Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสภาวะการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกที่ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในปัจจุบันหลากหลายแง่มุมนั้น ได้นำไปสู่การวิเคราะห์ วิจารณ์และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันในหลายสถาบันองค์กรและช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอ สะท้อนและทำความเข้าใจต่อปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะต่อประเด็นข้อเรียกร้อง จุดยืนและความฝันของกลุ่มประชาชนปลดแอกที่พัฒนามาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก และการเคลื่อนไหวของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีกลุ่มแกนนำหลักสำคัญ คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างนิสิตนักศึกษา ร่วมด้วยกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายและมัธยมต้นจากสถาบันการศึกษาต่างๆ กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่ม นปช. กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิความหลากหลายทางเพศ นักสิทธิสตรี แรงงาน ครู ศิลปินดารา ผู้สูงอายุ ประชาชนทั่วไป ฯลฯ อันเป็นการสะท้อนพัฒนาการของกลุ่มผู้ชุมนุมและการขยายเครือข่ายของการชุมนุมอย่างเป็นอิสระและเรียนรู้ร่วมกันภายใต้สำนึกของความเป็น ‘ประชาชน’ หรือ ‘ราษฎร’ ที่ต้องการปลดแอกตนเองออกจากปัญหาในเชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบจารีตดั้งเดิมภายใต้ร่มเงาของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

ในแง่นี้ การเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนจำนวนมากจึงไม่ได้มีหมุดหมายอยู่เพียงแค่การเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง ค่านิยมและคุณค่าทางสังคมใหม่อย่างแท้จริงของประเทศไทย เพราะมันสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบอบการเมืองไทยซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตในอนาคตของพวกเค้าและครอบครัว ฉะนั้น หากเราพิจารณาสิ่งที่สะท้อนออกมาจำนวนหนึ่งจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกสื่อโซเชียลมีเดีย ภาพ สัญลักษณ์ทางการเมือง การปราศรัย การดีเบต หรือแม้แต่บทสนทนากับเพื่อนในกลุ่มของเยาวชนคนรุ่นใหม่  ประกอบกับการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนทางความคิดกับผู้ชุมนุมหลายๆ คน ทำให้เห็นพัฒนาการของความคิดที่สำคัญในสังคมไทยว่า “ทุกคนมองการเมืองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของตนเองอย่างไร” และ “มันควรเป็นเรื่องที่ง่ายและธรรมดามากในการที่เราจะสามารถพูดและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของการเมืองในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างเป็นอิสระและปรกติ” อย่างการแสดงความคิดปนประชดล้อเลียนและมีจินตนาการในทางการเมืองว่า  “ถ้าการเมืองดี.........” จะเกิดอะไรขึ้น? ตัวอย่างเช่น ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งโพสต์ในเฟสบุ๊คกลุ่มว่า “ถ้าการเมืองดี เราจะไม่ต้องโดนหมายจับเพราะออกมาเรียกร้อง ถ้าการเมืองดี เราจะไม่ต้องเห็นความเจริญกระจุกอยู่แค่กรุงเทพฯ ถ้าการเมืองดี เราจะไม่ต้องพบคนรวยหลักร้อยแต่รวยกว่าคนนับล้าน........” เป็นต้น อันสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักตื่นตัว การมีโลกทัศน์และค่านิยมทางการเมืองใหม่ที่มองว่าการเมืองนั้นสำคัญกับชีวิตของตนเองในทุกมิติ ปัญหาทุกอย่างในทางสังคมและเศรษฐกิจล้วนเชื่อมโยงกับการเมือง ฉะนั้น การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเลวร้ายไม่ควรเข้าใกล้แบบในอดีต หรือการมองว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักตื่นตัวและมีสำนึกในทางการเมืองแบบชีวิตประจำวันและระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน คือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่นำไปสู่การเรียนรู้ทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างและกว้างออกไปจากการศึกษาในภาคบังคับปกติของสถาบันการศึกษาไทย และการรับรู้ค่านิยมและคุณค่าทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แพร่หลายอย่างเป็นสากลทั่วโลก ประกอบกับปัจจัยประทุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการยุบพรรคอนาคตใหม่ คือ เรื่องของปัญหาทางเศรษฐกิจที่กระทบกับครอบครัวของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคน และประชาชนจำนวนมาก รวมทั้ง การเมืองแบบปิดกั้นในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญจนถึงการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ที่ทำให้ระบอบการเมืองนั้นอยู่ภายใต้อำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งในแง่นี้ พวกเค้าสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทางการเมืองได้เข้าใจอย่างดียิ่งและตรงตัว จนทำให้กลุ่มคนในโลกทัศน์วัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมรู้สึกไม่สบายใจ กังวล กลัว หรือแม้กระทั่งมีความไม่พอใจต่อการพูดถึงการเมืองที่ตรงไปตรงมาและกระแทกกระทบต่ออำนาจและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเก่าอย่างมาก เพราะมันสัมพันธ์กับทั้งความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึกมั่นคงในสภาวะและวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิม และความมีอำนาจสถานะเหนือในทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ใหญ่หลายคน

ทั้งนี้ประกอบกับค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นั้น ได้แสดงออกถึงความรังเกียจและปฏิเสธต่อระบอบอุปถัมภ์เชิงอำนาจและเครือข่ายผลประโยชน์แบบเดิม รวมทั้ง โครงสร้างอำนาจรัฐและสังคมแบบอภิสิทธิ์อำนาจนิยม ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาความเลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรมและการคอรัปชั่นที่แท้จริงของสังคมไทย ไม่ใช่นักการเมืองเท่านั้นในแบบที่เคยถูกทำให้รับรู้กันมา เพราะพื้นฐานอย่างหนึ่งของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองในชีวิตประจำวันของพวกเค้าและร่วมชุมนุม คือ การสนใจและติดตามข่าวสารทางการเมืองมาโดยตลอด การจับกลุ่มพูดคุยการเมืองกับเพื่อน การค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เนตและอ่านหนังสือในประเด็นที่สนใจ ทำให้พวกเค้ามีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์การเมืองบนฐานของข้อมูล เหตุผลและความรู้ได้ดี ดังนั้น พวกเค้าจึงไม่ใช่กลุ่มคนที่ไม่รู้เรื่องและไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ตรงกันข้าม พวกเค้าคือ “ประชาชนผู้ตื่นรู้” และมีประสบการณ์กับความอยุติธรรมในชีวิตมาโดยตลอด ตั้งแต่การศึกษาในระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัย การทำงานและเลื่อนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของบุคคลสมาชิกในครอบครัว การรัฐประหารและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ความไม่สมเหตุสมผลของการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐไทยแบบอำนาจนิยมกำลังเป็นปัญหาความชอบธรรมของรัฐไทยสมัยใหม่ที่สำคัญ เพราะความชอบธรรมของรัฐสมัยใหม่นั้นพึงตั้งอยู่บนฐานของกฎเกณฑ์เชิงเหตุผลทางกฎหมาย (rational law) และฉันทามติทางสังคม (social consensus) ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความเชื่อในความชอบธรรมของอำนาจทางการเมือง และสามารถรองรับต่อคุณค่าและความหมายใหม่ทางสังคมและการเมืองที่หลากหลายและเป็นอิสระจากฐานคติความคิดความเชื่อในสังคมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาของการสร้างและใช้กลไกของรัฐที่นำไปสู่วิกฤตความชอบธรรมที่มากขึ้น อย่างระบบอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมและจัดการประชาชนกับบุคคลที่เห็นต่างในสังคมหรือเป็น “อันตรายทางการเมือง” (political dangers) ภายใต้ระบบปกครองและกฎหมายที่รัฐสถาปนาและควบคุมอย่างเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ เช่น คำสั่งคณะปฏิวัติ กฎหมายพิเศษ หรือรัฐธรรมนูญที่รัฐใช้อำนาจแทรกแซงในการร่างกฎหมายและบังคับใช้ผ่านศาลและกระบวนการยุติธรรม มากกว่าต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบกฎหมายและการปกครองในแบบวิถีประชาธิปไตย อันเป็นประเด็นปัญหาความชอบธรรมของรัฐไทยสมัยใหม่มากที่สุด ดังที่กลุ่มประชาชนปลดแอกได้สะท้อนผ่านข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ในเรื่องของ “การหยุดคุกคามประชาชน”

ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายของ “การเมืองในชีวิตประจำวัน” (the politics of everyday life) ที่มองการเมืองในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตและชีวิตของผู้คน หรือก็คือ “การเมืองเป็นเรื่องชีวิตของทุกคน” จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในช่วงเวลานี้ เพราะการเมืองที่ดีต้องสามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน การตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และสามารถสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคมได้บนพื้นฐานของการเคารพในความเป็น “คน”  เหมือนกัน ซึ่งเป็นความหมายและวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่แตกต่างออกไปจากการเมืองเชิงศีลธรรม (moral politics) และอำนาจนิยม (authoritarianism) แบบเดิม และยังผลให้รัฐไทยสมัยใหม่นั้นต้องปรับตัวอย่างมากต่อการเป็นรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง ไม่ใช่รัฐสวัสดิการสงเคราะห์ที่ไม่เคยมองคนเท่าเทียมกันบนพื้นฐานความแตกต่างหลากหลาย

นอกจากนี้ รัฐไทยยังต้องสามารถสร้างระบบกลไกทางการเมืองและกฎหมายที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนได้ ไม่ใช่การเมืองที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการเชิงอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือชนชั้นใดชนนั้นหนึ่งเพียงอย่างเดียว สุดท้ายนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกท่านได้ลองคิดและจินตนาการกับตนเองว่า “ถ้าการเมืองดี ชีวิตเราจะดีอย่างไร.........”  

 

เอกสารชวนอ่านเพิ่มเติม
Haberkorn, Tyrell. (2018). In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand. Wisconsin, Madison: University 
of Wisconsin Press. 
Habermas, Jürgen. (1988).  Legitimation Crisis. Cambridge, UK.: Polity Press. Available from 
https://www.sss.ias.edu/sites/sss.ias.edu/files/pdfs/Crisis-and-Critique-2018-19/habermas_legitimation_crisis.pdf.
Thannapat Jarernpanit (2019) The Contestation of “Good Politics”: Explaining Conflict and Polarisation in Thailand, 
Asian Studies Review, 43:4, 657-673, DOI: 10.1080/10357823.2019.1663785


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net