Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนแม่น้ำโขงให้ข้อมูล ธปท. แจงเหตุไม่ควรปล่อยกู้สร้างเขื่อนหลวงพระบาง เผยผลร้าย  5 ข้อ ผลกระทบข้ามแดนมหาศาล- สวนทางความต้องการไฟฟ้าในประเทศที่ลดฮวบ -เสี่ยงถูกจีนครอบงำลาว

27 ก.ย. 2563 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนภาคประชาชนเครือข่ายแม่น้ำโขงได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงข้อกังวลต่อแนวโน้มการให้เงินกู้ต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และปรึกษากับผู้แทนธนาคารต่าง ๆ โดยมีผู้แทนจาก ธปท. และธนาคารพาณิชย์อีก 6 แห่งเข้าร่วม

นายนิวัฒน์ กล่าวว่าเครือข่ายฯ และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้นำเสนอเหตุผล 5 ประการ ที่ธนาคารไทยไม่ควรปล่อยกู้ให้แก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งจะกั้นแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป. ลาว) คือ

1. ไม่มีความจําเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณสํารองไฟฟ้าของประเทศพุ่งทะลุ 50% ไปแล้วในช่วงโควิด-19 ปริมาณไฟฟ้าสํารองเกิน 10,000 เมกะวัตต์ (MW) เทียบเท่ากับเขื่อนหลวงพระบาง 6.8 เขื่อน ซึ่งมีข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กําลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 

2. มีความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก ผลกระทบบางด้านมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าเขื่อนไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง แต่ บริษัทเจ้าของโครงการไม่มีการประเมินความเสี่ยงเพียงพอ เช่น ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่คํานึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate  change) ฯลฯ 

3. ผลการปรึกษาหารือล่างหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ 4 ประเทศสมาชิกลงนาม ทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้เรียกร้องให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนและ ผลกระทบสะสม 

4.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งขณะนี้เจ้าหนี้ของลาว 50% คือจีน 

5.ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติมจากการที่ประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิต Moody’s รวดเดียว 2 ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 (ระดับ junk bond)

นายนิวัฒน์กล่าวว่า การพบกับธปท.และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แแห่ง เพื่อให้ธนาคารได้รับทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับแม่น้ำโขง และหาแนวทางร่วมกัน ในการที่จะปกป้องแม่น้ำโขง การให้สินเชื่อต้องมีธรรมภิบาล ตามแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน (sustainable banking) โดยหวังว่าธนาคารต่างๆ จะปรับมาตการในการพิจารณาการใหสินเชื่อแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง

นายนิวัฒน์ กล่าวว่าในการประชุมตนได้นำเสนอว่า วันนี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ความเสี่ยงด้านสังคมสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัทไม่เคยทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งหมดนี้ยังคงมีความเสี่ยง และมากขึ้นที่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพราะเป็นเมืองมรดกโลก นอกจากนี้ geo-political risk ของลาว คือ ขณะนี้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาว ลาวมีความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินกู้คืนให้แก่เจ้าหนี้ไม่ได้ จีนอาจจะเข้ามาจัดการระบบสายส่งไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ ในลาว อยากตั้งคำถามว่าทำไมธนาคารไทยจึงอยากเข้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้ธนาคารพิจารณาทบทวน นอกจากนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้นำเสนอว่าโครงการเขื่อนหลวงพระบางไม่มีการศึกษา climate change ซึ่งสมาคมเขื่อนนานาชาติ (IHA) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน ได้ทำคู่มือที่ระบุว่า การเลือกพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนที่มีเสี่ยง ต้องใช้ climate change model มาเริ่มในการพยากรณ์ผลตอบแทนการลงทุน แต่เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เท่าที่เห็นมีเพียงบริษัทก่อสร้าง ทำหน้าที่ในการให้เกิดการก่อสร้าง แต่ไม่คำนึงถึงการใช้งานและบริหารเขื่อน (operate) ว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าที่คำนึงถึงอุทกศาสตร์ hydrological model มากแค่ไหน

“ในฐานะประชาชน มองการใช้ประโยชน์แม่น้ำ วิธีคิดยังมองไม่ชัด คนจำนวนหนึ่งบอกว่า ปล่อยน้ำไหลลงทะเลเปล่าๆ นี่เป็นวิธีคิดที่แคบมาก น้ำในแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ให้ประโยชน์กับโลก สร้างความชุ่มชื่น รักษาระบบนิเวศ ประโยชน์แก่มนุษย์ในการประมง เกษตร จนปัจจุบันนี้เราพบว่าการสร้างเขื่อน ไม่ใช่แหล่งพลังานที่สะอาดอีกแล้ว โครงการเขื่อนหลวงพระบางจะสร้างผลกระทบชัดเจนต่อแม่น้ำโขง ระหว่างเชียงของ จ.เชียงรราย ถึงหลวงพระบาง แม่น้ำโขงบริเวณนี้มีการศึกษาโดยบริษัท ICEM พบว่าระบบนิเวศย่อยมากมาย มี deep pools จุดที่แม่นน้ำโขงลึกถึง 90 เมตร จำนวน 7 แห่ง มีแม่น้ำสาขา 33 สาย หากมีเขื่อนหลวงพระบางทุกอย่างจะจมใต้น้ำ กระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่มีการปรึกษาหารือกับคนเหนือเขื่อน ที่เชียงราย เราต้องศึกาษาจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ทุกวันนี้ยังตอบคำถามไม่ได้ แม่น้ำโขงเสียหายเอากลับคืนมาไม่ได้ หวังว่าธนาคารจะเห็นปัญหาและพิจารณาการให้กู้เขื่อน อย่างมีธรรมาภิบาล” นายนิวัฒน์ กล่าว

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความของเครือข่ายฯ และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่าตนได้นำเสนอกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องว่าโครงการเขื่อนจะเกิดผลกระทบ หากเป็นภาคเอกชน คดีแพ่ง ที่ศาลยุติธรรม ไม่สามารถฟ้องเพื่อป้องกันได้ คดีนี้ได้ฟ้องกฟผ.ที่ไปทำสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) ในชั้นแรกศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง และมองว่ากรณีเขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมาถึงราชอาณาจักรไทย การดำเนินการสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นเรื่องในประเทศ ประเทศไทยแม้ไม่มีกฎหมายข้ามพรมแดน แต่ศาลก็พยายามหาช่องว่าจะคุ้มครองข้ามพรมแดนได้อย่างไร

“โครงการเขื่อนหลวงพระบาง แม้โครงการนี้มีบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุน แต่ไม่สามารถขอข้อมูลได้ อ้างว่าเป็นความลับทางการค้า คำถามคือ เราจะอย่างไรที่ภาคทุน ทั้งธนาคารพาณิชย์  จะเกิดความรับผิดชอบ และขณะนี้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR) ก่อนหน้านี้คณะกรรมารสิทธิมนุษยชนแก่งชาติ (กสม.) มีการตรวจสอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทบอกว่าทำตามกฎหมายของลาว แต่เวลานี้ต้องทราบว่า กฎหมายลาวระบุแล้วว่าให้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แต่การบังคับใช้และคุณภาพของรายงานการศึกษาก็ยังเป็นถูกตั้งคำถามอยู่ และการธนาคารที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีหลักการในการป้องกันผลกระทบ หรือ precautionary principle” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว

โครงการเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower Project) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,420 เมกะวัตต์ มีบริษัท ปิโตรเวียดนาม เป็นผู้พัฒนาโครงการหลัก หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ทางด้านเหนือขึ้นไปจากเมืองหลวงพระบาง ราว 25 กิโลเมตร โดยมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้กับกฟผ. และการไฟฟ้าเวียดนาม และมีรายงานข่าวว่า บริษัทเอกชนของไทยให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net