแคลนระดับหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยากได้ความก้าวหน้าในการทำงาน กระทรวงก็ต้องบริหารค่อนข้างมาก อย่างวิชาชีพพยาบาลก็กำลังบริการกรอบอัตรากำลังที่เพิ่งได้มาใหม่ ปัจจุบันพยาบาลในกระทรวงมีประมาณ 9.8 หมื่นคน เป็นพยาบาลจิตเวชประมาณ 1.5 พันคน

ที่มา: ข่าวสด, 9/7/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net