Skip to main content
sharethis

13 ก.ค.​ 2563 ทิวากร​ ผู้สวมเสื้อ 'เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว'​ ถูกควบคุมตัว​เพื่อตรวจรักษา​อาการทางจิตที่โรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ แถม ตร.ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และเสื้อที่กำลังซักอยู่ไปด้วย

หลังทิวากรไม่เคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊กติดต่อกันเป็นวันที่​สาม​ ประชาไทติดต่อสอบถาม​ไปยังครอบครัว​ของทิวากร​ พบว่าเขาถูกควบคุมตัว​ไปตรวจรักษา​และประเมินอาการ​ทางจิต​ตั้งแต่วันที่​ 9​ ก.ค. 2563 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ​อย่างน้อย 6 นาย​ เป็นผู้ควบคุม​ตัว ระหว่าง​ตรวจรักษาในโรงพยาบาล​มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก​ สภ.เมืองขอนแก่น​ คอยเฝ้าตลอด​ 24​ ชั่วโมง​ มีการตรวจบัตรประชาชน​ผู้เข้าเยี่ยม​ และคอยสังเกต​การณ์​ตลอดเวลา​ขณะที่ญาติเข้าเยี่ยมทิวากร

ทิวากรกล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า​ "ผมปลอดภัยดี"

ทั้งนี้​ ตาม​ พ.ร.บ.สุขภาพ​จิต​แห่งชาติ​ ทิวากรจะถูกตรวจรักษา​และประเมินอาการทางจากจิตโดยละเอียด​ภายในเวลาไม่เกิน​ 30​ วัน​ หากมีการดำเนินคดี​ แพทย์​จะต้องประเมินความสามารถ​ในการต่อสู้คดีและแจ้งให้พนักงานสอบสวน​ทราบภายใน​ 45​ วัน​ นับตั้งแต่ได้รับตัวไว้

มารดาวัย 75 ปีของทิวากรเล่าว่า ก่อนที่จะมีการจับกุมได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และจิตแพทย์ ได้มาตามตัวผู้เป็นมารดาไปถามความเห็นและขอความยินยอมในการควบคุมตัวไปรักษา โดยบอกว่าถ้าปล่อยให้อยู่ต่อไปจะมีอาการหนักกว่านี้ ตนเองและทางเครือญาติเห็นว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยต่อทิวากรที่สุด จึงยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการควบคุมตัว

เธอเล่าต่อว่า วันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. ได้มีรถจากเจ้าหน้าที่ ตร. และจากโรงพยาบาลจำนวนเกือบสิบคันมาจอดที่บ้าน ระหว่างนั้นทิวากรกำลังทำความสะอาดบ้านและซักเสื้ออยู่ แต่เธอไม่ทราบสภาพการจับกุม เนื่องจากทนดูไม่ได้เลยหลบเข้าไปหลังบ้าน

มารดาของทิวากรเล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากที่รถพยาบาลได้นำตัวทิวากรไปจากบ้าน ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการตรวจค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของทิวากรไป โดยก่อนที่จะนำทรัพย์สินของทิวากรไปได้นำมาถ่ายภาพ และนำเอกสารไม่ทราบรายละเอียดข้อความมาให้นางทองเหรียญลงลายมือชื่อ โดยที่เธอยินยอมลงลายมือแต่โดยดี

ในกรณีการเขียนหนังสือตัดขาดระหว่างทิวากรกับคนในครอบครัว เธอบอกว่าเข้าใจเหตุผลได้ว่าทิวากรไม่ต้องการทำให้ญาติพี่น้องได้รับผลกระทบจากการทำกิจกรรมของเขา

ทิวากร วิถีตน (นามสกุลเดิม โสภา) ชายวัย 47 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เขา เป็นคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์ปี 2552-2553 ต่อมาเขาได้ยุติการทำกิจกรรมทางการเมือง และกลับมาอยู่บ้านที่ขอนแก่น จากการบอกเล่าของครอบครัว หลังการรัฐประหาร เขามีความเครียดและอาการซึมเศร้า แยกตัวอยู่เพียงลำพัง จนครอบครัวต้องขอให้เขาไปปรึกษาจิตแพทย์ ต่อมาเมื่อมีการเกิดกลุ่ม Thai Royalist Marketplace เขาได้เริ่มเข้ามาใช้โซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก) ติดตามพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และหลังจากการถูกอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประเทศกัมพูชา เขาจึงได้รณรงค์ใส่เสื้อ เราหมดศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ และกิจกรรมทางการเมืองล่าสุดที่เขาได้ทำคือการใส่เสื้อเราหมดศรัทธาฯ ในพื้นที่ชุมชนและได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงบนเฟซบุ๊กของเขา นอกจากในเฟซบุ๊ก เขายังเคยโพสต์รายงานว่าตนเองสวมเสื้อที่มีข้อความนี้ในชีวิตประจำวันและออกนอกบ้าน รวมทั้งประเมินปฏิกิริยาจากผู้พบเห็นเสื้อดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทิวากรถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไปพบ ขอให้เลิกใส่ กำชับว่าถ้าใส่เสื้อตัวนี้แล้วทำให้คนในประเทศเกิดการกระทบกระทั่งกันและเกิดความวุ่นวาย หลังเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา โพสต์ภาพตนเองใส่เสื้อสกรีนคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมทั้งอธิบายความหมายและเหตุผล โดยระบุว่า “‘หมดศรัทธา’ ไม่ได้แปลว่า ‘ล้มเจ้า’” และใช้ภาพดังกล่าวเป็นภาพโปรไฟล์ โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นอย่างหลากหลายกว่า 4,000 ความเห็น มีทั้งที่ด่าทอ ไล่ให้ออกนอกประเทศ มีทั้งที่เข้าใจในเหตุผล แลกเปลี่ยนความเห็น ให้กำลังใจ หรือแสดงความเป็นห่วงว่าจะถูกดำเนินคดี-อุ้มหาย และมีทั้งผู้ที่เข้าไปข่มขู่คุกคามเจ้าของโพสต์หรือผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นคนอื่นๆ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีผู้ไปร้องให้ บก.ปอท. วินิจฉัยว่าการกระทำของทิวากร เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หรือไม่

ทิวากร วิถีตน ขณะใส่เสื่อดังกล่าวในชีวิตประจำวัน

สำหรับคำอธิบายต่อคำว่า “หมดศรัทธา” และการแสดงออกครั้งนี้ของทิวากรโพสต์ไว้ว่า

“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”

“หมดศรัทธา” มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ “หมดรัก”, “หมดเยื่อใย”, “หมดใจ”, “หมดความไว้ใจ” มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้ ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฏหมายอย่างอื่น

ในกรณีที่ ถ้าหากว่าสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) และคนที่ยังศรัทธา เกิดความขุ่นเคือง จนถึงขั้นไปทำร้ายคนที่พูดและแสดงออก ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากมันจะไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นแล้ว มันยังไม่ได้ช่วยทำให้คนหันกลับมาศรัทธาดังเดิมได้ และมันจะยิ่งทำให้สิ่งนั้น/คนนั้น เสียหายมากขึ้นไปอีก

ถ้าอยากให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มันมีทางเดียวเท่านั้น คือ

สิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องปรับปรุงตัวเอง อาจจะถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ เลยก็ได้ว่า ทำไมถึง “หมดศรัทธา” ต้องให้ปรับปรุงตรงไหนบ้าง ให้บอกมา ถ้าได้รู้แล้วว่าต้องปรับปรุงตัวเองตรงจุดไหนบ้าง ก็ถามตัวเองว่า จะแก้ไข หรือไม่แก้ไขแล้วปล่อยให้คน “หมดศรัทธา” ต่อไป

และสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องจำไว้ในใจให้จงหนักว่า เมื่อเขา “หมดศรัทธา” แล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้เขากลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรง ได้โดยเด็ดขาด

ในส่วนของผู้ที่ยังศรัทธา หากอยากช่วยให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มีวิธีที่สามารถทำได้ ดังนี้
1. สำรวจ ตรวจสอบ หาข้อมูลความจริงให้ถ่องแท้ ว่า ทำไมคนถึง “หมดศรัทธา” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี
1.1 สำรวจตรวจตราด้วยตัวเอง โดยค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
1.2 เข้าไปถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ ว่าทำไมถึง “หมดศรัทธา”
2. เมื่อได้สาเหตุของการ “หมดศรัทธา” แล้ว ก็ไปช่วยปรับปรุง สิ่งนั้น/คนนั้น (ที่ถูกศรัทธา) ให้ดีขึ้น จนทำให้ผู้ที่ “หมดศรัทธา” หันกลับมาศรัทธาใหม่อีกครั้ง

แล้วก็ให้เน้นย้ำกับตัวเองอยู่ตลอดว่า คุณไม่มีทางที่จะทำให้คนที่ “หมดศรัทธา” กลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรงได้ ถ้าหากคุณไปทำร้าย ข่มขู่คนที่ “หมดศรัทธา” มันจะยิ่งเป็นผลเสียหายต่อ สิ่งนั้น/คนนั้น ที่คุณศรัทธาอยู่

ป.ล.
1. เสื้อตัวนี้ ผมสั่งทำพิเศษนะครับ ตั้งใจซื้อมาใส่เอง เป็นการเฉพาะ เพื่อแสดงออกเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะกระจาย หรือทำขาย แต่อย่างใดครับ
2. ถ้าหากสหายท่านใดอยากได้เสื้อที่มีข้อความนี้ ท่านต้องทำใส่เองนะครับ

หมายเหตุ: ทิวากรเล่าว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยาบาลเข้าไปจับกุมตัวเขาในบ้าน ทิวากรปฏิเสธไม่ยอมรับการจับกุมแต่ได้มีเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน เข้าไปอุ้มตัวเขาออกมาทิวากรเล่าว่าหลังจากถูกนำตัวขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ผ้ามัดมือของทิวากร และฉีดยาเข้าที่บริเวณแขนของทิวากรทั้งสองข้าง 

(แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 12.05 น.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net