Skip to main content
sharethis

สำรวจที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดโรงเรียนช่างกลพระรามหก ศูนย์กลางเคลื่อนไหวของนักเรียนอาชีวะซึ่งยังคงต่อสู้ร่วมกับขบวนการประชาชนก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยก่อนหน้านี้ ผอ.โรงเรียนและผู้นำนักศึกษาที่นี่เคยถูกลอบยิงมาแล้ว ก่อนที่เช้าวันที่ 3 มีนาคม 2519 หรือวันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว จะถูกวางระเบิดอาคารจนมีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 6 คน

โดยบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่เชิงสะพานพระราม 6 กลายเป็นอาคารร้างหลายสิบปี มีการติดป้ายประกาศขาย ก่อนที่ปลายปี 2560 จึงมีการรื้อถอนอาคารและปรับเป็นที่ดินเปล่า

เยือนที่เกิดเหตุลอบสังหาร 'บุญสนอง บุญโยทยาน' เมื่อปี 2519, 28 ก.พ. 2562

(ซ้าย) ภาพข่าววางระเบิดโรงเรียนช่างกลพระรามหก ลงใน นสพ.ประชาชาติ 4 มีนาคม 2519 (ขวา) อาคารโรงเรียนช่างกลพระรามหก ถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2559

วางระเบิด รร.ช่างกลพระรามหก เสียชีวิต 3 บาดเจ็บ 6

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ลงข่าววางระเบิดโรงเรียนช่างกลพระรามหก

ช่วงเช้าเวลา 06.15 น. ของวันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2519 เกิดเหตุลอบวางระเบิดอาคารหอพักนักเรียน โรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งในเวลานั้นมีผู้เข้าพัก 11 คน เหตุระเบิดทำให้นักเรียนเสียชีวิต 3 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 คน โดยอาคารหอพักชั้นล่างพังเสียหายยับเยิน และอาคารเรียนที่อยู่ข้างเคียงก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก

สำหรับโรงเรียนช่างกลพระรามหกที่ตกเป็นเป้าหมายลอบวางระเบิด เป็นโรงเรียนอาชีวะศึกษาไม่กี่แห่งที่ยังคงต่อสู้ร่วมขบวนไปกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในนาม "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย" ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

จากบทความ "เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร" โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เผยแพร่ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ให้ข้อมูลด้วยว่าภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชยปี 2517 ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย ได้แยกตัวออกไปจากขบวนการนักศึกษา และฝ่ายขวาเริ่มเข้ามาควบคุมศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ และต่อมาก็เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา

นอกจากนี้ พ.อ.สุตสาย หัสดิน (ยศในเวลานั้น) ได้จัดตั้งนักเรียนอาชีวะเป็น "กลุ่มกระทิงแดง"  เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการก่อกวนด้วยอาวุธ เพื่อต่อต้านการชุมนุมของประชาชน

รายงานในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุคือ นายสำเริง สีอำดี ชั้น ม.ศ.5 และนายมงคล ฤกษ์ดี ชั้น ม.ศ.5 ส่วนนายสรนันท์ อรุณฉาย ชั้น ม.ศ.5 เสียชีวิตที่ รพ.วชิรพยาบาล และผู้บาดเจ็บสาหัสคือ นายนันทพล รูปสวย, นายพนัส บุตรพ่วง, นายธนา รักษ์สุวรรณรัตน์, นายทรงศิลป์ ผัดจาด, นายสมบัติ ทองแตง และนายสมศักดิ์ สุนาถวณิชย์กุล น้องชายของนายดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล เจ้าของและผู้อำนวยการโรงเรียนช่างกลพระรามหก

ด้านสรยุตน์ ศรีสุข ประธานนักเรียนช่างกลพระรามหก ระบุว่ามีคนร้าย 2 คนเป็นวัยรุ่น 1 คน และอายุกลางคน 1 คนบุกเข้ามาด้านหลังโรงเรียนที่เป็นสวน และจับตัวอาจารย์ผู้เฝ้าหอพักชื่อ ชูวิทย์ วัดหนู (หมายเหตุ - การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์วันต่อๆ มาจะแก้การสะกดเป็น สุวิทย์ วัดหนู)

สำหรับสุวิทย์ วัดหนู (เกิด 20 ธันวาคม 2495 เสียชีวิต 12 มีนาคม 2550) เป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในเวลานั้นสุวิทย์ซึ่งอายุ 23 ปีเศษ เพิ่งจบศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก

สรยุตน์ระบุว่าก่อนเกิดเหตุเคยมีโทรศัพท์ข่มขู่ว่าอยากตายหรือคืนนี้จะมาบุก และยังกล่าวหาว่าโรงเรียนนี้เป็นพวกคอมมิวนิสต์และเป็นเคจีบี

ร.ต.ท.มรกต สุวรรณาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรวบรวมหลักฐานเปิดเผยว่าระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดทีเอ็นที ประมาณ 1/4 ปอนด์ โดยคนร้ายใช้ถ่านไฟฉาย 1.5 โวลต์ 5 ก้อนจุดชนวน โดยต่อสายไฟยาว 50 เมตรจากสวนหลังโรงเรียนแล้ววางไว้ข้างๆ อาคาร 2 จุด ต่อสายไฟเข้ากับแก๊สชนวนระเบิด ส่วนสายไฟอีกข้างต่อกับวงจรถ่านไฟฉายดังกล่าว

ร.ต.ท.มรกต กล่าวด้วยว่าระเบิดที่ใช้เป็นระเบิดในราชการสงคราม สามารถทำลายโรงเรียนได้ทั้งหลัง แต่ที่เกิดระเบิดได้แค่นี้อาจเป็นเพราะผู้วางมีความรู้ไม่พอเพียง หรืออาจเป็นเพราะทำอย่างเร่งรีบก็ได้

สำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนคือดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล ซึ่งถูกโจมตีมาตั้งแต่ระยะก่อนหน้านี้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนต่อฝ่ายขบวนการนักศึกษา และเคยถูกมือปืนวัยรุ่นขับรถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้ากระหน่ำยิงขณะจอดรถรอสัญญาณไฟที่แยกราชวิถี จนบาดเจ็บสาหัสเมื่อ 19 ตุลาคม 2518 และยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้

นอกจากนี้ ชาติชาย จันทบาล ผู้นำแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชน นักเรียนโรงเรียนช่างกลพระราม 6 ถูกยิงบนรถนักเรียนเมื่อ 1 กันยายน 2518 ได้รับบาดเจ็บสาหัส และตำรวจไม่สามารถจับคนร้ายได้เช่นกัน

เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือที่ต่อมาจะรู้จักกันในนาม "ผู้พันตึ๋ง" ในเวลานั้นเขาเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็วของกลุ่มกระทิงแดง ปฏิเสธข่าวที่ว่าเคยประกาศจะถล่มโรงเรียนช่างกลพระรามหก โดยเฉลิมชัยบอกว่ากลุ่มกระทิงแดงคงจะไม่ใช้อารมณ์เช่นนั้น

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2519 พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุถึงชนิดระเบิดว่าเป็นทีเอ็นที เป็นระเบิดที่แจกจ่ายไปยังหน่วยราชการต่างๆ ทั้งทหาร-ตำรวจแต่ยังไม่สามารถพูดได้ว่ามาจากหน่วยราชการ ส่วน พ.ต.อ.สุทธิ นันท์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ระบุว่าระเบิดใช้ในราชการสงครามไม่ใช่กิจการเหมืองแร่ แต่ที่ไม่ระเบิดจนโรงเรียนพังยุบลงมาอาจเกิดจากการปฏิบัติการอย่างรีบเร่ง

สำรวจโรงเรียนช่างกลพระรามหก เป็นตึกร้างหลายสิบปีก่อนถูกทุบรื้อ-ปรับปรุงที่ดิน

อาคารร้างซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก เชิงสะพานพระราม 6 และเชิงสะพานพระราม 7 ติดถนนจรัญสนิทวงศ์ และใกล้กับซอยจรัญสนิทวงศ์ 96/3 ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2559

อาคารร้างซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก บริเวณที่ติดกับอาคารพาณิชย์อื่นมีจุดสังเกตเป็นภาพกราฟฟิตี้ ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2559

อาคารร้างซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก ภาพจาก Google Street View เดือนกรกฎาคม 2560 ยังคงเห็นตัวอาคารร้าง และเห็นภาพกราฟฟิตี้เป็นหมุดหมาย

อาคารร้างซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก ภาพจาก Google Street View เดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งมีการทุบรื้ออาคารและปรับปรุงที่ดินแล้ว โดยยังคงมีภาพกราฟฟิตี้เป็นหมุดหมาย

ผู้สื่อข่าวสำรวจสถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก ซึ่งอยู่ฝั่งธนบุรีเชิงสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานรถไฟ และเชิงสะพานพระราม 7 ที่เป็นสะพานถนน โดยที่ตั้งของโรงเรียนช่างกลพระรามหก อยู่ตรงโค้งถนนจรัญสนิทวงศ์ตอนปลาย ติดซอยจรัญสนิทวงศ์ 96/3 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ใกล้ๆ กันเป็นที่จอดของรถเมล์สาย 110 พระรามหก-เทเวศร์

โดยภาพถ่ายในเดือนตุลาคมปี 2559 บริเวณดังกล่าวกลายเป็นที่ดินรกร้างและมีอาคารคอนกรีตเดิมของโรงเรียนช่างกลพระรามหก โดยมีการติดป้ายประกาศขายที่ดินด้วย

ต่อมาจากข้อมูลใน Google Street View เดือนกรกฎาคม 2560 อาคารคอนกรีตยังคงอยู่ และมีการติดป้ายประกาศขาย ต่อมาภาพในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะเห็นว่ามีการทุบรื้ออาคารคอนกรีต และปรับปรุงที่ดินจนกลายเป็นพื้นที่โล่งแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในเดือนมกราคม 2562 บริเวณดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่โล่ง อนึ่งในปี 2561 มีการประกาศขายที่ดินบริเวณดังกล่าว 2 แปลงรวม 4 ไร่ 14 ตารางวา เฉพาะแปลงที่เป็นที่ตั้งของอาคารโรงเรียนช่างกลพระรามหก มีขนาด 495 ตารางวา โดยราคาขายรวมทั้ง 2 แปลงอยู่ที่ 403.5 ล้านบาท

ทั้งนี้นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความพยายามแบ่งแยกขบวนการและทำลาย และใช้ความรุนแรงสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน โดยนอกจากการใช้สถานีวิทยุยานเกราะและสื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังมีการจัดตั้งพลังมวลชนฝ่ายขวา ใช้การลอบสังหารผู้นำฝ่ายนักศึกษาและขบวนการประชาชน โดยระหว่างปี 2517 จนถึงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองรวมทั้งกรณี "ขวาพิฆาตซ้าย" ไม่ต่ำกว่า 101 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net