Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมจากการอภิปรายในเสวนาสาธารณะเรื่อง “รัฐประหารและการต่อต้านขัดขืน” วันที่ 19 กันยายน 2563 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จัดโดย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนขอขอบคุณผู้จัดไว้ ณ ที่นี้ 

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและความกังวลของฝ่ายต่างๆ ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ในวาระครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงนั้นบ้างเล็กน้อยในฐานะ “นักกิจกรรม” จึงขอใช้โอกาสนี้ร่วมทบทวนเรื่อง “กระบวนการ” และแนวทางต่อต้านขัดขืนรัฐประหารบางประการ อย่างไรก็ตาม หากรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงนี้ ที่มีบริบทต่างออกไปจากปี 2549 และ 2557 นั่นไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัวอีกต่อไป เพราะ 1) นอกจากรัฐบาลและรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ของเราแล้ว ในเบื้องต้น ประชาชนจะไม่สูญเสียอะไรเลย 2) นำไปสู่ปรากฎการณ์ใหม่ของประวัติศาสตร์รัฐประหาร นั่นคือ เสาค้ำยันรัฐประหารทั้งหลาย อาจจะถูกท้าทายโดยทันทีอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน 


กระบวนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557

นักรัฐประหารหรือผู้สนับสนุนมักจะอ้างว่า รัฐประหารเกิดขึ้นจากปัญหาของรัฐบาลเอง ทั้งนี้ ในช่วงหลัง การทุจริตคอรัปชันจะถูกขับเน้นเป็นพิเศษ โดยแสร้งลืมไปว่า การทุจริตและรัฐประหารไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบเหตุ-ผล (causality) อย่างเช่นที่เข้าใจกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์ A แล้วต้องเกิดเหตุการณ์ B ตามมาด้วย ตรงกันข้าม รัฐประหารเกิดเมื่อผู้มีศักยภาพ คือ ผู้นำในกองทัพ ที่มีอาวุธและกำลังพลเหนือฝ่ายอื่น มี “ความตั้งใจ” และลงมือใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล (และรัฐธรรมนูญ) ด้วยเหตุผล (ผลประโยชน์ทางวัตถุหรืออุดมการณ์) ของตนเอง พร้อมกับข้ออ้างชุดหนึ่ง ซึ่งประชาชนต้องเท่าทันว่าข้ออ้างที่แถลงกับเหตุผลที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นและมักจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน 

กล่าวเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ห่างจากครั้งก่อนหน้าถึง 15 ปี จนแทบไม่มีใครเชื่อว่าเกิดขึ้นได้อีก เพราะกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยของไทยรุดหน้าไปมาก) รวมทั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่ทำให้รัฐประหาร 2 ครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอื่นก่อนหน้า คือ การมีขบวนการมวลชน “ภาคประชาชน” เป็นหุ้นส่วนสำคัญ และต้องเน้นย้ำด้วยว่า เป็นหุ้นส่วนที่ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้

รัฐประหาร 19 กันยา หุ้นส่วน คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ภายใต้การนำของสนธิ ลิ้มทองกุล และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยคณะกรรมการรณงค์เพื่อประชาธิปไตย รัฐประหาร 22 พฤษภา หุ้นส่วน คือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ภายใต้การนำของนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ 

บทบาทของขบวนการมวลชน

สามารถสรุปบทบาทของขบวนการมวลชนเพื่อรัฐประหารออกเป็น 3 ส่วนที่เชื่อมโยงกันคือ 

1. ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและชีวิตของผู้คน โดยใช้ยุทธวิธีขัดขวางท้าทายระบบการเมืองปกติ ตั้งแต่ชุมนุมเดินขบวนแบบธรรมดา ยึดสนามบิน-สถานที่ราชการ ที่ทำการรัฐบาล หรือ “ปิดกรุงเทพฯ” รวมทั้งใช้กำลังความรุนแรงตอบโต้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐหรือมวลชนฝ่ายตรงกันข้าม ลักษณะอนารยะของขบวนการมวลชนนี้เป็นปรากฎการณ์ใหม่ของการเมืองไทยนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคขวาพิฆาตซ้ายเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว และเป็นที่มาของการทบทวนทางวิชาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคมกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย 

2. ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องศีลธรรมและไม่อาจประณีประนอมได้ ยกระดับความขัดแย้งอันเป็นเรื่องปกติของสังคมไปสู่การเผชิญหญ้า ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองหรือทำลายฝั่งตรงกันข้าม เช่น ทำร้ายผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือฝั่งตรงกันข้าม ขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ปิดล้อมสถานที่และขวางการเลือกตั้ง การจัดตั้งกองกำลังกึ่งติดอาวุธตอบโต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
3. สร้างวิกฤต ทำให้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยทำงานไม่ได้ ปฺฏิเสธการยุบสภา/เลือกตั้งใหม่ เพื่อเปิดช่องหรือเรียกร้องการแทรกแซงทางการเมืองของกษัตริย์ ทหาร ตุลาการ 

ในตอนหลัง เมื่อถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนสนับสนุนรัฐประหาร พวกเขามักปฏิเสธอย่างเหนียมอายว่า ไม่เห็นด้วยแต่ “มันมาเอง” สำหรับผู้ที่มีส่วนเข้าร่วมในรอบแรก กรณี พธม. ยังพอเข้าใจได้เพราะความไร้เดียงสาทางการเมือง แต่หากยังทำผิดซ้ำ เข้าร่วม กปปส. อีกครั้ง ไม่มั่นใจว่าจะนิยามอย่างไรดี 


การรับรองรัฐประหาร 

เมื่อตัดสินใจลงมือรัฐประหารแล้วก็ใช่ว่าผู้ก่อการจะกลายมาเป็นองค์อธิปัตย์หรือสำเร็จโดยทันที ต้องมีการรับรองเสียก่อน โดยมีกระบวนการสำคัญดังต่อไปนี้ 

1. การรับรองโดยประมุขของรัฐ คือ การมีพระบรมโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อรองรับการใช้อำนาจการปกครองและนิรโทษกรรม

2. การแสวงหาความชอบธรรมหรือรับรองจากประชาชนหรือองค์กรต่างๆ โดยการแต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมหรือวิชาการ เข้ามางานในกลไกที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น ตัวอย่างคือ การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาเป็น “ตรายาง” เพื่อบอกว่ามี “สภา” ไม่ได้เป็นเผด็จการรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง การแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่าจะอยู่อีกไม่นานและต้องการสร้างระบบการเมืองที่ดีกว่า

3. การรับรองโดยศาล ที่เกิดขึ้นภายหลัง ทั้งเกิดจากการฟ้องเอาผิดผู้ก่อการหรือประกาศ/คำสั่งที่เกี่ยวข้อง สำหรับการฟ้องร้องคณะรัฐประหารนั้น ในหนังสือ ศาลรัฐประหาร ของปิยบุตร แสงกนกกุล พบว่า เหตุผลที่ศาลใช้อธิบายไม่รับฟ้องความผิดฐานกบฎ (กฎหมายอาญา มาตรา 113) มีอยู่ 2 ประการ   

1) หากยังไม่มีการนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ศาลจะใช้เทคนิคทางกฎหมายว่า ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง 

ตัวอย่างน่าสนใจมาก คือ กรณีอุทัย พิมพ์ใจชน และพวกรวม 3 คน ฟ้องคณะรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 แม้ในเบื้องต้นศาลจะเห็นว่า โจทก์ทั้ง 3 น่าจะเป็นผู้เสียหายได้ แต่ก็แย้งว่าหากทั้ง 3 คนนี้ฟ้องได้ ก็จะเกิด “ฟ้องกันได้ทั้งประเทศ” ส่งผลทำให้ “แทนที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยภายใน บ้านเมืองกลับจะเกิดเป็นความระส่ำระส่ายเสียด้วยซ้ำ” ท้ายที่สุดจึงไม่รับฟ้อง และตามมาด้วยคณะรัฐประหารอ้างคำตัดสินของศาล เอาคืนด้วยการออกประกาศจับคนฟ้องให้ติดคุกเสียเอง 

2) หากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว จะให้เหตุผลว่า คณะรัฐประหารพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบจากนิรโทษกรรมตามกฎหมาย

การตีความทั้ง 2 แบบนี้ ทำให้กฎหมายอาญามาตรา 113 ไม่มีความหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้โดยปริยาย 
หากมองย้อนกลับไป กล่าวได้ว่า รัฐประหาร 19 กันยา เป็นจุดเปลี่ยนของความขัดแย้ง จากต่อสู้กันตามกระบวนการปกติ (ทั้งในและนอกสภา) มาเป็นใช้กำลังอาวุธและความรุนแรง-รัฐประหารเป็นความรุนแรง- อันเป็นผลมาจากการขาดความยำเกรงต่ออำนาจประชาชน หลงลำพองเข้าใจผิดว่า ผู้นำทางสังคมการเมือง/ศีลธรรมมต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ความกลัว “คู่แข่ง” ทางการเมือง นำไปสู่ความว้าวุ่นในจิตใจ การรัฐประหารจึงอยู่ในฐานะ ของการโจมตีก่อน (preemptive) ทั้งหมดนี้ ฉุดลากสังคมการเมืองให้เจ็บป่วยรื้อรังจนยากจะเยียวยา สร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย จนบางครั้งน่าคิดเหมือนกันว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ในครานั้น พวกเขายังยืนยันจะรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 อีกหรือไม่ 


2. การต่อต้านขัดขืน

สำหรับคำถามว่าจะต่อต้านรัฐประหารได้อย่างไรนั้น ดูเหมือน “คิดได้ง่ายแต่ทำได้ยาก” เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง แต่ในที่นี้ อยากเริ่มต้นที่แนวคิดของ Gene Sharp และ Bruce Jenkins ที่เสนอไว้ในบทความ “การต่อต้านรัฐประหาร (The anti-coup)” ว่า 

“ทันทีที่เกิดรัฐประหารขึ้น ผู้ก่อการต้องการความชอบธรรมในการปกครอง ซึ่งหมายถึง การยอมรับสิทธิทางศีลธรรมและการเมือง หรืออำนาจในการปกครองของพวกเขา การรับรองจากผู้นำทางศีลธรรมและศาสนา บุคคลกรทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับ และในบางกรณี คือ พวกเชื้อพระวงศ์ หรืออดีตข้าราชการ จะช่วยให้ผู้ก่อการรัฐประหารได้รับการยอมรับ

ดังนั้น หลักการพื้นฐานข้อแรกของการต่อต้าน คือ การปฏิเสธความชอบธรรมของผู้ก่อการรัฐประหาร”

จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้เห็นว่าใครสามารถทำอะไรได้บ้างจากกระบวนการรัฐประหารที่ได้กล่าวมา แต่ในที่นี้ อยากจะขอเน้นย้ำเสียก่อนว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ วันนี้ (2563) ไม่เหมือนเมื่อวาน (2549) อีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงจาก 2549 ถึง 2563 

1. วัฒนธรรมและความคิดต่อต้านรัฐประหาร/เผด็จการอำนาจนิยม ถูกสั่งสมและเริ่มหยั่งรากในสังคมไทย ขยายตัวขวางขึ้น การชุมนุมต้านรัฐประหาร 2549 ครั้งแรกในธรรมศาสตร์ 25 กันยายน 2549 มีผู้เข้าร่วมเพียง 70 คน ขณะที่มีผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ 140 คน ปัจจุบันต่างออกไปอย่างชัดเจน 

2. คนจำนวนไม่น้อยเลิกกลัว “ผีทักษิณ” มีสติมากขึ้น ได้ “บทเรียน” จากเผด็จการทหาร/การกระทำของตัวเอง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลง หรือ “อายเด็ก”. การเป็น พธม. กปปส. ไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประสิทธิชัย หนูนวล นักพัฒนาเอกชนชื่อดังในภาคใต้ (คนหลังมีรายชื่อเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมล่าสุดที่สนามหลวง) คนเหล่านี้น่าชื่นชม อย่างน้อยก็กล้า “สารภาพบาป” ต่อสาธารณะ 
 
3. การต่อต้านรัฐประหารเริ่มกลายเป็นมาตรฐานใหม่ เป็นกระแสหรือแฟชั่นในวงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ใครคิดหรือทำแบบนี้ จะเป็นของแปลกหรือแหกคอกไป

หลังรัฐประหาร 1 วัน อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าเจตนารมณ์แรกของคณะทหารไม่อยากให้บ้านเมืองแตกแยก “เหตุที่ทำเหมาะสมกับสถานการณ์” นี่คือคำอธิบายที่อัศจรรย์กันของเธอ “การเมืองจะถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ หากรัฐธรรมนูญล้มไปแล้ว แต่บางครั้ง การถอยหลังเข้าคลองก็ดีกว่าการตกคลองแล้วจมน้ำตาย การที่ทหารเดินถอยหลังเข้าคลอง เพื่อทำสะพานข้ามคลอง คงจะดีกว่านี้”

ปัจจุบัน เธอเป็นด่านหน้าในการวิพากษ์รัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้ง 2560 อย่างแข็งขัน

4. มีกองหน้าที่กล้าหาญ เปิดขอบฟ้าความคิดและจิตนาการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวใหม่ๆ

ปัญหาอย่างหนึ่งของนักเคลื่อนไหวที่อ้างว่าตนเองมี “ประสบการณ์” มากกว่าคนอื่น คือ ไม่สามารถคิดและทำอะไรที่ต่างไปจากความเคยชิน วิจารณ์คนอื่นว่าเป็น “นักอุดมคติ” ห่อหุ้มตนเองด้วยคำว่า “สมจริง” การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีคิดแบบนี้

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวได้ทะลุขอบฟ้าอันคับแคบนี้ไปแล้ว กลายเป็น “กองหน้า” กองนำอายุน้อยที่มีชีวิตชีวา กล้าหาญและสร้างสรรค์ ดังนั้นคำถามคือ เราจะตามไปไหม? 

5. มีพรรคการเมืองใหม่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ยังเป็นคำถามว่า พรรคการเมืองใหม่จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงการเมืองในรัฐสภา จากการเมืองที่อนุรักษ์นิยม ไม่กล้ามีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน มีเป้าหมายระยะสั้นเพียงเพื่อเป็นรัฐบาลหรือไม่ และจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับขบวนการเคลื่อนไหว จากการเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการเลือกตั้งมาเป็นเพื่อนผู้มีเป้าหมายทางการเมืองร่วมกันหรือไม่ 

รูปธรรมของการต่อต้านรัฐประหาร 

กล่าวได้ว่า ความสำเร็จของรัฐประหารแปรผกผันกับการต่อต้าน รัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 14 ปีนี้ ถูกต่อต้านเพียงเล็กน้อย ประปรายจากปัจเจกบุคคลในช่วงแรก ไม่มีขบวนการที่เข้มแข็งและแน่วแน่เพียงพอที่จะยืนหยัดตั้งแต่ต้น หากจะมีก็ปรากฎขึ้นในภายหลังเพื่อต่อต้านผลที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ได้ขัดขวางการสถาปนาผู้ก่อการเป็นองค์อธิปัตย์ ดังนั้น หากไม่ต้องการผลแบบเดิม จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางในการต่อต้าน  

รูปธรรมแรกที่นำเสนอไว้แล้วโดยเยาวชนนักศึกษา ตรงเป้าและน่าจะมีผลสะเทือนกว้างไกล ดังนั้น จึงควรได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันส่งเสียง คือ เรียกร้องโดยทันทีให้ประมุขของรัฐไม่รับรองการรัฐประหาร

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีกับการเคลื่อนไหวของประชาชน มีผู้เสนอไว้แล้วเหมือนกัน คือ การเคลื่อนไหวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนตามกฎหมาย ผู้ถือ “อำนาจอธิปไตย” ต้องยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้กลับไปที่กษัตริย์ตามทฤษฎีกำเนิดรัฐธรรมนูญแบบ “พระราชทาน” หรือ “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” เพราะนั่นเป็นเพียงเรื่องสมมุติ 

แต่ต้องยืนยันว่าสิทธินี้ติดตัวเรามาแต่กำเนิด โดยธรรมชาติ แต่ถูกพรากไปโดยผู้สถาปนาตัวเองเป็นผู้ปกครอง การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คือ การทวงสิ่งที่เป็นของเรากลับคืนมา ในแง่นี้ ผู้ให้กำเนิดรัฐ ผู้ทรงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจเทวสิทธิ์แต่คือประชาชน หากเกิดรัฐประหาร รัฐถูกฆ่า ในช่วงเวลาแบบนั้น เหมือนกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติ อำนาจจึงกลับมาที่ประชาชน และดังนั้น ผู้แทนที่ชอบธรรมและประชาชน จึงตั้งใจ (ไม่ได้สมมติ) จะใช้อำนาจนี้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น รูปธรรม คือ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล และเพื่อไทย หรือพรรคอื่น (ถ้าเป็นไปได้) ชุมนุมร่วมกันที่รัฐสภา เคลื่อนไหวพร้อมกับประชาชน

แม้ตอนนี้จะยอมรับร่วมกันว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นกองหน้าตัวจริง แต่ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการผลักภาระให้พวกเขามากเกินไป เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองและประชาชนที่มีความฝันร่วมกับพวกเขา ที่จะต้องเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน ไม่ใช่รอรับดอกผลที่เกิดขึ้นจากการลงแรงของลูกหลานเพียงอย่างดียว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net